ผู้เขียน หัวข้อ: ลืมขนาดไหน? ถึงเข้าขั้นอัลไซเมอร์  (อ่าน 895 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
 
โรคความจำเสื่อมเป็นปัญหาที่คุกคามคนไทย ระยะหลังเริ่มพบโรคนี้ในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยลง โดยคนส่วนใหญ่เข้าใจผิดและมักไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ และกลัวการรักษาจนปล่อยให้โรคลุกลามเกินเยียวยา
 
ดร.นพ.โยธิน ชินวลัญช์ อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า โรคอัลไซเมอร์ไม่ได้เริ่มเกิดในผู้ป่วยอายุ 65 ปีขึ้นไป แต่จากการศึกษาพบว่าการเกิดโรคจะเริ่มเกิดตั้งแต่ช่วงอายุ 40-65 ปี ซึ่งในเมืองไทยตอนนี้มีสถิติผู้ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ถึงเกือบ 2 ล้านคน โดยโรคอัลไซเมอร์หรือความจำเสื่อม เกิดจากจากความผิดปกติของเซลล์สมองถูกทำลายซึ่งมีสาเหตุได้จากหลายสาเหตุ เช่น การเสื่อมที่เกิดขึ้นตามวัย พันธุกรรม อุบัติเหตุทางสมอง โรคหลอดเลือดสมอง โรคการติดเชื้อของสมอง โรคทางกายที่มีผลกระทบต่อเซลล์สมอง เป็นต้น
 
การเกิดโรคจะเริ่มต้นจากการที่ผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติทางความจำต่อมาเริ่มมีอาการหลงลืมหรือความจำถดถอยเล็กน้อยจนกระทั่งความจำเริ่มถดถอยมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีอาการสมองเสื่อมอย่างชัดเจนโดยเริ่มมีผลกระทบต่อการดำเนินในชีวิตประจำวัน
 
โรคอัลไซเมอร์จะมีระยะเวลาการก่อโรคนาน 15-20 ปีกว่าจะมีอาการสมองเสื่อมชัดเจน การแสดงอาการของโรคจะเป็นไปอย่างช้าๆ ตั้งแต่เริ่มต้นจากภาวะปกติที่ผู้ป่วยไม่มีความผิดปกติเรื่องความจำแต่เริ่มมีการสะสมของสารเบต้าอมีลอยย์ในสมองต่อมาเมื่อมีการสะสมของสารตัวนี้มากขึ้นเรื่อยจะเริ่มมีการทำลายของเซลล์สมอง การที่ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการความจำถดถอยเกิดขึ้นเป็นผลจากการสะสมของสารเบต้าอมีลอยย์มาแล้ว 10-15 ปี
 
ต่อมาผู้ป่วยถึงจะมีอาการมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีอาการสมองเสื่อมชัดเจน ทำให้การวินิจฉัยและรักษาทำได้ไม่ทันท่วงที ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเพิกเฉยคิดว่าความผิดปกติทางความจำเล็กน้อยไม่ได้เป็นอาการเริ่มต้นของโรคสมองเสื่อม และความไม่เข้าใจที่ว่าโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่เริ่มเกิดในคนสูงอายุและเป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกัน และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และต้องทานยาอย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต
 
ดร.นพ.โยธิน บอกว่า หากมีญาติที่เริ่มมีอาการหลงๆ ลืมๆ ผิดปกติ เช่น ลืมทานยาประจำตัว ลืมปิดเตาแก๊ส ลืมกุญแจ ลืมปิดประตูบ้าน ลืมปิดไฟ ลืมทำในสิ่งที่เคยทำในชีวิตประจำต่างๆ มากขึ้น มีปัญหาด้านการเรียนรู้ ใครบอกอะไรไปแล้วไม่จำซึ่งแต่ก่อนไม่เป็น นึกชื่อสิ่งของไม่ออกว่าชื่ออะไร ภาวะอาการการนอนผิดปกติ หรือเห็นภาพหลอน ควรรีบพบแพทย์ระบบประสาททันที เพื่อตรวจหาสาเหตุแต่เนิ่นๆ
 
โดยปัจจุบันนี้เทคโนโลยีทางการแพทย์ได้พัฒนาไปมาก มีการตรวจความผิดปกติของสมองด้วยเครื่อง PET Scan หรือการสแกนด้วยรังสี เพื่อตรวจหาความผิดปกติทางสมอง ข้อมูลทางคลีนิก การตรวจเรื่องความจำและผลจาการตรวจทาง PET scan จะสามารถยืนยันความผิดปกติได้ถูกต้องได้ถึง >90% การที่ผู้ป่วยรู้ตัวล่วงหน้าว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมในอนาคต จะช่วยให้ผู้ป่วยวางแผนปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิต โดยเน้นการบริหารสมองด้วยการอ่านหนังสือ เล่นเกมที่อาศัยการคิดคำนวณ การพบปะพูดคุยเข้าสังคม ทั้งหมดที่สามารถช่วยชะลอ หรือทุเลาอาการเสื่อมที่จะเกิดขึ้นได้
 
อย่างไรก็ตาม คุณหมอแนะนำวิธีดูแลตัวเองสำหรับคนที่ไม่อยากเป็นโรคอัลไซเมอร์แบบง่ายๆ ดังนี้ ต้องหมั่นบริหารสมองตัวเองอยู่เสมอ เช่น การอ่านหนังสือเป็นประจำ ดูแลสุขภาพจิตตัวเองให้ดี เป็นคนคิดบวก พยายามไม่เครียด ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
 
สำหรับผู้ที่เริ่มสงสัยว่าตัวเองจะเป็นโรคความจำเสื่อม มีความเสี่ยงหรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ ก็สามารถตรวจวินิจฉัยด้วยเทคนิค PET Scan โดยใช้สาร C11-PIB หรือ Pittsburgh Compound B เพื่อตรวจหาสารเบต้าอมีลอยด์ได้ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป เพราะยิ่งแพทย์สามารถพบอาการได้เร็วเท่าไรโอกาสในการยับยั้งอาการและรักษาโรคนี้ก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น คุณหมอกล่าวทิ้งท้าย


มติชน