ผู้เขียน หัวข้อ: วิถีล้านนา บนความเปลี่ยนแปลง(สารคดีเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 3443 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

โอ้เวียงพิงค์ ดั่งเวียงสวรรค์ สวยกว่าถ้อยคำเสกสรร ที่พรรณนาเปรียบเปรย... บทเพลงลูกทุ่งย้อนยุค เสียงร้องของ ทูล ทองใจ โรยเสียงระเรี่ยนาบเนิบ อ้อยอิ่งดั่งหมอกเช้าของเมืองเหนือ

ภาพแม่อุ๊ยนุ่งซิ่นลายขวาง สไบเฉียงพาดไหล่ บ้างถือกระติบข้าวเหนียว บ้างถือดอกไม้ ยืนออเป็นกลุ่มเฝ้ารอการบิณฑบาตโปรดสัตว์ของศิษย์ตถาคต ช่างเป็นภาพที่คุ้นเคยเหมือนโปสการ์ดในร้านขายของที่ระลึกตามเมืองท่อง เที่ยว

                ไม่นานนัก ร่างของพระสงฆ์แปดรูปก็เดินเรียงแถวฝ่าสายหมอก สีส้มของจีวรโดดเด่นเห็นแต่ไกล กิริยาดูสงบนิ่ง เนิบนาบ สง่างาม

                “ตุ๊เจ้า นิมนต์เจ้าค่ะ” แม่อุ๊ยคนหนึ่ง นิมนต์พระให้หยุดเพื่อใส่บาตร

“อูลาลา ลาลา อูลาลา” เสียงเพลงแห่งยุคสมัย ดังขึ้นในย่ามสีชมพูของเณรรูปสุดท้ายในขบวน                  เณรน้อยรูปนั้นละล่ำละลักรีบหยิบโทรศัพท์หน้าจอสัมผัส ขึ้นมากดแล้ววางลงในย่ามดังเดิม

นักท่องเที่ยวตื่นเช้าบางคนหยิบกล้องดิจิทัลคู่ใจ หรือไม่ก็โทรศัพท์มือถือสารพัดยี่ห้อ ขึ้นมาถ่ายภาพปรากฏการณ์เบื้องหน้าอย่างกระฉับกระเฉง ไม่กี่อึดใจต่อมาหลายคนคงอัปโหลดภาพขึ้นเฟซบุ๊ก โอ้อวดเป็นหลักฐานการมาแอ่วเมืองเหนือในครั้งนี้

ผมคว้าจักรยานพับคู่กายปั่นออกไป พลางสอดส่ายสายตามองหาร้านกาแฟแฟรนไซส์จากต่างประเทศเพื่อหมายจะจิบคาเฟอีนไอกรุ่นยามเช้า  รถถีบของผมไหลเอื่อยไปตามร่องรอยของขบวนมอเตอร์ไซค์วัยเฟี้ยวกลุ่มนั้น  หมอกจางๆแม้จะทำให้รู้สึกแสบตาบ้าง แต่ก็ชวนให้ “อิน” ไปกับเพลงของป็อบสตาร์เมืองไทยเพลงหนึ่งที่มีท่อนขึ้นติดหูว่า “หมอกจางๆ และควัน คล้ายกันจนบางทีไม่อาจรู้”

 

เมืองเหนือ...เลดี้เฟิสต์

คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักเข้าใจว่า ล้านนาหรือลานนาหมายถึงดินแดนทางภาคเหนือตอนบนของไทย ครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนต่างๆ ตามลุ่มน้ำสายสำคัญ อันได้แก่ ปิง วัง ยม น่าน และกก                                                                                                                                                                                                แต่ หากจะกล่าวถึงล้านนาที่แท้จริงแล้วจำเป็นต้องอาศัยรูปแบบทางวัฒนธรรมเป็นตัวกำหนด มากกว่าการแบ่งเขตการปกครอง กลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมร่วมแบบล้านนากระจายตัวไปไกลเกินกว่าที่เราคิด ตั้งแต่บางส่วนของภาคอีสานตอนบน ประเทศลาว  พื้นที่ทางตะวันออกของพม่า ไปจนถึงเวียดนามตอนบนและจีนตอนใต้  คนในบริเวณดังกล่าวนี้มีวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต การกินอยู่ เสื้อผ้า หรือแม้แต่ภาษาพูดและภาษาเขียน                                                                                                                                            พื้นฐานทางสังคมของล้านนามีความแตกต่างจากวัฒนธรรมสากลทั่วไป โดยเฉพาะสังคมที่ยกย่องพ่อเป็นใหญ่ (patriarchal society) เช่น อินเดีย จีน และสังคมตะวันตก  แต่ชาวล้านนากลับมีโครงสร้างทางสังคมเป็นแบบสายแม่ให้ความสำคัญกับเพศหญิง (matriarchal society)

