ผู้เขียน หัวข้อ: แดนใต้น้ำมหัศจรรย์(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1851 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
แนวปะการังเมโสอเมริกา  (Mesoamerica Reef)  ทอดตัวยาวกว่า 965 กิโลเมตรตามแนวชายฝั่งเม็กซิโก เบลีซ กัวเตมาลา และฮอนดูรัส  ลักษณะความสูงต่ำของพื้นที่บริเวณไหล่ทวีปแถบนี้เอื้อให้เกิดการก่อตัวของแนวปะการังใต้น้ำที่มีจุดเริ่มต้นห่างจากชายฝั่งเพียงสองสามร้อยเมตรในบางพื้นที่  และห่างจากชายฝั่งถึง 32 กิโลเมตรในอีกหลายพื้นที่ แนวปะการังนี้รองรับปะการังมากมายหลายชนิดและโอบอุ้มปะการังจำนวนมากที่พบเฉพาะในซีกโลกตะวันตกเท่านั้น ณ ที่นี้ อาณาจักรของป่าชายเลน     ดงหญ้าทะเล และแนวปะการังร้อยรัดสอดประสานกันอย่างแนบแน่นด้วยกระแสน้ำ น้ำขึ้นน้ำลง และการพึ่งพากันและกันจนไม่อาจแยกขาดจากกันได้

 

ป่าชายเลน

แนวป่าชายเลนของเมโสอเมริกาคือปราการหลายชั้นที่ช่วยปกป้องแนวปะการัง     แนวแรกคือป่าชายเลนที่มีต้นไม้ลำต้นสูง ทอดขนานไปกับชายฝั่งจนถึงบริเวณปากแม่น้ำที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำขึ้นน้ำลง แนวที่สองซึ่งบางครั้งก็มีแนวที่สามและแนวที่สี่ตามมาด้วยจะเกิดขึ้นนอกชายฝั่งในจุดที่ต้นกล้าของพืชชายเลนหยั่งรากลงไปในสันทรายตื้นๆในทะเล พืชชายเลนที่กระจุกตัวกันในแต่ละจุดค่อยๆทำให้บริเวณนั้นกลายเป็นเกาะเล็กๆขึ้นมา  เกาะเล็กๆเหล่านี้จะกลายเป็นเกาะปริ่มน้ำ (cay) ที่เต็มไปด้วยพืชชายเลน    เรียงตัวกันคล้ายกลุ่มเกาะเป็นแนวยาว  แนวพืชชายเลนที่เกาะกันเป็นกระจุกนี้ทำหน้าที่เหมือนฉากหรือแนวป้องกันซึ่งเป็นประโยชน์ต่อหญ้าทะเลในแง่ที่ช่วยบรรเทาความแรงของคลื่น ส่วนแนวปะการังก็ได้อานิสงส์ในแง่ที่ช่วยดักจับตะกอน ปุ๋ย และสารพิษที่ถูกชะล้างลงมาจากผืนแผ่นดิน

นอกจากทำหน้าที่เป็นแนวป้องกันแล้ว ป่าชายเลนยังเป็นแหล่งของใบไม้เน่าเปื่อยปริมาณมหาศาล เชื้อราและแบคทีเรียจะย่อยสลายและกินใบไม้เหล่านี้เป็นอาหาร จากนั้น หนอนและครัสเตเชียนจะกินราและแบคทีเรียเหล่านี้อีกทอดหนึ่ง ก่อนที่พวกมันจะกลายเป็นอาหารของปลาเล็กปลาน้อย ซึ่งจะกลายเป็นอาหารของปลาขนาดใหญ่กว่า รวมถึงนกและจระเข้อีกที

ชีวิตงอกงามจากป่าชายเลนไปสู่ทะเลฉันใด กระแสน้ำที่ซัดย้อนกลับมาจากทะเลก็นำพาชีวิตมาด้วยฉันนั้น ไม่ว่าจะในรูปของไข่ ตัวอ่อน หรือบางครั้งอาจเป็นสัตว์ที่ตั้งท้องมาจากแนวปะการังและอาศัยป่าชายเลนเป็นแหล่งอนุบาลลูกน้อย

 

หญ้าทะเล

อาณาเขตทุ่งหญ้าทะเลเริ่มต้นจากการแตกหน่อของชนิดพันธุ์รุ่นบุกเบิกอย่างหญ้าทะเลน้ำตื้นที่มีใบแบนและบาง หรือหญ้าที่มีใบยาวและเรียวเล็กเหมือนเส้นด้ายอย่างหญ้าทะเลมานาที ท้ายที่สุด หญ้าเหล่านี้จะหลีกทางให้หญ้าชะเงาเต่า ซึ่งมีใบแบน หนา และแข็งแรง มีความยาวได้ถึง 60 เซนติเมตร และเป็นชนิดพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่สุดเข้ามาเจริญเติบโตแทนที่   ในบรรดาหญ้าทะเลหลายชนิดที่พบนอกชายฝั่งอเมริกากลาง  เราพบหญ้าชะเงาเต่ามากที่สุด แต่หญ้าชะเงาเต่าก็ไม่ได้ต่างจากหญ้าทะเลชนิดอื่น นั่นคือเป็นพืชดอก (angiosperm) ที่วิวัฒน์จนสามารถถ่ายเรณูใต้น้ำได้โดยไม่ต้องอาศัยพาหะอย่างผึ้งเหมือนพืชดอกบนบก และเชี่ยวชาญการปล่อยผลให้ลอยไปกับกระแสน้ำ การดำรงอยู่และขยายตัวของทุ่งหญ้าทะเลส่วนใหญ่เกิดจากการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ นั่นคือการแตกหน่อจากเหง้าที่อยู่ใต้ดิน

