ผู้เขียน หัวข้อ: อึ้ง! โรคหัวใจและหลอดเลือดคร่าชีวิตคนไทย วันละ 108 คนหรือเกือบ 4 หมื่นคนต่อปี  (อ่าน 1416 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
  กรมควบคุมโรค จัดกิจกรรมรณรงค์วันหัวใจโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 29 ก.ย.ของทุกปี ชี้ปัจจุบันพบโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นเหตุคนไทยตายปีละเกือบ 4 หมื่นคน หรือตายวันละ 108 คน ปีนี้เน้นเป้าหมายรณรงค์ในกลุ่มผู้หญิงและเด็กที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
       
       นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบัน พบว่า หนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นผลมาจากวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะในสังคมเมือง ที่มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การรับประทานที่มากเกินพอดี โดยเฉพาะอาหารที่มีรสชาติหวาน มัน เค็มเกิน ไม่สมดุลกับการออกแรง ไม่ถูกสัดส่วน รับประทานผักผลไม้น้อย ใช้เครื่องอำนวยความสะดวกมากขึ้น มีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ไม่ได้ออกกำลังกาย มีความเครียด และพักผ่อนไม่เพียงพอ ประกอบกับการสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อีกทั้งยังละเลยการตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำ ซึ่งปัจจัยด้านพฤติกรรมดังกล่าวส่งเสริมให้เกิดภาวะน้ำหนักเกิน อ้วน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน และส่งผลให้คนเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดกันมากขึ้น ที่สำคัญเกิดโรคขึ้นก่อนวัยอันควร ดังนั้น เนื่องในโอกาส “วันหัวใจโลก” ซึ่งตรงกับวันที่ 29 กันยายน ของทุกปี สธ.จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์และปีนี้มีคำขวัญในการรณรงค์ว่า “หนึ่งคือหัวใจ อีกหนึ่งนัยคือบ้านเรา ทุกบ้านรวมกันได้ โลกทั้งใบ…ใจเดียวกัน” หรือ “One World , One Home, One Heart” และได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มผู้หญิงและเด็กอายุ 7-10 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่กำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะจากความเชื่อเดิมที่ว่า กลุ่มประชากรเพศชายและผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่ความจริงกลับพบว่า โรคหัวใจและหลอดเลือด สามารถเป็นได้ก่อนวัยอันควร และเป็นได้ในทุกวัยและทุกกลุ่มประชากร รวมถึงผู้หญิงและเด็กด้วย ผู้หญิงเป็นโรคได้เท่าๆกับผู้ชายและเด็กก็จะเป็นโรคนี้ได้ง่ายเช่นกัน
       
       ด้าน ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากข้อมูลของสมาพันธ์หัวใจโลก พบว่า สถานการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดทั่วโลก มีประชากรเสียชีวิตสูงถึง 17.3 ล้านคนต่อปี ซึ่งมากกว่าประชากรที่เสียชีวิตจากโรคมาลาเรีย HIV/เอดส์ และวัณโรครวมกัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าในปีพ.ศ.2573 (ค.ศ.2030) จะมีการเสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มขึ้นเป็น 23 ล้านคนทั่วโลก และยังพบว่าในแต่ละปีผู้หญิงมากกว่า 8.6 ล้านคนทั่วโลก ที่เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด มีจำนวนมากกว่าผู้หญิงที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง วัณโรค เอดส์ และโรคมาลาเรียรวมกัน สำหรับประเทศไทย ในปี 2553 มีผู้เสียชีวิต จำนวน 39,459 คน หรือเสียชีวิตวันละ 108 คน ข้อมูลในรอบ 5 ปีย้อนหลัง(พ.ศ.2549-2553) พบว่า อัตราการเสียชีวิตต่อแสนประชากรในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดที่สำคัญ มีดังนี้ โรคความดันโลหิตสูงจาก 3.8 ใน ปี 2549 เพิ่มเป็น 3.9 ในปี 2553 โรคหัวใจขาดเลือดจาก 19.4 ในปี 2549 เพิ่มเป็น 20.5 ในปี 2553 โรคหลอดเลือดสมองใหญ่(อัมพฤกษ์ อัมพาต) จาก 20.6 ในปี 2549 เพิ่มขึ้นเป็น 27.5 ในปี 2553 จะเห็นได้ว่า อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคทั้งสามโรคเหล่านี้ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง


ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

       ดังนั้น ในปี 2555 นี้ กรมควบคุมโรค มีแนวทางในการดำเนินงานกิจกรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานสาธารณสุข ดังนี้ 1.กลุ่มเป้าหมายผู้หญิง ควรจัดกิจกรรมรณรงค์ นิทรรศการ และสื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องโรคหัวใจและหลอดเลือด รู้ถึงปัจจัยเสี่ยงของตัวเอง รู้วิธีป้องกัน รู้อาการเตือนของโรค และการมีพฤติกรรมที่นำไปสู่การมีสุขภาพหัวใจที่ดี ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ต่อตัวเองและครอบครัว เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน 2.กลุ่มเป้าหมายเด็ก ควรทำสื่อประชาสัมพันธ์ที่ให้ความรู้เรื่องโรคหัวใจและหลอดเลือด และคำแนะนำการมีพฤติกรรมที่นำไปสู่การมีสุขภาพหัวใจที่ดี ที่เหมาะสมกับเด็ก เช่น ใบปลิว โปสเตอร์ หรือโบชัวร์ ที่สอดแทรกความรู้ เนื้อหาที่เข้าใจง่าย ในรูปแบบของภาพการ์ตูน เพื่อให้ความรู้ที่เหมาะสมกับแก่เด็กวัย 7-10 ปี 3.ควรจัดกิจกรรมรณรงค์เรื่องโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยการเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการเล่าเรื่องจากประสบการณ์จริงทางเวทีหรือการเขียนผ่านทางช่องทางต่างๆ เช่น website, facebook เป็นต้น และ 4.สนับสนุนส่งเสริมความร่วมมือของเครือข่าย ในหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยบูรณาการร่วมกันในการดำเนินกิจกรรม เพื่อการเข้าถึงกลุ่มสังคมและชุมชนอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุม และได้ผลในระยะยาว
       
       อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า ทุกคนสามารถร่วมมือกันป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ ดังนี้ การเลือกรับประทานอาหารสุขภาพที่ดีต่อหัวใจ ควรเตรียมอาหารสุขภาพไว้ที่บ้านเสมอ เริ่มจากผลไม้สักชิ้นหรือทำอาหารกลางวันเองไปรับประทานที่ทำงานหรือที่โรงเรียน การมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอ และควรกำหนดเวลาดูโทรทัศน์ให้น้อยกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน เน้นให้มีกิจกรรมนอกบ้าน เช่น ขี่จักรยาน เล่นในสวน หันมาใช้รถจักรยานหรือเดินแทนรถยนต์ การไม่สูบบุหรี่ โดยทำให้บ้านเป็นบ้านที่ปลอดบุหรี่ หยุดการสูบบุหรี่เพื่อหัวใจแข็งแรงของทุกคนในครอบครัว และสร้างกฎในบ้านขึ้น เช่น ถ้าใครสูบบุหรี่จะต้องทำงานบ้านเพิ่มขึ้น การรู้ค่าความเสี่ยงของตัวเอง โดยตรวจสุขภาพเบื้องต้นอย่างน้อยปีละครั้ง และควรทราบค่าตัวเลขที่เป็นความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ ค่าความดันโลหิต ระดับไขมันและน้ำตาลในเลือด รวมถึงค่ารอบเอวและค่าดัชนีมวลกายของตนเองและคนในครอบครัว และสามารถพัฒนาปรับปรุงวางแผนการดูแลสุขภาพหัวใจของตนเองและคนในครอบครัวได้ โดยเขียนติดไว้ในที่ที่มองเห็นได้ง่ายที่บ้าน เพื่อเป็นการช่วยเตือนความจำอีกด้วย
       
       หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทร 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทร 0 2590 3333