ผู้เขียน หัวข้อ: คอลัมน์: เวทีสาธารณะ: พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินสร้างมาตรฐานการดูแล  (อ่าน 899 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- อาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน 2555 00:00:47 น.
นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล
เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
"ทุกวินาทีล้วนมีความสำคัญต่อผู้ป่วยฉุก เฉิน" เพราะนั่นคือนาทีชี้ขาดระหว่างคำว่า "รอด" หรือ "สูญเสีย"

ในอดีตที่ผ่านมา ระบบการแพทย์ฉุกเฉินอาจมีปัญหาติดขัดอยู่บ้าง อาทิ ประชาชนเข้าไม่ถึงบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ห่างไกล ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ หรือแม้แต่อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ที่จำเป็น แต่เมื่อมีพ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551ทำให้การพัฒนามีระบบและทำให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินมีประสิทธิภาพมากขึ้น  โดยมีการจัดการทำงานเป็นเครือข่ายและเน้นการใช้อาสาสมัครทางการแพทย์ที่ผ่านการอบรมทักษะความรู้ ด้านการปฐมพยาบาล การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้เข้ามาช่วยทำงานแบบจิตอาสาด้วย หรือเรียกง่ายๆ ว่าดึงเจ้าหน้าที่กู้ชีพที่เคยอยู่นอกระบบให้เข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มบุคลากรแล้ว ยังทำให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินมีความรวดเร็วและทันการณ์มากยิ่งขึ้น


 
แต่สิ่งที่จำเป็นของกลุ่มคนเหล่านี้คือต้องมีความรู้ มีทักษะ เพราะชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินมีความสำคัญมาก คงจะมาล้อเล่นกันไม่ได้ ดังนั้นเราจึงจัดการอบรมความรู้อย่างต่อเนื่องรวมทั้งมีระบบการควบคุมและการตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพเป็นประจำ ทั้งในส่วนของรถกู้ชีพ อุปกรณ์กู้ชีพ และที่สำคัญคือในส่วนของบุคลากร ซึ่งในอนาคต สพฉ.ตั้งเป้าว่ารถกู้ชีพทุกคันจะต้องผ่านมาตรฐานทั้งหมด เพื่อเพิ่มศักยภาพเพิ่มความมั่นใจ และสร้างมาตรฐานในการช่วยชีวิตให้ดียิ่งขึ้น

สำหรับในต่างจังหวัดจะมีการตรวจขึ้นมาตรฐานที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และจะตรวจสภาพซ้ำทุกๆ 2 ปี ส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่น่าจะมีระบบที่ดีที่สุด แต่ในความเป็นจริงกลับมีความซับซ้อนสุด ทำให้การพัฒนาเป็นไปได้ช้ากว่าในพื้นที่อื่นแต่ปัจจุบันก็เริ่มเข้าที่ และเป็นระบบมากขึ้นแล้ว โดยที่ผ่านมาได้มีการตรวจมาตรฐานครั้งแรกสำหรับรถปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น และมีรถกู้ชีพเข้ารับการตรวจแล้วกว่า 200 คัน และจะมีการตรวจมาตรฐานอีกครั้งในวันที่ 18 ธ.ค.นี้ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมกับการรับมือช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะมาถึงด้วย

สำหรับรถกู้ชีพที่เข้าตรวจมาตรฐาน จะต้องผ่านการตรวจหลักฐานทะเบียนรถ ภาพถ่ายรถ หนังสือรับรองจากต้นสังกัด การตรวจไฟวับวาบ ตรวจสภาพรถ และไฟสัญญาณที่ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมาตรฐานและหลักเกณฑ์ของระบบการแพทย์ฉุกเฉินนั้น จะต้องเป็นรถยนต์ตู้ หรือรถกระบะบรรทุกที่มีทะเบียนยานพาหนะถาวร มีหลังคาสูงเพียงพอที่จะทำการช่วยฟื้นคืนชีพ ได้สะดวก ห้องคนขับและห้องพยาบาลแยกออกจากกันแต่สามารถสื่อสารกันได้มีแสงสว่างเพียงพอที่จะทำหัตถการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่สำคัญคือมีที่ว่างสำหรับจัดวางเตียงพร้อมผู้ป่วยฉุกเฉินในลักษณะนอนราบ และมีระบบระบายอากาศ และกระจกหลังต้องมีการติดข้อความชื่อหน่วยปฏิบัติการหมายเลขโทรศัพท์1669  ด้านข้างช่วงหลังทั้งสองข้างต้องแสดงตราสัญลักษณ์ของ สพฉ. และจะต้องติดแถบสะท้อนแสงด้านข้างรถตลอดแนว

ส่วนผู้ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินจะต้องสวมใส่ชุดสีขาวที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ติดป้ายสัญลักษณ์ของ สพฉ. บริเวณแขนเสื้อและหลังเสื้อ ติดแถบสะท้อนแสง เพื่อให้ประชาชนและผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับรู้ถึงการเป็นผู้ปฏิบัติการที่มีความรู้ความสามารถ และมีศักยภาพในการให้ความช่วยเหลือได้ เพื่อเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ป่วยฉุกเฉินมากขึ้น

อุปกรณ์ภายในรถปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้นนั้น  ถือว่ามีความสำคัญมาก โดยอุปกรณ์จะต้องจัดอยู่ในสภาพเรียบร้อย สะอาด กรณีที่เป็นสิ่งปฏิกูลหรือสิ่งที่อาจทำให้ติดเชื้อ จะต้องมีการจัดแยกให้ถูกสุขลักษณะ รวมถึงจัดให้เป็นระเบียบ เพียงพอ พร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา มีอุปกรณ์สื่อสารเพื่อใช้ในการติดต่อ มีระบบการรับสัญญาณเตือนภัย และระบบข่าวสารการแพทย์ฉุกเฉิน และที่สำคัญอุปกรณ์ทางการแพทย์ภายในรถจะต้องมีการจัดแบ่งไว้เป็นชุด โดยอาจจะบรรจุภาชนะหีบห่อเพื่อการใช้งานตามความจำเป็นกับเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้นด้วย มีเฝือกดามแขน ขา มีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลและทำแผลพื้นฐาน ถุงมือปราศจากเชื้อ สำลี ผ้าพันแผล น้ำเกลือ อุปการณ์ล้างตา เครื่องดูดเสมหะชนิดบีบมือที่หนีบสายสะดือ เป็นต้น นอกจากนี้ต้องมีอุปกรณ์กู้ภัยเบื้องต้น เช่น ขวานขนาดใหญ่ เชือกคล้องตัว อุปกรณ์ยึดเหนี่ยว กรรไกรตัดเหล็กขนาดใหญ่ อุปกรณ์ดับเพลิง

ด้วยเพราะชีวิตของประชาชนทุกคนมีความสำคัญ ดังนั้นจึงต้องเร่งสร้างมาตรฐานให้เกิดขึ้นโดยเร็ว.