ผู้เขียน หัวข้อ: แผนใหม่คนไข้บัตรทอง 48 ล้านคน ต้องซื้อประกันสุขภาพควบ30บาทรักษาทุกโรค! (ตอน3)  (อ่าน 1635 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
 เป็นเรื่องที่ชัดเจนแล้วว่าการรวมกองทุนสุขภาพใหญ่ๆ 3 กองทุนเข้าไว้ด้วยกัน คือ กองทุนประกันสังคม กองทุนสวัสดิการข้าราชการ และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นแนวคิดที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทยอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะไปต้องตาโดนใจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ผู้มีอิทธิพลตัวจริงของรัฐบาลนี้
       
       โดย พ.ต.ท.ทักษิณ หวังว่าหากการรวมกองทุนสุขภาพทั้ง 3 กองทุนได้สำเร็จ นั่นเป็นผลงานที่จะสะท้อนกลับมาเป็นผลดีกับพรรคเพื่อไทยในรูปแบบคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป เหมือนกับนโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค” ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2544
       
       โดยบทบาทของการรวมทั้ง 3 กองทุนเข้าไว้ด้วยกันนั้น บทบาทหลักจะไปอยู่ที่รัฐบาล และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ที่จะลดกระแสการต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มคนต่างๆ
       
       “ทีม Special Scoop หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน” นำเสนอเรื่องนี้ไปแล้ว 2 ตอน คือ “แพทย์เปิดศึกชิงเงินประกันสุขภาพ 2.3 แสนล้านบาท เบื้องหลัง!ทักษิณได้ประโยชน์เนื้อๆ” 20 ก.ย. 55 และ “ทีดีอาร์ไอหนุนรัฐรวม 3 กองทุนสุขภาพ อุดรอยรั่วงบฯ ก่อนเจ๊ง-ชี้ประหยัดทันที 6 หมื่นล้าน! (ตอน 2)” 26 ก.ย. 55
       
       และตอนที่ 3 นี้จะพูดถึงปัญหาที่เป็นอีกหนึ่ง “ตอ” ใหญ่ อีกหนึ่งงานที่ สปสช.จะต้องรับศึกหนัก คือการต่อต้านจากผู้ที่อยู่ในกองทุนทั้ง 3 ที่ขณะนี้ ความไม่รู้ในข้อมูล ความกลัว และความไม่อยากเสียสิทธิที่เคยพึงมีพึงได้ได้ปรากฏทั่วในสังคมไทยแล้ว



       
       ประชาชนอลหม่านรวม 3 กองทุน
       
       เห็นได้ชัดจากเสียงบ่นจากโรงพยาบาลใหญ่ๆ ของรัฐ ตั้งแต่กลุ่มของประชาชนที่เข้ารับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากถึง 48 ล้านคน ทำให้เกิดความแออัดในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐต่างๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลใหญ่ที่มีชื่อเสียง ที่ผ่านมารัฐบาลประชาธิปัตย์จึงมีความพยายามที่จะจูงใจ และรณรงค์ให้ผู้มีสิทธิเข้ารับการรักษาตามหน่วยปฐมภูมิต่างๆ เช่น ศูนย์อนามัย หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จนมาถึงรัฐบาลนี้ก็ยังมีการรณรงค์ให้ผู้ป่วยไปรักษาที่หน่วยการรักษาแบบปฐมภูมิ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครที่มีการเปิดเป็นคลินิกเครือข่ายรองรับ
       
       ทันทีที่โรงพยาบาลรัฐใหญ่ๆ เริ่มดำเนินนโยบายนี้ ปรากฏว่าเกิดความสับสนและเกิดความไม่มั่นใจของประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง หรือ โรคยาก ที่ได้รับการรักษามานานจากอาจารย์แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ และจะให้ไปเริ่มต้นใหม่ที่หน่วยการรักษาแบบปฐมภูมิดังกล่าว ที่มีการเปลี่ยนทั้งแพทย์ผู้ทำการรักษาและเปลี่ยนการจ่ายยา
       
       แม้ สปสช.หรือโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่จะยืนยันว่า “มันไม่ใช่ปัญหา” และยาที่ผู้ป่วยจะได้ยังเป็นยาเดิมในบัญชียาหลักก็ตาม แต่ความเดือดร้อนจากการต้องย้ายที่รักษาพยาบาล รวมทั้งความไม่มั่นใจในการรักษาพยาบาลของคนกลุ่มนี้ก็ยังเป็นความรู้สึกแย่ที่ปรากฏชัด
       
