ผู้เขียน หัวข้อ: จดหมายร้องเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขอให้พิจารณาแก้ไขระเบียบ/คำสั่ง...  (อ่าน 3193 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
ด่วนที่สุด

๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๕

เรื่อง ขอให้พิจารณาแก้ไขระเบียบ/คำสั่งในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการให้ถูกต้อง เหมาะสม และเป็นธรรม

เรียน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

อ้างถึง ๑.หนังสือกระทรวงการคลังด่วนที่สุด ที่ กค. ๐๔๔๒๒.๒/ว๑๑๑ ลงวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๕

         ๒.หนังสือกระทรวงการคลังด่วนที่สุด ที่ กค. ๐๔๒๒.๒/๑๑๕ ลงวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๕

         ๓.หนังสือกระทรวงการคลังด่วนที่สุด ที่ กค. ๐๔๒๒.๒/16  ลงวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๕

     ตามหนังสือที่อ้างถึง ๑กระทรวงการคลังได้ยกเลิกการเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติสำหรับผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการ โดยกำหนดให้แพทย์ผู้ทำการรักษาผู้ป่วยเป็นผู้วินิจฉัยและออกใบรับรองในการสั่งยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติตามเหตุผล 5 ข้อความแจ้งอยู่แล้วนั้น

    ถือเป็นการบังคับให้แพทย์ต้องยอมจำนนที่จะไม่ทำการรักษาผู้ป่วยตามจริยธรรมทางการแพทย์ที่จะต้องรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานที่ดีที่สุด ในการสั่งจ่ายยาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วย แต่ต้องจ่ายยาเฉพาะในบัญชียาหลักแห่งชาติตามคำสั่งของกระทรวงการคลัง เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ต้องเดือดร้อนกับการรับผิดชอบในการคืนเงินค่ายาให้กระทรวงการคลัง และคำสั่งของกระทรวงการคลังนี้ เป็นการละเมิดสิทธิ์ข้าราชการและครอบครัว ที่เป็นผู้ป่วยที่เคยได้รับยาที่เหมาะสมที่สุดรักษาอาการป่วยของตนมาแล้ว กลับจะมาถูกสั่งห้ามไช้ยาที่เคยได้รับ คงจะทำให้อาการป่วยกำเริบจนอาจเป็นอันตรายร้ายแรงแก่ชีวิตและสุขภาพ เนื่องจากไม่ได้รับยาที่เคยได้รับมาก่อน

    นอกจากนี้ แพทย์ผู้ปฏิบัติงานก็จะกลายเป็น “หนังหน้าไฟ”  ที่จะถูกผู้ป่วยด่าว่าว่า ทำไมจึงไม่ยอมจ่ายยาเดิมที่เคยได้รับ ส่วนผู้ป่วยรายใหม่ ก็คงจะได้ประสบเหตุการณ์ที่ได้ยาแล้ว อาการไม่ทุเลา ดื้อยา หรือมีโรคแทรกซ้อน เนื่องจากยาที่ได้รับจากโรงพยาบาล มีสรรพคุณไม่เหมาะสมในการรักษาอาการป่วยของตน

     ตามหนังสือที่อ้างถึง ๒ กระทรวงการคลังได้อ้างผลการวิจัยเรื่องยากลูโคซามีนว่า ไม่มีผลในการรักษา โดยอ้างว่ายากลูโคซามีนไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ โดยอ้างการศึกษาวิจัยของแพทย์ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นศัลยแพทย์ ที่ทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเสื่อมให้แก่ผู้ป่วยที่รักษาด้วยกลูโคซามีนแล้วไม่ได้ผลจนต้องมาเปลี่ยนข้อเข่า(ที่มีราคาแพงกว่าการใช้ยากลูโคซามีน) แต่กระทรวงการคลังไม่สนใจการศึกษาวิจัยของประเทศในสหภาพยุโรป ที่สรุปว่า การใช้ยากลูโคซามีนนั้น ช่วยรักษาแบบประคับประคองทำให้สามารถชะลอข้อเข่าเสื่อมไว้ และช่วยให้ผู้ป่วยหายจากการเจ็บปวด โดยไม่ต้องผ่าตัด และได้สรุปว่า กลูโคซามีนเป็นยาที่มีสรรพคุณในการรักษาอาการข้อเสื่อมแบบประคับประคองได้ดี

    โดยผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อคือราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธพีดิกส์ แห่งประเทศไทย ก็ได้ชี้แจงกับกรมบัญชีกลางแล้วว่า ยากลูโคซามีนสามารถใช้รักษาโรคข้อเสื่อมในระดับหนึ่ง การที่กระทรวงการคลังห้ามเบิกยากลูโคซามีนซัลเฟตในการรักษาโรคข้อเสื่อมตามหนังสือที่อ้างถึง ๒ จึงส่งผลให้ผู้ป่วยด้วยโรคข้อเสื่อม(ซึ่งล้วนเป็นผู้สูงอายุ)ในระบบสวัสดิการข้าราชการ ต้องได้รับความลำบากเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง

     ตามหนังสือที่อ้างถึง ๓ นั้น กระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังในระบบสวัสดิการข้าราชการ ให้ลงทะเบียนในระบบเบิกจ่ายตรงผู้ป่วยนอก กับสถานพยาบาลของทางราชการ ๑ แห่งต่อ ๑โรค หรือ ๑ แห่งต่อ ๑ โรคเรื้อรัง ซึ่งจะก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ทั้งสถานพยาบาลและผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เมื่อก่อนที่กระทรวงการคลังจะประกาศเช่นนี้ ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังบางครั้ง ก็สามารถไปรับยาจากสถานพยาบาลใกล้บ้าน(ในการตรวจติดตามอาการป่วยตามปกติ) หรือถ้าผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนหรือป่วยหนัก ผู้ป่วยก็ต้องไปรับการรักษายังโรงพยาบาลระดับสูงจึงจะให้การรักษาได้ เมื่อกระทรวงการคลังสั่งให้ผู้ป่วยไปลงทะเบียนในการรักษาโรคเรื้อรังแค่โรงพยาบาล ๑ แห่งเท่านั้น ก็จะทำให้ผู้ป่วยไม่สะดวกในการไปรับการรักษา ผู้ป่วยส่วนมากก็คงเลือกที่จะไปลงทะเบียนกับโรงพยาบาลระดับสูง เผื่ออาการป่วยทรุดหนักก็จะได้ไปรักษาตัวในโรงพยาบาลนั้นๆได้ ทำให้ผู้ป่วยต้องไปแออัดกันอยู่ในโรงพยาบาลระดับสูง ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้ป่วยเสียเวลาในการไปรอรับการรักษาแล้ว ยังส่งผลให้เกิดความลำบากและไม่สะดวกต่อโรงพยาบาลและบุคลากรการแพทย์ในโรงพยาบาลระดับสูง ที่มีภาระในการรักษาผู้ป่วยอาการหนักอยู่มากมายแล้ว ต้องมีภาระเพิ่มมากขึ้นในการรักษาผู้ป่วยทั่วไปอีกด้วย ซึ่งจะทำให้มีผลกระทบต่อระบบการส่งผู้ป่วยในการไปรักษาต่อตามโรงพยาบาลระดับต่างๆอีกด้วย

    การออกคำสั่งตามหนังสือที่อ้างถึง 3 ฉบับนี้ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลังเป็นผู้ลงนาม โดยไม่ได้รับฟังความรอบด้านจากสภาวิชาชีพและผู้เชี่ยวชาญในทางการแพทย์ โดยอาศัยแต่เพียงข้อมูลที่คณะกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเท่านั้น ในการกำหนดระเบียบการใช้ยา นับว่าเป็นการปฏิบัติราชการที่ไม่เหมาะสม ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ข้าราชการผู้มีรายได้น้อย ที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังเนื่องจากอายุขัยและความเสื่อมของสังขาร ทั้งนี้ ข้าราชการเหล่านี้ ต่างก็สมัครมาเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทำงานรับใช้ประเทศชาติและประชาชน ยอมอยู่ภายใต้ระเบียบวินัยและการบังคับบัญชาของทางราชการอย่างเคร่งครัด ยอมรับเงินเดือนน้อยกว่าภาคเอกชน จะตั้งสหภาพแรงงานเพื่อเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงก็ไม่ได้ ทั้งนี้ เนื่องจากทางราชการได้ให้พันธะสัญญาว่า ถ้าข้าราชการและครอบครัวล้มป่วยด้วยโรคใดๆก็ตาม จะสามารถเบิกค่ารักษาทั้งหมดได้ตามที่จ่ายจริง

