ผู้เขียน หัวข้อ: ข่าวร้อน ร่างพ.ร.บ.ฯ (7 ตค 2553)  (อ่าน 1323 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9739
    • ดูรายละเอียด
ข่าวร้อน ร่างพ.ร.บ.ฯ (7 ตค 2553)
« เมื่อ: 08 ตุลาคม 2010, 22:28:03 »
หมอจี้ล้มกม.คุ้มครองผู้เสียหาย ใช้"คนไข้"ต่อรองตรวจ50คน/วัน ผ่าตัดเข้าคิว6เดือน
ดันรพ.ศูนย์ดีเดย์1พ.ย. (มติชน)
รพ.ศูนย์-รพ. ทั่วไป กดดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองคนไข้ ขึ้นป้ายจำกัดจำนวนตรวจผู้ป่วยนอกไม่เกิน 50 คนต่อวัน ผู้ป่วยผ่าตัดไม่เร่งด่วน รอคิว 6-12 เดือน ถ้าเตียงเต็มจะไม่รับผู้ป่วยเพิ่มอีก ประกาศทำพร้อมกันทั่วประเทศ 1 พ.ย. รองประธาน สผพท. ยื่นรายชื่อชาวร้อยเอ็ด 12,000 ชื่อ ที่คัดค้านร่างกฎหมายให้ "จุรินทร์"


หลังเครือข่ายประชาชนชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลเรียกร้องให้ผลักดันร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ภายในสมัยประชุมนี้ ขณะที่สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) ออกมาแสดงท่าทีตอบโต้ด้วย 3 มาตรการ ทั้งยืดเวลาตรวจ รับผู้ป่วยตามสภาพ และหยุดงาน พร้อมทั้งยังรวบรวมรายชื่อแพทย์ บุคลากรสาธารณสุขและประชาชน 20,000 รายชื่อ ยื่นต่อประธานวุฒิสภา ถอดถอนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พ้นตำแหน่ง เพราะเห็นว่ามีพฤติกรรมส่อทุจริตต่อหน้าที่นั้น


เมื่อ วันที่ 6 ตุลาคม นพ.ศิริชัย ศิลปอาชา ที่ปรึกษาสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) เปิดเผยว่า จะเสนอให้ รพศ./รพท.ที่สมัครใจติดป้ายบริเวณหน้าโรงพยาบาล เพื่อประกาศถึงรูปแบบการปรับระบบบริการตรวจดูแลรักษาคนไข้ให้เป็นไปตาม มาตรฐาน โดยมีใจความว่า คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) โทรศัพท์ 0-2590-2304 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โทรศัพท์ 0-2962-2345 และกระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 0-2590-1000 มีนโยบายผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... โรงพยาบาลจึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน ดังนี้

1.ตรวจผู้ป่วยนอก ไม่เกิน 50 คนต่อวัน ในแต่ละห้องตรวจ

2.ผู้ป่วยนอกฉุกเฉินจะต้องรอคิวตามอาการที่เร่งด่วนมากกว่า

3.ผู้ป่วยผ่าตัดที่ไม่เร่งด่วน รอคิวตามมาตรฐานยุโรป 6-12 เดือน

4.ผู้ป่วยผ่าตัดเร่งด่วน จะได้รับการดูแลตามมาตรฐาน และ

5.เมื่อเตียงเต็มจะไม่รับผู้ป่วยเพิ่มเติม ให้ใช้โรงพยาบาลใกล้เคียง

และควรเริ่มถือปฏิบัติพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้น และหากไม่เห็นด้วยกรุณาแจ้งหน่วยงานข้างต้น


ขณะ ที่ นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ รองประธาน สผพท. กล่าวว่า ในวันที่ 7 ตุลาคม เวลา 10.00 น. ตัวแทนกลุ่มแพทย์และบุคลากรวิชาชีพสาธารณสุขจะขอเข้าพบนายจุรินทร์ที่รัฐสภา เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครอง พร้อมทั้งจะยื่นรายชื่อประชาชนชาว จ.ร้อยเอ็ด 12,000 ชื่อ ที่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้ด้วย


น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ขณะนี้ภาคประชาชนกำลังหารือว่าจะเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการเสริมสร้างความ สมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุขในวันที่ 12 ตุลาคมนี้หรือไม่ เนื่องจากเกรงว่าจะเหมือนครั้งที่ผ่านมา ที่มีกลุ่มแพทย์วอล์กเอ๊าต์อีก อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวคิดว่าไม่น่ามีปัญหา และอยากให้กลุ่มแพทย์เข้าร่วมการประชุมในวันดังกล่าวเช่นกัน ก่อนที่จะมาพิจารณาถึงมาตรการเคลื่อนไหวต่างๆ โดยเฉพาะการหยุดงาน เชื่อว่าแพทย์ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย


ด้าน นายจุรินทร์ให้สัมภาษณ์ว่า มั่นใจว่า ได้ดำเนินการทุกอย่างเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ส่วนการยื่นถอดถอนนั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า หากจะมีการถอดถอนก็สามารถทำได้ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ แต่ตนยืนยันว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมาย หรือขัดกับรัฐธรรมนูญ ตามข้อกล่าวหาที่ปรากฏในข่าวแต่อย่างใด  และมั่นใจว่าตนได้ดำเนินการทุกอย่างเพื่อประโยชน์โดยส่วนรวม
.........................................................................

