ผู้เขียน หัวข้อ: พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเตี้ยโดยรัฐมนตรีสาธารณสุขและเอ็นจีโอ  (อ่าน 1848 ครั้ง)

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเตี้ยโดยรัฐมนตรีสาธารณสุขและเอ็นจีโอ

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธรณสุขแห่งประเทศไทย

(สผพท.)

   สืบเนื่องจากบทความเรื่อง “แพทย์-ผู้ป่วย หันหน้าคุยกันดีกว่า” ของคุณสิรินาฏ ศิริสุนทร ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่5 ตุลาคม 2553 หน้า 11 คอลัมน์ “จับกระแส” เกี่ยวกับพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... ฉบับของรัฐบาล  โดยมีข้อความโดยย่อว่า อยากเห็นแพทย์และผู้ป่วยหันหน้าคุยกัน โดยอ้างว่าฝ่ายผู้ป่วยที่เป็นเครือข่ายประชาชนกล่าวอ้างว่า มีแพทย์กลุ่มไหนบ้างที่คัดค้าน และอ้างว่า “เครือข่ายผู้ป่วยเองยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้ทำให้แพทย์มั่นใจในการรักษาเพราะหากมีการผิดพลาด ก็จะมีกลไกรับภาระแทน”

  จะเห็นได้ว่าผู้เขียนบทความจับกระแสคนนี้ ยังไม่ได้อ่านร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... ฉบับของรัฐบาล เพราะถ้าเธออ่านพ.ร.บ.นี้ทุกมาตรา ไม่ใช่อ่านเฉพาะหลักการและเหตุผลในการร่างกฎหมายแล้ว เธอ จะเข้าใจได้เลยว่า พ.ร.บ.นี้ไม่สามารถ “ทำให้แพทย์มั่นใจในการรักษาเพราะหากมีการผิดพลาด ก็จะมีกลไกรับภาระแทน”  อย่างที่เครือข่ายประชาชนกล่าวอ้าง

    ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบผลของพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ให้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเสียหายจากการเขียนข่าวของหนังสือพิมพ์ดังนี้ มีคนอ่านหนังสือพิมพ์อ้างว่า ได้รับผลเสียหายจากการเขียนข่าวของนักข่าวที่มีอคติ ใส่ร้ายให้ประชาชนคนหนึ่งให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและถูกดูถูกเกลียดชังจากคนทั่วไป ผู้เสียหายไม่อยากเสียเวลาไปฟ้องศาล เพราะคิดว่าเสียเวลาค้าความ และกินเวลานานกว่าที่ศาลจะตัดสินคดี และอาจะไม่ชนะคดี ก็เลยพากันตั้งเครือข่ายผู้เสียหายจากการลงข่าวของนักข่าว และไปพยายามผลักดันรัฐบาลให้ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการเขียนข่าวของหนังสือพิมพ์ พ.ศ. .... โดยมีการเรียกเก็บเงินจากสำนักงานหนังสือพิมพ์ฉบับละ 5 บาท(ทุกฉบับ)เข้ากองทุน ถ้าสำนักพิมพ์ไหนไม่จ่ายเงิน ให้คิดเป็นค่าปรับร้อยละ 2 บาทต่อเดือน  และถ้ายังดื้อดึงไม่จ่ายทั้งเงินสมทบและค่าปรับ ก็สามารถฟ้องศาลปกครองให้บังคับให้จ่ายเงิน หรือไปยึดทรัพย์สำนักพิมพ์มาจ่ายเงินนั้นๆ

  นอกจากนั้น ถ้าประชาชนไปร้องเรียนคณะกรรมการตามพ.ร.บ.นี้แล้ว นักข่าวหรือสำนักพิมพ์นั้นต้องทำหนังสือชี้แจงหรือไปให้ปากคำแก่คณะกรรมการ ถ้าขัดขืนไม่ทำตามคำสั่งของคณะกรรมการ จะมีโทษจำคุก 6 เดือน หรือปรับ 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

  ยังมีเขียนไว้ในพ.ร.บ.อีกว่า คณะกรรมการที่จะมาตัดสินว่า นักข่าวนั้นเขียนข่าวบิดเบือนไร้มาตรฐานหรือจรรยาบรรณหรือเปล่า คณะกรรมการนี้ มีผุ้ที่มาจากวิชาชีพสื่อสารมวลชนหรือสภาวิชาชีพหนังสือพิมพ์เป็นเสียงส่วนน้อย ส่วนใหญ่มาจากผู้ที่ไม่ใช่ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน และเป็นเอ็นจีโอด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสื่อ

 ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ  ในพ.ร.บ.กำหนดไว้ว่า ประชาชนที่อ้างว่าเสียหายนั้น มีสิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการเพื่อขอทั้งค่าช่วยเหลือเบื้องต้นและค่าชดเชยความช่วยเหลือและค่าชดเชยทั้ง 2 คณะ ก็ยังมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการได้อีกทั้ง ต่อคณะกรรมการ พิจารณาเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและ คณะกรรมการพิจารณาค่ชดเชยทั้ง 2 คณะ  และถ้าผู้ร้องไม่พอใจจำนวนเงินที่คณะกรรมการพิจารณาจ่ายให้ ก็อาจนำคดีไปฟ้องทั้งศาลแพ่งและศาลอาญาได้อีก