เหง้าหรือลำต้นใต้ดินของหญ้าชะเงาเต่าจะแผ่ขยายออกไปตามแนวนอนใต้ผืนทรายและยึดอยู่กับผืนดินด้วยรากที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย หญ้าทะเลเหล่านี้ทำหน้าที่เหมือนป่าชายเลนในแง่ที่ช่วยดักจับตะกอนซึ่งอาจทับถมปะการังได้

เมื่อใส่สนอร์เกิลดำน้ำลงไป เราจะเห็นใบหญ้าที่อายุมากกว่าและสีเข้มกว่ามี “มอสส์” ใต้ทะเล  หรือพืชอิงอาศัย (epiphyte) หลายร้อยชนิดเกาะอยู่เต็มไปหมด สาหร่ายและแบคทีเรียที่เคลือบอยู่บนใบหญ้าทะเลเป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ซึ่งจะเป็นอาหารของกุ้งและปลาเล็กปลาน้อยอีกทอดหนึ่ง ทุ่งหญ้าทะเลเปรียบเสมือนโรงเรียนมัธยมสำหรับสัตว์หลายชนิดที่ลืมตาดูโลกท่ามกลางการปกป้องของป่าชายเลน ก่อนจะไปเติบโตเต็มที่ในแนวปะการัง

 

แนวปะการัง

แนวปะการังคืออาณาจักรอันคลาคล่ำไปด้วยปะการังแข็ง ปะการังอ่อน ปะการังไฟ ปะการังลายถัก ปะการังสมอง ปะการังเขากวาง แส้ทะเล กัลปังหา สาหร่ายทะเลสีแดง และฟองน้ำ ที่นี่ยังเป็นแหล่งพักพิงของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังมากมายหลากหลายอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ทั้งหอยกาบ ปู กุ้ง หนอนทะเล และปลิงทะเล พวกมันซ่อนตัวอยู่ตามซอกหลืบของแนวปะการัง บ้างเจาะรูอยู่ในปะการัง บ้างเกาะอยู่บนยอดปะการัง

แนวปะการังแห่งนี้มีชะตากรรมไม่ต่างจากแนวปะการังอื่นๆในเขตร้อนที่ถูกคุกคามจากสภาพความเป็นกรดในมหาสมุทร และอุณหภูมิที่สูงขึ้นอันมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศหรือภาวะโลกร้อน การทำประมงเกินขนาด การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง ตลอดจนการเร่งสำรวจแหล่งน้ำมันนอกชายฝั่ง ล้วนเป็นเรื่องน่าวิตกเช่นกัน

ทว่าเมื่อถึงค่ำคืนเดือนเพ็ญของฤดูใบไม้ผลิ มนตร์เสน่ห์อันเก่าแก่ยังสร้างความตราตรึงได้ไม่เสื่อมคลาย  ณ แนวปะการังแกลดเดนสปิต นอกชายฝั่งประเทศเบลีซและกัวเตมาลา ฝูงปลากะพงคิวเบรา ปลากะพงด็อก และปลากะพงมัตตอนนับพันๆตัวจะพากันมาวางไข่ พร้อมๆกับดึงดูดกองทัพฉลามวาฬให้แห่มากินไข่ปลาเหล่านี้เป็นอาหาร และบางครั้งยังรวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลด้วย

พระจันทร์เต็มดวงในเดือนเมษายนซึ่งตรงกับฤดูใบไม้ผลิดึงดูดปลากะพงให้แห่กันมาวางไข่ที่นี่ เพื่อใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาที่น้ำทะเลขึ้นสูงและพัดพาไข่ที่ได้รับการผสมแล้วไปสู่ป่าชายเลน เหล่าฉลามวาฬแหวกว่ายมาจากแดนไกลโดยอาศัยเบาะแสลี้ลับบางอย่างที่มนุษย์ยังหาคำตอบไม่ได้เป็นเครื่องนำทาง ค่ำคืนนี้ระบบนิเวศน้ำตื้นแห่งแนวปะการังเมโสอเมริกาที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันอย่างแนบแน่นได้เปิดเผยตัวตน พร้อมๆกับที่เราได้รู้ซึ้งแก่ใจว่า เมื่อใดที่มนุษย์พยายามแยกสิ่งใดสิ่งหนึ่งออกมา  เขาจะพบว่ามันโยงใยอยู่กับทุกสิ่งในเอกภพอย่างเหนียวแน่น

ตุลาคม 2555