ผู้เขียน หัวข้อ: เอ็มเทคช่วย “วัดไร่ขิง” ผลิตลูกตาเทียมช่วยผู้ป่วยยากไร้  (อ่าน 2181 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
หลังประสบความสำเร็จในการทดสอบความปลอดภัย “ลูกตาเทียม” ชนิดมีรูพรุนที่ไม่เลื่อนหลุดจากเบ้าตาในผู้ป่วย 15 ราย เอ็มเทคเดินหน้าเฟส 2 ขยายความสำเร็จสู่การทดสอบทางคลินิก ก่อนเข้าเข้าเฟส 3 ทดสอบเปรียบเทียบเชิงการค้า
       
       สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมวิจัย “โครงการผลิตลูกตาเทียมโพลิเอธีลีนแบบมีรูพรุนในประเทศไทย ระยะที่ 2: การศึกษาทางคลินิก” กับ กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) เมื่อวันที่ 22 ก.ย.53 ณ โรงแรมรามาการ์เดนท์ ซึ่งเป็นความร่วมมือหลังโครงการระยะที่ 1 ในการพัฒนาและทดสอบความปลอดภัยของลูกตาเทียมชนิดมีรูพรุนจากพลาสติกโพลีเอธิลีนของเอ็มเทค
       
       จากการทดสอบลูกตาเทียมชนิดมีรูพรุนจากพลาสติกโพลีเอธิลีนของเอ็มเทคในโครงการระยะที่ 1 นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ กล่าวว่าการทดสอบในผู้ป่วย 10 กว่ารายที่ผ่านมาได้ผล ทั้งนี้ การใช้ลูกเทียมชนิดมีรูพรุนนี้ไม่แพร่หลายเพราะมีราคาแพง โดยลูกตาเทียม 1 ลูกมีราคาประมาณ 20,000-30,000 บาท จึงนิยมใช้ลูกตาเทียมชนิดผิวเรียบหรือแบบลูกแก้วซึ่งมีราคาประมาณ 100 บาท
       
       อย่างไรก็ดี ลูกตาเทียมแบบมีรูพรุนนั้นมีข้อดีต่างจากลูกตาแบบผิวเรียบตรงที่กล้ามเนื้อและเส้นเลือดเจริญเข้าไปในรูพรุนได้ ซึ่งปกป้องกันปัญหาลูกหลุดหรือหล่นออกมา และผู้ป่วยยังสามารถกลอกตาไปมาได้เหมือนตาปกติ เพียงแต่ตาเทียมไม่ช่วยให้มองเห็นได้เท่านั้น โดยข้อมูลจากวัดไร่ขิงยังระบุอีกว่าจำนวนผู้สูญเสียดวงตามีมากขึ้นเรื่อยๆ และมีผู้เข้ารับการผ่าตัดเอาลูกตาออก 40-50 รายต่อไป ทั้งชนิดเอาออกทั้งลูกตาหรือเก็บตาขาวไว้ ซึ่งการสูญเสียดวงตาดังกล่าวเกิดขึ้นได้ทั้งจากอุบัติเหตุและโรคตาต่างๆ
       
       เมื่อผู้ป่วยผ่าตัดลูกตาออกแล้วไม่ได้สวมตาเทียมเข้าไป เนื้อเยื่อรอบเบ้าตาจะหดตัวลง ทำให้เกิดความแตกต่างทางกายภาพและทำให้ผู้ป่วยไม่มั่นใจในการเข้าสังคม เนื่องจากเป็นที่สังเกตได้ชัด จึงมีการพัฒนาลูกตาเทียมเพื่อใส่ทดแทนลูกตาจริงในเบ้าตา ก่อนใส่ “ตาปลอม” อีกทีเพื่อให้ผู้ป่วยดูไม่แตกต่างจากคนอื่น
       