       ส่วนกลุ่มที่ไม่อยากรวมกับกองทุนหลักประกันสุขภาพมากที่สุด คือกลุ่มข้าราชการ ประมาณ 5 ล้านคนทั่วประเทศ เหตุผลก็คือ ทุกวันนี้กลุ่มข้าราชการและพ่อแม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ เพราะเงินก้อนนี้เป็นเงินก้อนในส่วนของงบประมาณรัฐบาล ที่เบิกตรงกับกรมบัญชีกลางได้ทันที ทำให้ที่ผ่านมาเป็นที่รู้กันดีในวงการสาธารณสุขว่าแพทย์ตามโรงพยาบาลรัฐต่างๆ ก็เห็นว่าเป็นงบประมาณที่ข้าราชการเบิกจ่ายได้ง่าย จึงมีการจ่ายยาราคาแพงมาตลอด
       
       ข้าราชการบางคนรู้สึกว่า การเบิกให้พ่อแม่รักษาพยาบาลได้มากถึง 200,000 บาทต่อปี ตรงนี้กำลังจะเสียไป
       
       “ส่วนใหญ่ที่แพทย์จ่ายให้กับผู้ป่วยในกลุ่มกองทุนสวัสดิการข้าราชการนั้นเป็นยานอกมากถึง 70% มีการสั่งยาในประเทศเพียง 30% เท่านั้น เพราะต้องยอมรับว่าในส่วนของโรงพยาบาลเหล่านี้มีผลประโยชน์ที่ผูกอยู่ในด้านการทำกำไรให้กับโรงพยาบาลนั้นๆ ด้วย” แหล่งข่าวในวงการสาธารณสุข เปิดเผย
       
       ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2552 ที่คนในวงการสาธารณสุขจะกังวลว่า กองทุนในส่วนสวัสดิการข้าราชการกำลังเป็นปัญหาต่อภาระงบประมาณ คือใช้เงินมากถึง 61,304.47 ล้านบาทนั้น ขณะนี้นอกจากจะยังไม่มีใครแก้ไขแล้วยังพบว่า เงินจำนวนนี้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและล่าสุดในปี 2554 เงินสำหรับดูแลสุขภาพในกองทุนสวัสดิการข้าราชการที่มีอยู่แค่ 5 ล้านคนนั้นขึ้นไปถึง 61,844.27 ล้านบาทแล้ว และคาดว่าในปี 2555 นี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 6.6 หมื่นล้านบาทด้วย!
       



       ส่วนกองทุนประกันสังคม กลุ่มนี้ดูเหมือนว่าทาง สปสช.จะชักชวนมาอยู่ในการดูแลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ง่ายกว่า เนื่องจากกลุ่มสมาชิกกองทุนประกันสังคมนั้น ส่วนใหญ่ที่เป็นพนักงานบริษัทยังรู้สึกว่า ไปโรงพยาบาลแล้วไม่เคยได้รับการรักษาที่คุ้มกับเงินที่ต้องจ่ายให้ภาครัฐในส่วนลูกจ้างเลย ไปแล้วก็ได้แต่ยาพื้นฐานอันได้แก่ พาราเซตามอลเป็นหลัก และถ้าเป็นโรคยาก ทำให้คนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งตัดสินใจไปรักษาในโรงพยาบาลเอกชน
       
       รวม 3 กองทุนแล้ว “สิทธิ” อะไรที่จะได้ และสิทธิอะไรที่จะเสียไป?
       
       ได้ตัวกลางต่อรอง “รพ.” แทนคนไข้
       
       “สิทธิที่ได้แน่ๆ คือ ที่ผ่านมาสินค้าสุขภาพ ผู้รับบริการไม่เคยมีสิทธิต่อรองอะไรเลยกับผู้ให้บริการคือโรงพยาบาลต่างๆ ว่าจะให้อะไร และไม่ให้อะไร โรงพยาบาลให้ยาราคาเท่าไรก็ต้องจ่ายตามนั้น ด้านการตลาดของสินค้าสุขภาพทุกวันนี้ผู้ให้บริการยังเป็นฝ่ายกำกับเงินด้วยซึ่งเป็นอันตรายมาก ดังนั้น การรวม 3 กองทุน ข้อดีสำคัญสุดคือผู้รับบริการจะมีคนกลางมาคอยต่อรองราคายา มีคนดูแลเรื่องคุณภาพของยาให้ เรียกว่าผู้อภิบาลระบบ” แหล่งข่าวในแวดวงสาธารณสุขกล่าว
       
