ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมาภิบาลกับการรวม 3 กองทุน  (อ่าน 2229 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
ธรรมาภิบาลกับการรวม 3 กองทุน
« เมื่อ: 17 ตุลาคม 2012, 18:53:45 »


หลักการ : ที่มาของปัญหาธรรมาภิบาลในการรักษาพยาบาลของประชาชนไทยปัจจุบัน

     รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช  ๒๕๕๐(จาก ร.ธ.น. พ.ศ.๒๕๔๐)    มาตรา ๕๑  
     “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยรับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย      
    บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขจากรัฐซึ่งต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ    
    บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐอย่างเหมาะสม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและทันต่อเหตุการณ์”    
   ในขณะนี้ได้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ ๓ หน่วยงานคือ

    ๑.  พ.ร.บ.สวัสดิการข้าราชการ พ.ศ.๒๕๒๓ ให้กระทรวงการคลังมีหน้าที่ จัดหาเงินงบประมาณมาเป็น          ค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและครอบครัวเป็นสวัสดิการตามสัญญาที่ข้าราชการได้ทำต่อหน่วยงานของตน ซึ่งเป็นระบบที่จ่ายค่ารักษาตามค่าใช้จ่ายจริงเพียงระบบเดียวตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นปัจจัยหนึ่งที่จูงใจให้ข้าราชการยอมรับเงินเดือนที่ต่ำกว่าเอกชน งบประมาณนี้ผ่าน กระทรวงการคลัง บริหารโดยกรมบัญชีกลาง      ของบเป็นรายปี เพื่อดูแลสมาชิกประมาณ ๕ล้านคนและครอบครัว  เมื่อปีงบประมาณ ๒๕๔๙ ใช้งบประมาณไป ราว ๆ ๒๕,๐๐๐ ล้านบาท
     เมื่อปีงบประมาณ ๒๕๕๐ เริ่มให้ ใช้วิธีแสกนนิ้วมือ (เปิดช่องทุจริต) ค่ารักษาพุ่งขึ้นไปถึง เกือบ๕๐,๐๐๐ ล้านบาท และเพิ่มขึ้นทุกปีมา   ซึ่งทำให้กระทรวงการคลังได้พยายามลดค่ารักษาดังกล่าวโดยออกมาตรการจำกัดการใช้ยาออกมาในปี๒๕๕๓และตรวจสอบการจ่ายยาผู้ป่วยในอย่างเข้มข้น จนมีผู้ยื่นเรื่องให้กฤษีกาตีความเมื่อปี ๒๕๕๑ สรุปว่ากระทรวง การคลังไม่มี่อำนาจหน้าที่ที่จะมาจำกัดสิทธิการใช้ยาของข้าราชการได้ เพราะมีอำนาจเฉพาะการจัดหาเงินค่ารักษาเท่านั้น
    ในปี ๒๕๕๓  ในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์  ได้ออก พระราชกฤษฎีกาให้อำนาจกระทรวงการคลังสามารถจัดการเรื่องค่ารักษาของข้าราชการได้ตามกระทรวงการคลังกำหนด (ภายใต้กฎหมาย)
     ตั้งแต่ ๑ตุลาคม ๒๕๕๕เป็นต้นไปกระทรวงการคลังกำหนดให้การคิดค่ารักษาโดยใช้ระบบ DRG               เต็มรูปแบบตาม สป.สช. ซึ่งให้ค่ารักษาตามคะแนนที่ได้   ไม่ใช่ตามจ่ายจริงอีกต่อไป                                                                                                                                                                        
    และยังมีบันไดแปดขั้นกำหนดเกณฑ์การให้ยาในการรักษาข้าราชการออกมาอย่างต่อเนื่องสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ป่วยข้าราชการจำนวนมาก  มีคำถามว่ากระทรวงการคลังมีอำนาจในการกำหนดข้อปฏิบัติที่สร้างความเดือดร้อนดังกล่าวหรือไม่ พระราชกฤษฏีกานั้นให้อำนาจให้ทำสิ่งที่ดูเหมือนไร้ธรรมาภิบาลได้หรือไม่  ผู้ที่ได้รับผลเสียต่อการรักษาโรคจากข้อจำกัดเรื่องยาอย่างมากเช่นนั้นจะสามารถฟ้องร้องกระทรวงการคลังอย่างไรบ้าง

