ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปปัญหา-มหันตภัย 30 บาทรักษาทุกโรค และข้อเสนอในการแก้ปัญหา  (อ่าน 22462 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
จากการเขียนถึงปัญหามหันตภัย 30บาทรักษาทุกโรคทั้งหมด 9 ตอนแล้ว  ผู้เขียนได้สรุปปัญหามหันตภัยที่เกิดจากระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค(อีกครั้ง) ดังนี้

1.ภัยต่อประชาชน ในการที่จะได้รับการบริการที่ไม่มีมาตรฐาน ได้รับยาที่อาจจะไม่เหมาะสมต่อการรักษาโรค จนอาจทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงอันตรายจากความเสียหายจากการรักษาหรือผิดหวังจากผลการรักษาที่ไม่ดีดังที่คาด หรือเกิดอันตรายจากความผิดพลาดของบุคลากร

2. ภัยต่อบุคลากรสาธารณสุข บุคลากรสาธารณสุขมีความเสี่ยงต่อการถูกร้องเรียน/ฟ้องร้อง เสี่ยงภัยต่อสุขภาพของตนเองที่ต้องทำงานหนักเกินกำลัง ขาดการพักผ่อน รวมทั้งมีรายได้ไม่เหมาะสมกับภาระงานที่ต้องรับผิดชอบ

3.ภัยต่อระบบริการสาธารณสุขและงบประมาณแผ่นดิน กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้รับเงินงบประมาณในการทำงาน ต้องส่งรายงานไปขอเงินจากสปสช.(นับเป็นกระทรวงเดียวที่แปลกประหลาดกว่ากระทรวงอื่นๆในประเทศไทย)  ไม่อาจกำหนดนโยบายในการทำงาน อยากทำอะไรต้องให้สปสช.เห็นชอบและอนุมัติงบประมาณให้ก่อนจึงจะทำได้ ไม่มีอำนาจบริหารงบประมาณแผ่นดินในการดำเนินงานตามภาระรับผิดชอบ ต้องทำตามข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์ของสปสช. ไม่อาจกำหนดตำแหน่งและอัตรากำลังของบุคลากรได้เองตามภาระงานที่มากขึ้น ไม่มีแม้กระทั่งเงินเดือนจะจ่ายให้บุคลากร ต้องไปขอรับเงินเดือนบางส่วนจากสปสช.

สรุปก็คือกระทรวงสาธารณสุขมีแต่ภาระงานที่ต้องรับผิดชอบ ในการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนที่มีความต้องการมากขึ้น เช่นภาระในการรักษาผู้ป่วยก็มากเกินไป ทำให้มาตรฐานในการบริการสาธารณสุขมีปัญหา สุขภาพและคุณภาพชีวิตของบุคลากรย่ำแย่ สุขภาพและคุณภาพชีวิตประชาชนไม่ดีขึ้น และงบประมาณแผ่นดินถูกใช้อย่างไม่คุ้มค่า และไม่สมเหตุผล โดยคำสั่งหรือระเบียบกฎเกณฑ์ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ที่รับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวมาจากงบประมาณแผ่นดิน แต่ใช้อำนาจในการบริหารงบประมาณได้โดยไม่รับฟังเสียงของโรงพยาบาลที่ได้รับเงินไม่ครบตามจำนวนเงินงบประมาณที่สปสช.ได้รับมาจากสำนักงบประมาณ และการทำงานบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็หลุดรอดการตรวจสอบอย่างเข้มข้น หรือแม้จะได้รับการตรวจสอบแล้วก็ไม่แก้ไขหรือยุติการกระทำที่ไม่ถูกต้อง

4. ภัยต่อระบบการประกันสุขภาพ  ในระบบ 30 บาทนี้นอกจากรัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายหัวน้อยไม่เพียงพอต่อการจัดบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมแก่ประชาชนแล้ว คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังยินยอมให้สปสช.แบ่งเอางบประมาณที่น้อยอยู่แล้วนี้ ไปทำโครงการรักษาโรคเฉพาะ (Vertical Program) ทั้งที่สปสช.ไม่มีหน้าที่เช่นนั้น ทำให้สปสช.ส่งเงินงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยให้แก่โรงพยาบาลไม่เพียงพอต่อการจัดบริการสาธารณสุขที่ดีแก่ประชาชน

 เมื่องบประมาณที่จะใช้ในการรักษาผู้ป่วยมีไม่เพียงพอ สปสช.ก็เลยหาทางควบคุมค่าใช้จ่าย โดยการที่ตั้งเป้าหมายให้มีการควบคุมการตรวจวินิจฉัย การรักษาและการใช้ยา โดยการเสนอให้รัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการบริการสุขภาพในระบบ 30 บาท และเสนอให้ทุกกองทุนประกันสุขภาพดำเนินการเหมือน 30 บาท โดยอ้างว่าเพื่อ”ลดความเหลื่อมล้ำในแต่ละกองทุน” โดยไม่นึกถึงคุณภาพมาตรฐานการรักษา ว่าจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลดีที่สุดในการรักษาสุขภาพหรือไม่

 และยังไปก้าวก่ายผู้บริหารระบบประกันสังคมและระบบสวัสดิการข้าราชการ ให้วางแผนสั่งการควบคุมค่าใช้จ่ายแบบเดียวกับระบบ 30 บาท โดยอ้างความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุน การกระทำของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสปสช.จะทำให้คุณภาพการบริการสาธารณสุขเลวเท่ากันหมดใน 3 กองทุนสุขภาพนี้อย่างแน่นอน
จึงสรุปได้ว่าระบบ 30 บาทเป็นมหันตภัยต่อระบบการประกันสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการได้รับงบประมาณแผ่นดิน

5. ภัยต่อการแพทย์และคุณภาพมาตรฐานการบริการสาธารณสุข ระบบ 30 บาทได้อวดอ้างเสมอว่า เป็นโครงการที่ “ชนะใจประชาชนมากที่สุด หรือนับว่าเป็นนโยบายประชานิยม” โดยสปสช.จะอ้างว่าประชาชนมากกว่า 90 % จะนิยมชมชอบระบบ 30 บาทนี้มาก