       แต่คนกลางหรือผู้อภิบาลระบบนี้มีสิ่งที่ต้องระวังคือ จะต้องคิดเผื่อทั้งผู้ให้ คือ โรงพยาบาลต่างๆ อยู่ได้ และผู้รับคือผู้ป่วย ได้รับบริการด้านสุขภาพที่ครอบคลุมด้วย
       
       โดยผู้อภิบาลนั้นมีหน้าที่ทำตามหลักของแนวคิดด้านการดูแลสุขภาพแบบ UC หรือ Universal Coverage ซึ่งผู้อภิบาลจะต้องไม่ใช่รัฐบาล และต้องสามารถขยายบทบาทไปยังภาคประกันสังคม ที่สำคัญจะต้องจัดการปัญหาความสัมพันธ์ระหว่าง สปสช.และกระทรวงสาธารณสุขได้ด้วย
       
       เมื่อมีผู้อภิบาลระบบแล้ว ประชาชนก็มีช่องทางที่จะต่อรองกับผู้ให้บริการโดยผ่านผู้อภิบาลเหล่านี้ ที่สำคัญจะดูแลเรื่องสิทธิที่เท่าเทียมในการรักษาพยาบาลให้ด้วย
       
       “อย่างประกันสังคมจะเห็นได้ชัดที่สุดว่าระบบกำลังมีปัญหามาก โดยที่ผู้ประกันตนไม่รู้”



       
       ประกันสังคมด้อยสุด-สิทธิรักษา
       
       แหล่งข่าวในแวดวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมในขณะนี้ ถือว่าเสียเปรียบที่สุดในบรรดา 3 กองทุน เนื่องจากจะต้องมีส่วนในการจ่ายค่าประกันตน 1 ใน 3 ร่วมกับรัฐบาลและนายจ้าง แต่เวลาไปรักษาที่โรงพยาบาลแล้วก็ยังรู้สึกว่าไม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม
       
       โดยในระบบประกันสังคมนั้น จะเป็นระบบค่าใช้จ่ายรายหัว เหมาให้โรงพยาบาลสังกัดต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลเอกชน โดยผู้ประกันตน 1 คนจะมีค่าใช้จ่ายรายหัวคนละประมาณ 2,504 บาทในปัจจุบัน คิดง่ายๆ ได้ว่าหากโรงพยาบาลมีผู้ประกันตนที่สังกัดอยู่ 100 คน โรงพยาบาลนั้นๆ จะได้ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลจากสำนักงานประกันสังคมทันที 250,400 บาท เป็นต้น โดยการรักษาพยาบาลนั้นรักษาไปเท่าไร และเหลือเงินเท่าไร ตรงนี้เป็นหลุมดำมืดที่ผู้ประกันตนไม่เคยทราบตัวเลข ที่สำคัญเงินที่เหลือหรือไม่ได้ใช้จากเงินก้อนนี้ก็ไม่เคยกลับไปที่สำนักงานประกันสังคม
       
       ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมจะมีการปรับระบบการจ่ายเงินค่ารักษาโรคร้ายแรงจากเหมาจ่ายเป็น การจ่ายตามกลุ่มโรคร่วม หรือ DRG ที่จะมีการคิดอัตราการจ่ายเงินของโรคต่างๆ เป็นแบบหน่วย ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันกับการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่กระนั้นก็ยังมีตัวแปรสำคัญคืออัตราจ่าย RW หรือ Relative Wight หรือค่าน้ำหนักมาตรฐานสัมพัทธ์ หมายถึงต้นทุนเฉลี่ยในการดูแลผู้ป่วยในกลุ่ม DRG นั้นเป็นกี่เท่าของต้นทุนเฉลี่ยของผู้ป่วยทุกกลุ่ม
       
       ในที่นี้แม้จะใช้ DRG เดียวกันแล้ว ยังพบว่ามีค่าใช้จ่ายซ่อนอยู่ใน RW นี้เอง โดยค่า RW ของ สปสช.นั้นอยู่ที่ 7,000 บาท ค่า RW ที่กองทุนสวัสดิการข้าราชการอยู่ที่ 10,000 บาท แต่ปรากฏว่าค่า RW ที่สำนักงานประกันสังคมคิดขึ้นมานั้นอยู่ที่ 15,000 บาท ซึ่งเป็นค่า RW ที่สูงมาก
       
       หมายความว่าอะไร?



