ผู้เขียน หัวข้อ: เมือง 'ระราน' คน 'ละลาย'  (อ่าน 987 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
เมือง 'ระราน' คน 'ละลาย'
« เมื่อ: 12 ตุลาคม 2012, 01:48:32 »
'ความเจริญ' กับ 'ชุมชน' กลายเป็นรอยแตกร้าวซ้ำซากบนแผนการพัฒนาพื้นที่ เพราะ'คุณค่า' และ 'มูลค่า' มักเป็นสิ่งที่สวนทางกันเสมอ

ประเด็น "อัมพวา" ปลุกกระแสมวลชนให้หันกลับมามอง "ความผิดที่ผิดทาง" ของการพัฒนาอย่างเต็มตาอีกครั้ง

จากการรื้อเรือนห้องแถวริมคลองเพื่อก่อสร้างโรงแรมหรูจนกลายต้นต่อความเคลื่อนไหวในกิจกรรมรูปแบบต่างๆ และถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง อันนำไปสู่การ "ชะลอ" โครงการเพื่อหาจุดร่วมที่เหมาะสมกับชุมชนในที่สุด

เหตุการณ์นี้ถูกสะท้อนออกมาหลายแง่มุม

ไม่เฉพาะสำนึกอนุรักษ์ที่นำไปสู่การตั้งคำถามถึงความเหมาะสม ยังรวมไปถึงช่วงว่างทางกฎหมายที่ทำให้เหล่า "เสือหิว" กระโจนเข้ามาเคี้ยวชิ้นเนื้อเหล่านี้ได้โดยง่าย และแน่นอนว่า เส้นความเหมาะสมระหว่างวิถีชุมชน กับการพัฒนาก็ยังเป็น "คำถามคลาสสิก" ที่ไม่มีทีท่าว่าจะหา "คำตอบ" ได้ง่ายๆ

และยังพบเห็นได้ทั่วไป ทันทีที่คลี่โครงการและเซ็นอนุมัติ

จากคลองอัมพวาถึงถนนเจริญกรุง

อีกฟากของความคึกคักบนถนนเยาวราช แผ่นสังกะสีถูกวางเรียงเป็นแนวยาวตั้งแต่แยกแปลงนาม ไปจนถึงซอยเจริญกรุง 16 กำลังกลายเป็นภาพชินตาสำหรับความเปลี่ยนแปลงของคนฝั่งถนนเจริญกรุง อีกปีกหนึ่งของย่านไชน่าทาวน์

ตึกแถวหลังแนวกั้นถูกทยอยรื้อเพื่อปรับพื้นที่เตรียมการก่อสร้าง ระหว่างผู้คนที่เคยอาศัยก็พากันเก็บข้าวของเตรียมย้ายไปอยู่ที่อื่น ส่วนฝั่งตรงข้ามถนน แท่งคอนกรีตขนาดใหญ่ถูกวางเรียงริมทางเท้า ใต้ป้ายพลาสติกผืนใหญ่ "...ไม่เอารถไฟฟ้า"

คราบน้ำตาของคนเก่าคนแก่ที่ต้องปลดป้ายร้าน (และบ้าน) ที่อยู่มาหลายชั่วอายุคน เสียงตัดพ้อถึงที่ทำกิน ซึ่งนับจากนี้ไปอีกอย่างน้อย 3 ปี พวกเขาจะไม่มีรายได้ การเวนคืนพื้นที่จากเจ้าของ และการต่อรองของผู้เช่าอย่างชุมชนเจริญไชย

เทียบเคียงกับรีสอร์ทหรูริมคลองอัมพวา สิ่งที่เหมือนกันนั่นคือรอยร้าวที่แฝงมาพร้อมกับการพัฒนา อย่างไม่มีทางเลี่ยง