   แต่เป็นเพียงการสอบถามถึงความพึงพอใจของประชาชนต่อระบบ 30 บาท ซึ่งประชาชนก็คงพอใจเพียงเพราะว่าเป็นโครงการที่ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขโดยจ่ายเงินราคาถูก แต่ยังไม่มีการสำรวจว่า ประชาชนพอใจคุณภาพหรือผลการรักษาหรือไม่?  
 จะเห็นได้ว่ายังไม่มีการประเมินคุณภาพมาตรฐานการบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมรอบด้าน ซึ่งถ้าประเมินอย่างตรงไปตรงมาก็คงจะไม่ผ่านการประเมิน เนื่องจาก

5.1ขาดทรัพยากรในการทำงานทั้งหมดได้แก่ขาดงบประมาณ ขาดอาคารสถานที่ ขาดบุคลากร
5.2กระบวนการทำงานขาดประสิทธิผล ประสิทธิภาพ ขาดความปลอดภัย ไม่มีความเป็นธรรม ไม่มีความเหมาะสม ไม่มีความพึงพอใจในผลการรักษา  มีการฟ้องร้องมากขึ้น
5.3 สถานะสุขภาพของประชาชนไม่ดีขึ้น การบริการมีไม่ทั่วถึง ไม่มีการป้องกันโรคที่เหมาะสม และไม่สุจริต ไม่โปร่งใสและไม่ตรงไปตรงมา
จึงถือว่าระบบ 30 บาทเป็นภัยต่อการแพทย์และคุณภาพมาตรฐานการสาธารณสุขที่ต้องการการแก้ไขด่วน

6.ภัยต่อระบบการใช้ยา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์    ตามที่กล่าวแล้วว่า เมื่อสปสช.บริหารงบกองทุนจนทำให้มีเงินไม่เพียงพอต่อการทำงานบริการสาธารณสุข สปสช.ก็ “จำกัดรายการยาและกำหนดวิธีการรักษา” ให้เป็นแบบเดียวกันหมด เหมือนตัดเสื้อโหลแจกทุกคน แต่การรักษาโรคและการเจ็บป่วยไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะถึงแม้จะป่วยด้วยโรคเดียวกัน แต่ยังมีความแตกต่างในอาการและความรุนแรงของโรคหรือโรคแทรกซ้อนไม่เหมือนกัน

   ซึ่งการกำหนดกฎเกณฑ์ของสปสช.ทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วย เช่นรักษาไม่หาย ดื้อยา หรือตายโดยไม่สมควรตาย เช่นในกรณีกำหนดให้รักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเริ่มต้นด้วยการล้างไตทางหน้าท้อง (CAPD-first) ที่ทำให้อัตราตายของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาเช่นนี้สูงมาก เป็นต้น

  แต่สปสช.ยังไม่หยุดแค่นั้น สปสช.ได้ประสานงานกับสวรส.และสพคส. เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เสนอครม.ให้ตั้งคณะกรรมการมาเพื่อกำหนดขอบเขตในการใช้ยา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ เพื่อ “ประหยัดงบประมาณ” และมีการตรวจสอบการใช้ยาของบุคลากรในโรงพยาบาลระดับสูงอย่างเข้มข้น พร้อมทั้งการออกระเบียบห้ามแพทย์ใช้ยานอกบัญชียาหลัก ถ้าจะใช้ก็ต้องขออนุญาตกรมบัญชีกลางก่อน  (ถ้าผู้ป่วยเป็นอันตรายระหว่างรอการอนุมัติยาจากกรมบัญชีกลาง กรมบัญชีกลางจะรับผิดชอบหรือไม่?) นับเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาดที่สุดในโลกที่ให้เจ้าหน้าที่การเงินมา “กำกับการรักษาโรคของแพทย์”

 การบังคับแพทย์ให้ใช้ยาเฉพาะยาเก่าๆ จึงทำให้แพทย์ขาดประสบการณ์ในการใช้ยาใหม่ๆ จะส่งผลไปถึงการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ให้ถอยหลังไปอีก20 ปี ทำให้ระบบการแพทย์ไทยในภาคราชการถอยหลังเข้าคลอง และตามไม่ทันระบบเอกชนในประเทศไทยเอง (มิพักต้องไปเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ)

7.ภัยต่อระบบธรรมาภิบาลในการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยไม่ยึดหลักนิติธรรม (ผิดพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ไม่ยึดหลักคุณธรรม (บังคับให้ผู้ป่วยได้รับยาหรือวิธีการรักษาตามกฎเกณฑ์ของสปสช. โดยไม่ยึดหลักวิชาการและมาตรฐานการรักษา) ไม่ยึดหลักความโปร่งใส (ไม่บอกประชาชนอย่างตรงไปตรงมาว่าให้เงินรักษาโรคอะไรบ้าง มีข้อจำกัดอะไรบ้าง) ไม่ยึดหลักความรับผิดชอบ ( ไม่เคยออกมารับผิดชอบว่า สปสช.เป็นผู้กำหนดการรักษาที่ทำให้ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายมีอัตราตายเฉลี่ยสูงถึง 40% และลบข้อมูลออกจาก website ของสปสช.) ไม่ยึดหลักความถูกต้อง (ไม่ยอมให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสั่งยารักษาตามข้อบ่งชี้ ไม่ตรวจสอบและลงโทษการกระทำที่ผิดกฎหมายของเลขาธิการสปสช.)
นับได้ว่าระบบ 30 บาทเป็นภัยต่อระบบธรรมาภิบาลในการบริหารกิจการสาธารณะด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนอย่างแท้จริง

