ผู้เขียน หัวข้อ: อดีตนายกแพทยสภา ขอนายกฯชะลอ-ทบทวนโครงการผลิตแพทย์  (อ่าน 1501 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อดีตนายกแพทยสภา ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้ชะลอและทบทวนโครงการผลิตแพทย์เพิ่ม หวั่นปริมาณสวนทางกับคุณภาพ พร้อมเสนอ 2 ทางออก

วันที่ 17 เมษายน 2567 นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อดีตนายกแพทยสภา โพสเฟซบุ๊ก อำนาจ กุสลานันท์ เผยหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ชะลอและทบทวนโครงการผลิตแพทย์จำนวนที่เพิ่มขึ้นจากปกติ พร้อมแนบผลสำรวจความเห็นของแพทย์ 1,485 ราย ต่อโครงการผลิตแพทย์ รวมถึงข้อเสนอทางเลือกการแก้ปัญหาในรูปแบบอื่น ๆ

โดยหนังสือดังกล่าวมีเนื้อความว่า

เรื่อง ขอให้ชะลอและทบทวนโครงการผลิตแพทย์จำนวนที่เพิ่มขึ้นจากปกติ

เรียน นายกรัฐมนตรี

ตามที่ในวันที่ 1 พ.ย. 2566 ผู้บริหาร สธ.ได้แถลงข่าวการขออนุมัติงบประมาณ 150,000 ล้านบาท สำหรับการผลิตแพทย์เพื่อส่งไปประจำ รพ.สต.แห่งละ 3 คนและกำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้โดยในวันที่ 20 กพ. 2567 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบอนุมัติงบประมาณ 37,000 ล้านบาท แล้วนั้น

เนื่องจากมีเพื่อนแพทย์จำนวนมากได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องนี้มา ดังนั้นคณะทำงานอิสระ ซึ่งประกอบด้วย

1.ศ.คลินิกเกียรติคุณนพ.อำนาจ กุสลานันท์
2.นพ.โชติศักดิ์ เจนพาณิชย์
3.ผศ.นพ.มาศ ไม้ประเสริฐ
4.ดร.นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย

จึงได้จัดทำแบบสอบถามขึ้นเพื่อขอทราบความเห็นจากแพทย์ในกลุ่มต่าง ๆ มีแพทย์ตอบแบบสอบถามมา 1,485 ราย โดยเสียงส่วนใหญ่มีความเห็นดังนี้

1.ร้อยละ 81 เห็นว่าปัจจุบันจำนวนแพทย์มีเพียงพอแล้ว แต่มีการกระจุกตัวในกรุงเทพฯ และปริมณฑลรวมถึงจังหวัดใหญ่ ๆ มากเกินไป

2.ร้อยละ 84.8 เห็นว่าไม่ควรผลิตแพทย์เพิ่ม เนื่องจาก ปริมาณการผลิตจะสวนทางกับคุณภาพ ควรแก้ไขปัญหาโดยเพิ่มแรงจูงใจเพื่อลดการลาออกของแพทย์ภาครัฐ

3.ร้อยละ 85.8 เห็นว่าไม่ควรบังคับแพทย์ ให้ปฏิบัติหน้าที่ในรพ.สต. แต่ควรส่งเสริมให้เจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำรพ.สต. มีความรู้เพิ่มขึ้น กรณีที่เกินขีดความสามารถ ให้ใช้ระบบปรึกษาและส่งต่อ

จึงเรียนมายังนายกรัฐมนตรี เพื่อโปรดพิจารณาสั่งการให้มีการชะลอโครงการดังกล่าวไว้ แล้วรับฟังความเห็นของนักวิชาการที่เกี่ยวข้องก่อน

เนื่องจากในปัจจุบันได้มีแพทย์จบใหม่พิ่มขึ้นปีละประมาณ 2,800 คนซึ่งก็เต็มศักยภาพการผลิตแล้ว รวมทั้งมีแพทย์ที่จบมาจากต่างประเทศอีกประมาณ 200 คนทำให้มีแพทย์เพิ่มปีละประมาณ 3,000 คนซึ่งเป็นจำนวนที่น่าจะเพียงพออยู่แล้วหากบริหารจัดการให้มีการกระจายตัวได้อย่างเหมาะสม

