ผู้เขียน หัวข้อ: รุมค้านมาตรการคลังคุมค่ายาขรก. สธ.ร่อนหนังสือทักท้วงข้อบังคับเลือก1รพ.1โรค/ขรก.อาวุโสโวยกระทบการรักษ  (อ่าน 1019 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
 รุมค้านมาตรการคุมเข้มค่ารักษาพยาบาล ขรก. สธ.ร่อนหนังสือทักท้วงคำสั่งกรมบัญชีกลาง กรณีให้แจ้งสิทธิ์รักษาโรคเรื้อรัง 1 โรค 1 รพ. ชี้ส่งผลให้เกิดการแออัดกระจุกตัวใน รพ.ใหญ่มากขึ้น ส่วน “สมาคมข้าราชการอาวุโส” ยื่นหนังสือถึง กมธ.ด้านสาธารณสุข ช่วยคัดค้าน ก.คลัง ออกมาตรการคุมค่ายา เผยหลังบังคับ 1 ต.ค. ส่งผลกระทบผู้ป่วยรักษาไม่ต่อเนื่อง ส่วนผลวิจัยคุ้มค่ายากลูโคซามีน เลือกหยิบแต่เฉพาะแค่ 5% ที่กินยาแล้วไม่ได้ผลมาเป็นข้ออ้างการยกเลิกใช้ยานี้
    เมื่อวันที่ 10 ต.ค. เวลา 16.30 น. นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์ ว่า ที่ประชุมมีมติให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ทบทวนการลงทะเบียนในระบบเบิกจ่ายตรงผู้ป่วยนอกกับสถานพยาบาลของทางราชการกรณีผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่กำหนดให้ผู้ป่วยลงทะเบียนรักษาในโรงพยาบาล 1 แห่งต่อ 1 โรคเรื้อรัง หรือ 1 แห่งต่อโรคเรื้อรังทั้งหมด เนื่องจากอาจทำให้เกิดปัญหาผู้ป่วยกระจุกตัวรักษาใน รพ.ศูนย์ ซึ่งขัดต่อแนวทางการบริการของ สธ.ที่ต้องการลดความแออัดผู้ป่วยใน รพ.ขนาดใหญ่ให้ไปรักษายัง รพ.ส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ซึ่งทางผู้กรมบัญชีรับไปทบทวน
    นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นควรให้มีการลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพิ่มเติม โดยขอให้มีการเดินหน้าใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติเพิ่มมากขึ้นอีก 10% ไม่เฉพาะ รพ.ในสังกัด สธ.เท่านั้น แต่รวมถึงโรงเรียนแพทย์ รพ.ทหาร รพ.สังกัด กทม. พร้อมกันนี้ยังให้เดินหน้ามาตรการต่อรองราคายามากขึ้น รวมไปถึงการลดค่าบริหารจัดการอื่นๆ ในโรงพยาบาลอีก คาดว่ามาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการมานี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลในระบบทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท
    ส่วนกรณีที่ทาง รร.แพทย์แสดงความเป็นห่วงกรณีให้เน้นการใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติอาจส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย จึงอยากให้มีการแยกบัญชียาหลักแห่งชาติที่ใช้ใน รพ.แพทย์และ รพ.ทั่วไปนั้น นายวิทยากล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เป็นปัญหา เพราะจะมีการเพิ่มรายการบัญชียาหลักฯ เพิ่มเติม อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งจะทำให้มีรายการยาในระบบมากขึ้น นอกจากนี้จะดำเนินการติดบาร์โค้ดเพื่อตรวจสอบการใช้ยาด้วย
    นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. กล่าวว่า การออกระเบียบห้ามเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักฯ นั้นเป็นเรื่องของกรมบัญชีกลาง แต่ สธ.ต้องคุยกับ รพ.ในสังกัดให้รับทราบ และปรับมาตรการให้สอดคล้องกติกาดังกล่าว พร้อมกันนี้ยังได้ส่งหนังสือท้วงติงไปยังกรมบัญชีกลาง เรื่องข้อกำหนดให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังแจ้งใช้สิทธิ์ที่ รพ.แห่งใดแห่งหนึ่งเพียง รพ.เดียว ภายในวันที่ 30 พ.ย.นี้ เนื่องจากก่อให้เกิดผลกระทบ แต่อยากให้เป็นไปตามระดับของโรคมากกว่า เช่น หากระดับโรคไม่รุนแรงก็ให้ไปรักษาที่ รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล ดังนั้นจึงขอให้มีการทบทวนมาตรการดังกล่าว ซึ่งในระยะนี้ รพ.ไม่ต้องปฏิบัติตามก็ได้
    "ทั้งนี้ ผู้ป่วยในระบบข้าราชการที่มาใช้สิทธิ์ที่ รพ.สังกัด สธ. มีไม่มาก เพราะฉะนั้นส่วนแบ่งค่าใช้จ่ายที่ได้จากการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติของ รพ.สังกัด สธ. จึงมีเพียง 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาทจากทั้งหมด 6 หมื่นล้านบาท"
