ผู้เขียน หัวข้อ: จุดเปลี่ยนสำคัญ ผ่าตัดเด็กโรคหัวใจ  (อ่าน 1189 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
จุดเปลี่ยนสำคัญ ผ่าตัดเด็กโรคหัวใจ
« เมื่อ: 02 พฤศจิกายน 2012, 23:58:08 »
เพียงรู้ว่าคนใกล้ตัวป่วยด้วยโรคหัวใจ ก็ให้ความรู้สึกน่าเป็นห่วงไม่ใช่น้อย ถ้าโรคนี้เกิดขึ้นกับเด็กแรกเกิด ก็ยิ่งน่าห่วงเข้าไปใหญ่ หากดูกันเฉพาะโรคหัวใจในเด็กแรกเกิดนั้น นายแพทย์สัมพันธ์ พรวิลาวัณย์ ศัลยแพทย์หัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เล่าให้ฟังว่า สถานการณ์ทั่วโลกเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ เด็กเกิดใหม่ 1,000 คน จะพบประมาณ 8 คนที่ป่วยเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด ขณะที่บ้านเรา แต่ละปีมีเด็กเกิดมาพร้อมกับการป่วยโรคหัวใจราว 8,000 คน และในจำนวนนี้ มีประมาณ 4,000 คน จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดอย่างรวดเร็ว บางรายอาจต้องนำเข้าผ่าตัดเร็วมาก เช่น ภายใน 1 สัปดาห์หลังคลอด มิเช่นนั้นอาจเสียชีวิตได้

นพ.สัมพันธ์ บอกอีกว่า เด็กที่ป่วยเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด กว่าร้อยละ 90 ไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรค เพราะไม่เกี่ยวข้องกับยีนหรือพันธุกรรม ยาหรือการตั้งครรภ์ของแม่ แต่อีกร้อยละ 10 นั้น มีสาเหตุมาจากพ่อแม่ป่วยเป็นโรคหัดเยอรมัน หรือเป็นเพราะโรคทางกรรมพันธุ์บางอย่าง เช่น ดาวน์ซินโดรม เมื่อถูกถ่ายทอดไปยังลูก เด็กคนดังกล่าวก็จะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจมากกว่าเด็กธรรมดา

สำหรับลักษณะความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจของเด็กๆ นั้น นพ.สัมพันธ์ ระบุว่า สามารถจัดแบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีปัญหาผนังหัวใจรั่ว กลุ่มที่มีปัญหาลิ้นหัวใจตีบ และกลุ่มที่มีปัญหาโรคหัวใจซับซ้อน โดยสองกลุ่มแรกจะพบได้มากกว่า แถมยังเป็นสองกลุ่มที่ผ่าตัดรักษาได้ง่าย ส่วนกลุ่มโรคหัวใจซับซ้อน

นพ.สัมพันธ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจรวมกันหลายอย่าง เช่น เส้นเลือดใหญ่สลับขั้ว ผนังหัวใจรั่ว และลิ้นหัวใจตีบ ซึ่งมีราวร้อยละ 30 ที่ป่วยในกลุ่มซับซ้อน ที่สำคัญ ผู้ป่วยเด็กในกลุ่มนี้ต้องได้รับการผ่าตัดโดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญ ทั้งนี้เชื่อว่าทั่วประเทศ มีอยู่ 10-15 โรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนสามารถผ่าตัดแบบซับซ้อนนี้ได้ ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ส่งผลให้การผ่าตัดรักษาโรคหัวใจในเด็กเกิดจุดเปลี่ยนที่สำคัญ

โดย นพ.สัมพันธ์ เผยว่า ในอดีตตามตำราแพทย์ชี้ว่า การจะผ่าตัดโรคหัวใจในเด็ก เพื่อความปลอดภัยต้องรอจนกว่าตัวเด็กจะมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 10-15 กิโลกรัม แต่ทว่าปัจจุบัน ศัลยแพทย์หัวใจหลายท่าน สามารถทำการผ่าตัดให้เด็กได้ทุกเมื่อ หากมีข้อบ่งชี้จำเป็นว่า เด็กเกิดมาแล้วมีอาการหัวใจวาย โดยจะมีสัญญาณเตือน เช่น หายใจเร็ว หายใจแล้วหอบ หายใจแล้วจมูกบาน ไม่สามารถดูดนมแม่ได้อย่างต่อเนื่อง และน้ำหนักตัวไม่ขึ้นตามเกณฑ์ ขณะที่ข้อบ่งชี้อีกข้อคือ กรณีที่เด็กมีอาการตัวเขียวอย่างเห็นได้ชัด เมื่อแพทย์สามารถผ่าตัดรักษาเด็กที่ป่วยโรคหัวใจได้ทุกช่วงวัย นพ.สัมพันธ์ ชี้ว่า เป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะจากประสบการณ์การผ่าตัดหัวใจเด็กของ นพ.สัมพันธ์ นั้น เคยทำผ่าตัดรักษาโรคหัวใจในกลุ่มซับซ้อนให้เด็กที่เพิ่งคลอดออกมาเพียง 6 ชั่วโมงได้สำเร็จปลอดภัย อย่างไรก็ตาม อัตราความเสี่ยงเสียชีวิตจากการผ่าตัดโรคหัวใจในเด็ก กรณีป่วยในกลุ่มไม่ซับซ้อน จะมีความเสี่ยงอยู่ที่ร้อยละ 1-2 ส่วนกลุ่มที่ป่วยแบบซับซ้อน ความเสี่ยงอยู่ที่ร้อยละ 5-10 หัวใจสำคัญของการผ่าตัดรักษาโรคหัวใจในเด็ก