ขอแสดงความนับถือ

ศ.คลินิกเกียรติคุณนพ.อำนาจ กุสลานันท์
อดีตนายกแพทยสภา

17 เมษายน 2567

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
เร่งผลิต “แพทย์” เพิ่ม เติมปัญหาใหม่หรือไม่?
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 21 เมษายน 2024, 12:17:17 »
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ประเด็นร้อนในแวดวงสาธารณสุขไทยกับ “นโยบายการเร่งผลิตแพทย์เพิ่มเข้าระบบสุขภาพปฐมภูมิทั่วไทย” ของ  “กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)”  กำลังดำเนินไปท่ามกลางความเห็นต่างของบุคลากรในวงการแพทย์ที่ภาครัฐจำต้องรับฟัง เพราะข้อท้วงติงสำคัญก็คือ  “ไม่ตอบโจทย์สถานการณ์ปัญหาแพทย์ลาออก”  และการเร่งผลิตแพทย์รุ่นใหม่ที่เน้น  “ปริมาณ”  อาจส่งผลกระทบในเชิง “คุณภาพ”  อีกด้วย
แม้อาจจะไม่เหมือนกันนัก แต่ก็ต้องถือว่าใกล้เคียงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับ “เกาหลีใต้” ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา เมื่อบรรดาแพทย์อินเทิร์นและแพทย์ประจำบ้าน (Resident) ทั่วเกาหลีใต้จำนวนนับหมื่นคนรวมตัวยื่นใบลาออก และนัดหยุดงานต่อเนื่อง เพื่อต่อต้านนโยบายการผลิตแพทย์ของรัฐบาลเกาหลีใต้ ซึ่งวางเป้าเพิ่มโควตานักศึกษาแพทย์จาก 3,000 คนในปัจจุบัน เป็น 5,000 คน ในปี 2025 ก่อนจะขยับขึ้นเป็น 10,000 คน ในปี 2035 เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์และรับมือการเข้าสู่สังคมสูงวัย เนื่องจากปัจจุบันเกาหลีใต้มีจำนวนแพทย์ต่อประชากรต่ำมากเมื่อเทียบประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ

ขณะที่สหภาพและสมาคมแพทย์แย้งว่า นโยบายของรัฐบาลนั้น นอกจากจะแก้ปัญหาไม่ตรงจุดแล้ว การเพิ่มจำนวนนี้ยังอาจส่งผลเสียต่อคุณภาพการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์และบริการของแพทย์ในอนาคตด้วย เนื่องจากสาเหตุที่แพทย์ไม่เพียงพอนั้น เป็นเพราะการกระจุกตัวในบางหน่วยงาน เช่น ห้องฉุกเฉินซึ่งสภาพการทำงานแย่และรายได้ต่ำ

สำหรับประเทศไทย ผลจากสถานการณ์การลาออกของบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เร่งเครื่องนโยบายผลิตแพทย์ใหม่เข้าสู่ระบบอย่างเต็มกำลัง โดยค่าเฉลี่ยจำนวนการผลิตแพทย์ ณ ปัจจุบันอยู่ประมาณ 2,000-3,000 คนต่อปี ซึ่งส่งผลทำให้แพทย์ต้องทำงานอย่างหนักตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยแพทย์ 1 คนต้องแบกภาระดูแลคนไข้มากถึง 2,000 คนเลยทีเดียว

ทั้งนี้ นโยบายผลิตแพทย์ใหม่ขับเคลื่อนเต็บสูบ ตั้งแต่การยกระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งไม่เคยมีแพทย์ประจำ สธ. มีแนวทางให้มีแพทย์ประจำ รพ.สต. แห่งละ 3 คน โดยจะเติมบุคลากรแพทย์เข้าไปอยู่ใน รพ.สต.ทั้ง 8,500 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะต้องมีแพทย์ 25,000 คน คอยประจำและหมุนเวียนการทำงานใน รพ.สต. แห่งละ 3 คน