    ๒.พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ.๒๕๓๓ มีกองทุนประกันสังคม เป็นระบบร่วมจ่ายโดยผู้ประกันตน เจ้าของกิจการ และรัฐบาลร่วมจ่ายคนละ ๑ ใน ๓ แล้วจ่ายค่ารักษาเหมารายหัวและปัจจุบันเพิ่มกลุ่มรักษาราคาแพงให้เป็นระบบพิเศษเพิ่มเติมต่างหากโดยคิดค่ารักษาด้วยระบบ DRG อ้างอิงจาก สป.สช.เช่นเดียวกันซึ่งดูแลสมาชิกประมาน    ๑๐ ล้านคน  โดยให้สิทธิในการรักษาพยาบาล  สิทธิได้เงินชดเชยกรณีทุพลภาพจากการทำงาน การเสียชีวิตให้ เงินชดเชยการหยุดงานจากการเจ็บป่วย รวมทั้งกรณีชราภาพในอนาคตซึ่งตั้งงบประมาณปีต่อปี

    ๓. พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕(สป.สช.) มีกองทุน สป.สช. ที่ขอเงินจากรัฐบาลมาเป็นค่ารักษาเป็นรายหัว โดยประชาชนผู้ใช้บัตรทองอาจร่วมจ่ายเพียง 30 บาท ในการเข้ารับการรักษาแต่ละครั้งในกลุ่มบัตรทองปกติ ส่วนผู้ยากไร้ (บัตรทอง ท.)รักษาฟรีไม่ต้องร่วมจ่าย  ดูแลประชาชนประมาณ ๔๘ล้านคน ซึ่งมาจากภาษีและตั้งวงเงินโดยรัฐบาลเป็นงบเหมาจ่ายรายหัวปีต่อปี ผู้มีสิทธิ (บัตรทอง) ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.สป.สช. ดังนี้
     “มาตรา ๕ บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตาม ที่กำหนดโดยพระราชบัญญัตินี้  คณะกรรมการ(สป.สช.)อาจกำหนดให้บุคคลที่เข้ารับบริการสาธารณสุขต้องร่วมจ่ายค่าบริการในอัตราที่กำหนดให้แก่หน่วยบริการในอัตราที่กำหนดในแต่ละครั้งที่เข้ารับบริการเว้นแต่ผู้ยากไร้หรือบุคคลอื่น ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไม่ต้องจ่ายค่าบริการประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขที่บุคคลมีสิทธิได้รับให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ(สป.สช.)ประกาศกำหนด”  และยังมีส่วนที่กำหนดไว้เพื่อให้กองทุนอื่นนำเงินในส่วนที่ใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของสมาชิกมามอบให้แก่กองทุน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สป.สช.) ดังนี้
    “มาตรา ๙ ขอบเขตของสิทธิรับบริการสาธารณสุขของบุคคลดังต่อไปนี้ให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบ ประกาศ มติคณะรัฐมนตรีหรือคำสั่งใดๆที่กำหนดขึ้นสำหรับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐและให้ใช้สิทธิดังกล่าวตามพระราชบัญญัตินี้  (๑)ข้าราชการหรือลูกจ้างของส่วนราชการ  (๒)พนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  (๓) พนักงานหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ หรือผู้ซึ่งปฏิบัติงานอื่นของรัฐหรือบุคคลอื่นใดที่มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลโดยใช้จ่ายจากเงินงบประมาณ   (๔) บิดามารดา คู่สมรส บุตร หรือบุคคลอื่นใดที่ได้รับสวัสดิการการรักษาพยาบาลโดยอาศัยสิทธิของบุคคลตาม(๑) (๒) หรือ(๓))  ในการนี้ ให้คณะกรรมการ(สป.สช.)มีหน้าที่จัดการให้บุคคลดังกล่าวสามารถได้รับบริการสาธารณสุขตามที่ได้ตกลงกันกับรัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐแล้วแต่กรณี
      การกำหนดให้บุคคล ตามวรรคหนึ่งประเภทใด หรือหน่วยงานใด ใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัตินี้ได้เมื่อใดให้เป็นไปตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
      เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาตามวรรคสามใช้บังคับแล้วให้รัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐแล้วแต่กรณี ดำเนินการจัดสรรเงินในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสำหรับบุคคลตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกานั้นให้แก่กองทุนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ตกลงกับคณะกรรมการ(สป.สช.)
      มาตรา ๑๐ ขอบเขตของสิทธิรับบริการสาธารณสุขของผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม การขยายบริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัตินี้ไปยังผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ(สป.สช.)และคณะกรรมการประกันสังคมตกลงกัน
     ให้คณะกรรมการ(สป.สช.)จัดเตรียมความพร้อมในการให้บริการสาธารณสุขแก่ผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และเมื่อได้ตกลงกันเกี่ยวกับความพร้อมให้บริการสาธารณสุขกับคณะกรรมการประกันสังคมแล้ว ให้คณะกรรมการ(สป.สช.)เสนอรัฐบาลเพื่อตราพระราชกฤษฎีกากำหนดระยะเวลาการเริ่มให้บริการสาธารณสุขจากหน่วยบริการตามพระราชบัญญัตินี้แก่ผู้มีสิทธิดังกล่าว
     เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาตามวรรคสองใช้บังคับแล้ว  ให้สำนักงานประกันสังคมส่งเงินค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุนประกันสังคมให้แก่กองทุน(สป.สช.)ตามจำนวนที่คณะกรรมการ(สป.สช.)และคณะกรรมการประกันสังคมตกลงกัน
      มาตรา๑๑ในกรณีที่ลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนผู้ใดใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขจากหน่วยบริการตามพระราชบัญญัตินี้เมื่อใดแล้วให้หน่วยบริการแจ้งการเข้ารับบริการนั้นต่อสำนักงาน(สป.สช.)และให้สำนักงาน(สป.สช.)มีสิทธิเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุนเงินทดแทนแต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ส่งเข้ากองทุน(สป.สช.)เพื่อส่งต่อให้หน่วยบริการต่อไป  ในกรณีที่ผู้เข้ารับบริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัตินี้เป็นลูกจ้างของนายจ้างที่ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบกองทนเงินทดแทน ให้สำนักงาน(สป.สช.)มีสิทธิยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนแทนลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนเพื่อชำระค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขแต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ส่งเข้ากองทุน(สป.สช.)เพื่อส่งต่อให้หน่วยบริการต่อไป
      การจ่ายเงินค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขตามมาตรานี้ ให้ถือเป็นการจ่ายเงินทดแทนในส่วนของค่ารักษาพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน
    มาตรา ๑๒ ในกรณีที่ผู้ประสบภัยจากรถตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ  ผู้ใดใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขจากหน่วยบริการตามพระราชบัญญัตินี้เมื่อใดแล้ว ให้หน่วยบริการแจ้งการเข้ารับบริการนั้นต่อสำนักงาน(สป.สช.)และให้สำนักงาน(สป.สช.)มีสิทธิเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย แต่ไม่เกินจำนวนค่าสินไหมทดแทนตามภาระหน้าที่ที่กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยต้องจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ส่งเข้ากองทุน(สป.สช.)เพื่อส่งต่อให้หน่วยบริการต่อไป
      ในกรณีที่บริษัทผู้รับประกันภัยรถหรือบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจำกัด มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถที่เข้ารับบริการสาธารณสุขตามวรรคหนึ่ง ให้สำนักงาน(สป.สช.) มีอำนาจออกคำสั่งให้บริษัทดังกล่าวชำระค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข แต่ไม่เกินสิทธิที่พึงได้รับตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย ส่งเข้ากองทุน(สป.สช.)เพื่อส่งต่อให้หน่วยบริการหน่วยบริการต่อไป
    การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขตามมาตรานี้ ให้ถือเป็นการจ่ายค่าสินไหมทดแทนในส่วนของค่ารักษาพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ”

ปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลในปัจจุบันที่เกี่ยวกับ ๓ กองทุนนี้

    ๑. จาก พ.ร.บ. สป.สช.จะเห็นว่ามีการเขียนไว้ล่วงหน้าโดยไม่ได้ถามอีก ๒ หน่วยงานว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะต้องนำเงินมาให้ กองทุน สป.สช.บริหารแต่เพียงผู้เดียว     และในช่วง๒-๓ ปีมานี้มีการแสดงถึงความพยายามของ สป.สช. ที่จะรวมกองทุนทั้ง ๓ อย่างต่อเนื่องแต่ยังไม่สำเร็จ
     เมื่อ ๒๒ พ.ย. ๒๕๕๔ ได้มีผลสรุปการตรวจสอบการดำเนินงานของกองทุน สป.สช. ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ – พ.ศ. ๒๕๕๓ ว่า ไม่ถูกต้องเหมาะสม ไม่เป็นไปตาม มติ ค ร ม., ระเบียบสำนักนายกฯ,  พ.ร.บ. สป.สช.ที่กำหนดถึง ๗ ประเด็นรวมถึงมีการค้างจ่ายเงินค่ารักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่นโรงเรียนแพทย์ ,โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป รวม กว่า ๒๐,๐๐๐ล้านบาท ในปี งบ ๒๕๕๓ เพียงปีเดียว และส่อถึงการขาดธรรมาภิบาลในการบริหารกองทุนอย่างมาก  ถ้าให้กองทุนที่ไม่มีธรรมาภิบาลเช่นนี้มาเป็นตัวแทนรวมศูนย์ รวบเงินทั้งหมดมาบริหารผู้เดียวจะทำให้เกิดความเสี่ยงสูงมากเพียงใด และมีคำถามว่ามีความจำเป็นอะไรที่ต้องทำเช่นนั้นทำไม    คนของ สป.สช.จึงกระตือรือร้นเหลือเกินที่จะไปเอาเงินของกองทุนอื่นมาบริหาร  มีเลศนัยใดหรือไม่