นพ.สัมพันธ์ เน้นย้ำว่า ต้องรักษาในช่วงเวลาที่เหมาะสม และการปล่อยเวลาให้ล่วงเลย อาจเพิ่มความเสียหายไปยังอวัยวะอื่น เช่น ปอด ซึ่งจัดเป็นอวัยวะที่ต้องทำงานร่วมกับหัวใจ เมื่อหัวใจผิดปกติก็จะส่งผลให้ปอดเสื่อมและเสียไปจนไม่สามารถแก้ไขได้ แม้เข้ารับการผ่าตัดรักษาหัวใจในเวลาต่อมา ก็อาจไม่ได้ผลการรักษาที่ดีพอ แม้ข้อจำกัดในเรื่องน้ำหนักตัวของผู้ป่วยเด็กจะหมดไป แต่อุปสรรคสำคัญอีกประการคือ การเข้าถึงการผ่าตัดรักษาที่ล่าช้า เนื่องจากมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก ยิ่งถ้าย้อนไปดู 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน สามารถผ่าตัดรวมกันได้เกือบ 3,000 คน จากจำนวนผู้ป่วย 4,000 คนตามที่กล่าวไปในตอนต้น ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า จะมีอีกราว 1,000 คน ที่ยังไม่ได้เข้ารับการผ่าตัด

นพ.สัมพันธ์ ยกตัวอย่างว่า มีเด็กบางคน แพทย์ชี้ว่า ควรผ่าตัดทันทีตั้งแต่ตอนอายุ 3 เดือน แต่จากการรอคอยคิวที่ยาวนาน จนเด็กอายุ 7 ปีแล้ว ก็ยังไม่ได้ผ่าตัด เพราะคิวที่ตกค้างปีละ 1,000 คน ก็ถูกทบจำนวนเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ ที่น่าเสียใจคือ มีเด็กหลายรายเสียชีวิตระหว่างรอการผ่าตัด หรือในรายที่มีชีวิตอยู่ได้ ก็อาจจะไม่สามารถทำกิจวัตรได้เหมือนกับเด็กทั่วไป เพราะพวกเขาจะเกิดอาการเหนื่อยได้ง่ายๆ จากปัญหาจำนวนผู้ป่วยรอคิวผ่าตัดยาวนาน ประกอบกับค่าใช้จ่ายผ่าตัดเฉลี่ย 5.5 แสนบาทต่อราย ยิ่งเป็นการยากที่ผู้ป่วยยากไร้จะเข้าถึงการรักษาได้ เหตุนี้ มูลนิธิเด็กโรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จึงทำโครงการให้ทีมแพทย์ช่วยกันผ่าตัดรักษาโรคดังกล่าวนอกเวลาราชการ ซึ่งทางมูลนิธิจะจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด โครงการดังกล่าวสามารถช่วยผ่าตัดได้ราว 1,000 รายต่อปี จึงถือว่า ช่วยชดเชยจำนวนผู้ป่วยที่ตกค้างอยู่ได้

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึง 16 พฤศจิกายน 2555 มูลนิธิโรงพยาบำรุงราษฎร์ ด้วยการสนับสนุนของมูลนิธิเด็กโรคหัวใจฯ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) เปลี่ยนพื้นที่บริเวณโถงรับรองภายในโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้กลายเป็นสถานที่จัดนิทรรศการภาพวาดการกุศล “ภาพศิลป์จากใจหมอสู่ใจเด็ก ครั้งที่ 2” เชิญผู้มีจิตเมตตาร่วมประมูลภาพวาดสีน้ำมันจำนวน 200 ภาพ ซึ่งเป็นฝีมือของแพทย์และผู้บริหารโรงพยาบาลฯ หรือร่วมบริจาคเงิน เพื่อนำรายได้ไปสมทบทุนเข้าโครงการรักษ์ใจไทย ช่วยเหลือการผ่าตัดเด็กด้อยโอกาสที่ป่วยโรคหัวใจตั้งแต่กำเนิดโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ เลย สุดท้าย นพ.สัมพันธ์ เผยว่า การผ่าตัดรักษาโรคหัวใจในเด็กจะช่วยให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดี บางรายหายเป็นปกติ ดังนั้นครอบครัวไหนมีบุตรหลานป่วยโรคหัวใจอย่าเพิ่งกังวลหมดหวัง ส่วนผู้ที่มิได้มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับโรคดังกล่าว การร่วมมอบโอกาสทางการรักษาให้กับเด็กด้อยโอกาส อาจเปรียบได้กับการทำบุญที่ยิ่งใหม่ ให้เด็กเหล่านั้นได้มีหัวใจที่แข็งแรง.

ทีมเดลินิวส์ออนไลน์