หรือล่าสุด เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการโครงการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพเพื่อเวชศาสตร์ครอบครัวตอบสนองต่อระบบสุขภาพปฐมภูมิทั่วไทย พร้อมอนุมัติรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป สำหรับโครงการผลิตแพทย์ฯ จำนวนทั้งสิ้น 37,234.48 ล้านบาท ตามที่ สธ. เสนอ

กล่าวสำหรับโครงการดังกล่าวมุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ (Primary care service) ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุข เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่นที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง ประกอบด้วยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และสหวิชาชีพ รวม 9 สาขาวิชาชีพ ได้แก่  แพทย์เวชศาสตร์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณ์สุข ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยสาธารณสุข ทันตแพทย์ เภสัชกร นักฉุกเฉินการแพทย์ และแพทย์แผนไทย ซึ่งเมื่อครบระยะเวลาโครงการ จะสามารถผลิตบุคลากรทางการแพทย์ได้ 62,000 คน

 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า รัฐบาลและกระทรวงมุ่งหวังให้แพทย์ที่ผลิตออกมาตามโครงการนี้ต้องกลับไปทำงานในพื้นที่ที่เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ เพราะฉะนั้น สธ. จึงวางแนวทางตั้งแต่ระบบการคัดเลือก คือคัดเลือกคนมาจากพื้นที่ หรือใช้กลไกการเรียนโดยเอาบุคลากรที่ทำงานในพื้นที่นั้นมาต่อยอด เช่น พยาบาลที่จบปริญญาตรีแล้ว เป็นเส้นทางการผลิตแพทย์แบบใหม่ เป็น New Track มาเรียนต่ออีก 5 ปี

ทั้งนี้ จะมีการระบุชัดว่าบุคลากรตามโครงการต้องกลับไปอยู่ในพื้นที่ และสัญญาที่เขียนก็รองรับด้วยว่าต้องไปอยู่ในพื้นที่

สำหรับปัจจุบันอ้างอิงข้อมูลการจัดสรรนักศึกษาแพทย์ ผู้ทำสัญญาฯ ที่ไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนคณะแพทยศาสตร์ ส่วนราชการ หน่วยงาน และกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณฯ 2561 - 2565 สำเร็จการศึกษารวมทั้งสิ้น 13,141 คน ดังนี้ ปี 2561 สำเร็จการศึกษา 2,648 คน สธ. ได้รับจัดสรร 1,994 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 2,016 คน, ปี2562 สำเร็จการศึกษา 2,629 คน สธ. ได้รับจัดสรร 2,054 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 2,044 คน, ปี 2563 สำเร็จการศึกษา 2,636 คน สธ. ได้รับจัดสรร 2,031 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 2,039 คน, ปี 2564 สำเร็จการศึกษา 2,610 คน สธ. ได้รับจัดสรร 2,023 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 2,021 คน, ปี 2565 สำเร็จการศึกษา 2,618 คน สธ. ได้รับจัดสรร 1,849 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 1,850 คน

โดยค่าเฉลี่ยจำนวนนักศึกษาแพทย์ที่ได้รับคัดเลือกจริงใน 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าในปี 2567 จะมีแพทย์สำเร็จการศึกษาประมาณ 2,800 คน จะจัดสรรให้กระทรวงสาธารณสุขได้ประมาณ 2,000 คน เพิ่มขึ้นจาก 2 ปีที่ผ่านมาราว 200 คน พร้อมปฏิบัติงานได้ใน เดือนมิถุนายน 2567 ทำให้มีบุคลากรลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่เพิ่มขึ้น ช่วยลดภาระงานและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในบางพื้นที่ได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 เปิดเผยข้อมูลกำลังคนสาธารณสุขภาพรวมประเทศ พบว่า แพทย์รวม 52,497 คน คิดเป็นสัดส่วนแพทย์ต่อประชาชนที่ 7.94 : 10,000 คน ซึ่งอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข 49% ภาคเอกชน 43% รัฐอื่นๆ 2% และอยู่ในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) 6%