       
       
       แฉ 30% ทุจริตวนสู่การเมือง
       
       แหล่งข่าวในแวดวงสาธารณสุข กล่าวว่า สูตรนี้คิดได้ง่ายๆ ก็คือ ถ้า สปสช.วางสูตรว่า โรคนี้มี DRG กี่แต้ม ก็จะมีการเอาแต้มนั้นๆ มาคิดเงินคืนด้วยสูตร RW คือ 1 แต้ม สำนักงานประกันสังคมก็จะเอาสูตรที่คิดนี้ไปจ่ายให้โรงพยาบาลต้นสังกัด 15,000 บาท ซึ่งสูงกว่าสูตรของหลัก
       ประกันสุขภาพถ้วนหน้า และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ โดยสูตรนี้มีการคิดประเมินจากนักวิชาการด้านสาธารณสุขคือ ดร.นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี มาแล้วว่า ส่วนนี้ผู้ประกันตนจะต้องเสียเงินให้โรงพยาบาลในสังกัดประกันสังคมฟรีๆ ประมาณปีละ 4,000 ล้านบาท
       
       “ในแวดวงสาธารณสุขยังคุยกันอีกนะว่า ในจำนวน 4,000 ล้านบาทนี้ จะมีเงินจำนวน 30% วนกลับไปที่ฝ่ายการเมือง จากโรงพยาบาลเอกชนในสังกัดประกันสังคม เพื่อให้การคิดสูตร RW ดังกล่าวยังมีอยู่ ซึ่งจุดนี้ไม่เคยมีใครตรวจสอบ”
       
       แล้วส่วนผู้ประกันตนได้อะไร?
       
       ปัจจุบันนี้ในสิทธิส่วนของผู้ประกันตนนั้น ถือว่าน้อยกว่าสิทธิ 30 บาทด้วย โดยขณะนี้สิทธิในส่วน 30 บาทได้แยกงานด้านสุขภาพเป็น 3 งานคือ ด้านการป้องกัน ด้านการรักษา และด้านการฟื้นฟู
       ด้านการป้องกันนั้น ปัจจุบันคนที่อยู่ในสิทธิ 30 บาท หรือบัตรทอง จะได้รับการป้องกัน คือ การฉีดวัคซีนโรคติดต่อร้ายแรง เช่นวัคซีนไข้หวัด 2009 ประกันสังคมนั้นไม่มีการฉีดวัคซีนให้ แต่บัตรทองมีการฉีดฟรีให้ การตรวจสุขภาพประจำปี บัตรทองมี ประกันสังคมไม่มี
       
       ด้านการรักษา ในส่วนของประกันสังคมนั้น จะต้องไปรักษาที่โรงพยาบาลต้นสังกัดเท่านั้น และโดยเฉลี่ยค่าหัวของประกันสังคมที่อยู่ที่ 2,500 บาท ก็เป็นที่รู้กันว่าจะมีการรักษาเพียงแค่ไม่เกิน 700 บาทต่อหัวเท่านั้น โดยมีเทคนิควิธีการต่างๆ ที่พบบ่อยได้แก่ ในการรักษาพยาบาล โรงพยาบาลจะจ่ายยาพื้นฐานให้ผู้ป่วยเป็นหลัก และยังพบอีกว่าปกติผู้ให้บริการต้องรักษาโรค 7-10 วันตามทฤษฎี แต่ปรากฏว่ามีการใช้เทคนิคให้ยากับผู้ป่วยเพียง 3 วัน หลังจากนั้นจะมีการนัดผู้ป่วยมาดูอาการอีกที ซึ่งปกติแล้วผู้ประกันตนจะต้องลางานมาเพื่อหาหมอ ตามหลักจิตวิทยาแล้ว ก็มักจะไม่ได้ลางานได้ง่ายๆ หรือบางคนก็ไม่อยากลางานเพื่อมารอบ 2 ดังนั้นจึงถือว่าเป็น Barrier to entry หรือการกีดกันการเข้ารับบริการทางอ้อมที่ผู้ประกันตนไม่รู้ตัวว่าเสียสิทธินี้ไป เป็นต้น
       
