ผู้เขียน หัวข้อ: ไขปริศนา“หิมะ”ตกในไทย! หนาวนี้รู้แน่ว่ามีหรือไม่?  (อ่าน 1256 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ช่วงระยะนี้หลายพื้นที่คงรับรู้ได้ถึง “มวลอากาศเย็น” ที่แผ่ปกคลุมประเทศไทยกันแล้ว โดยเฉพาะบริเวณยอดดอยทางภาคเหนือ และในหลายจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งก็เริ่มมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปสัมผัสอากาศหนาวกันอย่างคึกคัก ทั้งนี้ การที่ไทยตอนบนเริ่มมีลมหนาวโชยเข้ามานั้น ถือเป็นปกติของฤดูกาลที่จะเปลี่ยนผ่านจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาวในช่วงกลางเดือนตุลาคมเป็นต้นไป

ขณะที่ ก็มีการพูดกันถึง สภาวะอากาศของโลกซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตค่อนข้างมาก ฤดูหนาวปี พ.ศ.2555 นี้ทางภาคเหนือตอนบนอาจมี “หิมะ” ตกลงมาได้! โดยมีการอ้างข้อมูลในอดีตว่าตอนเหนือของไทยเคยมีหิมะตกมาแล้วเมื่อกว่า 50 ปีที่ผ่านมา ส่วนจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้องอย่างไร “เดลินิวส์ออนไลน์” ได้ค้นหาคำตอบ และสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านพยากรณ์อากาศ มาให้ทราบข้อมูลลึก ๆ กัน

ซึ่งข้อมูลจากเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานการคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของไทยในปี พ.ศ.2555 ว่า จะเริ่มปกติ ประมาณกลางเดือนตุลาคม 2555 โดยบริเวณไทยตอนบนจะมีอากาศหนาวเย็นใกล้เคียงปีที่ผ่านมา และอุณหภูมิเฉลี่ยส่วนใหญ่จะสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อย ซึ่งช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม และมกราคม

สำหรับภาคใต้จะมีอากาศเย็นบางพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนของภาค และในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมจะมีฝนตกชุกหนาแน่น กับจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้บางพื้นที่ และคลื่นลมในทะเลอ่าวไทยจะมีกำลังแรง โดยในบางช่วงจะมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ส่วนในทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูง 1-2 เมตร

ด้าน นายประวิทย์ แจ่มปัญญา รักษาการณ์ผู้อำนวยการสำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า จากข้อมูลแผนที่อากาศ พบว่ามวลอากาศเย็นเริ่มเข้ามาปกคลุมพื้นที่ของภาคเหนือ ซึ่งเป็นระลอกที่ 3 แล้ว โดยระลอกแรก ๆ ก่อนหน้านั้นกำลังไม่ค่อยแรง ค่อนข้างจะอ่อน ส่วนระลอกที่ 3 นี้เป็นกำลังปานกลาง แต่เนื่องจากลงมาต่อเนื่องก็ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ คือ จะทำให้ฝนหมดไป แล้วอากาศเริ่มหนาวเย็นลง

“สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ ในเดือนธันวาคม มีการการคาดหมายอุณหภูมิต่ำที่สุด ค่าเฉลี่ยในเกณฑ์ 17-19 องศาเซลเซียส โดยอาจจะหนาวครึ่งวัน วันเดียว หรือ มากกว่านั้น

สำหรับพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งซึ่งถูกลมพัด เพราะลมที่พัดเข้ามาปะทะ หรือ พัดผ่านร่างกายนั้น จะทำให้รู้สึกหนาวเย็นกว่าปกติ แต่หากจำเป็น ควรหาเครื่องนุ่งห่มให้เพียงพอ ซึ่งที่ผ่านมา พบว่า ช่วงปลายฤดูจะมีผู้เสียชีวิต เนื่องจากส่วนใหญ่ในเวลากลางวัน และกลางคืน อุณหภูมิจะแตกต่างกันมาก หากหัวค่ำไม่ใส่เสื้อผ้าแล้วเผลอหลับไปจนตอนเช้าอากาศหนาว ร่างกายทนไม่ไหวก็ทำให้เสียชีวิตได้ จึงควรระวัง!”

นอกจากนั้น นายประวิทย์ ยังกล่าวถึง การเกิดหิมะ ว่า ปัจจัยที่จะทำให้เกิดหิมะได้นั้น อุณหภูมิต้องต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส และมีเมฆฝนเกิดขึ้น แต่ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน ถ้าอุณหภูมิลงถึง 0 องศาเซลเซียส ก็ต้องมีอากาศเย็นลงมา คือ มีบริเวณความกดอากาศสูงแรง ๆ ลงมา อันเกิดจากการจมตัวของอากาศ ความกดอากาศถึงเพิ่มขึ้นเป็นความกดอากาศสูง ซึ่งการจมตัวของอากาศนี้ เมฆไม่เกิด จะสังเกตว่าหน้าหนาวท้องฟ้าจะใส โปร่ง และถ้าหากอุณหภูมิลงไป เช่น -10 องศาเซลเซียส แล้วท้องฟ้าใส จึงไม่มีหิมะ! เพราะไม่มีเมฆ

“เนื่องจากปัจจัยดังกล่าว มาไม่พร้อมกัน เวลามีเมฆ อากาศก็จะเป็นร้อนชื้น พออากาศหนาวมาแรง ๆ ท้องฟ้าก็ใส หากกล่าวถึงปัจจัยในการเกิดเมฆฝนนี้ คือ เมื่ออุณหภูมิแตกต่างกันจึงยกตัว ซึ่งบ้านเราเป็นลักษณะอุณหภูมิติดลบกับไม่ติดลบ แต่ในประเทศเขตหนาวจะเป็นระหว่างลบกับลบ ลบมากกับลบน้อย อากาศก็ยกตัวได้ และเกิดเป็นเมฆเป็นฝนได้

สำหรับ กรณีการพูดกันถึงหิมะเมื่อปี พ.ศ.2498 และ พ.ศ.2501 นั้น เชื่อว่าเป็นการเข้าใจผิด ซึ่งลักษณะของภาพที่มีการพิสูจน์แล้วว่า เป็นลูกเห็บที่ตกจำนวนมาก ซึ่งมีเฉลยอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.2553 ที่ดอยช้าง จังหวัดเชียงราย ลักษณะคล้ายกัน คือ มีลูกเห็บตกทั้งภูเขาที่ดอยช้าง และปกคลุมอยู่เป็นเวลานาน หากมองไกล ๆ ไม่ได้เข้าไปสัมผัส ก็จะดูเหมือนหิมะปกคลุม แต่ความจริงแล้ว คือ ลูกเห็บจำนวนมากปกคลุมในพื้นที่ ซึ่งลักษณะของลูกเห็บที่พิสูจน์ได้ คือ เป็นก้อน ๆ สำหรับเหตุการณ์ที่ดอยช้างนั้น มีรูปถ่ายจาก คุณสมพล สุปการ สถานีตรวจอากาศ จังหวัดเชียงราย กรมอุตุนิยมวิทยา ด้วย”.

ทีมเดลินิวส์ออนไลน์
15 ตุลาคม 2555