ผู้เขียน หัวข้อ: รามาฯปลูกถ่ายตับในเด็ก อัตรารอดชีวิตสูงถึง90%  (อ่าน 1099 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการปลูกถ่ายตับในเด็กของโรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี ภายหลัง สปสช.จัดสรรงบประมาณให้เมื่อปี 2554

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการ รพ.รามาธิบดี ในฐานะประธานโครงการปลูกถ่ายตับ คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี กล่าวว่า รพ.รามาฯทำการปลูกถ่ายตับครั้งแรกเมื่อปี 2533 โดยปลูกถ่ายตับได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งในผู้ใหญ่จะพบว่ามีสาเหตุมาจากตับวายเฉียบพลัน อาจเกิดจากไวรัสตับอักเสบบางชนิด ตับเรื้อรัง เนื้องอก หรือมะเร็งตับ ฯลฯ ส่วนในเด็กพบว่ามาจากโรคท่อน้ำดีตีบประมาณ 1 ต่อ 15,000 ราย ของทารกคลอดมีชีวิต หรือประมาณร้อยละ 0.007 และจากการประมาณการพบว่า มีอุบัติการณ์ราว 60-80 รายต่อปี ส่วนสาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด

รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า ในจำนวนนี้ ร้อยละ 50 จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ หรือประมาณ 30-40 รายต่อปี ซึ่งผู้ป่วยเด็กหลังจากที่รักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ จะมีอัตราการรอดชีวิตในปีแรกสูงถึงร้อยละ 83-94 และอัตราการรอดชีวิตในปีที่ 5 ร้อยละ 82-92 โดยเด็กส่วนใหญ่เติบโตมีพัฒนาการ และสามารถเข้าเรียนได้เหมือนเด็กปกติ ที่ผ่านมา รพ.รามาฯทำการปลูกถ่ายตับไปแล้วกว่า 160 ราย เป็นเด็กโดยการปลูกถ่ายตับจากพ่อแม่สู่ลูก 61 คู่

"ส่วนใหญ่การปลูกถ่ายตับจะมาจากผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากสมองตาย แต่ปัจจุบันยังไม่เพียงพอ เพราะแต่ละปีมีประมาณ 60-80 ราย แต่ใช้ได้จริง 40 ราย เนื่องจากสภาพไม่เข้ากันกับผู้ป่วย ขณะที่ผู้บริจาคที่มีชีวิตยังไม่มี ส่วนใหญ่เป็นพ่อแม่ หรือญาติ เนื่องจากเนื้อเยื่อ เลือดเข้ากันได้ดี โดยกรณีพ่อแม่ให้ตับลูกนั้น จะใช้ตับจากพ่อแม่ประมาณร้อยละ 20 แต่หากเป็นผู้ใหญ่จะใช้ร้อยละ 40-50 ซึ่งส่วนใหญ่ตับจะงอกขึ้นเองประมาณร้อยละ 95 ดังนั้น ผู้บริจาคจะต้องมีสุขภาพดีมากๆ" รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าว และว่า ปัจจุบัน สปสช.ให้งบประมาณเฉพาะผู้ป่วยเด็กเท่านั้น แต่ยังไม่เพียงพอ ส่วนผู้ใหญ่ที่ได้สิทธิมีเพียงกลุ่มที่ใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเท่านั้น เพราะการผ่าตัดมีค่าใช้จ่ายสูงราว 5-6 แสนบาท และต้องใช้ยากดภูมิอีกราว 2 หมื่นบาทต่อเดือน และต้องกินยาไปตลอดชีวิต

ด้าน นพ.วินัยกล่าวว่า สำหรับงบที่ยังไม่เพียงพอนั้น เชื่อว่าในระยะยาวจะมีการจัดสรรให้เพิ่มขึ้น ส่วนกรณีผู้ป่วยผู้ใหญ่ ที่ขณะนี้ยังไม่ได้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น หากจะขยายให้ครอบคลุมด้วย จะต้องใช้เวลาพิจารณาหลายปัจจัยประกอบเพื่อความคุ้มค่าด้วย