       การทดสอบลูกตาเทียมซึ่งเป็นผลงานจากเนคเทคนั้นทางโรงพยาบาลวัดไร่ขิงได้ศึกษาในผู้ป่วย 15 ราย ในช่วงเดือน ส.ค.52-เม.ย.53 ซึ่งผู้ป่วยที่เข้ารับการใส่ลูกตาเทียม มีทั้งผู้ป่วยที่ผ่านการผ่าตัดเอาลูกตาออกนานแล้ว และผู้ป่วยที่จำเป็นต้องผ่าตัดเอาลูกตาออกทั้งหมดกับผู้ป่วยที่เอาลูกตาออกโดยเหลือไว้เฉพาะตาขาว ซึ่งทุกรายมีสุขภาพดีหลังผ่าตัด แต่มี 2 รายที่พบว่าบางส่วนของลูกตาเทียมโพล่ ซึ่งหายเองได้ภายหลังให้การรักษา อีกทั้งยังพบการงอกของหลอดเลือดและเนื้อเยื่อเข้าไปในลูกตาเทียมของผู้ป่วยด้วย
       
       ด้าน ดร.จินตมัย สุวรรณประทีป นักวิจัยวัสดุทางการแพทย์จากเอ็มเทค กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ก่อนหน้าทำวิจัยไปตามความสนใจ จนกระทั่งทางโรงพยาบาลวัดไร่ขิงได้ติดต่อให้ช่วยพัฒนาลูกตาเทียมเมื่อปี 2552 และนำไปสู่การทดสอบความปลอดภัยในโครงการระยะแรก ซึ่งแพทย์ที่ร่วมทดสอบให้ความเห็นว่าใช้งานได้ผลดี โดยลูกตาเทียมที่ผลิตขึ้นมานี้มีหลายขนาดไปตามความต้องการ โดยที่นิยมคือขนาด 16, 18, 20, และ 22 มิลลิเมตร แต่ในการผลิตจริงต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้มีผู้รับช่วงต่ออีกที ซึ่งขณะนี้ยังต้องศึกษาวิจัยอีก และหลังการทดสอบในระยะที่ 2 แล้ว จะทดสอบในระยะที่ 3 คือเปรียบเทียบลูกตาเทียมที่ผลิตขึ้นเองกับลูกตาเทียมที่มีจำหน่ายทางการค้า
       
       สำหรับลูกตาเทียมแบบมีรูพรุนนั้นมี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ลูกตาเทียมไฮดรอกซีแอปาไทด์ ซึ่งผลิตได้จากปะการังหรือกระดูกสัตว์ และลูกตาเทียมจากพลาสติกโพลีเอธิลีน แต่ทั้ง 2 ชนิดมีราคาตั้งแต่ 20,000-30,000 บาทและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่ง รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการเอ็มเทคให้ข้อมูลแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ราคาจะต่ำลงตามจำนวนการผลิตที่มากขึ้น ซึ่งคาดว่าน่าจะมีราคาในระดับหลักพันบาท แต่ระหว่างนี้ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อความมั่นใจในการใช้งานลูกตาเทียมที่ผลิตได้เองในไทยนี้
       
       “เอ็มเทคอาจจะดูไกลจากการแพทย์ แต่จริงๆ แล้วงานด้านวัสดุศาสตร์เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง 2 เรื่อง คือ โครงสร้างวัสดุและสมบัติของวัสดุ คุณอยากได้วัสดุมีคุณสมบัติอย่างไรบอกเราได้ วัสดุชีวภาพ (Biomaterial) เป็นอีกตัวอย่างของวัสดุที่ใช้ในทางการแพทย์และเป็นสาขาที่ท้าทาย แต่คงไม่มีประโยชน์ถ้าไม่มีผู้ใช้ ลำพังเอ็มเทคทำไปตามจินตนาการก็ได้ไม่เท่าไร สิ่งสำคัญคือผู้ใช้ต้องการอะไร เอ็มเทคมีบุคลากรประมาณ 500 คน กว่า 100 คน เป็นด็อกเตอร์ที่จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก คนเหล่านี้รัฐบาลลงทุนไปเยอะมาก จึงต้องใช้ประโยชน์ให้คุ้ม แต่อย่าไปใช้ว่าเขาต้องการทำอะไร แต่ให้เขาทำตามความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งจะช่วยได้เยอะมาก แต่โครงการนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง” รศ.ดร.วีระศักดิ์กล่าว


ASTVผู้จัดการออนไลน์ 23 กันยายน 2553 

Kapo1414

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 1
    • ดูรายละเอียด
    • พระเครื่องออนไลน์
น่าสนับสนุนมากๆๆครับๆ