"การศึกษาเรื่องเมือง มันมีแนวคิดที่เรียกว่า สามเหลี่ยมแห่งความขัดแย้ง (Triangle  of Conflict) มีอยู่ 3 มุม ส่วนหนึ่งคือสังคม วัฒนธรรม ชุมชน อีกส่วนหนึ่งคือเรื่อง เศรษฐกิจ และอีกส่วนคือสิ่งแวดล้อม มันมักจะขัดกันอยู่ตลอดเวลา คำถามก็คือ ความพอเหมาะพอดีของทั้ง 3 มุมนี้อยู่ตรงไหน" ปฐมฤกษ์ เกตุทัต อดีตผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาชุมชนและวัฒนธรรมเมือง คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดประเด็นในวงเสวนา วิกฤตอัมพวาสู่ปัญหาย่านเจริญไชย เยาวราช : บทสะท้อนวิธีคิดเรื่อง "คุณค่า" กับ "มูลค่า" ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อไม่นานมานี้

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในมุมใดมุมหนึ่ง อีก 2 มุมที่เหลือก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย

การหยิบยกเรื่องผลกระทบของชุมชนที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลง (การพัฒนา) ขึ้นมาพูดถึงนั้น นอกจากจะมองภาพการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยอันถือเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ แต่ในรายละเอียดปลีกย่อยนั้น ยังมีความเกี่ยวพันโยงใยไปถึงผู้คน และทัศนคติที่เปลี่ยนไปด้วย เหมือนกับยุคสมัยหนึ่ง ที่นาถูกขาย และการเข้ามาของนายทุน     

"จริงๆ สมัยก่อน การทำสวน ทำนา มันต้องการที่ดินยอะ เขามีที่เหลือ บางทีเขาให้กันด้วยซ้ำ บางทีทำไม่ไหว ก็เอาไปทำก็แล้วกัน แต่พอมาตอนหลัง วิถีชีวิตมันเปลี่ยน ลูกหลานก็ไปเรียนหนังสือ กลับมาก็เป็นข้าราชการ ทำงานบริษัท ไม่ทำสวน จากที่มีที่ 5 ไร่ โอ้ย ทำไม่ไหวแล้ว ที่เหลือจะเอาไว้ทำอะไร ก็ขายมันเสีย ไม่ก็ให้เช่า เพราะฉะนั้น คนต่างถิ่นจึงสำคัญที่สุด มันเริ่มเข้ามา แล้วคิดแปลกๆ ขณะเดียวกันลูกหลานเองก็คิดแปลกๆ ด้วย" อดีตผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาชุมชนและวัฒนธรรมเมืองอธิบาย

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดระหว่างคนนอก กับคนในที่กลายเป็นตัวชี้วัดมูลค่า และคุณค่าในชุมชนเข้ามาผสมโรงร่วม ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจตลาดตามภูมิภาคต่างๆ ในประเทศไทย กาญจนา เหล่าโชคชัยกุล นักวิจัยจากสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สามารถสรุปออกมาได้คร่าวๆ ว่า แท้จริงแล้ว "มูลค่า" ของ "คนใน" กลายเป็น "คุณค่า" สำหรับ "คนนอก" ขณะที่ "มูลค่า" ของ "คนนอก" ก็กลับกลายเป็น "คุณค่า" สำหรับ "คนใน"

และกลายเป็นฟันเฟืองสำคัญที่หมุนให้สภาพสังคม "เพื้ยน" ไปจากเดิม

'สวนทาง' และ 'ต่างค่า'

"เราเริ่มจากการตั้งคำถามว่า เมื่อไปเที่ยวตลาด คนคาดหวังอะไร" กาญจนาเล่าถึงจุดเริ่มต้นของตัวงานวิจัย

สิ่งที่ปรากฏอยู่ในตลาดตามความรู้สึกของนักท่องเที่ยวอย่าง ของเล่นไม้ กาแฟโบราณ แม้กระทั่งเสื้อที่ระลึก ก็นำไปสู่การตีความในเรื่อง "มูลค่า" กับ "คุณค่า" ระหว่าง "คนนอก" และ "คนใน" อีกด้วย

"ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสลงพื้นที่กับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏล้านนาซึ่งทางโน้นเขาก็สนใจประเด็นเหล่านี้ ก็ได้พาไปลงพื้นที่ตลาดน้ำ ก็พบเหตุการณ์หนึ่ง คือ คุณยายคนหนึ่งพายเรือขายของด้วยไม้พาย แล้วถูกเรือ 2 ลำขนาบ แรงกระเพื่อมของคลื่นทำให้ไม้พายตก นักท่องเที่ยวหลายคนก็เป็นห่วงว่าคุณยายจะเป็นอะไรหรือเปล่า ขณะนั้นก็มีเสียงตระโกนบอกว่า อีกแล้วนะยาย บอกแล้วว่าอย่ามาพายแถวนี้"

คำอธิบายจากเหตุการณ์ดังกล่าวก็คือ ภาพความต้องการของคนเที่ยวกับคนที่อยู่นั้น เดินสวนทางกันอย่างเห็นได้ชัด สิ่งที่นักท่องเที่ยวอยากเห็น อย่างเรือพาย เรือนไม้เก่า หรือวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม กลายเป็นของที่คนในชุมชนคิดว่าน่าจะปรับเปลี่ยนเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวมากกว่า เรือพายจึงกลายเป็นเรือเครื่อง เรือนไม้เปลี่ยนเป็นรีสอร์ท และต้องมีของที่ระลึกเพื่อประกาศว่าได้ไปตามสถานที่นั้นๆ มาแล้วในที่สุด

"ต้องโทษอาจารย์อคิน (รพีพัฒน์) ที่แกดันไปทำตลาดสามชุกเข้า ทีนี้มันเลยชุกกันใหญ่ ไม่มีตลาดที่ไหนใหม่เลยในเมืองไทย" ปฐมฤกษ์ออกปากติดตลก ก่อนตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องดังกล่าวที่เป็นอย่างนั้นเกิดจากการรองรับนักท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่เป็น "คนไทย"

"ถ้าใหม่ก็ต้องไปเอาไม้เก่ามาทำ ไม่อย่างนั้นขายไม่ได้ คนไทยเสียนิสัยมาตั้งแต่ตอนไอเอ็มเอฟ เศรษฐกิจบ้านเราดีมาก เสาร์-อาทิตย์คนไทยอยู่ไม่ติดบ้าน ออกไปต่างจังหวัด ไปเที่ยว เงินเยอะ พอถึงไอเอ็มเอฟ เปิดท้ายขายของวันเสาร์ อาทิตย์ก็เที่ยวอยู่ แต่เที่ยวใกล้เข้ามา แถวๆ นี้ นครปฐม อยุธยา ไปไกลไม่ได้ไม่มีเงิน อัมพวา ขอค้างสักคืนก็ยังดี นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะมีมาก แต่ไม่เท่ากับคนไทย"

หากเปรียบเทียบกับป้ายแชงกรีล่าที่ลี่เจียง ประเทศจีน หรือ กระแสโหยหาอดีตกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5 ที่เมืองหลวงพระบางของลาว เนื้อหาสาระก็ไม่ได้ต่างกัน

"สิ่งที่เราเรียกว่าอดีต บางทีเราคิดกันขึ้นมาเอง สร้างมันขึ้นมาเอง มันน่าจะเป็นอย่างนั้น น่าจะเป็นอย่างนี้ เมื่อเราคิด เขาก็ทำมาให้ดู ตลาดน้ำก็ทำให้ดู ที่มีเหลือก็มี แต่หลังจากนั้นก็มีทีเชิ้ตอัมพวา ทีเชิ้ตดำเนินสะดวก มีซีดี มีอะไรต่ออะไร กาแฟโบราณ"

เมื่อมองย้อนกลับไปที่แนวคิดสามเหลี่ยมแห่งความขัดแย้ง จากเรือนแถวริมคลองอัมพวา ถึงชุมชนเจริญไชย และปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชน กับความเจริญในพื้นที่อื่นๆ ก็ล้วนมีเหง้ารากของปัญหามาจากที่เดียวกัน