กล่าวได้ว่าสัดส่วนบุคลากรสาธารณสุขต่อประชาชนของประเทศไทย เมื่อเทียบกับประเทศกลุ่มตะวันตกและเอเชียยังถือว่าน้อย เนื่องจากกลุ่มประเทศตะวันตก อย่างสหราชอาณาจักรมีแพทย์สัดส่วนที่ 58.2 ต่อ 10,000 คน ส่วนกลุ่มประเทศเอเชีย อย่างญี่ปุ่นจะมีสัดส่วนแพทย์ที่ 24.8 ต่อ 10,000 คน เป็นต้น

 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่าปัจจจุบันปริมาณแพทย์เพิ่มขึ้นทุกปี หากเทียบจำนวนก็ไม่ขาดแคลนเหมือนในอดีต อย่างปัจจุบันมีแพทย์กว่า 30,000 กว่าคน ซึ่งความขาดแคลนไม่ได้ขนาดเท่าอดีต แต่ถามว่าเพียงพอหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า มีมากย่อมดีในแง่การบริการประชาชนได้เพิ่มขึ้น แต่ปัญหาคือการกระจายตัวของแพทย์ ซึ่งหากพิจารณาพื้นที่ที่ขาดและต้องมีการกระจายเพิ่มเข้าไปก็จะเป็นพื้นที่ที่คนไม่ค่อยอยากไปอยู่

แน่นอนว่า เมื่อพิจารณาจากเหตุและผลดังที่ สธ.แจกแจงเอาไว้ก็นับว่าก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติ เพราะต้องยอมรับว่าสถานการณ์เป็นไปอย่างที่ว่าจริงๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่มักปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์มาก

อย่างไรก็ดี เกิดคำถามว่าการเพิ่มอัตราการผลิตแพทย์มีความจำเป็นมากเพียงใด? จำนวนปริมาณแพทย์ที่เร่งผลิตจะมีคุณภาพเพียงพอหรือไม่? โดยล่าสุด  “ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ กุสลานันท์”  อดีตนายกแพทยสภา ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี  “นายเศรษฐา ทวีสิน”  เรียกร้องให้ชะลอและทบทวนโครงการผลิตแพทย์ โดยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กพร้อมแนบผลสำรวจความเห็นของแพทย์ 1,485 ราย ต่อโครงการผลิตแพทย์ของ สธ. ระบุ เรื่อง  “ขอให้ชะลอและทบทวนโครงการผลิตแพทย์จำนวนที่เพิ่มขึ้นจากปกติ”

สาระสำคัญของความเห็นต่างดังกล่าว ประกอบด้วย

 “1. ร้อยละ 81 เห็นว่าปัจจุบันจำนวนแพทย์มีเพียงพอแล้ว แต่มีการกระจุกตัวในกรุงเทพฯ และปริมณฑลรวมถึงจังหวัดใหญ่ๆ มากเกินไป

2. ร้อยละ 84.8 เห็นว่าไม่ควรผลิตแพทย์เพิ่ม เนื่องจากปริมาณการผลิตจะสวนทางกับคุณภาพ ควรแก้ไขปัญหาโดยเพิ่มแรงจูงใจเพื่อลดการลาออกของแพทย์ภาครัฐ

และ 3. ร้อยละ 85.8 เห็นว่าไม่ควรบังคับแพทย์ ให้ปฏิบัติหน้าที่ในรพ.สต. แต่ควรส่งเสริมให้เจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำรพ.สต. มีความรู้เพิ่มขึ้น กรณีที่เกินขีดความสามารถ ให้ใช้ระบบปรึกษาและส่งต่อ”

ขณะเดียวกันจะมีการตั้งคณะทำงานอิสระ ประกอบด้วย 1. ศ.คลินิกเกียรติคุณนพ.อำนาจ กุสลานันท์ 2. นพ.โชติศักดิ์ เจนพาณิชย์ 3. ผศ.นพ.มาศ ไม้ประเสริฐ และ 4. ดร.นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการให้มีการชะลอโครงการดังกล่าวไว้ แล้วรับฟังความเห็นของนักวิชาการที่เกี่ยวข้องก่อน

