ผู้เขียน หัวข้อ: ภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ ประชาสังคม ร่วมให้ข้อเสนออย่างรอบด้านต่อร่างมติ 9 ประเด็นในสมัชชาสุขภาพแห่งช  (อ่าน 938 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
คจ.สช.ระดมสมองภาคีที่เกี่ยวข้องกว่า 300 คน เคาะร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย 9 เรื่องมุ่งแก้ปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่เด็กเยาวชนถูกไอทีคุกคาม บุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนหนัก สุขภาวะพระสงฆ์ และควันพิษจากโรงไฟฟ้าชีวมวล เตรียมเสนอในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ธ.ค.นี้
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอเชิงนโยบายจำนวน 9 ระเบียบวาระ ที่จะเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 ในวันที่ 18-20 ธันวาคม 2555 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยมีนางศิรินา ปวโรฬารวิทยา ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธาน มีนักวิชาการ ภาคประชาสังคม ผู้แทนภาคเอกชนและภาครัฐ เข้าร่วมกว่า 300 คน โดยผลที่ได้จากการระดมความคิดเห็นครั้งนี้ จะนำไปปรับปรุงร่างมติทั้ง 9 ระเบียบวาระพร้อมรับฟังความคิดเห็นจากภาคีที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ก่อนนำเข้าสู่การประชุมใหญ่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติปลายเดือนธ.ค.

รศ.ดร.สุพัตรา ชาติบัญชาชัย อาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประธานการประชุมกลุ่มระเบียบวาระ เรื่องการปฏิรูปการศึกษาวิชาชีพด้านสุขภาพให้สอดคล้องกับความจำเป็นด้านสุขภาพในบริบทสังคมไทย , ความปลอดภัยทางอาหาร : การแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และการพัฒนากลไกและกระบวนการที่สามารถรับมือผลกระทบด้านสุขภาพจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเฉพาะสินค้าอาหารและสินค้าเกษตรที่เป็นอาหาร กล่าวว่า ที่ประชุมมีความเห็นต่อร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมีสาระสำคัญ คือ

1. การปฏิรูปวิชาชีพด้านสุขภาพทั้งแพทย์และพยาบาล เป็นประเด็นที่องค์กรวิชาชีพได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในเรื่องบุคลากรที่ให้บริการ จากเดิมที่มีการกล่าวถึงเฉพาะในเรื่องการศึกษาเท่านั้น แต่ที่ประชุมล่าสุดมีการกล่าวถึงการปรับปรุงระบบการเรียนการสอน และสร้างให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม ถือเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การปฏิรูประบบให้บริการที่ดีขึ้นต่อไป

2. เรื่องความปลอดภัยทางอาหาร : การแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งมีการกล่าวถึงปัญหานี้ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติหลายครั้งที่ผ่านมา แต่ในปีนี้ร่างยุทธศาสตร์ที่นำเสนอพุ่งเป้าไปสู่การแก้ปัญหาที่คาราคาซังมานาน คือเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ที่มีการให้น้ำหนักอย่างชัดเจนโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าเป็นภาครัฐและเอกชน ต่างหันหน้าเข้าหากันเพื่อปรับปรุงระบบที่เป็นอยู่ให้สอดรับกับสถานการณ์ทางการค้าและมุ่งเน้นออกไปสู่นอกประเทศด้วย นอกจากนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับมาตรการอาหารปลอดภัย โดยเฉพาะการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ยังได้เน้นย้ำกลไกเชื่อมโยงประสาน ปรับปรุง พัฒนาข้อมูลเพื่อให้ผู้บริโภคและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้เข้าถึงข้อมูลดังกล่าวในอนาคต

“การประชุมครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐอย่างสมานฉันท์ พร้อมจะเปิดจุดอ่อนของตัวเองเพื่อเป็นการเติมเต็มด้วยเวทีสาธารณะในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ทำให้ผู้เข้าร่วมเกิดความหวังในการใช้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และปรารถนาจะทำให้สังคมไทยได้มีอาหารที่ปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช มีความปลอดภัยทัดเทียมกับสินค้าที่ส่งออกไปขายยังต่างประเทศ" รศ.ดร.สุพัตรากล่าว

สำหรับการประชุมพิจารณาร่างข้อเสนอทางยุทธศาสตร์ในกลุ่มต่อมา ได้แก่ การปฏิรูประบบการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA/EHIA) การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และการป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล มีดร.ไชยยศ บุญญากิจ รองประธานสถาบันสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน ที่ประชุมมีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง อาทิ โรงไฟฟ้าชีวมวลต้องนำไปสู่การเป็นพลังงานชุมชน ไม่ใช่ก่อสร้างเพื่อนำพลังงานไปใช้ป้อนระบบใหญ่ ถือว่าผิดวัตถุประสงค์ และเรียกร้องให้รัฐพิจารณาเป้าหมายและวิธีคิดในการพัฒนาประเทศประกอบไปด้วย ไม่ใช่มุ่งแต่การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีดีพีเป็นหลัก

นอกจากนั้น ยังมีข้อเสนอให้ดูแลเรื่องวัตถุดิบในการนำเข้าไปผลิตในโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อป้องกันปัญหาการเผาป่าปลูกข้าวโพดของชาวบ้าน เพื่อนำไปขายให้โรงไฟฟ้าชีวมวล ขณะที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน สนับสนุนว่า ควรมีการกำหนดเกณฑ์ในการตั้งโรงไฟฟ้าว่าต้องห่างจากชุมชนเท่าไหร่

กลุ่มสุดท้าย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้พิจารณาร่างข้อเสนอยุทธศาสตร์ การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน , การจัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก 24 ชั่วโมง : กรณีเด็กกับไอที และพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ ที่ประชุมแสดงความเป็นห่วงกรณีพระสงฆ์ ถูกคุกคามโดยเรื่องธุรกิจ ที่จอดรถ การค้าขายภายในบริเวณวัด ทำให้สุขภาพจิต กาย และใจได้รับผลกระทบมานาน ทางวัดจึงควรมีการบริหารจัดการอย่างเป็นเอกภาพ โดยให้องค์กรท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการพิจารณาเรื่องนี้

นอกจากนั้น ยังมีข้อเสนอให้ดูแลร้านค้าที่จำหน่ายอาหารและผลผลิตภัณฑ์ของอภัยทาน ที่นำผงซักฟอก สบู่ เข้าไปผสมรวมกับอาหารที่ใช้ถวายพระ ทำให้มีกลิ่นและสารเหล่านี้ผสมเข้าไปในอาหาร โดยที่ประชาชนไม่รู้แต่ก็หลงซื้อไปถวายพระซึ่งถือว่าเป็นอันตราย

สำหรับการรับฟังความเห็นต่อร่างมตินี้ คจ.สช.จะจัดรับฟังความเห็นจากผู้แทนกลุ่มเครือข่ายทั้ง 4 ภาค โดยจัดที่ กทม. ขอนแก่น ตรัง และเชียงใหม่ ด้วย

ประสานงาน : สำนักการสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) โทรศัพท์ 02-832-9141-43