8. ภัยต่อความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน และบุคลากรสาธารณสุข หลังระบบ 30 บาท มีคำกล่าวว่าบุคลากรสาธารณสุขมีความขัดแย้งกับประชาชนมากขึ้น เนื่องจากประชาชนคาดหวังที่จะได้รับการรักษาอย่าง “ดีที่สุด” แต่ต้องรอนาน มีเวลาพบแพทย์น้อย ถูกส่งตัวไปรักษาหลายแห่ง หรือได้รับความเสียหาย พิการ ตาย รักษาไม่หายฯลฯ เมื่อไปร้องเรียนสภาวิชาชีพหรือกระทรวงสาธารณสุขก็ได้รับคำอธิบายว่า “เป็นเหตุสุดวิสัย” และได้รับเงินชดเชยไม่เท่าที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เกิดความเสียใจและโกรธแค้นต่อบุคลากรสาธารณสุข มีการฟ้องร้อง กล่าวหา กล่าวโทษ และประณามบุคลากรสาธารณสุขทางสื่อมวลชนและสังคมออนไลน์อย่างแพร่หลายกว่าเดิม จนมีการรวมตัวกันเสนอกฎหมายหลายฉบับเพื่อหาทางได้รับเงินชดเชยและกล่าวโทษบุคลากรสาธารณสุข ระบบ 30 บาททำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และประชาชนไทยที่เคยมีความห่วงใยเอื้ออาทรประดุจญาติมิตร กลับกลายเป็น “การเรียกร้องสิทธิของประชาชน” และ “การต้องทำตามหน้าที่ของแพทย์” เพื่อให้ประชาชนพึงพอใจ และไม่มากล่าวหากล่าวโทษแพทย์ทีหลัง กลายเป็นความสัมพันธ์ที่ห่างเหินและไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันมากขึ้น

9.ภัยต่อรัฐบาลที่ไม่สามารถบริหารงานในกระทรวงสาธารณสุขได้ตามที่ได้แถลงนโยบายไว้  เนื่องจากการที่องค์กรเหล่านี้ คือ สวรส. (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) สสส. (กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) สช.(สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ) และสปสช.  เป็นองค์กรอิสระจากการบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.สวรส. สสส. สช.และสปสช. ซึ่งกำหนดไว้ว่า องค์กรเหล่านี้เป็นอิสระจากการควบคุมบังคับบัญชาของฝ่ายการเมือง และไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายราชการประจำอีกด้วย ฝ่ายการเมืองที่บริหารประเทศก็ไม่สามารถควบคุมการทำงานขององค์กรเหล่านี้ได้ เพราะพ.ร.บ.เหล่านี้กำหนดไว้ว่าองค์กรเหล่านี้อยู่ภายใต้ “การกำกับของรัฐมนตรี” เท่านั้น รัฐมนตรีมีเพียง 1 เสียงในคณะกรรมการ  ทำให้รัฐมนตรีต้องยอมทำตามมติของคณะกรรมการบอร์ดในองค์กรนั้นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย

โดยที่คณะกรรมการบอร์ดในองค์กรต่างๆเหล่านี้ ในส่วนที่มาเป็นกรรมการตามตำแหน่งก็อาจจะไม่เข้าใจ “เนื้องานขององค์กรมากนัก” และไม่มีเวลาให้ความสนใจอย่างถี่ถ้วน มีการมอบหมายให้คนอื่นมาประชุมผลัดเปลี่ยนกันไป จนไม่มี “ความเห็นใดๆ” เกี่ยวกับเนื้อหาการประชุมวางแผนงาน จึงทำให้กรรมการที่มาจากการคัดเลือกหรือสรรหา (ซึ่งล้วนมีที่มาจากสมาชิกชมรมแพทย์ชนบท และผู้ใกล้ชิด) สามารถ “กุมบังเหียน”หรือ “กุมอำนาจในการกำหนดทิศทาง”ในการบริหารกองทุนได้ตามแนวนโยบายของกลุ่ม โดยไม่สนใจทำตามกฎหมาย

  โดยเฉพาะคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ได้ทำผิดพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหลายประเด็นดังรายละเอียดที่ได้บรรยายมาแล้ว ที่รัฐมนตรีผู้มีหน้าที่ “กำกับดูแล” ก็ไม่เข้าใจในวัฒนธรรมองค์กรนี้ ที่ใช้ “อำนาจในการถือเงิน”เป็นใหญ่ ที่จะ “สั่งการให้โรงพยาบาลต้องทำตามเพื่อจะได้รับเงินมาทำงานบริการสาธารณสุขเพื่อประชาชน “

  รัฐมนตรีวิทยา บุรณศิริ ก็ยังยอมเลือกเลขาธิการคนเก่า (ที่ยังมีปัญหาการบริหารกองทุนตามทีสตง.ชี้มูล)ให้กลับมาทำหน้าที่เดิมอีก (คงคิดว่าจะได้เป็นพวกเดียวกัน จะได้บริหารงานง่ายขึ้น) แต่รัฐมนตรีก็กลายเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเสียเอง
ทั้งนี้ระบบ 30 บาทจึงทำให้รัฐบาลมีความยากลำบากในการทำตามนโยบายที่ประกาศไว้แล้ว

   นอกจากนั้น องค์กรทั้งหลายที่กล่าวมาแล้ว ได้แก่ สวรส. สสส. สช.และสปสช.ก็ยังมีแหล่งเงินทุนจาก เงินงบประมาณแผ่นดิน มาใช้ในการดำเนินงานตามแนวทางและเป้าหมายของกลุ่มมาโดยตลอดเวลา โดยปราศจากการตรวจพบความผิดปกติเหล่านี้ แม้จะมีบางองค์กรได้ตรวจพบความผิดปกติ รัฐมนตรีที่มีหน้าที่ “กำกับดูแล” ก็ยังไม่มีการดำเนินการแก้ไขและลงโทษ

