ผู้เขียน หัวข้อ: ถ้ำเวหาแห่งเนปาล(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1427 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ในอดีต มุสตาง (Mustang) คืออาณาจักรในเขตภาคกลางตอนเหนือของเนปาล เป็นแหล่งโบราณคดีอันลี้ลับและยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลก  ณ ดินแดนที่มีแต่ฝุ่นและลมกระโชกแรง  เร้นกายอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย  และถูกแม่น้ำกาลีคันดากิกัดเซาะจนกลายเป็นร่องลึก    ทั้งยังเต็มไปด้วยถ้ำน้อยใหญ่ที่มนุษย์สร้างขึ้น    ถ้ำบางแห่งตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว  บางแห่งมีลักษณะเป็นกลุ่มถ้ำ  คล้ายช่องจำนวนมากที่มีเสียงลมพัดผ่านดังหวีดหวิว  บางครั้งถ้ำซ้อนสูงเรียงรายแปดหรือเก้าชั้น  บ้างขุดเข้าไปในหน้าผา  บ้างขุดลงมาจากด้านบน ถ้ำหลายแห่งอายุนับพันๆปี หากประเมินอย่างต่ำๆ น่าจะมีถ้ำในมุสตางราว 10,000 ถ้ำ

                เราไม่ทราบว่าใครเป็นคนขุดถ้ำเหล่านี้  และขุดเพื่ออะไร  หรือแม้แต่ว่าพวกเขาปีนเข้าสู่ถ้ำได้อย่างไร   (ใช้เชือก นั่งร้าน หรือว่าถากหินทำบันได เพราะร่องรอยลบเลือนไปเกือบหมด)  เมื่อ 700 ปีก่อน  มุสตางคืออาณาจักรอันพลุกพล่าน  เป็นดั่งสำนักตักศิลาของการศึกษาทางพุทธศาสนาและศิลปะ  และอาจเป็นเส้นทางเชื่อมต่อที่สะดวกที่สุดระหว่างแหล่งเกลือในทิเบตกับเมืองต่างๆในอนุทวีปอินเดีย  ต่อมาในศตวรรษที่สิบเจ็ด   อาณาจักรใกล้เคียงเริ่มมีอิทธิพลครอบงำมุสตาง  เศรษฐกิจเริ่มถดถอย เกลือที่มีราคาถูกกว่าสามารถหาได้จากอินเดีย  รูปปั้นใหญ่โตและภาพมณฑล (mandala) สีสันสดใสในวิหารน้อยใหญ่ของมุสตางเริ่มปริแตกร่วงหล่น   และในไม่ช้าแว่นแคว้นนี้ก็ถูกลืมเลือน ประหนึ่งอันตรธานไปเบื้องหลังเทือกเขาอันยิ่งใหญ่

                กระทั่งกลางทศวรรษ 1990 นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยโคโลญในเยอรมนีและเนปาลเริ่มเข้าไปสำรวจถ้ำที่เข้าถึงได้ง่ายกว่า  พวกเขาพบร่างมนุษย์หลายสิบร่าง   ทุกร่างมีอายุอย่างน้อย 2,000 ปี  นอนอยู่บนเตียงไม้ ประดับประดาด้วยเครื่องประดับทองแดงและลูกปัดแก้ว  ซึ่งไม่ใช่สินค้าที่ผลิตได้ในท้องถิ่น  แสดงให้เห็นว่าในอดีตมุสตางเคยเป็นชุมทางการค้าแห่งหนึ่ง

                พีต เอทานส์  เห็นหมู่ถ้ำแห่งมุสตางเป็นครั้งแรกขณะเดินป่าเมื่อปี 1981 ถ้ำหลายแห่งดูไม่น่าจะเข้าถึงได้  เอทานส์  ซึ่งเป็นนักปีนเขาผู้เคยพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์มาแล้วถึงเจ็ดครั้ง   ยังใจเต้นแรงกับความท้าทายของถ้ำเหล่านี้  แต่กว่าเขาจะได้รับอนุญาตให้เข้ามาสำรวจถ้ำก็ล่วงเข้าสู่ปี 2007  การเดินทางมาที่นี่ในฤดูใบไม้ผลิปี 2011 เป็นการเยือนมุสตางครั้งที่แปดของเขา  ในการสำรวจครั้งก่อนๆ     เอทานส์และคณะค้นพบภาพวาดบนผนังถ้ำยาว 8 เมตร ในถ้ำอีกแห่งพวกเขาพบเอกสารต้นฉบับตัวเขียน 8,000 ชิ้น ส่วนใหญ่อายุราว 600 ปี และมีเนื้อหาครอบคลุมทุกเรื่อง ตั้งแต่การวิเคราะห์เชิงปรัชญาไปจนถึงเอกสารบันทึกการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

