ผู้เขียน หัวข้อ: เปิดโครงการตรวจเลือด “ชายรักชาย” ลดแพร่เอดส์  (อ่าน 900 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
 หวั่น! กลุ่มชายรักชาย-กะเทย ติดเชื้อเอชไอวีสูงขึ้น เปิดโครงการตรวจเลือดและรักษาทันที นำร่อง 3 จังหวัด กทม. ลำปาง อุบลฯ 800 คน หวังลดการแพร่เชื้อ ตั้งเป้า 10 ปี ลดจำนวนผู้ป่วยตาม WHO
       
       วันนี้ (5 พ.ย.) นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวระหว่างแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “Test and Treat : ตรวจเลือดและรักษาทันที” ว่า ปัจจุบันแนวโน้มของผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ในประเทศไทยลดลง เนื่องจากมีการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่อัตราความชุกของการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายกลับมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะใน กทม.พบความชุกร้อยละ 17.3 ในปี 2546 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 31.3 ในปี 2553 ซึ่งสูงกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ ที่สำคัญ กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ เพราะไม่เคยไปตรวจ ซึ่งข้อมูลจากการเฝ้าระวังปี 2553 พบว่า มีเพียงร้อยละ 15 ของกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายเท่านั้นที่เคยตรวจเลือด และทราบผลการตรวจการติดเชื้อเอชไอวี ขณะที่บางคนไปตรวจ แต่ไม่กลับมาฟังผล จึงกลายเป็นแหล่งสำคัญในการส่งต่อเชื้อไปให้คนอื่น


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

       “ช่วง 8 ปีที่ผ่านมา มีผู้ที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ซึ่งกลุ่มอื่นๆ ไม่เพิ่มขึ้นขนาดนี้ และที่น่ากลัวใน กทม.พบถึงร้อยละ 30 หรือ 1 ใน 3 คน โดยส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวเลย ขณะที่ต่างจังหวัดอย่างลำปาง และอุบลราชธานี พบร้อยละ 8-10 ของผู้ติดเชื้อ ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยง จึงจำเป็นต้องมีการรณรงค์ให้เข้ามาตรวจเลือด เพื่อหาเชื้อและได้รับยาต้านไวรัสโดยเร็ว ซึ่งปัจจุบันได้กำหนดเกณฑ์การให้ยาต้านไวรัสฯ ที่ระดับภูมิคุ้มกันของเม็ดเลือดขาว หรือ ค่าซีดีโฟว์ (CD4) เร็วขึ้นที่ระดับ 350 ซึ่งจะช่วยให้การแพร่เชื้อลดลง จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ลดลงเหลือปีละ 4-5 พันคน หากมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดเหลือศูนย์ ซึ่งจากการให้ยาต้านไวรัสฯใน 1 เดือน การพบเชื้อเริ่มลดลง จึงเกิดโครงการดังกล่าวขึ้น แต่ที่สำคัญคือต้องลดการตีตราด้วย” อธิบดี คร.กล่าว
       
       นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นโครงการนำร่องในการดึงกลุ่มเสี่ยง คือ กลุ่มชายรักชาย และสาวประเภทสอง มาตรวจเลือด เนื่องจากพบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะใน 3 จังหวัด คือ กทม. ลำปาง และ อุบลราชธานี จำนวน 800 คน หากพบเชื้อจะได้รับยาต้านไวรัสฯทันที เพื่อช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อและจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ให้เหลือน้อยที่สุดจนเป็นศูนย์ อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวจะเน้นความสมัครใจและจะใช้วิธีการตรวจเลือดแบบทราบผลในวันเดียว
       
       ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า สาเหตุของการติดเชื้อส่วนใหญ่มาจากการแพร่เชื้อของผู้ติดเชื้อที่ไม่รู้ตัว จึงจำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสฯ โดยข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า หากผู้ป่วยรายใดได้รับยาต้านไวรัสฯ ถึง 6 เดือนจะไม่แพร่เชื้อเลย เนื่องจากปริมาณเชื้อในสารคัดหลั่งจะน้อยมาก จนแทบไม่มี ด้วยเหตุนี้จึงต้องตรวจเชื้อ เพื่อให้พบโดยเร็ว จะช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อได้ สอดคล้องกับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เคยระบุว่า หากทำได้จะช่วยลดการแพร่เชื้อ และลดการติดเชื้อได้ภายใน 10 ปี ดังนั้น ในหลายๆ ประเทศจึงหันมาทำโครงการลักษณะนี้ สำหรับไทยก็ให้ความสนใจ จึงเกิดโครงการดังกล่าวขึ้น แต่ปัญหาคือ ต้องทำให้ได้จริง โดยจะทำอย่างไรให้คนมาตรวจอย่างสมัครใจ และต้องทานยาอย่างสม่ำเสมอ โดยโครงการนี้จึงเป็นโครงการนำร่องในการเลือกกลุ่มชายรักชายที่มีความเสี่ยงจำนวน 800 คนจาก 3 จังหวัด แบ่งเป็น กทม.600 คน ลำปาง และอุบลราชธานี อย่างละ 100 คน เพื่อทำการศึกษา ว่า เมื่อตรวจพบเชื้อและมีการทานยาต้านไวรัสฯอย่างสม่ำเสมอ จะมีผลลัพธ์เป็นอย่างไร ช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อได้มากน้อยแค่ไหน จากนั้นจึงจะขยายไปยังกลุ่มอื่นๆ ต่อไป
       
       “ขณะนี้หลายประเทศกำลังมองมาที่ไทย ว่า จะทำสำเร็จหรือไม่ โครงการนี้จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะอาสาสมัคร ซึ่งจะเริ่มรับอาสาสมัครตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย.นี้เป็นต้นไป ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกนิรนาม สภากาชาดไทย โรงพยาบาลลำปาง ศูนย์แพทย์ชุมชนท่าวังหิน และ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี หรือโทร.สายด่วนปรึกษาเอดส์แห่งชาติ 1663 และ 02-253-0996 หรือเข้าไปในเว็บไซต์ www.adamslove.org” ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ กล่าว
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีสิทธิประโยชน์ใดเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ กล่าวว่า จริงๆ คนไทยทุกคนทุกสิทธิสามารถตรวจเอดส์ได้ปีละ 2 ครั้ง แค่แสดงบัตรประจำตัวประชาชน ขณะเดียวกันมีคนไข้ในยาต้านไวรัสฯราว 2 แสนคน โดยหลักสำคัญ คือ คนที่มาตรวจนั้น สปสช.มีระบบในการรักษาความลับผู้ตรวจเชื้อฯ โดยจะปรับจากเลข 13 หลัก เป็นรหัสเฉพาะ เพื่อลดการตีตราด้วย ตรงนี้จึงไม่ต้องกังวล อีกทั้ง ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ใครก็ตามที่มีค่าซีดีโฟร์ หรือปริมาณเม็ดเลือดขาวที่ระดับ 350 ให้สามารถรับยาต้านไวรัสฯ ได้ทันที


ผู้จัดการ