  และกลุ่มบุคคลในองค์กรเหล่านี้ ก็ยังสามารถเสนอรัฐบาลทุกรัฐบาลที่เข้ามามีอำนาจบริหารประเทศ ให้ดำเนินการตามแนวทางของตน
 เช่นในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี สวรส.ก็เสนอครม.ให้แต่งตั้งสำนักงานตรวจสอบระบบการรักษาพยาบาล(สพตร.) ไปตรวจสอบการสั่งใช้ยาในระบบสวัสดิการข้าราชการ และพบว่าแพทย์ในรพ.ระดับสูงสั่งใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติถึง 66 % และชี้ประเด็นว่าแพทย์มีผลประโยชน์กับบริษัทยา จนถึงกับส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษไปตรวจสอบ และเรียกเงินจากรพ.ให้คืนกรมบัญชีกลาง ซึ่งรพ.ส่วนมากได้ยืนยันว่าแพทย์สั่งใช้ยาถูกต้องเหมาะสมแล้ว

ในรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรี ชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนั้นนพ.ประเวศ วะสีผู้อาวุโสของกลุ่ม ก็เสนอตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ โดยสำนักงานสุขภาพแห่งชาติได้เสนองบประมาณทั้งสิ้นมา 1,187,470,000 บาท(1)  ซึ่งเป็นเงินจากงบประมาณแผ่นดินจากภาษีของประชาชน ที่ใช้หมดไปกับการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปและสมัชชาปฏิรูปประเทศ โดยไม่มีการตรวจสอบว่าเหมาะสม คุ้มค่าหรือไม่ และคณะกรรมการทั้งสองคณะนี้ ก็ไม่สามารถทำให้รัฐบาล ดำเนินการให้มีการ “ปฏิรูปประเทศได้เป็นรูปธรรม” คุ้มค่ากับเงินงบประมาณที่เสียไป เห็นมีแต่รายจ่ายเพื่อการประชุมและค่าตอบแทนแก่กรรมการและประชาชนรวมทั้งกลุ่มเอ็นจีโอที่เข้าร่วมประชุม (1) และผลสรุปจากการประชุมก็คือสิ่งที่คนทั่วๆไปรับทราบอยู่แล้ว และไม่มีการนำไปปฏิบัติให้เกิด “การปฏิรูปประเทศ” ตามแนวทางนั้นๆแต่อย่างใด

 ในรัฐบาลนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะอีกเหมือนกันที่สวรส.ได้เสนอให้มีการแต่งตั้ง สำนักงานพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสาธารณสุข (สพคส.) เป็นหน่วยงานในสวรส. โดยกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีเป้าหมายที่จะ  “รวมกองทุนสุขภาพ ทั้ง 3 กองทุนเข้าไว้ด้วยกัน” ให้สำเร็จ ตามเป้าหมายที่กลุ่มชมรมแพทย์ชนบทได้เขียนไว้ตั้งแต่มีการร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่กำหนดไว้ในมาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 และ12

  โดยในช่วงที่มีการตั้งสพคส.นั้น กลุ่มชมรมแพทย์ชนบท ได้ส่งคน “หลากหลายสังกัด” ทั้งในแวดวงเอ็นจีโอ และแวดวงสาธารณสุข ให้ออกมาอ้างประเด็น “ความเหลื่อมล้ำของ ประชาชนใน 3 กองทุน” เป็นอย่างมาก มีการโจมตีว่าสวัสดิการข้าราชการใช้งบประมาณค่ายาฟุ่มเฟือย ให้สพตร.ไปตรวจสอบ และยื่นให้ DSI นำผลการตรวจสอบของสพตร.ไปขยายผลในการสอบสวนต่อ และมีการเรียกเงินคืนจากโรงพยาบาลต่างๆ (แต่ได้ทราบว่าทางโรงพยาบาลหลายแห่งได้ยืนยันความถูกต้องทางหลักวิชาการแพทย์ ในการสั่งยานั้นๆ
การกระทำของสพตร.นี้ มีเป้าหมายเพื่อจะหา“ผู้ทุจริตและได้รับผลประโยชน์จากบริษัทยา” เพื่อให้สังคมคล้อยตามว่า “ควรจะต้องควบคุมแพทย์ไม่ให้ใช้ยาใหม่ๆ” เนื่องจากแพทย์มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทยา และเป็นการใช้ยาอย่างฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น แต่เป้าหมายที่แท้จริงของชมรมแพทย์ชนบทในการทำให้สังคมคล้อยตามการ “กล่าวหาแพทย์”ก็คือ เพื่อโจมตีการใช้เงินของระบบสวัสดิการข้าราชการเพื่อจุดหมายปลายทางสุดท้ายคือการ “รวบอำนาจการบริหารกองทุนสุขภาพทั้งหมดมาไว้ในมือของสปสช.” ตามเหตุผลที่อ้างต่อสังคมคือเพื่อให้เกิด ความประหยัด ไม่ทุจริต ไม่มีเอี่ยวผลประโยชน์กับบริษัทยา

 แต่ชีวิตและสุขภาพประชาชนจะยึดหลักประหยัดอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพและความเห็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคเลยหรือ?
เป็นการที่กลุ่มคนเหล่านี้กล่าวอ้าง และผู้เขียนก็มีความเห็นอาจจะมีการทุจริตปนอยู่บ้างเป็นบางส่วน ที่ควรจะต้องมีการตรวจสอบ แต่ไม่ใช่การควบคุมแบบที่ให้นักบัญชี ไป “บังคับบัญชา” การรักษาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ดังที่กรมบัญชีกลางและคณะกรรมการบริหารระบบยากำลังทำอยู่

  แต่ในส่วนที่สปสช.ได้รับการชี้ประเด็นความผิดจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในกรณ๊รับเงินผลประโยชน์ในการซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมโดยมิชอบนั้น ก็ยังไม่เห็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการลงโทษแต่อย่างใด

 กลุ่มคนจากชมรมแพทย์ชนบท(และส่วนหนึ่งเป็นกรรมการในองค์กรต่างๆดังกล่าว มีความพยายามที่จะรวมกองทุนสุขภาพมาตลอด และไม่มีการล้มเลิก ทั้งนี้เพื่อจะได้ “กุมอำนาจการบริหารกองทุน 2 แสนล้านบาท” และคุมบังเหียนการบริหารจัดการในด้านการสาธารณสุขของประเทศอย่างครบวงจร ตั้งแต่การกำหนดนโยบาย(โดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ) การควบคุมการใช้งบประมาณในการบริการสาธารณสุขโดยสปสช. และการขยายการบริการไปสู่องค์การบริหารท้องถิ่น และการเคลื่อนไหวทางสังคมผ่านการใช้งบประมาณของสสส.

