ผู้เขียน หัวข้อ: ระวัง! ดื่มน้ำตู้หยอดเหรียญ มีเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษ  (อ่าน 1005 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

       สธ.สำรวจคุณภาพน้ำดื่มตู้น้ำหยอดเหรียญทั่วประเทศ ปี 2555 รวม 1,871 ตัวอย่าง พบว่า ไม่ผ่านมาตรฐาน 633 ตัวอย่าง พบน้ำมีค่าความเป็นกรด-ด่าง ไม่ได้ตามมาตรฐาน และพบเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษ แนะผู้ประกอบการหมั่นดูแลบำรุงรักษาเครื่องกรองน้ำ อาจเกิดการสะสมเชื้อก่อโรคที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้
       
       นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สธ.กล่าวว่า สธ.มีนโยบายด้านส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรค และลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ โดยให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขมีกระบวนการกำกับดูแลมาตรฐานและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพและอาหาร ให้ปราศจากสารปนเปื้อนและเชื้อก่อโรค เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน จากการเปลี่ยนแปลงสภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนตามความเจริญของเทคโนโลยี ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เน้นความสะดวกสบาย พฤติกรรม การบริโภคจึงเปลี่ยนไป ประชาชนในปัจจุบันนิยมบริโภคอาหารสำเร็จรูป รวมทั้งน้ำดื่มที่สะดวกในการซื้อหา ส่วนใหญ่จึงนิยมซื้อน้ำบริโภคที่บรรจุในภาชนะที่ปิดสนิท ซึ่งค่อนข้างมีราคาแพง ดังนั้น จึงมีการนำตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญมาติดตั้งให้บริการ กระจายอยู่ทั่วไปในแหล่งชุมชนเมือง ตามหอพัก คอนโดมิเนียม หน้าร้านค้าในหมู่บ้าน หรือริมถนน ปั๊มน้ำมัน หรือสวนสาธารณะ เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น และมีราคาถูก ผู้บริโภคสามารถนำภาชนะขนาดใดก็ได้มาบรรจุน้ำดื่มกลับบ้าน บางครั้งพบว่าสภาพภายนอกของตู้น้ำหยอดเหรียญดูสกปรก รวมทั้งบริเวณช่องจ่ายน้ำ ตู้น้ำส่วนใหญ่ตั้งอยู่กลางแจ้ง หรือตั้งอยู่ข้างถนนที่มีฝุ่นละออง ในบางแห่งยังมีน้ำขังบริเวณพื้นที่ตั้ง บางตู้อยู่ใกล้ถังขยะ หรือมีสัตว์มาอาศัย เป็นที่นอนและถ่ายของเสีย
       
       นพ.สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ดำเนินโครงการสำรวจสถานการณ์ความปลอดภัยของน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญในปี 2555 เพื่อประเมินคุณภาพและความปลอดภัยของน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญทั่วประเทศ โดยการเก็บตัวอย่างน้ำตรวจวิเคราะห์จำนวน 1,871 ตัวอย่าง พบว่า ไม่ผ่านมาตรฐานจำนวน 633 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 33.8 โดยมีตัวอย่างที่ไม่ผ่านมาตรฐานทางด้านเคมี จำนวน 487 ตัวอย่าง (ร้อยละ 26) ซึ่งได้แก่ ค่าความเป็นกรด-ด่าง ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ค่าความกระด้าง หรือมีปริมาณสิ่งแปลกปลอมสูงเกินมาตรฐาน นอกจากนี้ ในบางพื้นที่ยังตรวจพบสารปนเปื้อนที่คาดว่าอาจเป็นปัญหา โดยตรวจพบไนเตรทมากที่สุด (ร้อยละ 1.5) รองลงมา ได้แก่ แมงกานีส (ร้อยละ 0.5) ฟลูออไรด์ (ร้อยละ 0.3) สังกะสี (ร้อยละ 0.2) เหล็กและตะกั่ว (ร้อยละ 0.1) ตามลำดับ และในการทดสอบความปลอดภัยจากเชื้อจุลินทรีย์ พบตัวอย่างที่ไม่ผ่านมาตรฐานจำนวน 303 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 16.2 โดยพบเชื้อโคลิฟอร์ม (Coliform) มากที่สุด ซึ่งคิดเป็นจำนวนกว่าร้อยละ 80 ของตัวอย่างที่ผิดมาตรฐานในด้านนี้ เชื้อจุลินทรีย์อื่นๆ ที่ตรวจพบ รองลงมา ได้แก่ อี.โคไล (E.coli) และเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ เช่น แซลโมเนลล่า (Salmonella) และ แสตปฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ตามลำดับ นอกจากนี้ ในบางพื้นที่ยังตรวจพบเชื้อก่อโรคอื่นๆ เช่น บาซิลลัส ซีเรียส (Bacillus cereus) และ คลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ (Clostridium perfringens) อีกด้วย
       
       นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสำรวจน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญ แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการ หรือผู้รับผิดชอบน้ำดื่มตู้หยอดเหรียญบางรายขาดการดูแลบำรุงรักษาเครื่องกรองน้ำ ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ทำให้ประสิทธิภาพการกรองต่ำลง และ เกิดการสะสมของจุลินทรีย์ ทำให้ตรวจพบสารปนเปื้อนซึ่งแสดงว่าน้ำดื่มไม่ได้มาตรฐาน และการตรวจพบการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์ม อี.โคไล และเชื้อโรคอาหารเป็นพิษก็แสดงว่าน้ำไม่สะอาดและไม่ควรบริโภค เพราะเชื้อโคลิฟอร์ม อี.โคไล นั้นเป็นจุลินทรีย์ที่บ่งบอกสุขลักษณะความสะอาดของน้ำดื่ม นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้บริโภคได้รับเชื้อโรคอาหารเป็นพิษจะทำให้เกิดอาการทางเดินอาหารได้ภายใน 2-24 ชั่วโมง ผู้ที่ได้รับเชื้อดังกล่าวอาจมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ และเกิดตะคริวที่ท้องได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการที่ติดตั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญให้ดูแลและบำรุงรักษาตู้หลังการติดตั้งอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งกำหนดเกณฑ์หรือมาตรฐานการผลิตที่เหมาะสม เพื่อใช้กำกับและควบคุมธุรกิจการผลิตน้ำดื่มตู้หยอดเหรียญให้ได้คุณภาพและปลอดภัย โดยผู้ประกอบการและผู้รับผิดชอบดูแลตู้ควรมีความรับผิดชอบใส่ใจในคุณภาพความปลอดภัยของผู้บริโภคด้วย