ผู้เขียน หัวข้อ: สปสช.เล็งแก้พรบ.บุคคลที่3โยกเงินไว้ที่สธ.  (อ่าน 995 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
สปสช.เตรียมชง คกก.ร่วม 3 กองทุนรักษาพยาบาล แก้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ให้โอนเงินกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยมาอยู่ฝั่งสาธารณสุขแทน หลังพบผู้ประสบภัยไม่เคลมประกันกองทุนบุคคลที่ 3 แต่มาใช้สิทธิ์ 3 กองทุนแทน ทำให้ขาดทุนปีละ 5-6 พันล้าน เหตุขั้นตอนเบิกจ่ายยุ่งยากเกินไป 
    ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2555 เวลา 11.30 น. ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวในการประชุมชี้แจงการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2556 ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาของการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ถือเป็นช่วงระยะเวลาเพื่อจัดวางระบบที่ดี แต่ต่อจากนี้ไปจะถือเป็นช่วงเวลาการสร้างอนาคต ทั้งเมื่อดูอัตราสัดส่วนค่าใช้จ่ายสุขภาพของประเทศ ปัจจุบันอยู่ที่ 6% ของจีดีพีประเทศ จากแต่เดิมอยู่ที่ 2-3% ของจีดีพีเท่านั้น หากคงอัตราสัดส่วนไม่ให้เกินจากนี้คงไม่เป็นปัญหา ดังนั้นจึงต้องมีกระบวนการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร อย่างเช่น การควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยา การต่อรองราคายา เป็นต้น ทั้งยังทำให้งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวปี 2556 ที่ไม่ได้เพิ่มขึ้น จึงไม่ทำให้เกิดผลกระทบมาก แต่ในส่วนงบประมาณปี 2557 คงต้องมีการประเมินอีกครั้ง
    ดร.คณิศกล่าวว่า นอกจากนี้ในเรื่องการจัดการงบประมาณ ตนยังได้รับมอบหมายจากนายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ให้ไปดูเรื่องค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ โดยเฉพาะในส่วนของประกันอุบัติเหตุ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าผู้ประสบอุบัติเหตุที่เข้ารักษาพยาบาล ส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมไม่ทำการเบิกจ่ายกับกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ เพื่อนำมาเป็นค่ารักษา ทำให้กองทุน สปสช. กองทุนประกันสังคม (สปส.) และกองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการ ต้องเป็นผู้จ่ายค่ารักษาแทน ทำให้ทั้ง 3 กองทุนขาดทุนจากการดูผลผู้ป่วยในส่วนนี้ประมาณ 5-6 พันล้านบาทต่อปี จึงควรมีการแก้ปัญหานี้
    สำหรับแนวทางในการแก้ไขอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งแบ่งเป็น 2 แนวทางดำเนินการ คือ 1.การเข้าไปแก้ไขระบบจัดการบริการการโอนจ่ายเงิน เพราะทุกวันนี้มันมีความยุ่งยากในการเบิกจ่ายมาก จึงควรมีการปรับแก้ไขให้มันง่ายขึ้น 2.การแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 โดยให้มีการโอนเงินกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยมาอยู่ฝั่งสาธารณสุขแทนที่จะไปอยู่กับฝ่ายประกันภัย
    “เวลามีการเก็บค่าเบี้ยประกันอุบัติเหตุ ควรนำค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุมาตั้งเป็นกองทุนที่อยู่ในระบบสาธารณสุขแทน แทนที่จะอยู่ในสำนักงานประกัน แต่ไม่นับรวมถึงกองทุนทดแทนกรณีพิการหรือเสียชีวิต ขณะนี้ทุกฝ่ายต่างเห็นด้วย รวมไปถึงในส่วนของประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ เชื่อว่าจะมีการผลักดันต่อ" ดร.คณิศกล่าว และว่า เบื้องต้นคงจะมีการนำเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการร่วม 3 กองทุนรักษาพยาบาลที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการประชุมครั้งต่อไป เพื่อพิจารณาว่าจะเดินไปทางใด เพื่อไม่ให้ค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน
    น.ส.กชนุช แสงแถลง หัวหน้าฝ่ายสนับสนุนผู้บริโภค มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวถึงกรณีที่มีการเตรียมเสนอแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ในส่วนของค่ารักษาพยาบาลว่า อุบัติเหตุวิกฤติที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุทางรถ แต่ที่ผ่านมาทั้ง 3 กองทุนไม่สามารถเข้าไปแตะเรื่องนี้ได้ เพราะติดปัญหาที่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถที่ทำให้เงินกระจายไปอยู่บริษัทประกันของเอกชนหลายๆ แห่ง ดังนั้น เห็นด้วยและสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดก็ตาม แต่หลักการคือต้องให้ประชาชนได้รับบริการทันที ส่วนการเก็บค่ารักษาให้เป็นเรื่องของหลังบ้านที่ต้องเรียกเก็บกันเอง ส่วนตัวยังเห็นว่าประชาชนมีหน้าที่ที่ต้องนำเอกสารมาดำเนินการต่อ แต่ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะไม่รักษาผู้ประสบภัย เพราะเอกสารสามารถนำมาแสดงในภายหลังได้.


ไทยโพสต์