ผู้เขียน หัวข้อ: แพทยสภา-สธ.ชี้เดินหน้า 1 โรคเรื้อรังต่อ 1 รพ.มีปัญหา  (อ่าน 1841 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
หารือ 3 ประกาศกรมบัญชีกลาง ด้านสมาคม ขรก. ขอความเห็นใจระงับเรื่อง ด้านแพทยสภา-สธ.ชี้ เดินหน้า 1 โรคเรื้อรังต่อ 1 รพ.มีปัญหา
       
       วันนี้ (18 ต.ค.) ที่อาคารรัฐสภา 2 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รองประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร กล่าวระหว่างการประชุมพิจารณาข้อร้องเรียนกรณีประกาศกรมบัญชีกลางในการควบคุมการเบิกจ่ายยา ซึ่งมี นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล ประธานคณะกรรมาธิการ เป็นประธานการประชุม ว่า ข้อร้องเรียนประกอบด้วย 3 เรื่อง คือ 1.กรณีเจ็บป่วยโรคเรื้อรังต้องลงทะเบียนในระบบเบิกจ่ายตรงไว้กับโรงพยาบาลเพื่อเป็นสถานพยาบาลประจำตัวเพียง 1 โรคเรื้อรังต่อ 1 แห่ง โดยต้องลงทะเบียนให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2555 2.ข้อกำหนดเกณฑ์การเบิกค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ และ 3.กรมบัญชีกลางมีประกาศห้ามเบิกจ่ายยาบรรเทาข้อเสื่อม หรือยากลูโคซามีนซัลเฟตในระบบตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้ ซึ่งประกาศดังกล่าวมีข้อถกเถียงมาก โดยคณะกรรมาธิการฯ จะรับฟังปัญหาต่างๆ และนำกลับไปพิจารณาว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป
       
       พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา สมาชิกสมาคมข้าราชการพลเรือนอาวุโส กล่าวว่า การประกาศของกรมบัญชีกลางทั้ง 3 ฉบับ ไม่ได้คำนึงผลกระทบของข้าราชการ อาทิ การห้ามเบิกจ่ายยากลูโคซามีนซัลเฟต โดยให้หันไปใช้ยา NSAIDS ซึ่งเป็นยาที่มีความเสี่ยงทำให้เลือดออกในกระเพาะอาหาร และแนวโน้มจะสั่งห้ามจ่ายยาโรคกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็น 1 ใน 9 กลุ่มยาที่กรมบัญชีกลางสั่งควบคุมก่อนหน้านี้ ได้แก่ 1.กลุ่มยาลดไขมันในเลือด 2.กลุ่มยาลดการเป็นแผลและเลือดออกในกระเพาะอาหาร 3.กลุ่มยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ 4.กลุ่มยาเบื้องต้นในการรักษาความดันโลหิตสูงและหัวใจล้มเหลวแบบเลือดคั่ง 5.กลุ่มยาลดความดันโลหิต 6.กลุ่มยาป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือด 7.กลุ่มยาป้องกันกระดูกพรุน 8.กลุ่มยารักษามะเร็ง และ 9.ยาข้อเสื่อม ซึ่งมาตรการเหล่านี้ส่งผลต่อผู้ป่วยสูงอายุมาก หรือไม่เห็นคุณค่าของคนกลุ่มนี้แล้ว
       
       “การกำหนดเกณฑ์เบิกยานอกบัญชียาหลักฯ เป็นการละเมิดวิชาชีพแพทย์ และยังมีความพยายามบังคับให้แพทย์จ่ายยาบางอย่าง ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้ป่วยด้วย เนื่องจากทำให้แพทย์ไม่สะดวกในการรักษาผู้ป่วย เพราะต้องกรอกแบบฟอร์มมากมายก่อนรักษา และหากจะใช้ยานอกบัญชียาหลักฯ จะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ของกรมบัญชีกลาง อาทิ ให้ใช้ยาในบัญชียาหลักฯก่อน หากอาการไม่ดีขึ้น มีผลข้างเคียง จึงใช้ยาอื่นๆได้ วิธีนี้ถามว่า ต้องรอให้ผู้ป่วยอาการรุนแรงก่อนหรืออย่างไร จึงขอให้คณะกรรมาธิการพิจารณาข้อร้องเรียน และทำหนังสือถึงกรมบัญชีกลางถึงความเดือดร้อนดังกล่าว และขอให้ระงับประกาศไปก่อน โดยให้มีการหารือจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเช่นนี้” พญ.เชิดชู กล่าว
       
