ผู้เขียน หัวข้อ: ‘ท้องอืดท้องเฟ้อ’ ต้นตอปัญหาโรคร้ายในระบบทางเดินอาหาร  (อ่าน 1337 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด

“ยังไม่ทันทำอะไร ก็หมดเวลาไป 1 วันแล้ว...” ประโยคนี้มักได้ยินจากใครหลายๆ คน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ดูเหมือนว่าเวลา 24 ชั่วโมง ใน 1 วัน จะไม่เพียงพอต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ให้ครบตามที่ใจต้องการ ด้วยรูปแบบการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ สภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูง ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ทุกอย่างต้องแข่งขันกับเวลาจนเกิดเป็นความกดดัน และความเครียด ทำให้หลายคนลืมที่จะดูแลรักษาสุขภาพของตัวเอง แม้แต่เรื่องง่ายๆ อย่างเช่น การทานอาหารให้ตรงเวลาและให้ครบ 3 มื้อ แต่ก็คงไม่แปลกถ้าคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะให้เหตุผลเป็นเสียงเดียวกันว่า “ก็มันไม่มีเวลาจริงๆ” และสิ่งที่ตามมา ก็คือ ปัญหาด้านสุขภาพ และหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่มักเกิดจากพฤติกรรมเหล่านี้ ก็คือ อาการของโรคระบบทางเดินอาหารนั่นเอง
       
       นพ.สุริยา กีรติชนานนท์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินอาหารและตับ ให้ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุและอาการต่างๆ ของโรคระบบทางเดินอาหาร ว่า อาการของโรคระบบทางเดินอาหารที่เกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ คือ อาการอึดอัด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ บริเวณลิ้นปี่ หรือเหนือสะดือ โดยอาการเหล่านี้ทางการแพทย์ใช้คำแทนว่า อาการ ดิสเป๊ปเซีย (Dyspepsia) จากการสำรวจข้อมูลประชากรจำนวน 23,676 คน ใน 5 ประเทศของยุโรป พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีอาการเหล่านี้ถึงร้อยละ 32% (7,576 คน) ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบร้อยละ 25 และสำหรับประเทศไทยนั้น มีข้อมูลจากสมาคมโรคทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ว่า คนไทยได้ประสบกับอาการนี้ถึงร้อยละ 20-25 และเป็นอาการที่พบบ่อยเป็นอันดับหนึ่งในคลินิกทางเดินอาหาร โดยพบได้ทุกช่วงอายุตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงผู้สูงอายุ ช่วงที่พบบ่อยมาก คือ อายุตั้งแต่ 40-45 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นอาการที่เกิดจากระบบการย่อยอาหารที่เสื่อมลงตามวัย
       
       “อาการดิสเป๊ปเซีย เป็นอาการที่เกิดในกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มโรคออกเป็น 2 ชนิด คือ กลุ่มผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพชัดเจนในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น หรือศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า ออแกนิก ดิสเป๊ปเซีย (organic dyspepsia) เช่น กระเพาะอาหารอักเสบรุนแรง มีแผล มีเชื้อโรคซ่อนอยู่ เนื้องอกในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนต้น และอีกชนิดหนึ่ง คือ กลุ่มผู้ป่วยที่ตรวจไม่พบโรคดังกล่าวด้วยวิธีส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน หรือ ฟังชันนอล ดิสเป๊ปเซีย-เอฟดี (Functional dyspepsia - FD) โดยอาการชนิดนี้ เกิดจากการที่กระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กทำหน้าที่ผิดปกติไปจากเดิม ซี่งพบเป็นส่วนมากในผู้ป่วยที่มีอาการดิสเป๊ปเซีย จากข้อมูลสำรวจผู้ป่วยที่มีอาการดิสเป๊ปเซียในประเทศไทยจำนวน 1,100 ราย พบว่า ร้อยละ 60-90 ของผู้ป่วยที่มีอาการดิสเป๊ปเซีย มีอาการอยู่ในกลุ่มที่สองนี้ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการเหล่านี้ มีหลายปัจจัยด้วยกัน อาทิ กระเพาะบีบตัวไม่ได้ บีบตัวช้า กระเพาะไวต่ออาหารบางชนิด เช่น อาหารรสจัด สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้การย่อยอาหารในกระเพาะอาหาร และการเคลื่อนตัวของอาหารเข้าสู่ลำไส้เล็กเป็นไปด้วยความลำบาก เกิดการสะสมของฟองอากาศ หรือแก๊สในกระเพาะอาหาร และลำไส้ ทำให้อึดอัด แน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อครับ” นายแพทย์ สุริยา ให้ข้อมูลเพิ่มเติม
       
       นอกจากนี้ ในปัจจุบันอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เกิดขึ้นในกลุ่มคนวัยทำงานและกลุ่มคนวัยเรียนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อันเนื่องมาจากรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะปัจจัยเรื่องความเครียด พฤติกรรมการรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา หรือรับประทานอาหารด้วยความเร่งรีบ เคี้ยวไม่ละเอียด ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ อาทิ แอลกอฮอล์ บุหรี่ กาแฟ น้ำอัดลม อาหารไขมันสูง ทานอาหารอิ่มแล้วนอนในทันที ทานอิ่มเกินไป หรือแม้แต่พูดคุยขณะรับประทานอาหาร เพราะเป็นการกลืนอากาศเข้าไปพร้อมอาหาร จนส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ เหล่านี้ขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่น่าวิตกในการดำเนินชีวิตและการดูแลสุขภาพ
       
       นายแพทย์ สุริยา อธิบายว่า อาการในกลุ่ม ‘ฟังชันนอล ดิสเป๊ปเซีย’ นั้นไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต แต่จะรบกวนคุณภาพชีวิตได้ ซึ่งผู้ที่มีอาการ จำเป็นต้องปรับพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการนี้ ควบคู่ไปกับการรับประทานยารักษาอาการ ซึ่งยารักษาอาการในกลุ่ม ‘ฟังชันนอล ดิสเป๊ปเซีย’ มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน อาทิ ยาลดแก๊ส หรือฟองอากาศที่อยู่ในกระเพาะอาหารและลำไส้ ที่มีตัวยา ‘ไซเมทิโคน (Simethicone)’
       
       “ปัจจุบันอาการท้องอืดนั้น เกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย ทั้งนี้ ทุกคนควรรู้จักการดูแลรักษาสุขภาพ ตลอดจนการป้องกันตนเอง เพื่อให้ห่างไกลจากอาการเหล่านี้ ด้วยวิธีง่ายๆ เช่น รับประทานอาหารให้ตรงเวลา เคี้ยวอาหารให้ละเอียด ไม่รับประทานอิ่มจนเกินไป ไม่พูดคุยขณะรับประทานอาหาร หลังจากรับประทานอาหารก็ไม่ควรนอนทันที และควรรักษาสมดุลการทำงานไม่ให้ตนเองตกอยู่ในภาวะเครียด พร้อมออกกำลังกายและพักผ่อนอย่างพอดี เหมือนกับประโยคที่ว่า “สุขภาพที่ดีมีได้ด้วยตัวเราเอง” มาสร้างสมดุลให้กับชีวิตกันดีกว่าครับ” นพ.สุริยา กล่าวทิ้งท้าย