คมชัดลึก : กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงการคลัง เตรียมประกาศใช้บัญชียาแผนไทย ในโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุข เพื่อใช้รักษาโรคหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วย ใช้เป็นรายการยาสมุนไพรที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ สามารถเบิกจ่ายได้ คาดใช้ได้ในเดือนมีนาคมนี้
(10ก.พ.) นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขและคณะผู้บริหารระดับสูง เดินทางไปที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น เยี่ยมชมระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และการให้บริการงานแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก และมอบนโยบายการพัฒนางาน
นางพรรณสิริ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายส่งเสริมการใช้การแพทย์แผนไทยและยาสมุนไพรไทย ใช้รักษาโรค อาการเจ็บป่วยต่างๆ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายการซื้อยาแผนปัจจุบันที่มีราคาแพง โดยจะให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ได้แก่ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ใช้ยาสมุนไพรที่มีผลการวิจัยรับรองประสิทธิภาพในการรักษาทดแทนยาแผนปัจจุบันไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ส่วนโรงพยาบาลชุมชนใช้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10
ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ปรับปรุงบัญชียาแผนไทยที่ใช้ในโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุข เพื่อเตรียมประกาศใช้ในการรักษาโรค หรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยของประชาชน เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ โดยสามารถเบิกค่ารักษาได้เช่นเดียวกับยาแผนปัจจุบัน คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งจะทำให้ยาแผนไทยต่างๆ เข้ามามีบทบาทในการรักษาโรค ได้รับการยอมรับจากบุคลากรการแพทย์ ใช้กันอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น และยาแผนไทยมีราคาถูกกว่ายาแผนปัจจุบันหลายเท่าตัว แต่คุณภาพดีไม่แพ้กัน
นางพรรณศิริกล่าวต่อว่า รายการยาไทยที่จะใช้ในโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุขครั้งนี้ จะต้องเป็นยาที่ใช้รักษาโรค หรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยให้ทุเลาลง ไม่รวมยาที่ใช้บำรุงสุขภาพ หรือยาที่ใช้ป้องกันโรค ประกอบด้วยยา 3 ประเภท ได้แก่ 1.ยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติพ.ศ. 2549 ซึ่งมี 19 รายการ ได้แก่ ยาแก้ไข้ห้าราก ยาเขียวหอม ยาเหลืองปิดสมุทร ยาจันทน์ลีลา ยาถ่ายดีเกลือฝรั่ง ยาธาตุบรรจบ ยาประสะกานพลู ยาประสะไพล ยาประสะมะแว้ง ยาหอมเทพจิตร ยาหอมนวโกฐ ขมิ้นชัน ขิง ชุมเห็ดเทศ บัวบก พญายอ พริก ไพล และฟ้าทะลายโจร 2.ยาที่เป็นเภสัชตำรับโรงพยาบาลซึ่งโรงพยาบาลต่างๆผลิตใช้เองทั้งยาสำเร็จ รูป เช่น การผลิตยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ยาที่ผลิตตามคัมภีร์ และยาที่ผลิตจากการศึกษาวิจัยและพัฒนา รวมทั้งยาที่โรงพยาบาลปรุงเพื่อใช้ในผู้ป่วยแต่ละราย และ 3. ยาที่ผลิตมาจากบริษัทเอกชนในประเทศที่ได้มาตรฐานการผลิตที่ดีหรือจีเอ็มพี( GMP ) และผ่านการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว
ขณะนี้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขหลายแห่ง สามารถผลิตยาสมุนไพรที่ มีคุณภาพใช้เองในโรงพยาบาล โดยใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น เช่น ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ จังหวัดปราจีนบุรี โรงพยาบาลดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี หากพัฒนาให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพี ก็สามารถสนับสนุนให้โรงพยาบาลอื่นๆได้