 ความพยายามรวมกองทุนและการบริหารมาไว้ในมือของกลุ่มสถาบันเหล่านี้ ก้าวหน้าไปตลอดเวลา และขณะนี้สามารถทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไปเสนอคณะรัฐมนตรี ให้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบยา (2)โดยอ้างว่า เพื่อบูรณาการด้านสิทธิการรักษาพยาบาลใน 3 กองทุนให้เหมือนกัน

  แต่จะเห็นว่า คณะกรรมการส่วนใหญ่ในกรรมการและอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบยานี้ไม่ได้มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้งในวิทยาการแพทย์   ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วยที่เป็นจริงอยู่ในปัจจุบัน แต่อาจจะเป็นผู้เชี่ยวชาญจากสมัยก่อนที่ไม่ได้รักษาผู้ป่วยแล้วในปัจจุบัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้จะตามไม่ทันยานวัตกรรมใหม่ๆที่ใช้รักษาโรคที่ยุ่งยากซับซ้อน ที่มียาที่มีคุณภาพและประสิทธิผลในการรักษาโรคที่ร้ายแรงเช่นมะเร็ง และอื่นๆได้ดีขึ้น ทำให้โรคที่ไม่เคยรักษาหายให้หายได้ เป็นต้น

  จะเห็นได้ว่า คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติได้พยายามที่จะ กำหนดรายการยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อจะให้แพทย์สั่ง “เฉพาะยาในบัญชียาหลัก” สำหรับใช้ในการรักษาผู้ป่วยใน 3 กองทุนเหมือนๆกัน
 แต่ปัญหาก็คือ เมื่อมียาใหม่ๆที่มีประสิทธิผลดีกว่า แพทย์ไม่อาจใช้ยาเหล่านั้นในการรักษาผู้ป่วยใน 3 กองทุนนี้ได้ มีแต่ผู้ป่วยที่จ่ายเงินเอง หรือผู้ป่วยที่มีประกันเอกชน และผู้ป่วยที่ได้รับสิทธิในสวัสดิการของนักการเมืองเท่านั้น  ที่จะมีสิทธิ์ได้รับยานวัตกรรมใหม่ๆเหล่านี้ ทำให้ประชาชนที่มีสิทธิในการรับบริการสาธารณสุขใน 3 กองทุน มีความไม่เสมอภาคในการที่จะได้รับการรักษาที่ดีที่สุด เหมือนผู้ป่วยที่จ่ายเงินเอง ผู้ป่วยที่ซื้อประกันสุขภาพเอง และบรรดานักการเมืองที่มีสิทธิได้รับการรักษาจากเงินงบประมาณแผ่นดินเหนือกว่าประชาชน
 การออกระเบียบหรือกฎเกณฑ์บังคับเช่นนี้จึงทำให้การบริการสาธารณสุขในการดูแลสุขภาพ (Healthcare) ในกองทุนประกันสุขภาพทั้ง 3 กองทุนมีผลเสียคือ

1.ไม่มีการพัฒนาการรักษาให้ก้าวทันวิทยาการใหม่ๆในโลกที่มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
2.เป็นการละเมิดสิทธิ์ผู้ป่วยที่จะได้รับการรักษาที่ดีที่สุด
3.เป็นการละเมิดสิทธิของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ที่ถูกจำกัดสิทธิในการตัดสินใจในการรักษาผู้ป่วย โดยใช้ “จำนวนเงิน” เป็นตัวกำหนดขอบเขตการรักษา โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “คุณภาพของการรักษา”เพื่อให้ผู้ป่วยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตดีขึ้น
หลักการแก้ปัญหามหันตภัย 30 บาท ตามรอยบาทพระพุทธองค์
เมื่อมาทบทวนปัญหาของระบบ 30 บาทที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อมาเป็นลูกโซ่แล้ว ก่อนที่จะเสนอแนวทางการแก้ปัญหา ก็คงจะต้องมาดู “สาเหตุแห่งปัญหา” ก่อน เพื่อจะได้แก้ปัญหาได้

เปรียบเหมือนการแก้ปัญหา “ความทุกข์” ตามหลัก “อริยสัจสี่” ดังนี้คือ
1 ปัญหา คือ “ทุกข์”
2. ต้นเหตุแห่งปัญหา คือ “สมุทัย”
3.การหมดสิ้นแห่งปัญหา คือ “นิโรธ”
4.วิธีการแก้ปัญหาคือ “มรรค”

 ฉะนั้นโดยสรุปในเรื่องการแก้ไข มหันตภัยเกี่ยวกับระบบ 30 บาทก็ขอสรุปดังนี้คือ
1.ปัญหาของระบบ 30บาทก็คือมหันตภัยต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังที่ได้ยกตัวอย่างไว้แล้ว

2.ต้นเหตุแห่งปัญหา คือพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการบริหารงานของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งพ.ร.บ.สวรส. สสส. สช.

