ผู้เขียน หัวข้อ: ไม่อยากแก้แค่ม.41 ก็ควรแก้ทั้งฉบับของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545  (อ่าน 2343 ครั้ง)

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
ไม่อยากแก้แค่ม.41 ก็ควรแก้ทั้งฉบับของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.)
     เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ทำหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ นร 0503/6536 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 นั้น นายกรัฐมนตรี ได้ยื่นร่างพ.ร.บ. 2 ฉบับ เพื่อให้ประธานสภาฯนำเสนอสภาผู้แทนพิจารณา พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับนั้น คือพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... และพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อให้มีการแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 โดยให้โอนภารกิจและงบประมาณทั้งหมดตามมาตรา 41 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไปให้คณะกรรมการที่จะจัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....
  ฉะนั้น ในปัจจุบันนี้ ทั้งนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งบุคคลต่างๆที่สนับสนุนพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... ได้ออกมาพูดว่า ไม่สามารถขยายมาตรา 41 ให้ครอบคลุมประชาชน 63 ล้านคนได้ จึงเป็นการกล่าวโดยปราศจากความคิดเห็นบนรากฐานแห่งความเป็นไปได้ของการแก้ไขกฎหมาย
  เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้เสนอร่างแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เข้าคู่ไปกับการเสนอพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... ต่อประธานรัฐสภาไปแล้ว การแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ย่อมสามารถทำได้ จะขยายความครอบคลุมไปถึงประชาชนทุกคนของประเทศไทยก็ย่อมทำได้ แต่จะต้องถอนร่างพ.ร.บ.ทั้งสองฉบับนั้น ออกมาจากการรอพิจารณาของสภาผู้แทนเสียก่อน เพื่อมาตั้งคณะทำงานพิจารณาศึกษาผลกระทบที่จะมีต่อประชาชนและระบบบริการสาธารณสุขให้ถี่ถ้วน รอบด้าน รอบคอบ โดยรับฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ฟังแต่เสียงเอ็นจีโอแค่หมื่นกว่าคน และฟังแต่เสียงรัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูง(แต่สติปัญญาอาจไม่สูง เพราะถูกบดบังด้วยอวิชชาและความโลภ)ของกระทรวงสาธารณสุข
   และก็ควรถามประชาชนทั้ง 63 ล้านคน ผ่านทางสส.ก็ได้ว่า ประชาชนอยากให้แก้แค่มาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรืออยากให้แก้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. .... ทั้งฉบับเลย ทั้งนี้มีเหตุผลที่ดีมากที่ควรจะแก้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ด้วยเหตุผลดังนี้
1.       ทำไมประชาชนไทยทุกคนต่างก็มีเลข13หลักเป็นเลขประจำตัวประชาชนเหมือนกันทั้งหมดทั้งสิ้น แต่ทำไมรัฐบาลจึงเลือกปฏิบัติต่อประชาชนอย่างไม่เสมอภาคและไม่เท่าเทียมกัน โดยรัฐบาลเลือกให้สิทธิแก่ประชาชนเพียง 47 ล้านคนเท่านั้น ในการได้รับบริการสาธารณสุขครบวงจร(ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ตรวจคัดกรองก่อนเกิดโรค รักษาเมื่อเจ็บป่วยและฟื้นฟูสุขภาพ) แต่รัฐบาลทำไมไม่ยอมให้สิทธิเช่นเดียวกันนี้แก่ลูกจ้างเอกชน ที่ต้องจ่ายเงินของตนเองสมทบกับนายจ้างในอัตราส่วนเท่าๆกัน แต่รัฐบาลสมทบเพียง 0.55 เท่า ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมจึงจะได้รับบริการสาธารณสุขเพียงบางส่วนเท่านั้น และรัฐบาลก็ไม่ให้สิทธิแก่ข้าราชการอีกประมาณ 6 ล้านคนเช่นเดียวกัน
2.       สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บริหารการเงินล้มเหลว ผู้บริหารมีเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เบี้ยประชุมในอัตราสูง แต่ไม่สามารถบริหารการใช้งบประมาณให้เหมาะสม ไม่ตรงตามที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 รัฐบาลควรตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมาย และความสุจริต โปร่งใสด้วย รวมทั้งตรวจสอบว่า เลขาธิการสปสช.ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินให้ตรวจสอบเนื่องจากดำรงตำแหน่งเทียบเท่าข้าราชการระดับสูงหรือไม่