       การคัดกรองโรคร้ายแรง ก็จะเจอปัญหาว่า สมมติเป็นโรคมะเร็ง โรงพยาบาลต้นสังกัดตรวจเจอแล้วแต่ไม่มีการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษา มักจะให้คนไข้ไปหาเองว่าโรงพยาบาลไหนจะรักษาได้ดี ได้ถูกกว่าที่อื่นจะเขียน enable ให้ แต่กว่าคนไข้จะหาได้ ส่วนใหญ่ก็ต้องใช้ระยะเวลา 7-8 เดือน มะเร็งก็ลุกลามไปมากแล้ว พอไปหาที่ใหม่ ก็ต้องตรวจคัดกรองใหม่อีก ซึ่งการตรวจบางอย่างคนไข้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม บางทีก็อ้างว่าไม่มีเครื่องมือราคาแพงในการรักษา ต้องส่งตัวไปโรงพยาบาลรัฐ พอส่งไปแล้วทุกวันนี้ยังไม่จ่ายเงินให้โรงพยาบาลรัฐก็มีหลายกรณี
       
       “คนไข้ผมเล่าให้ฟัง ปรากฏว่ามีจำนวนถึง 47 คนที่เจอปัญหาอย่างเดียวกัน น่าสงสารมาก”
       นอกจากนี้ในการรักษาโรคต่อเนื่อง บัตรทองจะทำการรักษาให้แบบไม่มีกำหนด แต่ประกันสังคมจะได้แค่ไม่เกิน 180 วัน, กรณีไตวาย บัตรทองรักษาไม่มีกำหนด แต่ประกันสังคมรักษาต่อเนื่องให้ไม่เกิน 60 วัน
       
       กรณีคลอดบุตร ประกันสังคมให้ 13,000 บาท แต่หากมีข้อบ่งชี้ให้มีการผ่าตัด บัตรทองจะทำการผ่าตัดคลอดให้ทันที, กรณีทำฟัน ประกันสังคมเบิกได้ปีละ 600 บาท แต่ต้องแยกเบิกเป็น 2 ครั้ง คือครั้งละ 300 บาท และต้องไปเบิกที่สำนักงานประกันสังคม แต่บัตรทองจะทำการขูดหินปูน ถอนฟันให้ด้วย เพราะมองว่าเป็นการป้องกันโรคขาดสารอาหาร ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้กลุ่มเด็ก สตรี และคนสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ก็มีกรณีการรักษาโรคติดยาเสพติดที่ประกันสังคมไม่ดูแล แต่บัตรทองดูแลให้ด้วย
       
       ทั้งนี้ยังมีสิทธิอีกบางสิทธิที่ผู้ประกันตนอาจจะไม่เคยทราบมาก่อน เช่น หากโทร.เรียกรถพยาบาลไปรับผู้ป่วย ประกันสังคมจะจ่ายให้ 300 บาท แต่บัตรทองจะไปรับผู้ป่วยให้ฟรี เป็นต้น
       
       “โรงพยาบาลเอกชนในประกันสังคมมักจะบอกว่าขาดทุน แต่จริงๆ ไม่ใช่ เงินรายหัวที่รับไปนั้นเป็นเงินก้อนใหญ่มากสำหรับแต่ละโรงพยาบาล แต่สิทธิที่ให้ผู้ประกันตนยังน้อยกว่าสิทธิบัตรทอง ปัญหาคือการเมืองเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง เมื่อโรงพยาบาลเอกชนบอกว่าเงินที่รักษาผู้ประกันตนไม่พอ แทนที่จะมีการตรวจสอบ หาข้อเท็จจริงของระบบ กลับมีการตัดสินใจเพิ่มเงินให้โรงพยาบาล ขณะที่ผู้ประกันตนได้รับบริการเหมือนเดิม”



       
       ขรก.หมดสิทธิ “ยาแพง”
       