แพทยสภาชี้ตรวจคนไข้น้อยไม่ผิดจรรยาบรรณ อ้างทำงานละเอียด สหพันธ์แพทย์ฯแจง3ข้อค้านร่างกม.คุ้มครองฯ (มติชน)

กรณีความขัดแย้งในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ...ระหว่างผู้รับบริการ และผู้ให้บริการสาธารณสุข นำไปสู่การเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลในรูปแบบต่างๆ ซึ่งล่าสุดสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) ใช้มาตรการปรับระบบให้บริการตรวจรักษาคนไข้ตอบโต้หากมีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรนั้น

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของแพทย์ไม่ถือว่าขัดต่อจรรยาบรรณแพทย์ เนื่องจากการตรวจวินิจฉัยที่นานขึ้นย่อมน่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนไข้มากกว่า เพราะจะช่วยลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากในต่างประเทศการตรวจวินิจฉัยคนไข้จะใช้เวลานาน ไม่ได้เป็นมาตรฐานตายตัว ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ ยกตัวอย่างประเทศเยอรมนี สหรัฐอเมริกา การตรวจวินิจฉัยคนไข้จะใช้เวลาเฉลี่ย 20 นาทีต่อคน ขณะที่ประเทศไทยใช้เวลาเฉลี่ย 3 นาทีต่อคน ซึ่งแตกต่างกันมาก

"การตรวจวินิจฉัยที่นานขึ้นไม่ถือว่าผิดจรรยาบรรณแพทย์ แต่อาจจะดีต่อระบบบริการสาธารณสุข ทำให้เป็นระเบียบยิ่งขึ้น และยังส่งผลต่อคุณภาพการบริการและรักษา แต่หากมีมาตรการอื่นๆ ร่วม เช่น หยุดงานที่ส่งผลกระทบต่อคนไข้แผนกฉุกเฉิน ก็ถือว่าผิดจรรยาบรรณ ซึ่งผมไม่อยากเห็นการเคลื่อนไหวลักษณะนี้ และเชื่อว่าจะเป็นเพียงการพูด แต่ไม่ทำมากกว่า เพราะแพทย์ทุกคนทราบดีว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ"

ด้าน นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า แนวทางการเคลื่อนไหวที่ห้ามดำเนินการโดยเด็ดขาดคือ ห้ามดำเนินการใดๆ ที่ส่งผลต่อผู้ป่วยใน และผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยผู้ป่วยดังกล่าวจะต้องได้รับการดูแลรักษา แพทย์จะปฏิเสธไม่ได้เด็ดขาด ส่วนมาตรการที่ระบุว่าจะตรวจผู้ป่วยนอกในแต่ละห้องตรวจไม่เกิน 50 คนต่อวันนั้น การกำหนดจำนวนผู้ป่วยที่จะเข้ารับการตรวจเป็นแนวทางที่โรงพยาบาลบางแห่ง ดำเนินการอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดมาตรฐานที่ดี

"แต่ก็ต้องยอมรับว่าโรงพยาบาลของรัฐส่วนใหญ่แพทย์ต้องทำงานอยู่บนความเสี่ยง เพราะแพทย์บางคนจะต้องตรวจคนไข้ถึงวันละ 200 คน ขณะที่ตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่แพทย์ก็จะต้องตรวจคนไข้เฉลี่ยที่วันละกว่า 100 คน เข้าใจว่ามาตรการนี้ของสมาพันธ์ก็เพื่อต้องการลดความผิดพลาด แต่ยังคงไม่มีการดำเนินการในขณะนี้ เพราะหากดำเนินการขึ้นมาแล้วจะเกิดผลกระทบต่อประชาชนแน่นอน"