                             
ข้าวนึ่งคัลเจอร์

“บางคนกินขนมปัง บางคนยังกิ๋นข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวโพดอย่างดี ข้าวเจ้าก็มีมากมาย เฮานั้นเป๋นคนไทย บ่ใจ้คนลาวฝ่ายซ้าย ข้าวนึ่งกิ๋นแล้วสบาย ลูกป้อจายข้าวนึ่ง” เสียงเพลงโฟล์คซองคำเมืองของจรัล มโนเพชร ศิลปินเมืองเหนือผู้ล่วงลับ กล่าวถึงวัฒนธรรมการกินของคนเมืองเหนือไว้ได้อย่างแยบคาย

คนพื้นถิ่นล้านนานิยมรับประทานข้าวนึ่งหรือข้าวเหนียว ที่น่าสังเกตคือกับข้าวในสำรับของคนพื้นเมืองล้านนาและชาวอีสานบางส่วนมี ลักษณะใกล้เคียงกัน กล่าวคือไม่นิยมบริโภคเนื้อสัตว์ใหญ่ แต่มักกินอาหารประเภทผักและของแห้งที่เก็บได้นาน  สำหรับเนื้อสัตว์ใหญ่ เช่น ไก่ หมู วัวหรือควาย  ต้องรอให้ถึงเทศกาลสำคัญเช่น การเลี้ยงผี หรือการต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง   

หมอกจางหลังฝนกระหน่ำ เหลือไว้เพียงความหนาวเบาๆบนผิวกาย จักรยานพับได้ของผมแล่นฉิวไปถึงกาด (ตลาด) เช้า ซึ่งบัดนี้อื้ออึงไปด้วยสำเนียงอู้กำเมืองของแม่อุ๊ยพ่ออุ๊ย ที่กำลังต่อรองราคาผักปลากันอย่างคึกคัก อาหารและผักปลาที่ขายในกาดเช้า เป็นดัชนีชี้วัดได้อย่างดีว่าคนล้านนานิยมรับประทานอาหารประเภทผักลวก น้ำพริก ปลา และมักประกอบอาหารจากวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น โดยปรุงด้วยกรรมวิธีง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก  ทว่าการติดต่อ กับคนต่างเมือง เช่น ไทใหญ่ จีนฮ่อ พม่า ก็ทำให้ล้านนาได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมอาหารอื่นๆเข้ามา จนกระทั่งอาหารต่างถิ่นบางอย่างกลับกลายเป็นอาหารประจำของคนเมืองไปแล้ว โดยเฉพาะเมนูยอดฮิตอย่างแกงฮังเล ไส้อั่ว แคบหมู น้ำพริกอ่อง ไก่ทอด หมูทอด และผัดวุ้นเส้น เป็นต้น


ชาติพันธุ์วรรณา

ก่อนการปรากฏตัวของชาวล้านนา เชื่อกันว่าดินแดนแห่งนี้เคยมีชนพื้นเมืองเก่าแก่อาศัยอยู่ก่อนนานแล้ว กลุ่มชนที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดคือชาวลัวะซึ่งเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิม รูปพรรณสัณฐานเป็นเป็นคนสันทัด ผิวคล้ำ ใช้ภาษาพูดตระกูลมอญ-เขมร ชาวลัวะสร้างชุมชนในที่ราบ มีพื้นฐานสังคมการเกษตรและนับถือผีเป็นความเชื่อหลัก บางพื้นที่พบหลักฐานของชุมชนในอดีตที่กว้างขวางพอจะเป็นเมืองได้ แต่ก็ไม่ค่อยชัดเจนนัก

ตำนานและประวัติศาสตร์มักกล่าวถึงชาวลัวะเสมอว่าเป็นเจ้าของพื้นที่แถบนี้  เชื่อว่าชาวลัวะมี  เวทย์ มนตร์คาถาและพละกำลังที่ชนพื้นเมืองอื่นๆไม่สามารถทัดเทียมได้ อัตลักษณ์ของชาวลัวะเลือนหายไปได้อย่างไรนั้น ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน ทว่าปัจจุบันมีชาวล้านนาจำนวนมากที่สืบสายและมีวัฒนธรรมบางอย่างคล้ายกับของ ชาวลัวะ เช่น  การสร้างเรือนกาแลของเชียงใหม่  หรือการใช้ควายในพิธีบวงสรวงผีหลวงต่างๆ  เป็นต้น

