ผู้เขียน หัวข้อ: ปลัด สธ.ยันงบเหมาจ่ายไม่พอ รพ.ขอเพิ่มได้  (อ่าน 1052 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
  ปลัด สธ.เน้นทำงานร่วม สปสช.เดินหน้าหลักประกันสุขภาพ ยัน รพ.ที่ทำงานเต็มที่แต่งบเหมาจ่ายไม่พอ สามารถของบเพิ่มได้ พร้อมสั่ง “หมอโสภณ” ตั้ง คกก.ลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหา รพ.ขาดสภาพคล่อง
       
       นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการประชุมชี้แจงการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2555 ว่า การทำงานด้านหลักประกันสุขภาพในยุคนี้ จะเน้นการทำงานร่วมกันระหว่าง สธ.และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดย สปสช.จะเป็นผู้ซื้อบริการ จ่ายเงินเหมาจ่ายรายหัวให้แก่สถานพยาบาลต่างๆ ในการให้บริการผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) ส่วน สธ.จะเน้นกำหนดนโยบายร่วมกันโดยเฉพาะเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรค โดยเฉพาะโรคเรื้อรังต่างๆ ให้ได้รับบริการในทุกระดับอย่างใกล้เคียงที่สุด ตั้งแต่สถานพยาบาลระดับเล็กไปจนถึงระดับจังหวัด
   
       นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นในปี 2556 จะมีกิจกรรมที่ดำเนินการร่วมกัน อาทิ กองทุนสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคทั้งหมด ยกเว้น กองทุนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กองทุนบริการการแพทย์แผนไทย กองทุนบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ กองทุนบริการควบคุมป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง กองทุนบริการผู้ป่วยในทั่วไป และการตั้งงบประมาณผู้ป่วยนอกสนับสนุนสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิในอัตรา 37 บาทต่อหัวประชากรต่อปี ซึ่ง สปสช.ขอพิจารณาก่อน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมด สธ.จะเตรียมทำแผนและรูปแบบ โดยจะมีการประชุมร่วมกันอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า การลดเงินเหมาจ่ายรายหัว 141 บาทต่อหัว ในปี 2556 ทำให้เหลือเงินอยู่ที่ 2,755.60 บาทต่อหัว จะส่งผลให้สถานพยาบาลเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องหรือไม่ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า หากเงินถูกจำกัดก็ต้องพิจารณาว่ามีการบริการอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพมากพอหรือไม่ หากมากพอแล้ว แต่เงินไม่เพียงพอก็ต้องขอเพิ่ม ส่วนที่สถานพยาบาลขาดสภาพคล่องนั้น มีการสำรวจพบว่ามีปัญหาอยู่ประมาณ 100 กว่าแห่ง มีทั้งโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลทั่วไป
       
       “ขณะนี้ทราบปัญหาดี โดยได้มอบหมายให้ นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัด สธ.ไปพิจารณา และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ว่า เพราะเหตุใดจึงขาดสภาพคล่อง โดยต้องไปเปิดบัญชีดูถึงการบริหารจัดการ เบื้องต้นหากตั้งคณะกรรมการได้แล้วจะให้ลงพื้นที่แต่ละแห่ง เพื่อตรวจสอบอย่างละเอียด ก่อนจะหาแนวทางช่วยเหลือเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวต่อไป” ปลัด สธ. กล่าว
       
       ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า ปัญหาขาดสภาพคล่องเกิดจากรายรับและรายจ่ายไม่สมดุล สปสช.ทำหน้าที่ในการให้รายรับแก่สถานพยาบาล ซึ่งการบริหารจัดการ กลไกค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นหน้าที่ของ สธ.ตรงนี้เข้าใจว่า สธ.อยู่ระหว่างตั้งคณะทำงานดูโดยเฉพาะ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    15 ตุลาคม 2555