“เนื่องจากในปัจจุบันได้มีแพทย์จบใหม่พิ่มขึ้นปีละประมาณ 2,800 คน ซึ่งก็เต็มศักยภาพการผลิตแล้ว รวมทั้งมีแพทย์ที่จบมาจากต่างประเทศอีกประมาณ 200 คนทำให้มีแพทย์เพิ่มปีละประมาณ 3,000 คนซึ่งเป็นจำนวนที่น่าจะเพียงพออยู่แล้วหากบริหารจัดการให้มีการกระจายตัวได้อย่างเหมาะสม” ศ.คลินิกเกียรติคุณนพ.อำนาจ กุสลานันท์ อดีตนายกแพทยสภา ระบุ

โดยก่อนหน้านี้  นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร  ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) ได้แสดงความเป็นห่วงหลายสถาบันเร่งผลิตแพทย์จำนวนมากซึ่งหวั่นเรื่องคุณภาพ โดยได้ยื่นหนังสือถึงแพทยสภา เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566 เรื่องขอให้แพทยสภาพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตรศึกษา หลักเกณฑ์การรับรองหลักสูตรแพทยศาสตรศึกษา และสถาบันผลิตแพทย์ รวมถึงการฝึกปฏิบัติงานหลังปริญญาในฐานะแพทย์ฝึกหัด เพื่อคุณภาพ และสมรรถนะของแพทยศาสตรบัณฑิต เนื่องจากมีข้อห่วงใยการพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตร์ จะเกิดการผลิตแพทย์มากเกินไป จะมีประเด็นเรื่องคุณภาพเพราะเมื่อเร่งผลิตมากเกินไป

นพ.ประดิษฐ์อธิบายและให้เหตุผลว่า ในปัจจุบันมีคณะแพทย์ใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก และแต่ละคณะต่างก็เพิ่มจำนวนการผลิต ทำให้มีแพทย์จบใหม่แต่ละปีประมาณ 3,000 คน และมีแนวโน้มว่าจำนวนแพทย์จบใหม่จะมากขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งถือว่าไม่ได้เป็นปัญหา แต่หากพูดถึงกรณีบางโรงพยาบาล เพราะเหตุใดจำนวนแพทย์กลับไม่เพียงพอ ก็เป็นเรื่องการบริหารจัดการปัญหาการกระจายตัวของแพทย์

สำหรับสถานการณ์ปัญหาภาระงานแพทย์หนักจนลาออกเป็นปรากฎการณ์ ถามว่าการแก้ปัญหาการผลิตแพทย์จะตอบโจทย์หรือไม่ หรือเน้นการกระจายแพทย์ให้เหมาะสมนั้น ได้คำตอบว่าการกระจายแพทย์เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ การเร่งผลิตแพทย์ต้องเข้าใจว่ามีส่วนหนึ่งลาออกไปด้วยทำให้สูญเสียบุคลากรมาก ในส่วนนี้ต้องหาทางออกในการป้องกันปัญหาการสูญเสียบุคลากรด้วย

 ที่สำคัญคือภาระงานของแพทย์เป็นเรื่องที่คุยกันมานาน แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง 

โดยเนื้อหาที่ สพศท. ได้ยื่นหนังสือเสนอต่อ แพทยสภา มีหลายประเด็น อาทิ 1.จำนวนแพทย์โดยรวมในปัจจุบันเพียงพอแล้ว สัดส่วนแพทย์ต่อประชากรของไทยได้ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก การเพิ่มอัตราผลิตมากเกินไปจะทำให้ขาดแคลนทรัพยากรในการผลิต เป้าหมายอัตรากำลังแพทย์กระทรวงสาธารณสุขจะเพียงพอในระยะเวลาไม่กี่ปี ตำแหน่งบรรจุข้าราชการจะไม่เพียงพอสำหรับแพทย์จบใหม่

2. ควรมีระบบการคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่มีมาตรฐาน เพื่อให้ได้ผู้ที่มีความรู้พื้นฐานเพียงพอ