3.       รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะที่รับผิดชอบในการบริหารงานของกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่สามารถบริหารจัดการให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข มีส่วนประกอบที่เป็นหัวใจแห่งความสำเร็จของการบริหารคือ คน เงิน ของให้เพียงพอและเหมาะสมต่อการบริหารงาน โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขขาดบุคลากรทุกระดับ ขาดงบประมาณ(เป็นหนี้และขาดสภาพคล่องทางการเงิน) ขาดวัสดุครุภัณฑ์ เวชภัณฑ์ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลต้องนอนตามระเบียงบ้าง หน้าบันไดบ้าง หน้าห้องส้วมบ้าง โรคระบาดมากมายเช่นไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ มีการระบาดเพิ่มขึ้นมากมายมหาศาล บุคลากรทั้งแพทย์ พยาบาล ต้องทำงานเกินอัตราการทำงานของมนุษย์ปุถุชนที่จะสร้างความปลอดภัยให้ประชาชน
   นับได้ว่ารัฐมนตรีล้มเหลวในการรับผิดชอบบริหารงาน ของกระทรวงสาธารณสุข และสปสช. แต่แทนที่รัฐมนตรีจะคิดแก้ไขการบริหารจัดการใ นความรับผิดชอบของตนให้ดีขึ้น เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เขากลับไม่สนใจที่จะปรับปรุงการบริหารนี้ ดีแต่ใช้งบประมาณจากภาษีประชาชน ไปขึ้นคัทเอ๊าท์ โฆษณาประชาสัมพันธ์สิ่งที่ไม่ใช่หัวใจของงานของกระทรวงสาธารณสุข และยังไปสนับสนุนแต่การออกกฎหมายมาลงโทษข้าราชการ ทั้งๆที่ข้าราชการได้อดทนทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถแล้ว ใครทนไม่ไหวก็ลาออกไป แต่คนที่ทนอยู่นี้ รัฐมนตรีก็ไม่เหลียวแลแก้ไข
  เมื่อรัฐบาลไม่อยากแก้แค่มาตรา 41 ก็ขอให้แก้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งฉบับ ยุบสปสช.หรือยุบกระทรวงสาธารณสุขไปเสีย เปลืองงบประมาณในการบริหารสำนักงาน เอาเงินบริหารเหล่านี้ มาพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข ให้ประชาชนปลอดภัยและบุคลากรแพทย์มีความมั่นใจในการ “เสี่ยง” รักษาผู้ป่วย เพราะการบริการทางการแพทย์นั้น ผลที่ได้รับมันไม่แน่นอน 100% ฉะนั้นเกจิอาจารย์ทางการแพทย์จึงต้องเตือนแพทย์เสมอว่า “First of all,  DO NO HARM” หมายถึงว่า สิ่งแรกในการรักษาผู้ป่วยคือ ต้องระมัดระวังอย่าทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วย เพราะในทางการแพทย์นั้น “เป็นวิทยาศาสตร์แห่งความ “เป็นไปได้(หรือเป็นไปไม่ได้ และเป็นศิลปศาสตร์ของความไม่แน่นอน”
MEDICINE IS A SCIENCE OF PROBABILITY AND AN ART OF UNCERTAINTY” 
  แพทย์ จึงต้องวิเคราะห์อาการของผู้ป่วยแต่ละราย ตามหลักทางวิทยาศาสตร์การแพทย์  และเลือกวิธีการรักษาเฉพาะสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายของตน ตามศิลปศาสตร์การรักษา ที่ได้รับจากครูอาจารย์และประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมา เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัย และอาการป่วยไข้กลับคืนดีดังเดิม
แต่ถึงแม้จะ “เลือก” ใช้ศาสตร์และศิลป์อย่างดีแล้ว ผลที่ได้รับก็อาจจะไม่ดีอย่างที่คิดไว้  จึงสุ่มเสี่ยงต่อ “ผลเสียหาย” ได้  ถ้ามีพ.ร.บ.มาคาดโทษเอาไว้ก่อน แพทย์ก็จะขาดความมั่นใจในการตัดสินใจเลือกรักษา และกระบวนการส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่แพทย์คิดว่าดีกว่า ก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ผลเสียหายย่อมตกแก่ประชาชนที่เจ็บป่วยทุกคน
     ฉะนั้น เมื่อไม่อยากแก้แค่มาตรา 41 ก็ขอเสนอให้แก้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพพ.ศ. 2545 ทั้งฉบับ และให้รัฐมนตรีพิจารณาตัวเองว่าสมควรจะทำอะไรต่อไป เพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าใจผิด และทำลายระบบบริการสาธารณสุขให้ถอยหลังเข้าคลองยิ่งไปกว่านี้