ผู้เขียน หัวข้อ: “หมอประเวศ” เปรียบคนไทยเหมือน “เซลล์สมอง” แนะสื่อตีโจทย์ปฏิรูป  (อ่าน 1476 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
“หมอประเวศ” เปรียบคนไทยเหมือน “เซลล์สมอง” ต้องอาศัยสื่อนำความจริง-เชื่อมโยงพลังผลักเคลื่อนงานปฏิรูปประเทศ แนะอย่างมองปัญหาตื้นๆ แค่ตัวบุคคล ฝากสื่อตีโจทย์ปฏิรูปให้สังคมเข้าถึงง่าย
       
       วันนี้(30 ก.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป(คสป.) กล่าวในการประชุมคณะกรรมการสื่อสารเพื่อการปฏิรูป ใน คสป. ครั้งที่ 2/2553 ที่มีนายมานิจ สุขสมจิตร เป็นประธาน ว่า การสื่อสารเป็นหัวใจสำคัญที่จะเชื่อมโยงปัญหาไปสู่แนวทางแก้ไข แต่การแก้ปัญหาต้องไม่มองแค่ระดับตัวบุคคล ต้องมองให้ลึกถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ กฎหมายที่ยังไม่เป็นธรรม การศึกษาที่ไม่เป็นธรรม ทั้งนี้การทำให้โครงสร้างสังคมเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ คือ ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมคิดร่วมทำ การทำงานของ คสป.ที่ผ่านมาจึงเน้น 2 ประเด็นคือ

1.การส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการทั้ง 14 คณะ อาทิ คณะกรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป คณะกรรมการเครือข่ายผู้ใช้แรงงาน คณะกรรมการเครือข่ายผู้เสียโอกาส เป็นต้น

2.การใช้การสื่อสารเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อเป้าหมายคือทำให้ประชาชนไทยทุกคนกลายเป็นเซลล์สมองของประเทศ
       
       “คนเรามีเซลล์สมองกว่าแสนล้านตัวเชื่อมโยงร่วมกัน เปรียบได้กับประชาชนที่มีเป็นล้านแต่ทุกคนมีเจตจำนงค์เดียวกัน ดังนั้นหากประชาชนทั้งประเทศมีเป้าหมายเดียวกันได้จะเกิดการรวมพลังมหาศาล หาวิธีบินออกจากเข่งของปัญหาได้ โดยการสื่อสารจะต้องเป็นผู้ทำหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ คือ การเชื่อมโยงเซลล์ต่างๆ ให้คนไทยรับรู้ความจริงอย่างทั่วถึง สื่อสารถึงกันได้ และเกิดการเรียนรู้ นอกจากการสื่อสารแล้ว นักวิชาการจะต้องเป็นตัวช่วยสำคัญ ในการทำหน้าที่เป็นผู้ศึกษาข้อมูลความรู้ รับฟังข้อเสนอ เพื่อสังเคราะห์เกิดเป็นนโยบายนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้องได้” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว
       
       ศ.นพ.ประเวศ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเร็วๆ นี้ จากการหารือร่วมกับนายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ เห็นตรงกันว่า ประเด็นที่จะต้องหยิบยกมาปฏิรูปใน 3 เรื่องแรก คือ ปฏิรูประบบการกระจายอำนาจให้แก่ชุมชน ปฏิรูประบบภาษี และปฏิรูปที่ดิน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ควรพิจารณาโดยเฉพาะเรื่องข้อกฎหมายที่จะต้องมีนักวิชาการมาร่วมคิดด้วย ทั้งนี้ตนคาดว่าอาจใช้เวลาประมาณ 1 ปีจากนี้ เพื่อสรุปแนวทาง และเชื่อว่าหากแก้ปัญหาทั้ง 3 ประเด็นนี้ได้ โดยเฉพาะเรื่องการกระจายอำนาจ น่าจะส่งผลต่อการแก้ปัญหาประเทศได้กว่าร้อยละ 80
       
       ด้าน รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สสส. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสื่อสารฯ กล่าวว่า คณะกรรมการสื่อสารฯ มุ่งใช้โจทย์หลัก คือ การสร้างสังคมที่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ โดยจะแสวงหาความร่วมมือกับสื่อแขนงต่างๆ ในด้าน การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร การผลิตเนื้อหาที่นำไปสู่การสร้างจิตสำนึกใหม่ให้สังคม รวมทั้งเปิดเวทีสมัชชาย่อย เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากสื่อทั่วประเทศ รวมทั้งการจัดให้กรรมการสมัชชาปฏิรูปได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับสื่อกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะสื่อในท้องถิ่นตามที่มีข้อเสนอจากกรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรสื่อ ทั้งนี้ เพื่อที่จะช่วยกันทำให้เรื่องการปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย กระตุ้นให้สังคมมาร่วมกันอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ย้ำว่าการทำงานของคณะกรรมการสื่อฯ เป็นการดึงสื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมหนุนเสริมงานปฏิรูปประเทศ แต่ไม่ใช่คณะกรรมการฯ เข้ามาปฏิรูปสื่อ ทั้งนี้ เวทีสื่อครั้งต่อไป จะเป็นการจัดสัมมนาสาธารณะของคณะกรรมการพัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความ รับผิดชอบสื่อมวลชน(คพส.) ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปสื่อภาคพลเมือง ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ในวันที่ 6 ต.ค. เพื่อเป็นเวทีเชื่อมโยงการทำงานสื่อสาขาต่างๆ และให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นด้วย
       
       นางจำนรรค์ ศิริตัน นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กล่าวว่า ขณะนี้สื่อส่วนใหญ่ละเลยความเดือดร้อนของประชาชน กลับไปนำเสนอประเด็นตามกระแส มุ่งเรตติ้งการตลาดเป็นหลัก ดังนั้นคณะกรรมการฯ จะต้องหาแนวทางในการขอความร่วมมือกับสื่อให้นำเสนอรายการหรือเนื้อหาสาระที่ เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาและสร้างความปรองดองในชาติ
       
       นายธนวัฒน์ วันสม ผู้อำนวยการ อสมท. กล่าวว่า ทุกวันนี้ช่องทางสื่อมีหลากหลายมาก โดยเฉพาะสื่อใหม่ จึงเป็นโอกาสและความพร้อมที่จะใช้เป็นพื้นที่หนุนให้เกิดการขับเคลื่อนสังคม เพื่อการปฏิรูปได้ ซึ่งสื่อทุกแขนงก็ยินดีร่วมคิดร่วมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ASTVผู้จัดการออนไลน์    30 กันยายน 2553