ผู้เขียน หัวข้อ: สังเวยงาแลกศรัทธา(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1497 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
เมื่อเดือนมกราคม ปี 2012 โจรราวร้อยคนขี่ม้าออกจากชาดเข้าสู่อุทยานแห่งชาติบูบาเอ็นจีดาห์ในแคเมอรูน และสังหารช้างป่าไปหลายร้อยตัว  นี่คือการสังหารหมู่สัตว์ป่าครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งนับตั้งแต่กฎหมายห้ามค้างาช้างระหว่างประเทศมีผลบังคับใช้เมื่อปี 1989   ซากช้างแต่ละตัวที่ถูกกระสุนและระเบิดฉีกกระจายคืออนุสรณ์แห่งความละโมบของมนุษย์ การลักลอบล่าช้างในปัจจุบันถึงจุดเลวร้ายที่สุดในรอบทศวรรษ   และการยึดงาช้างผิดกฎหมายก็ถือว่ามากที่สุดในรอบหลายปี 

                  ถึงแม้โลกจะหาวัสดุทดแทนการใช้งาช้างได้ทุกรูปแบบแล้ว  ทั้งลูกบิลเลียด  คีย์เปียโน และด้ามจับแปรง แต่การใช้งาช้างเพื่อประโยชน์ทางศาสนา  [และเชิงสัญลักษณ์] กลับเหมือนถูกแช่แข็ง   แม้แต่ประธานาธิบดีแดเนียล อารัป มอย ของเคนยา เจ้าของฉายา “บิดาแห่งการห้ามค้างาช้างระหว่างประเทศ” ยังเคยถวายงาช้างแด่สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่สอง แต่ต่อมาประธานาธิบดีผู้นี้ได้กระทำการเชิงสัญลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่กว่าด้วยการเผางาช้าง 12 ตันของเคนยา ซึ่งอาจเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดในประวัติศาสตร์การอนุรักษ์

            ปัจจุบัน  ศาสนวัตถุที่ทำจากงาช้างได้รับความนิยมอย่างมากในหลายประเทศ  เช่น ฟิลิปปินส์ ประเทศที่ที่มีผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก 75 ล้านคนหรือมากเป็นอันดับสามของโลก  ฟิลิปปินส์คือจุดหมายปลายทางยอดนิยมของการลักลอบขนงาช้างเถื่อน     นั่นอาจเป็นเพราะชาวคาทอลิกฟิลิปปินส์ชอบรูปสลักนักบุญทำด้วยงาช้างมาก

            กระนั้น  ตลาดงาช้างในฟิลิปปินส์ถือว่าเล็กมาก เมื่อเทียบกับตลาดขนาดใหญ่อย่างเช่นจีน แต่ก็มีอายุเก่าแก่หลายร้อยปีและทำกันอย่างโจ่งแจ้งจนน่าตกใจ  นักสะสมและพ่อค้าอวดรูปงาช้างกันผ่านเว็บไซต์ต่างๆ  ไซเตสหรืออนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES: Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) ซึ่งเป็นองค์กรผู้กำหนดนโยบายการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศในฐานะผู้บริหารจัดการกฎหมายห้ามค้างาช้างเมื่อปี 1989  คือองค์กรทางการของโลกที่ยืนอยู่ตรงกลางระหว่างการฆ่าช้างในช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งว่ากันว่าแอฟริกาสูญเสียช้างไปถึงครึ่งหนึ่งหรือกว่า 600,000 ตัวเฉพาะในทศวรรษนั้น และการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ของช้าง  ถ้าไซเตสมองข้ามการค้างาช้างในฟิลิปปินส์แล้ว ก็น่าคิดว่ายังจะมีอะไรเล็ดลอดสายตาพวกเขาได้อีก