3. ควรปรับระยะเวลาการฝึกอบรมให้ได้ตามมาตรฐานสากล และเหมาะสมกับบริบทระบบสุขภาพไทย ทั้งนี้ ประมาณ 50 ปี หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ของไทยใช้เวลา 7 ปี แต่เนื่องจากความขาดแคลนแพทย์อย่างรุนแรง แพทยสภาจึงลดเวลาฝึกอบรมลงเหลือ 6 ปี เพื่อให้แพทย์ไปทำงานในชนบทได้เร็วขึ้น ดังนั้น เมื่อปัจจุบันความขาดแคลนแพทย์ไม่รุนแรงแล้ว ก็ควรปรับหลักสูตรฝึกอบรมกลับมาเป็น 7 ปีเช่นเดิม

4. หลักสูตรแพทย์ใหม่ๆ บางหลักสูตร ลดมาตรฐานในการผลิตลง ได้แก่ หลักสูตรแพทย์ 4 ปี ซึ่งสหรัฐฯ รับผู้ที่จบปริญญาตรีแล้วเข้ารับการฝึกอบรม โดยศึกษาพื้นฐานการแพทย์ 2 ปี ศึกษาจากผู้ป่วยโดยตรง 2 ปี รวม 4 ปี จึงได้รับปริญญาแพทยศาสตร์ จากนั้นต้องฝึกงานอีก 1-3 ปี จึงมีสิทธิสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม แต่หลักสูตรที่ไทยนำมาปรับใช้ ลดเวลาศึกษาพื้นฐานการแพทย์เหลือ 1.5 ปี ศึกษาจากผู้ป่วยโดยตรง 1 ปี อีก 1.5 ปี ไปดูเรื่องอื่นๆ เมื่อศึกษาครบ 4 ปีแล้ว สอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้เลยโดยไม่ต้องฝึกงาน เป็นการลดมาตรฐาน หรือกรณีหลักสูตรแพทย์ 2 ปริญญา เป็นต้น

5. คณะแพทยศาสตร์ที่มีหลักสูตรแพทยศาสตร์หลายหลักสูตร แต่ได้รับการรับรองหลักสูตรจากแพทยสภาเพียงหลักสูตรเดียว กลับใช้หลักสูตรที่ได้รับการรับรองแล้วมาประยุกต์ใช้ แล้วถือว่าผ่านการประเมินตามกันไปด้วย แพทยสภาจึงควรรับรองหลักสูตรของคณะแพทย์ทุกหลักสูตรแยกจากกัน

6. ควรมีข้อบังคับสำหรับการรับรองหลักสูตรของคณะแพทย์ต่างประเทศ เพื่อให้มีมาตรฐานไม่น้อยกว่าหลักสูตรแพทย์ของไทย

7.แพทยสภาควรควบคุมมาตรฐานของหลักสูตร และคณะแพทย์ต่างๆ โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม ในการรับรองหรือไม่รับรองปริญญา คณะ หลักสูตรใด และยังสามารถควบคุมการเปิดของคณะแพทย์ที่ไม่พร้อม และหลักสูตรแพทย์ที่ไม่ได้มาตรฐานได้

8. แพทยสภาควรเผยแพร่รายชื่อหลักสูตร และคณะแพทย์ที่ผ่านการรับรอง เพื่อป้องกันปัญหาผู้สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต ไม่มีสิทธิสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม

 สุดท้าย ต้องยอมรับว่าปรากฎการณ์แพทย์ลาออกเป็นผลมาจากปัญหาภาระงานล้น นโยบายเร่งผลิตแพทย์นับเป็นวาระร้อนที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เป็นการเติมบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่เข้าสู่ระบบ แต่อาจไม่ได้แก้ปัญหาวิกฤตสมองไหลแพทย์ลาออก เพราะโจทย์ข้อใหญ่ของการเร่งผลิตแพทย์รุ่นใหม่ ต้องไม่ใช่เพิ่มเพียงปริมาณ แต่ต้องมีคุณภาพด้วย

20 เม.ย. 2567  ผู้จัดการออนไลน์