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า เห็นว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มแพทย์สมาพันธ์ รพศ./รพท. เป็นคนละเรื่องกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากโดยหลัก พ.ร.บ.ต้องการให้การเยียวยาผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายโดยไม่พิสูจน์ถูกผิด คือ จะไม่มีการเอาผิดแพทย์ ส่วนกรณีไม่เห็นด้วยในรายละเอียดบางมาตราของร่าง พ.ร.บ. ก็สามารถหารือกันได้ แต่ควรหันหน้าและพูดคุยถึงจุดร่วมกันจะดีที่สุด การเคลื่อนไหวต่างๆ ไม่ว่าจะฝ่ายใดก็ตามควรคำนึงใน 3 เรื่องประกอบกัน คือ 1.ต้องมีหัวใจความเป็นมนุษย์ 2.ต้องมีส่วนร่วมในการหารือเพื่อหาข้อยุติ และ 3.ต้องไว้วางใจซึ่งกันและกัน หากคำนึงถึงเรื่องนี้ประโยชน์ก็จะตกเป็นของส่วนรวม

ขณะ ที่ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า คิดว่าเป็นเพียงความคิดเห็นของแพทย์บางคนเท่านั้น และขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการเสริมสร้างความ สมานฉันท์

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีผลการสอบสวนวินัยข้าราชการ 5 ราย ที่คณะกรรมการสอบสวนวินัยข้าราชการ สธ.สอบสวนตามผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการไทยเข้มแข็ง สธ. นพ.ไพจิตร์กล่าวว่า ยังไม่เห็นรายละเอียดรายงานสรุปผลการตรวจสอบดังกล่าว ทั้งๆ ที่เป็น 1 ใน 5 ข้าราชการที่ถูกสอบสวนครั้งนี้ แต่ที่ผ่านมาก็เชื่อมั่นในตนเองมาตลอด และพร้อมอโหสิกรรมให้ ทั้งนี้ ในส่วนของกรณี นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการ สธ.เขต 6 ที่คณะกรรมการเสนอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนอีก 1 ชุดนั้น ขอศึกษารายงานอย่างละเอียดก่อน

เมื่อ เวลา 10.00 น. วันที่ 7 ตุลาคม นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ รองประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) นำตัวแทนกลุ่มแพทย์ที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจำนวน 8 คน เข้าพบนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่รัฐสภา โดยไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้ารับฟัง  ก่อนที่ทั้งหมดจะออกไปหารือกันต่ออีกที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งเขตพระนคร ใช้เวลานานกว่า 5 ชั่วโมง


จาก นั้น นพ.ฐาปนวงศ์แถลงที่กระทรวงสาธารณสุขว่า การเข้าพบครั้งนี้เพื่อชี้แจงข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับมาตราต่างๆ ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และเหตุผลในการคัดค้าน ซึ่งมีอย่างน้อย 3 ข้อ คือ 1.ร่าง พ.ร.บ.ไม่เป็นธรรม ไม่สมดุล เอนเอียง ก่อให้เกิดความไม่สบายใจต่อผู้ให้บริการสาธารณสุข 2.การจัดตั้งกองทุนตาม พ.ร.บ.พบว่ามีการใช้เงินแผ่นดินจำนวนมหาศาลราว 10,000 ล้านบาท ใน 1-2 ปีข้างหน้า จึงเกิดข้อสงสัยว่าเหตุใดต้องนำภาษีประชาชนมาไว้กับกองทุนนี้ ที่สำคัญเงินที่เหลือไม่ต้องคืนคลัง และจะมีผู้ที่เข้ามารับผิดชอบดูแลกองทุนเป็นคนกลุ่มเดิมๆ ที่เคยต่อสู้ให้เกิดกองทุนต่างๆ มากมาย และ 3.จะต้องมีการทำประชาพิจารณ์ ศึกษาข้อดีข้อเสียกับผู้ที่อยู่ในกฎหมายทั้งหมด แต่การเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้ กลับไม่ได้ดำเนินการ

นพ.ฐาปนวงศ์แถลงอีกว่า จากนี้จะขอดูท่าทีการประชุมคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในระบบบริการ สาธารณสุข ในวันที่ 12 ตุลาคมนี้ จึงจะกำหนดท่าที่การเคลื่อนไหวต่อไป และหากสภาผู้แทนราษฎรไม่หยิบยกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากระบบบริการสาธารณสุข พ.ศ..ที่กลุ่มแพทย์ บุคลากร และประชาชนร่วมกันเสนอขึ้นมาพิจารณา กลุ่มแพทย์จะมีมาตรการตอบโต้ทันทีแน่นอน

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ขอร้องให้แพทย์ที่คัดค้านหยุดใช้ผู้ป่วยเป็นตัวประกัน เพราะการเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากจะให้เกิด แต่เป็นเรื่องจำเป็นพื้นฐาน จึงขอเรียกร้องให้เปิดเผยความต้องการกฎหมายในแต่ละมาตราว่าต้องการปรับแก้ อย่างไร และขอให้ สธ.ดำเนินการเตรียมมาตรการรองรับการตรวจละเอียดหากแพทย์ดำเนินการจริง และเรียกร้องแพทยสภาให้สอบสวนจริยธรรมของแพทย์ที่ใช้มาตรการวิชาชีพที่จำเป็นต่อชีวิตข่มขู่ประชาชน
.................................................................................................