                มาร์ก แอลเดนเดอร์เฟอร์  ซึ่งเป็นนักโบราณคดีร่วมคณะ แบ่งลักษณะการใช้ถ้ำในมุสตางออกเป็นสามยุคกว้างๆ ได้แก่ ยุคแรกเมื่อราว 3,000 ปีก่อนใช้เป็นที่ฝังศพ  จากนั้นราว 1,000 ปีก่อนจึงใช้เป็นที่อยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่   ส่วนยุคสุดท้ายอยู่ในช่วงราวศตวรรษที่สิบห้า   เมื่อคนส่วนใหญ่ย้ายกลับไปอยู่กันเป็นหมู่บ้านแบบเดิม  แต่ยังใช้ถ้ำเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ เช่น เป็นสถานที่ปลีกวิเวกทำสมาธิบ้าง  ใช้สังเกตการณ์ทางทหารบ้าง  หรือเป็นที่เก็บสมบัติพัสถาน

                ในยุคที่มีการฝังศพในถ้ำ  แอลเดนเดอร์เฟอร์สันนิษฐานว่า  อาจมีการแล่เนื้อเถือหนังออก ในรูปแบบที่คล้ายคลึงกับพิธีศพแห่งเวหา (sky burial) แบบทิเบตในปัจจุบัน แต่กระดูกยังเก็บรักษาไว้แบบครบร่าง  จากนั้นจึงหย่อนโครงกระดูกลงสู่ที่ฝังศพและหักงอเพื่อให้บรรจุลงหีบไม้ได้ “แล้วใครก็ตามที่อยู่ข้างล่างกับผู้ตายก็จะปีนกลับขึ้นมา” แอลเดนเดอร์เฟอร์บอก

 

                ในการเดินทางมายังมุสตางเมื่อปี 2010  คณะสำรวจค้นพบและสามารถระบุโครงกระดูกมนุษย์ได้ 27 ร่างในถ้ำใหญ่ที่สุดสองถ้ำบนหน้าผา ซึ่งมีทั้งชาย หญิง และเด็กหนึ่งคน   เมื่อแจกเกอลีน เอง ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์กระดูกของคณะสำรวจ   ตรวจดูกระดูกเหล่านั้นอย่างละเอียด  เธอก็พบสิ่งที่น่าตื่นเต้นอย่างหนึ่ง นั่นคือ  ร้อยละ 76 ของร่างทั้งหมดที่เธอตรวจสอบกระดูกมีรอยคมมีดเฉือนอย่างเด่นชัด แจกเกอลีนบอกว่า  ร่องรอยเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากเสียชีวิตแล้วอย่างชัดเจน “นี่ไม่ใช่รอยสับหรือฟันอย่างสะเปะสะปะแน่นอน” กระดูกอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์และไม่มีร่องรอยของการหักหรือเผา  เธอตั้งข้อสังเกตว่า “หลักฐานทั้งหมดบ่งชี้ว่า ที่นี่ไม่มีเรื่องของลัทธิหรือวัฒนธรรมกินเนื้อมนุษย์ค่ะ”

                กระดูกเหล่านี้มีอายุอยู่ระหว่างศตวรรษที่สามถึงแปด    ก่อนที่พุทธศาสนาจะเผยแผ่มาถึงมุสตาง  แต่การแล่เนื้อเถือหนังออกจากกระดูกอาจเกี่ยวข้องกับพิธีศพแห่งเวหา (sky burial)  ของชาวพุทธ (นิกายวัชรยานเช่นที่พบเห็นในทิเบต) ซึ่งยังปฏิบัติกันอยู่จนถึงทุกวันนี้  กล่าวคือ เมื่อชาวมุสตางเสียชีวิตลง ร่างอาจถูกแล่เป็นชิ้นเล็กๆ รวมทั้งกระดูก จากนั้นฝูงแร้งจะโฉบลงมากินอย่างรวดเร็ว

                คณะสำรวจทิ้งทุกสิ่งที่พบไว้เบื้องหลังให้อยู่ในความดูแลของผู้นำในท้องถิ่น  เอทานส์มักมอบเงินส่วนตัวให้หมู่บ้านต่างๆ เพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์เล็กๆ  โดยบอกว่า  “ชาวมุสตางควรจะได้ภาคภูมิในประวัติศาสตร์อันรุ่มรวยของพวกเขาครับ”  มีเพียงตัวอย่างดีเอ็นเอและกระดูกชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่คณะสำรวจนำกลับไปด้วย  หลักฐานเหล่านี้จะถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการต่างๆ เพื่อศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียดซึ่งเป็นกระบวนการที่อาจต้องใช้เวลานานนับสิบปี

ตุลาคม 2555