"อัมพวาพัฒนาการท่องเที่ยวคือเศรษฐกิจ มันก็กระทบชุมชน และกระทบสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับเจริญไชย มันก็ไปเกี่ยวกับเศรษฐกิจ กระทบชุมชน สิ่งแวดล้อมมีน้อย เพราะมันเป็นสิ่งแวดล้อมเมือง หรือกรณีป้อมมหากาฬบอกว่าเขาจะทำสวนสาธารณะ นี่ก็กระทบไล่ที่ชุมชน แต่จริงๆ มันคือส่วนหนึ่งของโครงการเกาะรัตนโกสินทร์ มันก็การท่องเที่ยวอีกนั่นแหละ แล้วเอาสิ่งแวดล้อมมาอ้างเพื่อไล่ชาวบ้าน"

ใครเป็นคนทำให้ชุมชนหรือย่านเหล่านี้เสียหาย ?

"พวกเรานั่นแหละ ไม่ต้องโทษคนอื่น" นักวิชาการสายชุมชนคนเดิมฟันธง
 
'ที่อยู่' สู่ 'ที่เช่า'

ถึงรู้ว่าโอกาสจะมีเพียงน้อยนิด แต่สิ่งที่ทำให้ชาวอัมพวารวมตัวกันส่งเสียงจนกลายเป็นกระแส และความเปลี่ยนแปลงตามมาคงมีความหมายตามเสียงของ ภัทรพร อภิชิต ในสารคดีเรื่อง "โอ้ อัมพวา" ของนิสา คงศรี

"ถ้าเรายอมจำนน เราจะมีหน้าไปบอกลูกหลานของเราต่อไปอย่างไร"

ผู้กำกับสาวเปรียบเทียบการกระทำของกลุ่มคนในวันนั้น ไม่ต่างจากเรื่องใครบางคนที่พยายามตั้งหน้าตั้งตาโยนปลาดาวที่เกยตื้นอยู่เต็มหาดกลับลงทะเล และแน่นอนว่า นี่คือสิ่งที่ ศิริณี อุรุนานนท์ กับลูกหลานชุมชนเจริญไชยกำลังช่วยกัน เปิดคุณค่าของชุมชนให้คนส่วนใหญ่ (หรือนายทุน) เห็น

หรือป้ายแสดงเจตนารมณ์ของชาวตลาดประตูน้ำในวันที่ความคึกคักของการค้าขาย และนักท่องเที่ยวที่ชุมชนช่วยกันสร้างขึ้นมาในวันนี้กำลังจะถูก "ชุบมือเปิบ" จากการพัฒนาพื้นที่

ไม่เพียงเท่านั้น...

ที่ทำการรัฐสภาใหม่ การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย โครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสาย-สีต่างๆ โครงการเกาะรัตนโกสินทร์ โครงการพัฒนาพื้นที่ถนนราชดำเนิน และบริเวณพื้นที่ต่อเนื่องเพื่อการท่องเที่ยว โครงการพัฒนาปากคลองตลาด โครงการท่องเที่ยวแม่น้ำเจ้าพระยา กระทั่งโครงการไหว้พระ 9 วัด กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าการพัฒนาของผังเมืองกรุงเทพมหานครไปอย่างมีนัยยะสำคัญ

"เพื่อนผมที่เป็นนักวิชาการในต่างประเทศเคยบอกไว้ว่า ยูดูไว้เลยนะ ถ้าผังเมืองที่มันผุดการใช้พื้นที่เป็นจุดๆ เป็นหย่อมๆ แบบนี้น่ะ มันคือคอรัปชั่น" ปฐมฤกษ์ชวนตั้งคำถาม

