ผู้เขียน หัวข้อ: หมอเตรียมสไตรค์! กดดันค้าน พ.ร.บ.คุ้มครองฯ เอ็นจีโอจวก ควรนึกถึงผู้ป่วยเป็นหลัก  (อ่าน 1498 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
สผพท.บุก สธ.ยื่นรายชื่อกลุ่มผู้ป่วยค้าน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ป่วยฯ หมื่นคน ขู่แพทย์อาจหยุดงานประท้วง หากยังพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ด้านเอ็นจีโอติง หมอเคลื่อนไหวด้วยการหยุดงาน ต้องคำนึงถึงผู้ป่วยเป็นหลัก
       
       วันนี้ (22 ก.ย.) นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ รองประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) เดินทางมายังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อขอเข้าพบนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สธ.เพื่อยื่นรายชื่อของกลุ่มผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย จ.ร้อยเอ็ด ที่คัดค้าน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ...ฉบับรัฐบาล จำนวน 10,192 รายชื่อ โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานรัฐมนตรีฯ มารับแทน เนื่องจากรัฐมนตรี สธ.ติดภารกิจ
       
       โดย นพ.ฐาปนวงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีกลุ่มประชาชนทั่วไปที่คัดค้านเรื่องนี้ โดย นพ.ชัชวาลย์ วชิรเมธารัชต์ ศัลยแพทย์ รพ.ร้อยเอ็ด ได้สอบถามความคิดเห็นกลุ่มผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย พบว่า ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบัน จ.ร้อยเอ็ด มีแพทย์ประมาณ 167 คน ขณะที่มีประชากรในจังหวัดถึง 1,308,159 คน ซึ่งยังขาดแคลนแพทย์ที่ควรจะมีอีก 872 คน หากมีร่างกฎหมายฉบับนี้จะยิ่งทำให้แพทย์มีความกังวลสูงขึ้น เพราะปัจจุบันแพทย์ยังน้อย และยังขาดแคลนเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์อีกมาก คิดว่า คงไม่มีใครอยากเสี่ยงกับความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้
       
       นพ.ฐาปนวงศ์ กล่าวอีกว่า ตนต้องการแสดงให้เห็นว่ายังมีประชาชนอีกกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับร่างนี้ ที่สำคัญ ขณะนี้ทราบมาว่า คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล อาจมีการพิจารณาถอน พ.ร.บ.นี้ออก เพราะมีปัญหามาก ดังนั้น หากยังฝืนหารือกันในสภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาลยังจะผลักดันต่อไป ทางกลุ่มแพทย์ และบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศที่ค้านร่างกฎหมายฉบับนี้อาจต้องออกมาเคลื่อนไหว โดยอาจใช้วิธีหยุดงานประท้วงทั้งประเทศ แต่ไม่ต้องกังวลว่าจะทำให้ผู้ป่วยเดือดร้อน เนื่องจากเป็นการหยุดเฉพาะแผนกโอพีดี หรือผู้ป่วยนอกเท่านั้น
       
       น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า สำหรับการเคลื่อนไหวทางสังคมนั้นเป็นเรื่องปกติที่สามารถทำได้ แต่การทำโดยการหยุดงานต้องพิจารณาดีๆ โดยต้องเลือกที่จะคำนึงถึงผู้ป่วยเป็นสำคัญ ดังนั้น ควรมีการประกาศให้ชัดเจนว่าจะมีการเคลื่อนไหววันใด เพื่อผู้ป่วยจะได้มีการเตรียมตัว ทั้งนี้ ในวันที่ 23 ก.ย.ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกันจัดเสวนาวิชาการเรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากระบบบริการสาธารณสุข พ.ศ... ใครได้ ใครเสีย เหมือนต่างจากร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข” เพื่อจะได้มีความชัดเจนในประเด็นต่างๆ มากขึ้น

ASTVผู้จัดการออนไลน์ 22 กันยายน 2553