"หมอประเวศ" แนะชะลอพิจารณาพ.ร.บ.แล้วหันหน้าเข้าหากัน
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 7 ตุลาคม 2553

วิป รัฐบาลโยนกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพเคลียร์ฝ่ายหนุน-ค้าน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ส่วนวิปรัฐบาลพร้อมดันเข้าสภาหาก 2 ฝ่ายพอใจ "หมอประเวศ" แนะชะลอพิจารณาพ.ร.บ. หันหน้าเข้าหากัน ด้าน "หมอมงคล" เสนอตั้งนักกฎหมายที่เป็นคนกลางให้มาร่วมพิจารณาร่างกฎหมายในชั้นกรรมาธิการ
       

       นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการนำ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ว่า วิปรัฐบาลรู้สึกห่วงใยในความขัดแย้งของทั้งสองกลุ่มคือผู้ให้บริการและผู้รับบริการ แต่ล่าสุดเมื่อวานนี้ (7 ต.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รมว.สาธารณสุขได้เชิญตัวแทนแทพย์มาหารือร่วมกันปรากฏว่าได้มีการทำความเข้าใจเป็นไปได้ด้วยดี และวันที่ 12 ต.ค.นี้ จะมีการเชิญตัวแทนทั้งสองฝ่ายเข้าหารือกัน วิปรัฐบาลจึงสนับสนุนให้กระทรวงสาธารณสุขทำความตกลงเพื่อให้ทุกภาคส่วนที่ เกี่ยวข้องเกิดความเข้าใจกันก่อน ซึ่งเมื่อถึงตรงนั้นวิปรัฐบาลก็พร้อมที่จะนำร่าง พ.ร.บ.นี้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภา
       
       "อย่างไรก็ตาม การที่จะให้เอาร่าง พ.ร.บ.เข้าสู่สภา แล้วทำให้ประชาชนตีกัน ก็ถือว่าไม่ได้ประโยชน์ หากยังคุยกันไม่ได้ วิปรัฐบาลก็ลำบากใจ แต่ดูท่าทีวันนี้แล้วคิดว่าเป็นไปอย่างค่อนข้างดี"
       
       ทั้งนี้การที่สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ตั้งเงื่อนไข 5 ข้อ คัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข โดยเสนอให้โรงพยาบาลที่สมัครใจติดป้ายหน้าโรงพยาบาลเพื่อปรับระบบบริการตรวจ รักษาคนไข้ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ได้แก่ ตรวจผู้ป่วยนอกไม่เกิน 50 คนต่อวันในแต่ละห้องตรวจ ผู้ป่วยนอกฉุกเฉินต้องรอคิวตามอาการเร่งด่วนมากกว่า ผู้ป่วยผ่าตัดที่ไม่เร่งด่วนรอคิว 6-12 เดือน ดูแลผู้ป่วยผ่าตัดเร่งด่วนตามมาตรฐาน และเมื่อเตียงเต็มจะไม่รับผู้ป่วยเพิ่มเติม ให้ใช้โรงพยาบาลใกล้เคียง โดยจะเริ่มปฏิบัติวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ หรือทันทีที่ร่างกฎหมายเข้าสภาผู้แทนราษฎร ถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในจรรยาบรรณวิชาชีพแพทย์ ซึ่งมีหน้าที่รักษาคนไข้ การเอาผู้ป่วยเป็นตัวประกันเพื่อกดดันให้รัฐบาลดึงร่างกฎหมายดังกล่าวออกจากสภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นสิ่งที่ถูกมองว่าไม่สมควร โดย น.พ.มงคล ณ สงขลา ประธาน คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ เสนอทางออกด้วยการตั้งนักกฎหมายที่เป็นคนกลางให้มาร่วมพิจารณาร่างกฎหมายในชั้นกรรมาธิการด้วย
       
       ขณะที่ น.พ.ประเวศ วะสี นักวิชาการ เห็นว่า ขณะนี้ทั้งสองฝ่ายต่างมีอารมณ์โกรธ จึงจำเป็นต้องชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ไว้ก่อน จากนั้นทั้งสองฝ่ายก็หันหน้ามาพูดคุยด้วยความเห็นอกเห็นใจกัน โดยตั้งวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนว่า จะทำอย่างไรเพื่อลดปัญหาการฟ้องร้องแพทย์ให้น้อยลง