    ๒.ขณะเดียวกันก็มีการให้ข่าวจากกระทรวงการคลังเรื่องค่ารักษาของข้าราชการว่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและรัฐบาลต้องการควบคุมค่าใช้จ่ายนี้  และมีการประสานเสียงจากบุคลากรของ สป.สช.ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำของสิทธิเพื่อให้สังคมมองตามนั้นและบีบให้ ๓ หน่วยงานรวมกองทุนกับ สป.สช. โดย ยอมลงทุนเสนอโครงการ  EMCO การเบิกค่ารักษาพยาบาลกรณีฉุกเฉินร่วมกันโดยมี สป.สช. เป็น Clearing  houseจ่ายเงินแทนทุกกองทุนไปก่อนแล้วค่อยใช้หนี้ทีหลัง  ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นต้องทำเช่นนั้นเลย

วิธีการที่ไร้ธรรมาภิบาล
 
    เมื่อ  ๑ มีนาคม ๒๕๕๕  เลขาธิการ สป.สช. เสนอให้ร่วมรักษาคนไข้ฉุกเฉินร่วมกันทุกสิทธิ ดังที่กล่าวมาก่อนหน้านี้เป็นการบีบบังคับให้โรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนให้จำยอมทั้งเรื่องราคาและวิธีการ  ทั้งบีบให้กองทุนประกันสังคม และ กรมบัญชีกลางให้โอนเงินที่ยอมรับสภาพหนี้ให้กับ สป.สช. ทั้งที่ไม่สามารถทำได้เพราะผิด พ.ร.บ.ทั้ง๒หน่วยงาน ซึ่งจะสามารถโอนเงินค่ารักษาให้หน่วยบริการเป็นค่ารักษาได้เท่านั้น แต่ กองทุน สป.สช.ไม่ใช่หน่วยบริการจึงไม่มีสิทธิรับเงินนี้ถ้าจะทำให้ได้ต้องแก้ไข พ.ร.บ ทั้งประกันสังคมและกระทรวงการคลัง ซึ่ง สป.สช .อาจให้รวบรัดให้เป็นการรวม ๓ หน่วยงานให้เป็นของ สป.สช. เสียเลยตามเจตนาของกลุ่มตน ดังที่เขียนไว้ใน พ.ร.บ. สป.สช.มาตรา๙,  ๑๐, ๑๑, และ๑๒ นั่นเอง
    ปัจจุบันนี้ กระทรวงการคลังได้ออกระเบียบของกระทรวงการคลังสั่งการและลงนามโดยรองปลัดกระทรวง (คุณสุภา)  สั่งให้แพทย์จ่ายยาให้แก่ข้าราชการทั้งหลายด้วยการจำกัดชนิดยาและวิธีการที่บีบบังคับมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน แต่กระทรวงการคลังก็กล้าแจ้งให้แพทย์ทราบเพียงกลุ่มเดียวและต้องเป็นฝ่ายแจ้งคนไข้เอง  โดยที่กระทรวงการคลัง ไม่กล้าที่จะแจ้งข้าราชการ ๕ล้านคนให้ทราบระเบียบที่ลิดรอนสิทธินี้ด้วยตนเอง  ปล่อยให้แพทย์เผชิญหน้าแทน ทะเลาะกับคนไข้แทนตามลำพังเอง เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าใช้สิทธิยุ่งยากทั้งคนไข้และแพทย์ โดยเฉพาะสิทธิการใช้ยาถูกจำกัดลงมากจนน้อยกว่าบัตรทองเสียอีกทำให้มองเป็นเจตนาแอบแฝงได้ว่าอยากให้ข้าราชการทนไม่ได้จนตัดสินใจใช้บัตรทองดีกว่า  ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะสมดังเจตนาของกลุ่ม สป.สช.เลยทีเดียว

จะใช้หลักธรรมาภิบาลเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยทั้ง ๓ กองทุนนี้อย่างไร