       สถานการณ์การค้างาช้างเถื่อนในประเทศไทยก็จัดว่าน่าห่วง  ช้างคือสัตว์สัญลักษณ์ของไทยและถือเป็นสัตว์มงคลในพุทธศาสนา ตำนานเล่าว่า พระนางสิริมหามายา ทรงพระสุบินเห็นพญาช้างเผือกนำดอกบัวมาถวายและเดินเข้าสู่พระครรภ์ทางพระนาภีเบื้องขวาในคืนที่พระนางทรงตั้งพระครรภ์เจ้าชายสิทธัตถะ คนไทยจำนวนมากนิยมสวมพระเครื่อง บางคนอาจห้อยพระหลายสิบองค์  นัยว่าเพื่อนำโชคและป้องกันภยันตรายตลอดจนคุณไสยต่างๆ ตลาดพระเครื่องในกรุงเทพฯจัดว่าใหญ่โต  มีผู้ค้านับไม่ถ้วนขายเครื่องรางของขลังหลายหมื่นชิ้นที่ทำจากวัสดุต่างๆ ทั้งโลหะ ผงดินอัด กระดูกสัตว์ และงาช้าง

            ประเทศไทยมีประชากรช้างเอเชียตามธรรมชาติอยู่ไม่มากนัก และเป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ซึ่งห้ามค้าขายระหว่างประเทศมานานแล้ว อย่างไรก็ตาม ภายในประเทศไทยเองกฎระเบียบเหล่านี้กลับไม่เข้มงวดนัก ควาญช้างและคนอื่นๆ อาจขายปลายงาของช้างบ้านและงาช้างที่ล้มด้วยเหตุธรรมชาติได้  เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่พ่อค้างาเถื่อนข้ามชาติใช้ช่องว่างนี้ในการลักลอบขนงาช้างแอฟริกาเข้ามาปนกับงาช้างเอเชีย

            นักอนุรักษ์มองว่านี่คือ “ช่องโหว่ทางกฎหมายของไทย” แต่ทุกประเทศในโลกยังมีช่องโหว่ใหญ่กว่านี้มาก งาช้างแอฟริกาที่นำเข้าก่อนปี 1989 อาจซื้อขายได้ภายในประเทศ ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ถูกจับกุมพร้อมงาช้างอาจใช้คำแก้ตัวดาดๆว่า “งานี้ได้มาก่อนการห้ามค้างาช้าง”    เนื่องจากไม่เคยมีการเก็บข้อมูลงาช้างทั่วโลกก่อนการห้ามค้างาช้าง     มิหนำซ้ำงาช้างยังแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีอายุ คำว่า “ก่อนการห้ามค้างาช้าง” จึงเป็นข้อแก้ตัวที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย

            ไทยก็เหมือนฟิลิปปินส์ตรงที่มี “ปัจจัย” เอื้อต่อการลักลอบขนสินค้าอีกตัวหนึ่ง นั่นคือการคอร์รัปชั่น งาช้างแอฟริกาที่ถูกยึดไว้จำนวนหนึ่งตันหายไปจากโกดังของศุลกากรไทยเมื่อไม่นานนี้      การคอร์รัปชันในฟิลิปปินส์ถือว่าเลวร้ายหนักข้อเช่นกัน  เมื่อปี 2006 กรมคุ้มครองสัตว์ป่าฟ้องเจ้าหน้าที่ศุลกากรระดับสูงที่ทำงาช้างหลายตันที่ยึดได้    “สูญหาย”      เมื่อถูกตำหนิ กรมศุลกากรฟิลิปปินส์จึงส่งมอบงาช้างล็อตใหญ่ที่ยึดได้ในเวลาต่อมาให้กรมคุ้มครองสัตว์ป่านำไปดูแล แต่ในไม่ช้าก็ปรากฏว่า โกดังของกรมคุ้มครองสัตว์ป่าเองก็ถูกปล้นเช่นกัน งาช้างกองใหญ่ถูกแทนที่ด้วยงาช้างพลาสติก