    วันเดียวกัน ที่รัฐสภา พล.ต.หญิงพูลศรี เปาวรัตน์ ผู้ประสานงานชมรมผู้พิทักษ์สิทธิข้าราชการและกรรมการบริหารสมาคมข้าราชการอาวุโสแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือต่อนายวิทยา แก้วภราดัย กรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร อดีต รมว.สธ. เพื่อเรียกร้องขอให้ทบทวนการออกระเบียบการเบิกจ่ายยาใหม่ โดยให้มีการเสวนาหรือประชุมร่วมระหว่างกระทรวงการคลัง ตัวแทนผู้ที่ได้รับสิทธิ์การเบิกจ่ายตรง และแพทย์ผู้ให้การรักษา ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการหารือในวันที่ 18 ต.ค.นี้
    พล.ต.หญิงพูลศรี กล่าวต่อว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. หลังมาตรการดังกล่าวออกมา ทำให้ข้าราชการบางคนที่เคยใช้ยานอกบัญชียาหลักฯ อยู่ไม่สามารถกลับมาให้ยาในบัญชีฯ ได้ ก็ต้องจ่ายเงินเอง เพราะไม่สามารถทำเบิกได้ ทั้งนี้ การแก้ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ ชมรมฯ อยากให้มีการเพิ่มยาในบัญชียาหลักฯ มากขึ้น เพื่อให้แพทย์มีทางเลือกที่จะจ่ายยาให้ประชาชนมากขึ้น
    “อยากให้มีการหารือ ยับยั้งมาตรการดังกล่าวจนกว่าจะมีการตกลงกันใหม่ หรือพูดจากันใหม่ระหว่างแพทยสภา ผู้ป่วย ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและกรมบัญชีกลาง" พล.ต.หญิงพูลศรีกล่าว และว่า ทั้งนี้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงข้ออ้างเรื่องการใช้ยาไม่เหมาะสมกับคนไทย คือ ยากลูโคซามีนซัลเฟต ที่ ก.คลังตั้งธงเอาไว้ในใจแล้ว จึงได้ว่าจ้างคณะแพทย์ ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน ทำการวิจัยยาดังกล่าว และพบว่าไม่มีความคุ้มค่า ในขณะที่ความเห็นของแพทยสภา ซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นกลาง และแพทย์ทางโรคกระดูกและข้อก็เห็นว่ายานี้มีประโยชน์
    “ก.คลังบอกข้อมูลไม่หมดว่ายาตัวนี้อาจจะมีประโยชน์กับคน 80 คน และอาจจะไม่มีประโยชน์กับคนเพียง 5 คน แต่กลับเอา 5 คนนี้ขึ้นมายกตัวอย่าง คล้ายกับเป็นการอ้างว่าการสั่งจ่ายยาไม่สมเหตุสมผล และลงโทษหมอ ไม่ใช่ลงโทษคนไข้ เพราะคนไข้กินยาตามหมอสั่ง การที่หมอสั่งยาไม่ได้ หรือห้ามหมอสั่งนั้น ผลไม่ได้อยู่ที่หมอ หมอยังสบายดี ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือคนไข้” พล.ต.หญิงพูลศรีกล่าว
    ด้าน นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผอ.รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า มาตรการของกรมบัญชีกลางที่ออกมานั้น เป็นเพียงการขอความร่วมมือเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการข้าราชการ โดยขอให้แพทย์เลือกใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติรักษาผู้ป่วยเป็นรายการแรกก่อน และหากรักษาไม่ได้ผลจึงให้ใช้ยานอกบัญชีฯ ได้ ซึ่งทางกรมบัญชีกลางได้เปิดช่องไว้เพื่อให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และลดการใช้ยาที่ฟุ่มเฟือย ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของประเทศ มองภาพรวมถือว่าเป็นเรื่องที่ดี หลักการดีที่ทุกคนยอมรับ อีกทั้งยาในบัญชียาหลักแห่งชาติถือเป็นยาที่มีมาตรฐานและได้รับรองจากหน่วยงานในประเทศแล้วว่ามีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติจะไม่ส่งผลกระทบต่อการรักษาผู้ป่วย โดยแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยเลือกใช้ยา
    "ยอมรับว่าการออกหลักเกณฑ์ใหม่ในการใช้ยานอกบัญชียาหลักฯ ทำให้ต้องมีขั้นตอนในเอกสารมากขึ้น การเบิกจ่ายมีความยุ่งยาก เรื่องนี้ทาง รพ.รามาธิบดีอยู่ระหว่างการหารือกับทางกรมบัญชีกลาง เพื่อขอให้ลดขั้นตอนการเบิกจ่ายและชี้แจงทางเอกสารลงเพื่ออำนวยความสะดวก ต้องเข้าใจว่าในระบบการสั่งยาบ้านเรายังไม่มีการทำระบบรายการยาทางไอที ดังนั้นเมื่อมีการปรับเปลี่ยนรายการยาใดๆ จึงมีความยุ่งยาก"
    ส่วนกรณีที่กรมบัญชีกลางห้ามเบิกจ่ายยากูลโคซามีนซัลเฟตรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า รพ.รามาธิบดีคงปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ยาดังกล่าวทางกรมบัญชีกลางได้เคยสั่งยกเลิกเมื่อปี 2553 แล้ว แต่ต่อมามีการคัดค้านจึงผ่อนผัน ซึ่งภายหลังคณะกรรมการฯ นำเอกสารข้อมูลมาพิจารณาแล้ว และเห็นว่าไม่มีผลทางการรักษา จึงยกเลิกการเบิกจ่ายยาดังกล่าว ซึ่งเริ่มในวันที่ 1 พ.ย.นี้.