    ๑.ไม่ควรรวม๓กองทุน เพราะมีความเสี่ยงว่าหากเกิดความผิดพลาดใดจะล้มทั้งหมดทุกระดับสถานบริการ  ควรพัฒนาทุกกองทุนไปตามลักษณะของกองทุนนั้นๆ โดยไม่แทรกแซงกัน แต่ร่วมมือผสานกันในการทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายอย่างมีธรรมาภิบาล  โดยพัฒนาสิทธิของผู้ป่วยในแต่ละกองทุนให้ได้รับบริการการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพตามโรคของผู้ป่วยแต่ละคนให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและเหมาะสมตามสภาพร่างกายผู้ป่วยนั้นๆดังเช่นคำว่า “ลางเนื้อชอบลางยา” โดยไม่มาบังคับเพราะคนแต่ละคนมีความจำเพาะในร่างกายของตนต้องการการรักษาหรือยาที่เหมาะสมตามความจำเพาะของคนๆนั้นมีหลักฐานพิสูจน์ตามวิชาการยืนยันมากมาย เช่น Target Therapy ที่ใช้ในปัจจุบัน ดังนั้นการจำกัดการใช้ยาก็ขัดต่อหลักการธรรมาภิบาลในการรักษาอย่างยิ่ง

    ๒.ควรมีการรับผิดชอบตนเองของผู้ป่วยทุกคนและผู้ที่ยังไม่ป่วยทุกคนในเรื่องการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอและเมื่อเจ็บป่วยจะต้องร่วมมือกับผู้ให้การรักษาและใช้ยาและเครื่องมือต่างๆให้คุ้มค่าที่สุดเพราะทุกอย่างมีต้นทุนทั้งสิ้นจึงจะถือว่ามีธรรมาภิบาลแบบสมดุลในผู้รักษาด้วย ไม่ใช่ทิ้งยาเมื่อไม่อยากกินดังจะเห็นได้จากโครงการไข่แลกยาที่ไม่ใช้ของการทรวงสาธารณสุขที่ผ่านมาว่ามียาที่ผู้ป่วยต้องการทิ้งมากมายมหาศาลในแต่ละวันทั่วประเทศ

    ๓.ควรมีวิธีร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาในผู้ป่วยทุกสิทธิที่สามารถเป็นไปได้โดยไม่เป็นภาระของรัฐบาลฝ่ายเดียวตลอดเวลาจึงจะมีธรรมาภิบาลและทำให้ระบบยั่งยืน

    ๔.หน่วยงานของรัฐที่ดูแลเรื่องคุณภาพยา  (อ.ย.) ทั้งยาที่ผลิตทั้งในประเทศและต่างประเทศต้องเข้มงวดจริงจังเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย  ส่วนผู้ผลิตยา  (องค์การเภสัชกรรม)  ต้องตระหนักและทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ที่สุดคือผลิตยาที่มีคุณภาพจริงๆ ไม่มุ่งหวังเรื่องผลกำไรอย่างเดียวแล้วทำตัวเป็นพ่อค้าคนกลางซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้ป่วยจึงไม่น่าจะมีธรรมาภิบาลดังที่เจตนาการตั้งหน่วยงานนี้ได้บอกไว้ (โฆษณาโทรทัศน์บอกเช่นนั้น???)

    ๕.หน่วยงานที่ดูแลผู้ให้การรักษาพยาบาลทุกภาคส่วนต้องทำให้ผู้รักษาดูแลผู้ป่วยมีคุณภาพถึงพร้อมในความรู้ และความสามารถ  ลดความเสี่ยงโดยมีเวลาพักผ่อนเพียงพอก่อนจะไปรักษาผู้ป่วย  มีจำนวนเพียงพอเพื่อดูแลผู้ป่วยอย่างทั่วถึงรวดเร็วทันเวลา  จึงจะถือว่ามีธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง

    ๖.การรวม ๓ กองทุนให้ผู้ป่วยทุกคนที่เป็นโรคชื่อเดียวกันได้ยาชนิดเดียวกันทุกคนและจำกัดสิทธิในการเลือกวิธีรักษาผิดทั้งหลักวิชาการและอาจทำให้ผู้ป่วยหลายคนถูกละเมิดสิทธิและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตจึงผิดทั้งหลักธรรมาภิบาลไม่สมควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง
                                                                                                      

แพทย์หญิง ประชุมพร บูรณ์เจริญ
๑๕  ตุลาคม  ๒๕๕๕
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 ตุลาคม 2012, 21:31:55 โดย story »