            ในช่วงที่กฎหมายห้ามค้างาช้างระหว่างประเทศมีผลบังคับใช้ ชาวอเมริกัน ยุโรป และญี่ปุ่น เป็นผู้ซื้องาแกะสลัก    ร้อยละ 80 ของโลก แต่ทุกวันนี้ ใจกลางกรุงปักกิ่ง ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์มาเซราตี เบนต์ลีย์ และเฟอร์รารี อยู่ข้างๆร้านกุชชี่และปราดา ใกล้ๆกันคือศูนย์ศิลปะและหัตถกรรมแห่งปักกิ่งที่เต็มไปด้วยร้านขายศาสนวัตถุงาช้างที่แวววาว ทั้งรูปสลัก ฮก ลก ซิ่ว หรือเทพแห่งโชค ลาภ และอายุวัฒนะ พระสังกัจจายน์และเจ้าแม่กวนอิม 

            ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม คงต้องยอมรับว่า จีนคือ “ผู้ร้าย” ตัวเอ้ในโลกของการลักลอบค้างาช้าง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนมีคดียึดงาช้างล็อตใหญ่สูงกว่าประเทศนอกทวีปแอฟริกาอื่นๆ เป็นครั้งแรกในรอบหลายชั่วอายุคนที่ชาวจีนจำนวนมากมีเงินพอจะไขว่คว้าอนาคตอันมั่งคั่งและร่ำรวยพอจะมองย้อนสู่อดีตอันเรืองรองได้ด้วย และหนึ่งในสิ่งแรกๆ ที่หลายคนมองหาก็คือศาสนา

            ตรงมุมถนนที่มีร้านขายงาช้างยอดนิยมสายหนึ่งในเมืองจีน  ป้ายไฟสูงเท่าตึกสี่ชั้นเปิดวีดิทัศน์ให้ผู้ที่ผ่านไปมาได้รู้จักโอกาสการลงทุนรูปแบบใหม่ที่กำลังมาแรง  นั่นคือการขายอัญมณีและสินค้าเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่มีมูลค่าปีละ 15,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  และมีอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 50 ต่อปี  “มีพุทธศาสนิกชนเกือบ 200 ล้านคนในจีน” ป้ายนั้นบอกในอาคารด้านล่างมีแกลเลอรีขายศิลปวัตถุจากงาช้างโดยเฉพาะสองร้าน  บนถนนสายเดียวกันนี้ยังมีอีกหลายร้านที่ขายงานพุทธศิลป์ทำจากงาช้าง ถูกกฎหมายบ้าง ไม่ถูกกฎหมายบ้าง

            ในร้านขายงาช้างและโรงงานแกะสลักงาช้างหลายแห่งในจีน  ชิ้นงานส่วนใหญ่เป็นศาสนวัตถุ ซึ่งรวมทั้งชิ้นที่มีมูลค่าสูงสุดหลายชิ้นด้วย  ในบรรดาลูกค้าระดับสูงที่แวะเวียนมามีนายทหารจีนซึ่งมีรายได้สูงอย่างน่าแปลกใจที่มักซื้องาช้างเป็นของกำนัลให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงกว่า  ตลอดจนบริษัทห้างร้านที่มอบงาช้างแกะสลักให้บริษัทคู่ค้า และเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้ช่วยอำนวยความสะดวกหรือเป็นสินน้ำใจตอบแทนความช่วยเหลือ

                ธุรกิจค้างาช้างในจีนพร้อมจะเติบโตและขยายตัว เห็นได้จากการที่รัฐบาลออกใบอนุญาตให้โรงงานแกะสลักงาช้างอย่างน้อย 35 โรง และร้านค้าศิลปวัตถุจากงาช้าง 130 ร้าน  ทั้งยังสนับสนุนศิลปะการแกะสลักงาช้างในสถาบันการศึกษา เช่น  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีปักกิ่ง  สัญญาณบอกเหตุที่ชัดเจนที่สุดก็ไม่ต่างจากในฟิลิปปินส์  นั่นคือ  ช่างแกะสลักชาวจีนกำลังถ่ายทอดวิชาและฝึกปรือฝีมือให้เครือญาติ   ซึ่งแปลว่าธุรกิจการค้ากำลังไปได้สวยในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ไซเตสจะจัดประชุมอีกครั้งเพื่อหารือเรื่องอนาคตของช้างแอฟริกา

ตุลาคม 2555