ชนพื้นเมืองอีกกลุ่มหนึ่งในสายนี้คือชาวมอญ เชื่อกันว่าเป็นชาวมอญในสมัยทวารวดีที่ทยอยขึ้นมาอยู่ในลุ่มน้ำปิง ชาวมอญมีภาษาพูดและภาษาเขียนของตนเอง นับถือพุทธศาสนา และความเชื่ออื่นๆจากอินเดีย จัดว่ามีพัฒนาการทางสังคมสูงกว่าชนพื้นเมืองกลุ่มอื่นๆ เห็นได้จากการก่อสร้างอาคารทางศาสนา สร้างรูปเคารพ หล่อพระพุทธรูป วางผังเมืองที่มีระเบียบแบบแผน มีชนชั้นวรรณะชัดเจน อย่างไรก็ตาม ชาวมอญก็เป็นเพียงชุมชนเมืองท่ามกลางชาวลัวะผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ส่วนใหญ่ ในชนบท                                       

ชนพื้นเมืองอีกสายหนึ่งคือกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาวที่พูดภาษตระกูลไต (ไท) อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง และเป็นชุมชนใหญ่ที่เรียกว่าไทลื้อ คนในตระกูลนี้มีรูปร่างสันทัด ผิวขาวอมเหลืองขยันขันแข็งและคล่องแคล่ว ชอบให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความถนัดด้านการจัดการสูงกว่ากลุ่มอื่นสามารถปรับตัวได้เร็วในสภาพการณ์ ต่างๆ ที่สำคัญคือเป็นกลุ่มที่นิยมกินข้าวเหนียวและมีรูปแบบเอนเอียงไปทางวัฒนธรรม สายแม่

นักมานุษยวิทยาสันนิษฐานว่า ชาติพันธุ์ของคนทั้งสองสายนี้เป็นบรรพบุรุษที่สำคัญของชาวล้านนา หลักฐานความเป็นลูกผสมเห็นได้จากพญามังราย กษัตริย์ผู้ทรงสร้างเมืองเชียงใหม่และเชียงราย พญามังรายทรงมีเชื้อสายข้างพระชนกเป็นลัวะ ข้างพระชนนีเป็นไทลื้อ แต่ความเข้มข้นทางวัฒนธรรมดูจะหนักไปทางสายพระชนนีมากกว่า จนกระทั่งภายหลังมีการติดต่อกับภายนอกมากขึ้น ชนชั้นปกครองรวมทั้งชุมชนเมือง จึงเอนเอียงไปทางสังคมสายพ่อ ทว่าในระดับพื้นบ้านทั่วไปแล้ว ยังคงปรากฏวัฒนธรรมเน้นไปทางสายแม่อย่างเด่นชัด


สังคมและวัฒนธรรมปัจจุบัน

รูปแบบการใช้ชีวิตและการสร้างสรรค์งานศิลปะของชาวล้านนาเริ่มเปลี่ยนแปลงไป หลังการฟื้นฟูบ้านเมือง ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้เกิดจากการทุบทำลายในช่วงที่ปกครองโดยพม่า แต่เป็นผลจากการพ่ายแพ้และพม่าเกณฑ์ช่างฝีมือชั้นดีกลับไปพม่าด้วย
                ด้วย เหตุนี้เอง การสร้างงานศิลปะในช่วงหลังจึงด้อยลงในแง่ความงามวิจิตรงดงาม แม้จะอยู่ร่วมสมัยเดียวกัน แต่ฝีมือของช่างที่เหลือก็ไม่สูงส่งเท่าชุดที่ถูกเกณฑ์ไป รวมทั้งช่างในยุคเปลี่ยนแปลงนี้ถูกเกณฑ์มาจากหลายพื้นที่ ทำให้งานศิลปะและประเพณีของล้านนากระเซ็นกระสายไปไม่ใช่น้อย

เมื่อการล่าอาณานิคมรุกคืบมาถึงเอเชียอาคเนย์ ลัทธิชาตินิยมจึงก่อตัวขึ้น ชาวล้านนาเริ่มเข้าใจถึงคุณค่าความเป็นล้านนาของตน ดังนั้นระหว่างที่อังกฤษและฝรั่งเศสกำลังขยายอำนาจเข้ามาสู่ดินแดนแถบนี้ ล้านนาจึงตัดสินใจรวมเข้ากับประเทศไทย เนื่องจากเล็งเห็นว่าไทยมีภาษาพูดตระกูลเดียวกัน อีกทั้งไทยเป็นพันธมิตรกับรัสเซียที่กำลังเรืองอำนาจอยู่ทางยุโรป ย่อมเป็นที่หวั่นเกรงแก่อังกฤษและฝรั่งเศสอยู่บ้าง

การเข้ามาของผู้คนและวัฒนธรรมจากส่วนกลางทวีความเข้มข้นมากขึ้น หลังการสร้างทางรถไฟจาก กรุงเทพฯมาถึงเชียงใหม่ ขบวนรถไฟดูจะหอบเอาสิ่งใหม่ๆจากบางกอกใส่โบกี้มาด้วย