  ถ้าศาลตัดสินให้สำนักพิมพ์หรือนักข่าวจ่ายเงินให้ผู้เสียหาย กองทุนที่เก็บเงินสำนักพิมพ์ล่วงหน้าไปแล้ว จะจ่ายเงินจากกองทุนตามคำสั่งศาลหรือไม่ก็ได้ (ถ้ากองทุนไม่จ่าย สำนักพิมพ์หรือผู้ถูกฟ้องก็ต้องจ่ายเอง ทั้งๆที่กองทุนเรียกเก็บเงินล่วงหน้าไปแล้ว)

และถ้าศาลตัดสินว่านักข่าวไม่ได้ทำผิด ไม่ได้ละเมิดผู้ฟ้อง ผู้ฟ้องยังมีสิทธิกลับมาขอเงินค่าเสียหายจากกองทุนได้อีก ท่นผู้อ่านทั้งหลายเคยเห็นกฎหมายฉบับใด ที่เขียน “ให้” แก่ “ประชาชนคนอ่านหนังสือพิมพ์ฝ่ายเดียว” อย่างนี้บ้าง แต่ถ้าผู้ทำหนังสือพิมพ์หรือนักข่าว ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินของคณะกรรมการตามพ.ร.บ.ใหม่นี้ ท่านมีสิทธิอย่างเดียวในการคัดค้านคำตัดสินของคณะกรรมการคือ ต้องไปฟ้องศาลปกครองเป็นช่องทางเดียวเท่านั้น

นอกจากนั้นถ้าสำนักพิมพ์ไหนถูกร้องเรียนและจ่าค่าเสียหายไปแล้ว ได้อบรมสั่งสอนให้นักข่าวปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานการเขียนข่าว หรือบรรณาธิการได้สำนึกในความผิดแล้ว พ.ร.บ.ยังอาจจะนำความเห็นของคณะกรรมการไปอ้างต่อศาลให้ปราณีลดโทษจำคุกในคดีอาญาก็ได้ และคณะกรรมการอาจลดหย่อนอัตราการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนก็ได้ (ส่วนสำนักพิมพ์ที่ไม่เคยถูกร้องเรียน ยังไม่ต้องจ่ายค่าช่วยเหลือและค่าชดเชย ยังไม่มีโอกาสปรับปรุงคุณภาพมาตรฐาน ยังไม่มีสิทธิ “สำนึก” ในความผิด ก็ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนในอัตราเดิมต่อไป ไม่มีสิทธิได้รับส่วนลดเงินจ่ายสมทบเลย

   เปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนอย่างนี้แล้ว ท่านนักข่าวจะพอเข้าใจสาระของพ.ร.บ.ที่เอ็นจีโอสาธารณสุขและรัฐมนตรีสาธารณสุขกำลังผลักดันจะให้ออกมาเป็นกฎหมายใช้บังคับอยู่หรือไม่ แล้วสำนักพิมพ์และนักข่าวยังจะยอมหันหน้าไปคุยกับผู้ผลักดันกฎหมาย ที่ดูแล้ว เหมือนเป็นการ “ตั้งศาลเตี้ย” เพื่อชำระแค้นใครบางคนที่เป็นนักข่าวหรือไม่

  ยังมีหมัดเด็ดอีก ในมาตรา 50 ของร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... ฉบับของรัฐบาลยังกำหนดล็อกสเป็คอย่างโจ๋งครึ่ม ให้เอ็นจีโอด้านสาธารณสุข เป็นกรรมการชุดแรก ในการมา “กำหนดระเบียบต่างๆ” ในการเลือกกรรมการชุดถาวรชุดแรก กำหนดกฎเกณฑ์ในการจ่ายเงิน การตัดสิน การจ่ายเบี้ยประชุมและค่าตอบแทนคณะกรรมการอีก

      ยังมีรายละเอียดอีกมากมายในร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....  ซึ่งประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะนักข่าวควรไปหามาศึกษาให้เข้าใจทุกตัวอักษร แล้วจะเห็นเจตนา “ตบทรัพย์” และเจตนา “ตั้งศาลเตี้ย” ดังกล่าว

 ฉะนั้น ถ้าจะเกิดพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการเขียนข่าวของนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์ ตามที่กล่าวมา ท่านนักข่าวทั้งหลายจะยอม “หันหน้ามาคุยกัน”กับเอ็นจีโอและรัฐมนตรีผู้ผลักดันพ.ร.บ.นี้หรือไม่?

 

 ขอสรุปว่าถ้าร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... ฉบับร่างของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นฉบับหลักในการพิจารณาถ้าร่างนี้ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนแล้ว คงไม่สามารถแก้ไขได้อย่างที่รมว.สธ.และเอ็นจีโอกล่าวอ้าง เพราะเป็นพ.ร.บ.ตั้ง “ศาลเตี้ย” มาประหารวงการสาธารณสุขให้ล่มสลาย ประชาชนส่วนรวมจะเสียประโยชน์ มีแต่เอ็นจีโอและผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ที่จะได้ประโยชน์จากกองทุนมากที่สุด