12 กุมภาพันธ์ พ.ศ 2553
เรื่อง ข้อเสนอของสมาพันธ์แพทย์รพศ./รพท. ต่อการแก้ไขปัญหาในกระทรวงสาธารณสุข
เรียน ฯพณฯ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข
สิ่งที่แนบมาด้วย บทความเรื่อง กระทรวงสาธารณสุขจะพัฒนาอย่างไร ของ พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
กระทรวงสาธารณสุขมีปัญหาในเชิงระบบหลายประการอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลายาวนาน การจะแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่บุคลากรผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจะได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขรวมถึงเสนอข้อมูลรอบด้านแก่ผู้บริหาร เพื่อนำไปใช้ประกอบในการวางนโยบายและแผนงานที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่แท้จริง
สมาพันธ์แพทย์รพศ/รพท แห่งประเทศไทย เป็นองค์กรตัวแทนของแพทย์ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยบริการของกระทรวงสาธารณสุข อันประกอบไปด้วยแพทย์ประมาณ 6,000 กว่าคน ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ที่ประสบกับปัญหาดังกล่าวโดยตรง ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบสาธารณสุขไทย นอกจากกระทบถึงขวัญและกำลังใจการทำงานของแพทย์แล้ว ยังส่งผลกระทบถึงผู้ป่วยอีกด้วย เพื่อเป็นข้อมูลแก ฯพณฯ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงสาธารณสุข สมาพันธ์แพทย์รพศ./รพท.แห่งประเทศไทย จึงขอเสนอนำข้อมูลปัญหาและแนวทางการแก้ไขดังนี้ปัญหาและแนวทางแก้ไขดังนี้
1.กรณีปัญหาการตรวจสอบการใช้งบประมาณไทยเข้มแข็ง
คณะกรรมการตรวจสอบยังใช้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับความเป็นจริง มีการเลือกใช้ข้อมูลเพียงบางส่วนไปนำเสนอต่อสาธารณะ การสรุปผลการตรวจสอบหลายกรณีจึงไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ทางสมาพันธ์แพทย์ฯ มีขอเสนอ ดังนี้
1.1 ควรแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเชิงลึกที่ประกอบด้วยบุคคลที่เชื่อถือได้และมีความเป็นกลาง การระบุว่ามีความผิดทุจริตคอรัปชั่น ควรมีหลักฐานที่ชัดเจน มีการกระทำผิดจริง เปิดโอกาสให้ชี้แจง อย่างเท่าเทียมกัน หากพบว่ามีการกระทำผิดก็ควรดำเนินการจนถึงที่สุด
1.2 การจัดสรรงบประมาณควรพิจารณาถึงภาระงานเป็นหลัก ภารกิจบริการทุติยภูมิ และตติยภูมิมีความแตกต่างจากการให้บริการแบบปฐมภูมิในโรงพยาบาลชุมชนและศูนย์สุขภาพชุมชนอย่างสิ้นเชิง บริการปฐมภูมิในโรงพยาบาลชุมชนนั้น มีต้นทุนบริการรวมถึงเทคนิคบริการที่ไม่สลับซับซ้อน ให้บริการประชาชนจำนวนไม่มาก ในขณะที่การบริการแบบทุติยภูมิและตติยภูมินั้นสลับซับซ้อนมากกว่า ใช้เทคโนโลยีบริการที่สูงกว่า ให้บริการที่ครอบคลุมประชากรจำนวนมากกว่า จึงมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าบริการแบบปฐมภูมิ โดยต้นทุนบริการของทั้งสองระบบนั้น จึงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบในด้านของจำนวนและตัวเลขได้
2. ปัญหาการจัดสรรงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
เงินงบประมาณตามรายประชากรส่งไม่ถึงหน่วยบริการทั้งหมด ทั้งนี้ในความเป็นจริง สปสช. ดำเนินการกันเงินส่วนหนึ่งไว้เพื่อจัดทำโครงการอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวการรักษาพยาบาล ทำให้หน่วยบริการประสบภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงิน บางแห่งมีปัญหามากจนอาจไม่สามารถบริหารหน่วยบริการได้ในอนาคตอันใกล้
กรณีนี้สมาพันธ์แพทย์รพศ./รพท. แห่งประเทศไทย มีข้อเสนอดังต่อไปนี้
2.1 ควรแยกงบประมาณที่เป็นเงินเดือนของบุคลากรและค่าตอบแทนออกจาก เงินค่า
รักษาพยาบาล/หัวประชากร
2.2 เสนอให้มีการตรวจสอบ และทบทวนการทำงานของสปสช. เพราะจากบทบาทหน้าที่ในปัจจุบันสปสช.กำลังทำเกินหน้าที่ซึ่งกฎหมายกำหนด การกระทำดัวกล่าวส่งผลกระทบต่อหน่วยบริการเป็นอย่างมาก
3. ปัญหาความขาดแคลนบุคลากร
ขณะนี้เกิดภาวะขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ทุกในระดับ โดยเฉพาะรพศ./รพท. ซึ่งมีภาระงานหนัก รวมถึงภารกิจพิเศษนอกแผนปฏิบัติงาน เนื่องมาจากการที่ สปสช และกระทรวงสาธารณสุขสั่งการลงมาเป็นกรณีพิเศษมาตลอดทั้งปี