อิทธิพล ที่ส่งผลต่อสภาพสังคม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวล้านนาอย่างชัดเจนที่สุดในยุคหลังคงไม่พ้น การท่องเที่ยวเชียงใหม่ในฐานะศูนย์กลางล้านนาได้รับการผลักดันจากส่วนกลาง ให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวหลักของประเทศ เพื่อสนองนโยบายด้านการพัฒนารายได้จากการท่องเที่ยว         

ประเพณีล้านนา เช่น พิธีเลี้ยงผีปู่ย่า งานฟ้อนผีมด ผีเม็ง ปู่แสะย่าแสะ แม้แต่พิธีกรรมทางศาสนา     อย่าง งานบวชลูกแก้ว กำลังถูกนำไปเป็นวัตถุดิบในการท่องเที่ยว ขณะเดียวกัน ประเพณีบางอย่างที่ไม่เคยปรากฏมีมาก่อน กลับถูกสร้างขึ้นจนกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ให้ปฏิบัติสืบทอดเป็นประเพณียิ่ง ใหญ่ เช่น งานไหว้สาแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย งานประเพณีสลุงหลวง จังหวัดลำปาง งานไม้ดอกไม้ประดับ จังหวัดเชียงใหม่ พิธีสรงน้ำพระธาตุ การไหว้พระธาตุประจำปีเกิดทั้ง 12 ราศี เป็นต้น           

                บ่าย วันหนึ่งในแกลเลอรีขายภาพของมิตรสหายผู้คุ้นเคย ผมนั่งอ่านนิตยสารแจกฟรียอดฮิตของเมืองเชียงใหม่ คอลัมน์หนึ่งเขียนถึงทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีหนุ่มไฟแรง วัย 35 ปี ผู้กล่าวถึงปัญหาของเมืองกับการพัฒนาไว้อย่างน่าสนใจว่า                                                                                   

               “เชียงใหม่ เป็นเมืองท่องเที่ยว ศักยภาพของเราเองปีหนึ่งแค่อยู่เฉยๆก็มีรายได้ปีละ 4-5 หมื่นล้านบาทแล้ว แต่ถ้าทำลายสิ่งแวดล้อมจะเพื่ออะไรก็แล้วแต่ อาจจะเพื่อผลกำไรจากอุตสาหกรรม 3-5 พันล้านบาท แต่นั่นเรากำลังทุบหม้อข้าวตัวเอง สิ่งแวดล้อมสำคัญกับเมืองท่องเที่ยวมาก แค่อากาศไม่ดีอย่างเดียว เขาก็ไม่มาเที่ยวกันแล้วครับ พิสูจน์แล้วตอนที่นี่เกิดหมอกควัน แต่ที่สำคัญที่สุดคือ เมืองนี้เป็นเมืองที่เราอยู่ และลูกหลานของเราจะเติบใหญ่ที่นี่”                                                                                                                                                                   “โอ้เวียงพิงค์ ดั่งเวียงสวรรค์ สวยกว่าถ้อยคำเสกสรร…” บทเพลงลูกทุ่งย้อนยุค เสียงร้องของ ทูล ทองใจ โรยเสียงระเรี่ยนาบเนิบ อ้อยอิ่งดั่งหมอกเช้าของเมืองเหนือ หวนกลับมาในห้วงนึก

ผมปั่นจักรยานมานานสองนานแล้ว แต่ร้านกาแฟ “หัวนอก” ที่หมายตาไว้ยังไม่เปิดให้บริการ ร้านขายกาแฟโบราณกลับดึงดูดผมให้หย่อนก้น สั่งกาแฟ จิบน้ำสีน้ำตาลหวามขม นั่งทอดหุ่ยไปจนเกือบเก้าโมงเช้า
               ผม เหลือบไปเห็นข่าวพาดหัวตัวเล็กบนหนังสือพิมพ์ระดับชาติฉบับหนึ่งระบุ ว่า“กรุงเทพคว้าแชมป์เมืองท่องเที่ยวระดับโลก” เป็นผลการตัดสินจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้อ่านนิตยสาร TRAVEL+ LEISURE  นิตยสารท่องเที่ยวของสหรัฐอเมริกา ถัดจากพาดหัวมีข้อความเล็กๆเขียนไว้ว่า “เชียงใหม่เยี่ยมคว้ารองแชมป์”

ผมละสายตาจากหน้ากระดาษ จับจ้องไปบนถนนในตัวเมืองเชียงใหม่ ภาพที่เห็นช่างเคยคุ้นเสียนี่กระไร ถนนที่รถค่อยๆคืบคลานตามกันเป็นแถวเหมือนในกรุงเทพฯ
                เชียงใหม่ก็รถติด.....

กันยายน 2553