ผู้เขียน หัวข้อ: สสส.จับมือ คศน.เสนอ 3 ทางออกปฏิรูประบบสุขภาพ  (อ่าน 1656 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
 สสส.จับมือ คศน.เปิดตัวหนังสือ “หลังประติมาสาธารณสุข” ถอดบทเรียน 20 คนต้นแบบวงการสุขภาพไทย หวังปฏิรูประบบสุขภาพ เพาะต้นกล้าพันธุ์ใหม่ สร้างแนวคิดแพทย์มีหัวใจความเป็นมนุษย์ เป็นที่พึ่งสุดท้ายของผู้ป่วย เสนอ 3 ทางออก ลดความเหลื่อมล้ำ-กระจายอำนาจ-ปรับระบบงาน
       
       วันที่ 8 ต.ค.ที่ร้านหนังสือนายอินทร์ สยามพารากอน ในงานเสวนาปฏิรูปประเทศไทย : ปฏิรูประบบสุขภาพไทย พร้อมเปิดตัวหนังสือ “หลังประติมาสาธารณสุข 20 เบื้องหลังการขับเคลื่อนระบบสุขภาพไทย” จัดโดย เครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่ (คศน.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สปสช.) ในฐานะบรรณาธิการหนังสือ หลังประติมาสาธารณสุข กล่าวว่า หลังสือหลังประติมาสาธารณสุข จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอดแนวคิด บทเรียนการทำงานของผู้บริหาร แพทย์ เภสัชกร นักวิชาการ ที่มีส่วนสำคัญขับเคลื่อนระบบสุขภาพไทยรวม 20 ท่าน อาทิ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้บุกเบิกให้คนไทยมีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นพ.มงคล ณ สงขลา ผู้ผลักดันระบบการเข้าถึงยาถ้วนหน้า นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร เจ้าของโครงการถุงยางอนามัย 100% นางรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.ผู้นำภาคประชาชนตรวจสอบเรื่องทุจริตยา เป็นต้น บุคคลเหล่านี้เป็นผู้มีประสบการณ์การทำงาน มีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทยและวงการสุขภาพไทยอย่างมาก
       
       “การถอดบทเรียนของ ผู้ที่ทำเรื่องยิ่งใหญ่เหล่านี้ เพื่อให้ผู้นำแนวใหม่ตามโครงการของ คศน.ได้ศึกษาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบสาธารณสุข และให้ประชาชนทั่วไปมีโอกาสเรียนรู้ เข้าใจระบบสุขภาพไทยมากขึ้น เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบสุขภาพไทยให้ดีขึ้นได้ ผมเชื่อว่า คนเล็กๆ สามารถเปลี่ยนแปลงให้สังคมดีขึ้นได้ ทั้งนี้ หนังสือหลังประติมาสาธารณสุข มีวางจำหน่ายในร้านหนังสือนายอินทร์ทุกสาขา จำหน่ายในราคาเล่มละ 250 บาท รายได้ทั้งหมดนำมาพัฒนาโครงการศักยภาพผู้นำสร้างสุขภาพแนวใหม่”นพ.พงศธร กล่าว

นพ.พงศธร กล่าวว่า สำหรับการปฏิรูประบบสุขภาพ มีข้อเสนอ 3 ข้อ คือ 1.การลดความเหลื่อมล้ำ ระบบหลักประกันสุขภาพไทย ที่มี 3 ระบบ คือ สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง และลดความเหลื่อมล้ำการกระจายทรัพยากร ทั้งบุคลากรและงบประมาณ ที่ยังกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวง หรือตัวเมืองเท่านั้น 2.กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเป็นผู้บริหารจัดการ และกำหนดนโยบายให้ที่เหมาะสมกับพื้นที่ เพราะที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาถูกกำหนดจากส่วนกลาง โดยที่ปัญหาแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ไม่สามารถใช้นโยบายของส่วนกลางแก้ไขได้ และ 3.ปรับระบบโรงพยาบาลให้มีความยืดหยุ่น เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก เพื่อสามารถแข่งขันกับโรงพยาบาลเอกชนได้
       
       ด้านนพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการปฏิรูปประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น ส่งผลต่อการพัฒนาผู้นำในสายสาธารณสุขที่ต้องการผู้ที่มีความเข้มแข็ง มีวิสัยทัศน์ คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ที่สำคัญ ต้องสนับสนุน และส่งเสริมนโยบายที่ช่วยเหลือผู้ป่วยลดความทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วย เป็นแพทย์ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ เช่น สนับสนุนให้คนไทยเข้าถึงยาถ้วนหน้า โดยเฉพาะยาราคาแพง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ เป็นต้น
       
       นางรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.กล่าวว่า การทำงานของผู้นำรุ่นใหม่ในทุกวงการ ต้องให้ความสำคัญเรื่องประโยชน์ส่วนรวมเป็นอันดับหนึ่ง เพราะสุดท้ายแล้วผลที่ได้จะสะท้อนกลับมาเป็นประโยชน์เพื่อตัวเราเอง หากสังคมขาดธรรมาภิบาล มีการทุจริตคอร์รัปชั่น ก็จะส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนแต่ละคนด้วย เพราะจะขาดการบำรุง ไม่มีระบบสวัสดิการต่างที่สมบูรณ์ ไม่ได้ความรู้ในการดูแลตัวเอง จากข้อมูลทางวิชาการ พบว่า หากสามารถเปลี่ยนความคิดคนได้ประมาณ 1 ใน 3 ของคนในสังคม หรือราว 30% จะทำให้ส่วนที่เหลือเกิดการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ดังนั้นเพื่อให้เกิดสังคมไทยที่ดี จำเป็นต้องปลูกฝังความคิดการทำงานเพื่อสังคมให้ผู้นำแนวใหม่ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ได้

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    8 ตุลาคม 2553