3.1 ควรมีการกำหนดมาตรฐานภาระงานที่เหมาะสมของแพทย์ เพื่อประชาชนจะได้รับการดูแลรักษาที่มีคุณภาพ และนำไปสู่การจัดอัตรากำลังของแพทย์ที่ถูกสัดส่วนกับภาระงาน
3.2 กำหนดการร่วมจ่ายของประชาชนในรูปแบบที่เหมาะสม เช่น ในโรคที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ป่วย เช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี่ ฯลฯ หรือการใช้บริการของโรงพยาบาลนอกเวลาราชการของผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะฉุกเฉิน หรือในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการบริการเพิ่มเติมจากบริการพื้นฐานของโรงพยาบาล ควรให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมจ่าย (Copayment) เพื่อสร้างความตระหนักให้กับประชาชนให้มีการดูแลสุขภาพตนเองเป็นอย่างดี รวมถึง เพื่อลดภาระ งานที่ไม่จำเป็นของบุคลากร และลดภาระทางการเงินที่โรงพยาบาลต้องแบกรับ
3.3 จัดสรรเงินงบประมาณเพื่อจ่ายค่าตอบแทนทุกประเภท อย่างเป็นธรรม และพิจารณาเร่งรัดการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานที่ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ชะลอเรื่องไว้ (ตั้งแต่ สตง. ได้ทำหนังสือท้วงติงมา) ทำให้บุคลากร ของ รพศ./รพท. สูญเสียขวัญและกำลังใจเป็นอย่างมาก
3.4 การจัดสรรโควตาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และบุคลากรอื่นๆของโรงพยาบาลต่างๆ ในปัจจุบันนี้ ไม่เป็นไปตามสภาพความต้องการที่แท้จริงของโรงพยาบาลในพื้นที่ มีการจัดสรรบุคลากรให้แก่รพศ./รพท. โดยบุคคลที่ไม่เข้าใจระบบการทำงานในรพศ./รพท. และไม่เข้าใจปัญหาในพื้นที่ต่างๆ อีกทั้งมีการใช้เหตุผลอื่นๆที่ไม่สมควร มากกว่าความจำเป็นของพื้นที่
4. การแยกการบริหารงานบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขออกจากก.พ.
ที่ผ่านมา ก.พ.ไม่เข้าใจงานกระทรวงสาธารณสุข มีการยุบหน่วยงานบางหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขไป (ซึ่งมีส่วนทำให้การบริหารงบประมาณไทยเข้มแข็ง มีปัญหา) ในขณะเดียวกัน กพ. ก็มีนโยบายลดจำนวนข้าราชการลง ในขณะที่บุคลากรทางสาธารณสุขยังมีจำนวนไม่พอเหมาะกับภาระงาน ทำให้เกิดความขาดแคลนบุคลากรในทุกระดับ นอกจากนี้ค่าตอบแทนที่บุคลากรได้รับยังไม่สอดคล้องกับภาระงาน ทั้งยังมีความแตกต่างจากภาคเอกชนค่อนข้างมาก นอกจากนี้กฎระเบียบของ กพ. บางส่วนยังเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหา และการพัฒนางานของโรงพยาบาล
5. ระบบคุณธรรม และหลักการบริหารงานแบบธรรมาภิบาลของกระทรวงสาธารณสุข การบริหารงานในกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านมา ถูกวิพากษ์ วิจารณ์ในหลายกรณีว่าไม่เป็นไปตามนโยบายการกำกับดูแลองค์กรที่ดี (การบรรจุแต่งตั้ง การเลื่อน การย้าย และการโอน เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งระบบการให้รางวัล และการลงโทษ ต้องทำด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ บนพื้นฐานของกฎหมาย ความรู้ ความสามารถ และผลงานอย่างแท้จริง) ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศใช้นโยบายนี้ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. 2552
การบริหารโดยไม่ชอบด้วยคุณธรรม ไม่ยึดหลักธรรมาภิบาลดังกล่าว มีผลกระทบทำให้ข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถจำนวนไม่น้อย ขาดขวัญ และกำลังใจในการทำงาน ประกอบกับนโยบายของท่านรัฐมนตรีสาธารณสุขที่ได้ประกาศเมื่อวันที่20 ม.ค.2553 ว่าจะยึดหลักการ 3 ประการ คือ ความโปร่งใส ความสามัคคี และการมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกันทุกฝ่ายในสังคมสาธารณสุข ทางสมาพันธ์แพทย์รพศ./รพท.แห่งประเทศไทยขอมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ และ ผลักดันให้มีการดำรงไว้ซึ่งระบบธรรมาภิบาลในกระทรวงสาธารณสุข
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการต่อไป เพื่อเป็นคุณูปการแก่วงการสาธารณสุขไทยในปัจจุบัน และอนาคต
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
( พญ. พจนา กองเงิน)