ผู้เขียน หัวข้อ: ศิลป์บนใบไม้(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1284 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
บางครั้งงานศิลปะชิ้นเอกอาจแขวนอยู่ใน

พิพิธภัณฑ์ แต่บางครากลับเพียงห้อยลงมา

จากกิ่งไม้หรืออยู่รอบๆลำต้นเรียวเล็ก

 

พวกเราชอบเก็บใบไม้  เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลเพียงเพื่อชื่นชมใบไม้เปลี่ยนสีในฤดูใบไม้ร่วง เรากิน กวาด และมองหาร่มเงาของใบไม้  ความที่ใบไม้มีอยู่ทุกหนแห่ง เราจึงไม่ค่อยเห็นคุณค่าของพวกมัน

แต่แม้เราจะไม่เห็นค่า  ใบไม้ก็ยังคงทำหน้าที่หนึ่งของพวกมันต่อไป  นั่นคือการเปลี่ยนแสงให้เป็นพลังงานชีวิต เมื่อแสงอาทิตย์ส่องกระทบใบไม้สีเขียว   ความยาวคลื่นสเปกตรัมในย่านแสงสีเขียวจะสะท้อนกลับสู่นัยน์ตาเรา ส่วนสีที่เหลือ ทั้งแดง น้ำเงิน คราม และม่วง จะถูกดูดกลืนไว้ ส่วนของใบไม้ที่กระบวนการสังเคราะห์แสงเกิดขึ้น โฟตอน (photon) หรืออนุภาคของแสงจะวิ่งชนไปมาทำให้เกิดพลังงาน ใบไม้จะกักเก็บพลังงานเหล่านั้นไว้แล้วเปลี่ยนเป็นน้ำตาล ซึ่งเป็นผลิตผลแห่งห่วงโซ่อาหารที่สร้างทั้งพืชพรรณ ส่ำสัตว์ และอารยธรรมทั้งมวล

คลอโรพลาสต์ (chloroplast) ที่ได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์ น้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ และสารอาหารต่างๆจะทำหน้าที่ต่างๆให้ใบไม้ หากไร้ซึ่งคลอโรพลาสต์พืชก็คงไม่ต่างจากมนุษย์และสัตว์ที่ต้องออกหาอาหาร แต่สิ่งที่พืชทำก็เพียงแค่ยื่น “มือสีเขียว”ออกไปคว้าแสงแดดเอาไว้ พวกมันก็มีอาหารแล้ว ถ้าโลกนี้มีเวทมนตร์แล้วไซร้ การที่ใบไม้สามารถเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นอาหารก็คงเป็นเวทมนตร์อย่างหนึ่งแน่ๆ

ถ้าเราเก็บใบไม้มาสักกำหนึ่งเพื่อศึกษา เราคงไม่อาจมองข้ามความหลากหลายของพวกมัน เพราะเหตุใดใบไม้จึงมีรูปร่างหลากหลายเช่นนี้ ใบไม้ไม่ว่าจะใหญ่ เล็ก หนา บาง ซับซ้อน เรียบง่าย โค้งงอ หรือเป็นหยัก        คำคุณศัพท์เหล่านี้เป็นเพียงความแตกต่างเบื้องต้นที่นักพฤกษศาสตร์พยายามจัดประเภทใบไม้ที่มีความหลากหลาย นอกจากนี้ ยังมีใบแบบ   ขนนก (pinnate) ขนครุย (ciliate)  ขนบางรูปตะขอ (barbellate) ขนเครา (bearded) ขนสั้นสีเทา (canescent) ใบเกลี้ยง (glabrous) ใบมีต่อม (glandular)  เหนียว (viscid)  เป็นขุย (scurfy)  ขนปุย (floccose)  ขนคล้ายใยแมงมุม (arachnoid) และขนสั้นหนานุ่ม (tomentose) แต่หากมองข้ามความหลากหลายทางโครงสร้างแล้ว ใบไม้ส่วนใหญ่ทำหน้าที่สำคัญเหมือนๆกัน นั่นคือการชูคลอโรพลาสต์ขึ้นรับแสงแดด แล้วรูปทรงที่แตกต่างกันมากมายเช่นนี้สามารถใช้ประโยชน์จากแสงแดดได้อย่างสมบูรณ์แบบอย่างไร

การคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection)    เป็นกุญแจหนึ่งที่ช่วยไขปริศนาในเรื่องนี้       ใบไม้ในทะเลทรายมักมีขนาดเล็ก ผิวหนา  มันวาวคล้ายเคลือบด้วยขี้ผึ้ง  หรือมีหนาม  ทำนองเดียวกับใบไม้ในพื้นที่ที่มีความเค็มหรือดินแดนทุรกันดารอื่นๆ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของวิธีการไม่กี่อย่างที่วิวัฒนาการใช้รับมือกับการขาดแคลนน้ำ ส่วนพืชพรรณใน ป่าดิบชื้นมักมีใบแคบ  และมี “ส่วนปลายรูปหยดน้ำ” เรียวยาว  เพื่อระบายน้ำส่วนเกิน  ในพื้นที่หนาวเย็น   เราจะพบใบไม้ที่มีขอบหยักเหมือนฟันเลื่อยอย่างใบต้นเบิร์ชและเชอร์รี่     แม้ว่าเหตุผลของการวิวัฒน์รูปร่างเช่นนี้ยังเป็นที่ถกเถียงก็ตาม