3.การหมดสิ้นแห่งปัญหาคือการ “หยุดยั้งมหันตภัยของระบบ 30 บาท ในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และป้องกันไม่ให้เกิดมหันตภัยขึ้นอีก โดยแก้ไขในแต่ละเรื่องดังนี้คือ
3.1 ทำให้ประชาชนที่ไปรับบริการสาธารณสุขมีความสะดวก ปลอดภัย และมีสุขภาพดี
3.2 ทำให้บุคลากรสาธารณสุขมีการทำงานที่เหมาะสม มีคุณภาพชีวิตที่ดี
3.3 กระทรวงสาธารณสุขได้รับงบประมาณที่เหมาะสมในการจัดบริการสาธารณะที่มีคุณภาพมาตรฐาน มีจำนวนบุคลากรที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับภาระงาน มีการพัฒนาอาคารสถานที่ วัสดุ อุปกรณ์ เทคโนโลยีและเวชภัณฑ์ ที่ทันสมัย มีมาตรฐาน
3.4 การประกันสุขภาพมีความเหมาะสมและเป็นธรรม สามารถสนับสนุนให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐาน ประชาชนมีส่วนร่วมในการประกันสุขภาพ
3.5 มีการสนับสนุน ส่งเสริม และควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
3.6 มีการส่งเสริมการใช้ยาให้เหมาะสมแก่ผู้ป่วยตามข้อบ่งชี้การใช้ยาทางการแพทย์ โดยคำนึงถึงประสิทธิผลของยา และประสิทธิภาพ ในการบริการสาธารณสุข
3.7 ควบคุมการบริหารงานของกองทุนประกันสุขภาพให้ถูกต้อง โดยยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
3.8 การส่งเสริมความเข้าใจแก่ประชาชนในการบริการทางการแพทย์ ให้แพทย์มีเวลาอธิบายและทำความเข้าใจกับผู้ป่วยและญาติ
3.9 การส่งเสริมให้ผู้บริหารในระดับชาติมีความเข้าใจปัญหาโดยได้รับข้อมูลที่ตรงไปตรงมา ถูกต้องกับความเป็นจริง ไม่มีการบิดเบือนข้อมูลไปจากความเป็นจริงและสามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงไปตรงมา และแก้ปัญหาได้เหมาะสม


story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
4.วิธีการแก้ปัญหา  โดยกำหนดระยะเวลาในการแก้ปัญหาเป็น 3 ระยะคือ ระยะสั้น ทำได้ทันที ระยะกลาง ใช้เวลา 6- 12 เดือน และระยะยาวเป็นการแก้ปัญหาที่ต้องดำเนินการให้เป็นผลสำเร็จในระยะเวลามากกว่า 1ปี
การแก้ปัญหาในระยะสั้น เป็นการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนทันเวลา ได้แก่ การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา
เนื่องจากต้นเหตุแห่งปัญหาในระบบ 30 บาท ก็คือพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่บริหารกองทุนผิดพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพหลายมาตรา จนทำให้เกิดมหันตภัยต่างๆดังกล่าวแล้ว การจะยุติปัญหาก็ต้องแก้ไขการบริหารกองทุนของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยทันทีดังนี้

1.คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องพูดความจริงกับประชาชนว่า 30 บาทให้การรักษาแค่ไหน โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสปสช.  ควรทำความเข้าใจที่ถูกต้องกับสังคมและประชาชนคือ ควรเริ่มการพูดความจริงแก่ประชาชนว่างบประมาณในการจ่ายค่าบริการสาธารณสุขไม่เพียงพอที่จะให้ประชาชนได้รับ “การรักษาทุกโรค” ได้ จะสามารถทำได้โดยต้อง “เพิ่มเงินเข้าสู่ระบบให้มากขึ้น” ซึ่งจะใช้เงินจากงบประมาณแผ่นดิน หรือประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในการ “รักษาสุขภาพของตนเองและครอบครัว” ก็คงต้องร่วมกันตัดสินใจบนฐานข้อมูลที่แท้จริง
ทั้งนี้เนื่องจากงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรมาเป็นค่าเหมาจ่ายรายหัวนั้น มีไม่เพียงพอที่จะให้การรักษาประชาชนทุกคนอย่างมีคุณภาพมาตรฐานได้ จึงควรให้การรักษาเฉพาะ “ผู้ยากไร้” ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 51ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เท่านั้น(3) ที่จะได้รับการรักษาฟรี ประชาชนที่มีรายได้เหนือระดับ “ความยากจน” ควรจะต้อง “มีส่วนร่วมจ่าย”ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อให้โรงพยาบาลมีงบประมาณในการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ ที่เหมาะสมในการรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานการแพทย์ที่ดี

1.2  คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องปรับเปลี่ยนการส่งงบประมาณรายหัวให้แก่โรงพยาบาลหรือสถานบริการอย่างรวดเร็วทันเวลาและถูกต้องเต็มจำนวน โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องเร่งรีบพัฒนาระบบการส่งงบประมาณจากสปสช.ให้แก่สถานพยาบาลให้ตรงไปตรงมา สุจริต โปร่งใสและทันเวลา ให้มีการจ่ายเงินตามงบประมาณรายหัวให้แก่โรงพยาบาลโดยไม่ต้องไปแบ่งแยกงบประมาณเป็นหลายส่วน เหมือนที่เป็นในปัจจุบันนี้ เนื่องจากไม่ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 และมีผลทำให้โรงพยาบาลได้รับเงินไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในการให้บริการประชาชน ทั้งนี้เพื่อแก้ให้โรงพยาบาลมีงบประมาณในการจัดหายา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ เพื่อใช้ในการบริการสาธารณสุขแก่ประชาชนอย่างมีมาตรฐาน สามารถป้องกันความเสียหาย ช่วยให้ประชาชนมีความปลอดภัย และมีสุขภาพดี

1.3คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องยุติโครงการที่คิดขึ้นเอง ให้ทำงานเฉพาะตามที่เป็นหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น โดยยุติโครงการที่สปสช.วางแผนเอง (Vertical Program) เนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดไปจากพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเป็นสาเหตุให้มีการให้งบประมาณแก่สถานพยาบาลเอกชนในการทำงานเฉพาะกิจ และทำให้รพ.ที่รักษาผู้ป่วยทั่วไปประสบปัญหาเงินไม่พอใช้ในการรักษาผู้ป่วยจนถึงขาดสภาพคล่องทางการเงิน