     การที่รองปลัดกระทรวงการคลังได้ออกคำสั่งเหล่านี้ จึงนับว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้ข้าราชการและครอบครัวที่เจ็บป่วยต้องได้รับความลำบากเดือดร้อนดังรายละเอียดที่ได้เรียนให้ท่านรัฐมนตรีทราบข้างต้น

    ดิฉันจึงขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณายกเลิกคำสั่งของกระทรวงการคลังทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวโดยด่วน และพิจารณาสั่งการให้รองปลัดกระทรวงการคลังยุติการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิ์ข้าราชการและยุติการละเมิดสิทธิ์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ในการพิจารณาสั่งใช้ยาในการรักษาผู้ป่วยโดยทันทีด้วย ขอขอบคุณล่วงหน้ามา ณ ที่นี้

     อนึ่ง พลตรีหญิงพูลศรี เปาวรัตน์ ในฐานะผู้ประสานงานชมรมพิทักษ์สิทธิ์ข้าราชการและดิฉัน ได้ไปร้องเรียนถึงความเดือดร้อนจากคำสั่งที่อ้างถึงทั้ง ๓ ฉบับนี้ ต่อคณะกรรมาธิการสาธารณสุขสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๕ แล้ว นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รองประธานกรรมาธิการในฐานะประธานที่ประชุม ได้สรุปว่า

๑.ขอให้กรมบัญชีกลางชะลอคำสั่งดังกล่าวทั้ง ๓ ฉบับไว้ก่อน

๒. ข้อเสนอทางออกต่อ ๓ กรณีนี้คือ
     ๒.๑ ควรไปแก้ไขบัญชียาหลักแห่งชาติให้สอดคล้องเหมาะสมกับยุคปัจจุบัน
     ๒.๒  ส่งเสริมให้ใช้ยาในบัญชียาหลักและยาชื่อสามัญ

๓. ความเห็นของกรรมาธิการต่อมาตรการของกรมบัญชีกลางมีดังนี้คือ
     ๓.๑ กรรมาธิการเห็นว่าคำสั่งของกรมบัญชีกลางที่บอกว่า ให้แพทย์แสดงเหตุผลการใช้ยาแบบ A, B, C, D, E, F ตามคำสั่งของกรมบัญชีกลางนั้น ไม่สะดวกและอาจเข้าข่ายละเมิดผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
     ๓.๒ การบังคับให้ผู้ป่วยเรื้อรังลงทะเบียน ๑ โรค ๑ พยาบาลนั้น เป็นการสร้างความสับสนยุ่งยากทั้งแก่ผู้ป่วยและโรงพยาบาล มีคำถามว่า สมควรมีระบบจ่ายตรงหรือไม่?

   ซึ่งดิฉันขอเสนอผลการประชุมของคณะกรรมาธิการสาธารณสุขสภาผู้แทนราษฎรมา เพื่อประกอบการพิจารณายกเลิกคำสั่งของกระทรวงการคลังทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวด้วย

ขอแสดงความนับถือ

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและสมาชิกสมาคมข้าราชการพลเรือนอาวุโส

thailand

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 25
    • ดูรายละเอียด
กรมบัญชีกลางจะตัดสิทธิ์ จนพวกเราคนธรรมดาจะไม่มีสิทธิ์แล้ว ยังมาเข้มงวดในการใช้ยา ในการรักษาของแพทย์อีก

ถ้าเราไม่ช่วยเหลือกัน แล้วใครเล่าจะช่วยเหลือเรา

แพทย์ ข้าราชการ ประชาชน  รวมกันเพื่อมาตรฐานการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น...

https://www.facebook.com/pages/กรมบัญชีกลาง-ตัดสิทธิ์เบิกยาในการรักษาพยาบาลข้าราชการและประชาชนน้ำตาตกใน/252362108219014


เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งครับ กับย่อหน้าที่ว่า

"ดิฉันจึงขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณายกเลิกคำสั่งของกระทรวงการคลังทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวโดยด่วน และพิจารณาสั่งการให้รองปลัดกระทรวงการคลังยุติการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิ์ข้าราชการและยุติการละเมิดสิทธิ์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ในการพิจารณาสั่งใช้ยาในการรักษาผู้ป่วยโดยทันทีด้วย ขอขอบคุณล่วงหน้ามา ณ ที่นี้"