ผู้เขียน หัวข้อ: แพทย์ชนบทดีเด่นปี52เผยศรีสะเกษขาดหมอหนักกว่า3จว.ชายแดนใต้  (อ่าน 2574 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อเวลา  09.30  น.วันที่  13  ก.ย.   ว่า  ที่  รพ.ภูสิงห์  จ.ศรีสะเกษ  นพ.กิติภูมิ  จุฑาสมิต  ผอ.รพ.ภูสิงห์  อ.ภูสิงห์  จ.ศรีสะเกษ  แพทย์ดีเด่นในชนบท ปี 2552  คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล  กล่าววตนทำงานอยู่ที่  รพ.ภูสิงห์ ตั้งแต่ปี 2539  ในปีนี้เป็นปีที่ 14  แล้ว  แต่ตนได้มาทำงานที่  จ.ศรีสะเกษ  ตั้งแต่ปี 2530 เริ่มทำงานครั้งแรกที่ รพ.ห้วยทับทัน  ซึ่งตนเชื่อว่าการทำงานในชนบททุกที่ลำบากทั้งนั้น ซึ่งหมอจะทำงานค่อนข้างหนัก  โดยเฉพาะ  จ.ศรีสะเกษ  ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีอัตราการขาดแคลนแพทย์ค่อยสูง  เมื่อเทียบกับ  3 จังหวัดชายแดนใต้แล้ว  ยังมีหมอมากกว่า  จ.ศรีสะเกษอีก  เมื่อเฉลี่ยปีที่แล้ว (2552) จะเหลือหมอเพียง  2 - 3  คนต่อ  รพ. คือ  ตามหลักการเฉลี่ยอย่างแย่ที่สุดแล้วหมอ 1 คนต่อประชากร 10,000 คน แต่เมื่อปีที่แล้วที่ รพ.ภูสิงห์  มีหมอเพียง  2  คนเท่านั้น  ในบางช่วง ขณะที่ประชากรของ  อ.ภูสิงห์  มี  53,000 คน เท่ากับหมอ  1 คน ต่อประชากร 20,000 กว่าคน ไม่เฉพาะ  อ.ภูสิงห์  ที่ขาดหมอ  ส่วนในอำเภอต่าง  ๆ  ใน  จ.ศรีสะเกษ  ก็ขาดหมอเช่นเดียวกัน   

แพทย์ดีเด่นในชนบท ปี 2552   กล่าวต่อไปว่า   ตนเริ่มต้นการทำงานก็คิดว่าจะไปอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่  ๆ ในกรุงเทพฯ  แต่พอมาทำงานจริงที่  จ.ศรีสะเกษ  มาเจอปัญหาการขาดแคลนแพทย์  ทำให้ตนมีความรู้สึกว่า  ไปไม่ไหวแล้ว  ทิ้งไม่ลง  ปกติแพทย์ทุกคนเรียนจบมาจะต้องใช้ทุน 3 ปี  ทางรัฐบาลบังคับไว้เลย  ถ้าไม่ใช้ทุนภายใน 3 ปี จะต้องจ่ายเงินคืน พอครบ 3 ปี  ตนตั้งใจจะย้ายกลับกรุงเทพ แต่พอจะไปจริง  ๆ  ปรากฏว่า  ขาดแพทย์  ก็เลยอยู่ต่อ  ปีแล้วปีเล่าปัญหาก็ไม่แก้ไขไม่ได้  พอแก้ไม่ได้  ตนก็เลยต้องอยู่ต่อมาเรื่อย  ๆ  ซึ่งในปีนี้ก็  23 ปีแล้ว ตนจึงอยากฝากถึงแพทย์รุ่นน้องที่จบมาใหม่ว่า  เราเป็นคนไทย  อยู่ที่ไหนก็น่าจะมีความสุข  เพราะจริง ๆ  แล้ว  รัฐบาลบังคับให้ใช้ทุนแค่  3  ปีเท่านั้น  และปีแรกก็อยู่โรงพยาบาลใหญ่ด้วยซ้ำ  เช่น  รพ.จังหวัด หรือรพ.ศูนย์ เพราะฉะนั้นตนคิดว่าอย่างน้อยๆ  2  ปีนี้  มาช่วยพัฒนาเขตพื้นที่ที่ขาดแคลนก่อน  พอครบ  2  ปี  ถ้าติดใจเหมือนผมก็อยู่ต่อไป  ถ้า 2 ปีไม่ไหวจริง  ๆ  ฝืนใจจริง  ๆ  ก็ค่อยกลับไป

ผอ.รพ.ภูสิงห์  กล่าวต่อไปอีกว่า   เมื่อถามว่า มีความรู้สึกภูมิใจไหมกับรางวัลที่ได้รับ  ตนมีความภูมิใจและหนักใจ  ภูมิใจตรงที่ว่า  คนเห็นคุณค่าที่เราทำงานหนักมา  10  กว่าปี  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันที่เราจบมา  คือ รพ.ศิริราช  เพราะอาจารย์ที่สั่งสอนเรามาก็มาเป็นกรรมการคัดเลือก  ถึงแม้ท่านจะจำไม่ได้  เพราะลูกศิษย์ท่านเยอะ  ก็ดีใจ  แต่ที่หนักใจ  ก็เพราะว่า  จ.ศรีสะเกษ  เคยมีแพทย์ที่ได้รับรางวัลนี้มาแล้ว คือ นพ.ประวิ  อ่ำพันธ์ นพ.สสจ.ศรีสะเกษ  ท่านบอกว่า  เมื่อได้รับรางวัลนี้มา  ลำบากมาก  เพราะเวลาเราให้บริการไม่ได้  หรือคนไข้ผิดใจอะไรขึ้นมา  ก็จะโดนเลย  นี่เหรอคือ  แพทย์ดีเด่น มันเจ็บเป็น 2 เท่า  แต่เมื่อดูผู้ที่เคยได้รับรางวัลนี้มา  มีบางท่านฆ่าตัวตายก็มี  เพราะร้องเรียนหรืออะไรอย่างนี้  ในจดหมายลาตายท่านก็บอกว่า  ไม่อยากให้รางวัลนี้แปดเปื้อน หรืออย่างคุณหมอที่อยู่ 3 จังหวัดชายแดนใต้  หลังจากที่ได้รับรางวัลเพียงเดือนสองเดือนคุณพ่อก็ถูกสังหาร เขาก็ว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบต้องการที่จะสั่งสอนอะไรทำนองนี้


วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2553  มติชนออนไลน์