แต่หากสภาพอากาศและสารอาหารที่มีอยู่ในพื้นที่หนึ่งๆ คือปัจจัยเพียงสองประการที่ทำให้ใบไม้มีความหลากหลาย  ถ้าเช่นนั้น  ใบไม้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมหนึ่งๆ เช่น ทะเลทราย ยอดเขา หรือสวนหลังบ้าน ก็น่าจะมีลักษณะเหมือนกัน แต่ความจริงกลับไม่เช่นนั้น  คุณสมบัติหลายอย่างของใบไม้ในสวนหลังบ้านหรือจานสลัดของเราเกิดจากข้อจำกัดด้านยีนและช่วงเวลา เช่น   ภายใต้การคัดเลือกโดยธรรมชาติในสภาพแวดล้อมของทะเลทราย  ใช่ว่าพืชทุกชนิดจะมีการแปรผันทางพันธุกรรมจนกลายเป็นกระบองเพชร เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป  ชนิดพันธุ์ย่อมต้องปรับตัว ใบไม้ทุกใบคือผลงานชิ้นเอกที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ คาดกันว่าใบไม้ในปัจจุบันอาจกำลังวิวัฒน์เพื่อรับมือกับสภาพแวดล้อมในเมือง      ซึ่งมีทั้งมลพิษ ความแห้งแล้ง ความร้อนรุนแรง และของเสียจากสัตว์ แต่อาจต้องใช้เวลาหลายชั่วรุ่นเพื่อให้การคัดเลือกโดยธรรมชาติได้ลองผิดลองถูกจนกว่าจะได้รูปแบบที่เหมาะสม

ลักษณะสืบสายพันธุ์ (trait)  อื่นๆ ของพืชอาจเกิดจากการดิ้นรนต่อสู้ในแต่ละวันเป็นเวลากว่า 400 ล้านปี  พืชต้องแย่งชิงสารอาหารและน้ำในดิน  ตลอดจนแสงอาทิตย์ใต้เรือนยอดไม้  การแข่งขันทำให้ต้นไม้ต้องยืดลำต้นให้สูง กิ่งก้านกลายเป็นลำต้นใหญ่ และผืนป่าก็หนาแน่นขึ้น  ต้นไม้วิวัฒน์ขึ้นท่ามกลางการต่อสู้หลายต่อหลายครั้งในหมู่พืชหลากหลายสายพันธุ์ ใบไม้ที่อยู่สูงที่สุดเป็นผู้ชนะ ดังนั้นต้นไม้จึงมีแนวโน้มจะวิวัฒน์ให้ลำต้นสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ภายใต้ขีดจำกัดทางกายภาพและปริมาณหยาดน้ำฟ้า

นอกจากนี้  ต้นไม้ยังมีอะไรให้รับมือมากกว่าเพียงการแข่งขันกับต้นไม้อื่น  หลักฐานที่บ่งบอกว่าสัตว์กินใบไม้เกือบจะเก่าแก่พอๆกับหลักฐานการมีอยู่ของใบไม้เอง ในฟอสซิลมูลไดโนเสาร์เราพบร่องรอยของใบไม้โบราณ และในฟอสซิลใบไม้เราก็พบรูที่เกิดจากการกัดกิน ในบรรดาเมนูอาหารของสิ่งมีชีวิต ตั้งแต่เชื้อรา และแมลง ไปจนถึงสัตว์กินพืชขนาดใหญ่อย่างวัว ไบซัน และยีราฟ คงไม่มีอะไรได้รับความนิยมมากกว่าใบไม้อีกแล้ว    แต่แม้จะชาญฉลาดเพียงใด ใบไม้กลับไม่เคยค้นพบวิธีวิ่งหนีจากภัยคุกคามนี้

ดังนั้น ใบไม้จึงต้องอาศัยการป้องกันตนเอง  ใบไม้ของพืชบางชนิดกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเล่ห์กลมรณะ ใบหญ้าพัฒนาความสามารถในการสะสมซิลิกาจากดิน ซึ่งจะกลายเป็นเหมือนเศษแก้วเล็กจิ๋วที่ทำลายฟันของสัตว์ที่มาและเล็มอย่างวัวทุกครั้งที่กัดกิน ขณะที่พืชชนิดอื่นอาจใช้สารเคมีทำให้ใบของมันมีรสชาติไม่ชวนกินหรือกระทั่งมีพิษ บางครั้งอาวุธเหล่านี้ก็เห็นได้ด้วยตาเปล่า  เช่น  น้ำยางที่ซึมออกมาจากเส้นใบ หรือขนแหลมๆที่ยื่นออกมาจากใบ เป็นต้น

สภาพอากาศ การแข่งขัน และการป้องกันตนเอง ล้วนเป็นปัจจัยทางวิวัฒนาการที่อธิบายความหลากหลายของใบไม้ได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าเราลองหยิบใบไม้สองใบจากสวนหลังบ้าน เราก็ยังไม่อาจเข้าใจความแตกต่างหลักๆ ระหว่างใบไม้สองใบนี้ซึ่งเป็นรายละเอียดที่นักธรรมชาติวิทยาใช้เวลาศึกษาและอธิบายนับพันๆปีอยู่ดี ท้ายที่สุด เราไม่ควรคาดหวังว่าจะเข้าใจใบไม้ทุก   บางครั้งการถอยฉากออกมาและชื่นชมกับผลงานชิ้นเอกก็อาจเพียงพอแล้ว   ไม่ว่าผลงานชิ้นนั้นจะแขวนอยู่ในพิพิธภัณฑ์หรือห้อยลงมาจากกิ่งก้านต้นไม้ในสวนสาธารณะ พวกใบไม้ไม่อินังขังขอบหรอกว่าเราจะสังเกตเห็นหรือเชยชมพวกมันหรือไม่ เพราะสิ่งที่ทำให้พวกมันระเริงใจ  คือแสงอาทิตย์ที่นำพาอาหารมาให้ในแต่ละวันต่างหาก

ตุลาคม 2555