ในมุมมองเขา ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมกะโปรเจคต่างๆ มีสภาพไม่ต่างจากโดมิโน ที่ย่อมส่งผลกระทบต่อเป็นทอดๆ และเมื่อโครงการยิ่งมาก ผลกระทบก็จะยิ่งเยอะตามไปด้วย สำหรับประเทศไทยเอง นอกจากประชาพิจารณ์ที่ส่วนใหญ่มักเป็นการทำข้อมูลแบบคลุมเครือ เรื่องการศึกษาผลกระทบด้านสังคม หรือผลกระทบด้านวัฒนธรรมที่เพิ่งมีการเพิ่มเข้ามาในต่างประเทศ เลิกคิดไปได้เลย

"โครงการแต่ละโครงการในโลกมีงบบานปลาย (Cost Overrun) ตลอด ซึ่งโดยปกติ ไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์" เขาเปิดอีกประเด็น

โดยเฉลี่ยของการ "เกินงบ" ในวงการวิศวกรรมนั้น การก่อสร้างทางรถไฟมักเกินงบอยู่ที่ 45 เปอร์เซ็นต์ สะพาน 30 เปอร์เซ็นต์ และถนน 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเงินที่เกินไปนั้น นอกจากเป็นเงินภาษีที่ประชาชนต้องจ่ายแล้ว ยังถูก "คอรัปชั่น" ไปอีกด้วย (ที่มา : Megaprojects at Risk (Flyvbjerg,et.al. 2003))

เมื่อมองย้อนกลับมาสู่ทางออกของปัญหา และจุดสมดุลระหว่างคนนอก กับคนใน สิ่งที่ กาญจนา เป็นกังวลที่สุดก็คือ นโยบาย เพราะส่วนใหญ่แล้ว คนในโอเค คนนอกโอเค แต่นโยบาย "ไม่โอเค"

...ที่ซ้ำร้ายยิ่งกว่า

"ต่อไปกรุงเทพฯ จะมีผู้เช่าอยู่มากกว่า 92 เปอร์เซ็นต์" นั่นเป็นสิ่งที่คนทำงานด้านศึกษาชุมชนและวัฒนธรรมเมืองอย่างปฐมฤกษ์คาดการณ์ถึงเมืองหลวงในวันข้างหน้า ที่จะเป็นอีกวิกฤตเมือง ซึ่งพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์จะเห็นได้อย่างชัดเจน

"เดี๋ยวนี้คุณก็ไม่มีสิทธิซื้อแล้ว เพราะว่ามันไม่มีที่เหลือให้ใครได้ซื้ออีกแล้ว คนมีเงินเขาก็ไม่ขาย แล้วในย่านอย่างนี้ อย่างสีลม สาธร จบ เขาไม่ขายหรอก ใครขายที่แถวนั้นไม่ฉลาดหรอก เขาให้เช่ากัน มันจะเป็นอย่างนั้น และเมื่อเจ้าของที่มีที่ดินมากขึ้น เขาก็มีสิทธิที่จะกำหนดทิศทางของย่านตรงนั้นได้

"ถามว่ากฎหมายมีสิทธิอะไร ผังเมืองไม่มีสิทธิ ไม่ได้อยู่ในสายตาของคนพวกนี้เลย แล้วถามว่าจะออกมาทำไมกฎหมายผังเมือง เพื่อจะจัดการผังเมืองเรื่องการใช้ประโยชน์ ไม่มี อยู่ในมือคนพวกนี้หมด เป็นเจ้าของที่ดิน อันนี้มันเกิดมานานแล้วในยุโรป จนเขาเลิกคิดเรื่องพวกนี้ไปแล้ว เขาถึงห้ามไม่ให้ถือครองที่ดินเยอะไง เพราะไม่อย่างนั้นกฎหมายจะไม่มีค่า ไม่มีความหมายเลย"

และนั่นเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในช่วงอายุคนเท่านั้น

"กี่ปีตอบยาก แต่ในชั่วอายุคน คุณได้เห็นแน่นอน" เขายืนยัน

 โดย : ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี
กรุงเทพธุรกิจ 11 ตุลาคม 2555