       เช่นเดียวกับ กองทุนสวัสดิการข้าราชการ ที่ผ่านมา กรมบัญชีกลางจะเป็นผู้ดูแลงบประมาณในส่วนนี้ แต่กรมบัญชีกลางเองก็ไม่มีอำนาจตรวจสอบ แม้พบว่าเงินก้อนนี้มีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่เคยมีระบบตรวจสอบ มีแค่ปัจจุบันที่เริ่มมีการใช้ระบบ DRG แต่ค่า RW ในส่วนของข้าราชการก็ยังสูงมากคือ 10,000 บาทต่อหน่วย มากกว่าบัตรทอง 3,000 บาท
       
       “จริงๆ แล้วผลประโยชน์ของกองทุนสวัสดิการข้าราชการมีมากที่สุด หมอมักจะจ่ายยาแพง ยานอกให้ แต่คุณสมบัติของยานั้น หลายๆ ตัวไม่จำเป็นต้องใช้ยาแพงเลย เช่น ยารักษาความดัน ใช้ยาราคาถูกก็ได้ผลเท่ากัน แต่ทางจิตวิทยาแล้ว คนไข้ที่ได้รับสวัสดิการรัฐบาลที่ได้ยาแพง ได้การรักษาอย่างดีมาโดยตลอด ก็คงจะรู้สึกว่าเสียสิทธิไปมากกว่าสิทธิอื่นๆ ถ้ามีการรวมกองทุน”
       
       แต่ก็มีบางประการที่คนไข้ในส่วนของสวัสดิการข้าราชการยังไม่ทราบ คือในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกนั้นในอายุ 30-60 ปี สามารถตรวจฟรีได้ 1 ครั้งในรอบ 5 ปี ซึ่งเหมือนกับอีก 2 กองทุนที่ส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้ว่ามีสิทธินี้เกิดขึ้น
       
       สปสช.เตรียมแพกเกจร่วมจ่าย
       
       อย่างไรก็ดี การรวม 3 กองทุน นั้น แพทย์จากวงการสาธารณสุขยอมรับว่าจะต้องมีเงินในการบริหารก้อนใหญ่ที่เพียงพอ ซึ่งตามที่ สปสช.ได้คิดโมเดลขึ้นมานั้น จะเป็นในรูปแบบของการเก็บเงินภาษีมาบริการด้านสุขภาพที่เท่ากัน และน่าจะมีการร่วมจ่าย ซึ่งตรงนี้คนใน สปสช.ยังไม่กล้าพูดถึงมากนัก
       
       “การร่วมจ่าย มีการคิดโมเดลมาหมดแล้ว ต่อไปหากรวมกองทุนสำเร็จ จะมีแพกเกจให้ผู้ได้รับสิทธิเลือกว่าจะจ่ายเพิ่มในแพกเกจไหน เหมือนกับที่บริษัทประกันชีวิตทำโครงการต่างๆ เช่น สามารถซื้อแพกเกจโรคร้ายแรงเพิ่มได้ หรือ คนสูบบุหรี่สามารถซื้อแพกเกจโรคมะเร็งปอด หรือกลุ่มผู้หญิงซื้อแพกเกจมะเร็งเต้านมได้ด้วย ตรงนี้น่าจะเป็นสูตรที่เหมาะสม ซึ่งไม่ได้ทำให้ทุกคนเดือดร้อน แต่เป็นบริการเสริมที่คนแต่ละกลุ่มอาจจะสนใจไม่เท่ากันขึ้นมา”


ข้อมูลจากสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

       สรุปได้ว่า วันนี้แผนรวม 3 กองทุน สปสช.คิดไกลไปถึงแพกเกจร่วมจ่ายแบบใหม่ ที่สังคมไทยอาจจะยังไม่คุ้นชินมากนัก แต่เชื่อเถอะว่า การที่ สปสช.ได้รับไฟเขียวจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ตัวจริงเสียงจริงของรัฐบาลเพื่อไทยอย่างมากนั้น เรามีสิทธิเห็นการรวมกองทุน 3 กองทุนในไม่ช้านี้แน่
       
       เพียงแต่คาดหวังว่า การรวม 3 กองทุนที่จะมีงบประมาณด้านสุขภาพจำนวนกว่า 2.3 แสนล้านไปกระจุกตัวอยู่ที่ที่เดียวในต่อไปนั้น ผลประโยชน์ควรจะกลับมาสู่มือประชาชนคนไทยมากที่สุดด้วย
       
       
 ผู้จัดการ

today

  • Staff
  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 263
    • ดูรายละเอียด