       ด้าน นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า การกำหนดให้ 1 โรคเรื้อรังต่อ 1 โรงพยาบาล ถือว่าน้อยเกินไป ทำให้คนไข้เกิดการกระจุกตัว หากจะทำมี 2 ทางเลือก คือ 1.เพิ่ม รพ.ลงทะเบียน เป็น 2 แห่ง อาจมีรพ.ใกล้บ้าน และใกล้ที่ทำงาน และ 2.กรณีรักษา รพ.นอกเหนือจากการลงทะเบียน ให้สำรองจ่ายก่อน และไปเบิกกับกรมบัญชีกลาง
       
       นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การลงทะเบียน 1 โรคเรื้อรังต่อ 1 รพ.ขัดกับนโยบาย สธ. เรื่องลดความแออัด เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไปลงทะเบียนที่ รพ.ขนาดใหญ่ แต่ขณะนี้ สธ.พยายามรักษาผ่านเครือข่าย อย่าง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) อย่างโรคเบาหวาน ที่ไม่รุนแรง หากรักษา รพ.สต.ได้ก็รักษา แต่หากเจาะเลือด ตรวจภาวะแทรกซ้อนก็อาจมา รพ.อำเภอ หรือจังหวัด
       
       นายนพงศ์ ศิริขันตยกุล รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า การให้ลงทะเบียน 1 โรคเรื้อรังต่อ 1 รพ.นั้น เพราะที่ผ่านมาผู้ป่วยไปใช้บริการมาก และมีการรับยาซ้ำซ้อน ทำให้จ่ายยามากเกินความจำเป็น จึงต้องควบคุม ซึ่งหากผู้ป่วย 1 รายมีโรคเรื้อรังหลายโรค ก็สามารถรักษา รพ.อื่นได้ และหากต้องการย้าย รพ.ก็ทำได้ ไม่ยุ่งยาก ส่วนการกำหนดเกณฑ์การเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักฯ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2555 เนื่องจากมีการใช้ยากลุ่มนี้มากเกินไป และใช้เป็นยาขนานแรก โดยไม่ระบุเหตุผล ทั้งๆ ที่ยาในบัญชียาหลักฯ ก็ใช้ได้ ซึ่งไม่ได้ห้ามใช้ยานอกบัญชียาหลักฯ เพียงแต่ต้องมีเกณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นไปตามดุลพินิจ


ASTVผู้จัดการออนไลน์    18 ตุลาคม 2555

iMD

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 3
    • ดูรายละเอียด
มีคนไข้มาถามว่า การลงทะเบียนหมายความว่าอย่างไรครับ

ลงทะเบียน ทีเดียวรักษาทั้ง 25 โรคที่โรงพยาบาลเดียวกันหมด

ลงทะเบียนแยกเป็นโรคๆ 25 โรค 25 โีรง

ยังไงกันแน่

คำถามถัดไป โรงที่ไม่ลงทะเบียนไว้ หมายความว่า เบิกตรงไม่ได้ หรือ เบิกไม่ได้ครับ

ข้อแรกคำตอบน่าจะเป็น แยกโรง ส่วนข้อสองน่าจะป็น เบิกไม่ได้เลย ถูกไหมครับ

คำถามถัดไป 

ถ้าโรคอื่นๆ ในระบบเดียวกัน อย่างโรคตา ถ้าเป็นต้อหิน ลงทะเบียน รพ. เอ จะผ่าต้อกระจก รพ. บี ได้ไหม





story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
ตามตัวหนังสือของกรมบัญชีกลาง ไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้  เบิกไม่ได้
คิดว่า เฉพาะกรณีโอพีดีเท่านั้น เพราะคนไข้ในใช้เบิกตาม DRG อยู่แล้ว