1.4 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องจัดให้มีการประชุมรับฟังความเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการโดยด่วน ตามที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 มาตรา 18(13) เพื่อให้สปสช.รับรู้ถึงปัญหาความขาดแคลนที่โรงพยาบาลส่วนมากเผชิญอยู่ ทั้งนี้เพื่อกำหนดค่าใช้จ่ายในการให้บริการสาธารณสุขแก่หน่วยบริการอย่างเหมาะสมเพียงพอต่อการบริการสาธารณสุขแก่ประชาชน และให้สปสช.ได้ทำความเข้าใจกับประชาชนที่มารับบริการให้รู้ถึงสภาพที่แท้จริงของงบประมาณที่ใช้ในการรักษา

1.5 ต้องมีการกำหนดขอบเขตการบริการสาธารณสุขว่าระบบ 30 บาทจะให้บริการแค่ไหน อย่างไรแก่ประชาชน ไม่ใช่บอกว่ารักษาทุกโรคแต่ให้งบประมาณไม่พอที่จะรักษาทุกโรคจริง คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องกำหนดว่างบประมาณที่มีอยู่นี้ สามารถครอบคลุมการรักษาได้แค่ไหน อย่างไร และบอกให้ประชาชนได้ทราบขอบเขตของการรักษาตามความเป็นจริง ในกรณีที่ต้องใช้ยาที่มีประสิทธิผลที่สูงกว่านี้ ประชาชนที่ยากจน จะต้องได้รับยาที่เหมาะสม โดยมีกองทุนพิเศษช่วยจ่ายค่ายาเพิ่มขึ้น ในขณะที่ประชาชนที่ไม่ยากไร้ต้องร่วมจ่ายค่ายาตามสัดส่วนที่พอทำได้ ต้องให้ประชาชนร่วมรับรู้ว่า “ของถูกๆ ฟรีๆ ดีๆ” นั้นไม่มีในโลกนี้ กล่าวคือจะต้องมีผู้รับผิดชอบในการจ่ายเงินเสมอ

1.6 กำหนดให้ประชาชน “มีส่วนร่วม” ในการรับผิดชอบดูแลสุขภาพตนเอง ด้วยการกำหนดจำนวนการมาโรงพยาบาล มีระบบนัดหมายตามความเหมาะสม และส่งเสริมให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ส่งเสริมการมีสุขภาพดี (Health Promoting Behavior) เพื่อลดจำนวนการเจ็บป่วยและการไปใช้บริการสาธารณสุข

  แต่ถ้าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพไม่ยอมทำตามการแก้ไขที่เสนอนไปนี้ คณะรัฐมนตรีสามารถแก้ไขการบริหารงานของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ทันที ตามมติครม.เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2547 ข้อ 12 (4)
 สำหรับหน่วยงานอื่นๆนอกเหนือจากสปสช.คงยังไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาในระยะสั้นๆได้ทันที คงต้องวางแผนแก้ปัญหาในระยะกลางและระยะยาวต่อไป

การแก้ปัญหาในระยะกลาง (ภายในเวลา 6-12 เดือน)

1.การแก้ปัญหาเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขควรดำเนินการผ่านคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนี้คือ

1.1 การจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น จากประชาชน และผู้ให้บริการ การแก้ปัญหาในระยะกลางนั้น ควรจะมีการจัดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 18 (13) ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เคยทำเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขที่หน่วยบริการจะได้รับจากกองทุนตามมาตรา 46 นั้นได้กำหนดไว้ว่าต้องผ่านความคิดเห็นตามมาตรา 18(13) แต่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เคยปฏิบัติมาก่อนเลย ซึ่งทำให้เกิดปัญหาหน่วยบริการไม่ได้รับเงินเพียงพอต่อการจัดบริการเพื่อประชาชน และต้องอาศัยราคาที่กำหนดตามบทบัญญัติในมาตรา46 วรรค 2แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545อีกด้วย

1.2.การจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นเพื่อช่วยกัน “ออกแบบ” ระบบการประกันสุขภาพ และการรับบริการสาธารณสุข ควรเปิดการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน บุคลากรสาธารณสุข พรรคการเมือง นักเศรษฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญการเงินการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ตามความจริงที่เป็นอยู่ ไม่ใช่รับฟังจากกลุ่มบุคคลในสวรส.(และองค์กรลูก)  สสส. สช. และสปสช.ทั้งนี้เพื่อร่วมกัน “ออกแบบ” ระบบการบริการสาธารณสุข (Healthcare Reform) ให้เหมาะสมมีคุณภาพมาตรฐาน ทันสมัย เพื่อพัฒนาคุณภาพการบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

2.การแก้ปัญหาของกระทรวงสาธารณสุขอาจไม่สามารถแก้ปัญหาในระยะสั้นๆได้ทันที ทั้งนี้ก็เนื่องจากปัญหาของกระทรวงสาธารณสุขนั้นมักหมมมานานและพอกพูนขึ้นอีกตลอดเวลา  ไม่ว่าจะเป็นการบริหารงบประมาณ บุคลากร และการพัฒนาอาคารสถานที่ อุปกรณ์ เทคโนโลยีและระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งผู้เขียนได้เคยเสนอการแก้ไขในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขไว้ดังนี้ (5)

2.1จัดสรรงบประมาณให้กระทรวงสาธารณสุขตามภารกิจที่รับผิดชอบ เริ่มจากการแยกงบประมาณเงินเดือน/ค่าตอบแทน  และงบประมาณในการก่อสร้างและพัฒนาอาคารสถานที่ แยกต่างหากจากงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว และควรควบคุมสปสช.ให้จ่ายเงินให้แก่โรงพยาบาลตามที่ได้รับมาจริง โดยกำหนดงบประมาณตามความจำเป็นของภาระงาน และเพียงพอต่อการพัฒนาคุณภาพของงาน ได้รับงบประมาณในการบริหารงานอย่างเหมาะสม รวมทั้งได้รับงบประมาณเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากร ตามความเหมาะสมเพียงพอ ทั้งนี้ เพื่อจะได้สามารถพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขได้อย่างต่อเนื่อง   สามารถพัฒนาอาคารสถานที่ รวมทั้งจัดให้มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ และเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับภาระงาน

2.2 การเพิ่มบุคลากรให้เหมาะสมกับภาระงาน ต้องกำหนดจำนวนบุคลากรให้สามารถทำงานได้ตามมาตรฐานวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรตามสายวิชาชีพ หรือฝ่ายสนับสนุนบริการ

2.3 กำหนดค่าตอบแทนและความก้าวหน้าในวิชาชีพ ตามระบบคุณธรรม ควรปรับปรุงอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรให้เหมาะสมกับภาระงาน ให้มีความมั่นคงและความก้าวหน้าในการทำงานตามสายงานวิชาชีพ ความเชี่ยวชาญ หรือสายงานเฉพาะ และจ่ายค่าตอบแทนการทำงานด้วยความเหมาะสม/เป็นธรรม  มีการเลื่อนระดับเข้าสู่ตำแหน่งงานที่สูงขึ้นตามระบบคุณธรรม

3.การแก้ปัญหาเกี่ยวกับผู้ปฏิบัติงานในการให้บริการสาธารณสุข (Healthcare Personnel)   

3.1 เพิ่มจำนวนผู้ปฏิบัติงานให้มีจำนวนเพียงพอกับภาระงาน เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานตามมาตรฐานวิชาชีพหรือสาขาอาชีพอย่างดีที่สุด มีเวลาที่จะอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติมีความเข้าใจและสามารถให้ความร่วมมือในการรักษาตัวได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ทั้งนี้เพื่อพัฒนาคุณภาพของงานบริการประชาชน ให้ประชาชนมีความสะดวกและปลอดภัย

3.2 ผู้ปฏิบัติงานควรได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับภาระงานและความรับผิดชอบ

3.3 ผู้ปฏิบัติงานควรมีเวลาทำงานและเวลาพักผ่อนที่เหมาะสม เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและคุณภาพชีวิตที่ดีของบุคลากรเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อพัฒนางานบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข ให้มีมาตรฐานเหมือนๆกับในภาคเอกชน

4.การแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับประชาชน

4.1 ประชาชนได้รับความรู้ความเข้าใจและมีความสามารถในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และสามารถรักษาพยาบาลขั้นต้นแก่ตนเองและครอบครัว เพื่อลดภาระการไปใช้บริการสาธารณสุขเท่าที่จำเป็น โดยต้องกำหนดให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มีบทบาทในการช่วยเหลือประชาชนให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคและการเจ็บป่วยได้ และสามารถทำการปฐมพยาบาลแก่ตนเองและสมาชิกในครอบครัวได้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดูแลรักษาสุขภาพ และไปใช้บริการสาธารณสุขเมื่อจำเป็น เพื่อให้บุลากรสาธารณสุขมีเวลาทำงานตามมาตรฐานในกรณีผู้ป่วยที่จำเป็นในการรักษา

4.2 ประชาชนให้ความร่วมมือในการรักษาสุขภาพดีขึ้น

3.การแก้ปัญหาระยะยาว เป็นการวางแผนการแก้ปัญหาที่ต้องใช้เวลาดำเนินการมากกว่า 1 ปีขึ้นไป ได้แก่

3.1 ปัญหาจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ควรพิจารณาแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และพ.ร.บ.ต่างๆที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สวรส. สสส.  สช. และสปสช.เพื่อให้รัฐบาลสามารถควบคุมและตรวจสอบการบริหารจัดการในการบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข และการประกันสุขภาพให้เหมาะสม มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับงบประมาณแผ่นดิน สามารถตรวจสอบการใช้เงินให้สุจริต โปร่งใส และเกิดประสิทธิภาพ โดยสามารถปกป้องคุ้มครองประชาชน ให้ได้รับการบริการดูแลรักษาสุขภาพที่มีมาตรฐาน มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี โดยบุคลากรได้รับความคุ้มครองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 81(2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และที่สำคัญที่สุดก็คือระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขไทยก็ยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สามารถก้าวทันต่อการพัฒนาทางการแพทย์และสาธารณสุขในประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลก     
ควรมีการกำหนดมาตรฐานการรักษาที่ครอบคลุมในระบบหลักประกัน ส่วนที่ไม่ครอบคลุมนั้นจะกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมจ่ายหรือไม่อย่างไรให้ชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อให้เงินงบประมาณในระบบมีเพียงพอต่อการให้บริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน

  และควรมีการประเมินผลการบริการสาธารณสุขให้ครอบคลุมทุกประเด็น ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการด้านสุขภาพที่มีมาตรฐาน  มีความปลอดภัย มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี

3.2 ปัญหาในส่วนกระทรวงสาธารณสุข ควรแยกการบริหารงานบุคคลของกระทรวงสาธารณสุขออกจากกพ. เพื่อจะได้กำหนดตำแหน่ง และความก้าวหน้าในวิชาชีพได้อย่างเหมาะสม ได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนตามภาระงานและความรับผิดชอบ เพื่อให้บุคลากรยังทำงานบริการประชาชน ไม่ลาออกไปจากราชการ เพื่อสามารถพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการบริการสาธารณสุขได้อย่างต่อเนื่อง
จะเห็นได้ว่า การบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข เป็นงานที่ต้องทำต่อเนื่องตลอดเวลา 24 ชั่วโมงในทุกๆวัน เป็นงานด่วนและฉุกเฉินไม่สามารถเก็บงานไว้ในลิ้นชักเพื่อทำทีหลังได้ และเป็นงานที่เสี่ยงอันตราย มีชีวิตและสุขภาพของผู้ป่วยเป็นเดิมพัน การจะจำกัดตำแหน่งของจำนวนบุคลากร(ตามที่ก.พ.ทำอยู่) จึงทำให้มีปัญหาบุคลากรน้อย ทำให้ไม่สามารถทำงานตามมาตรฐานได้

 ข้อเสนอให้แก้ปัญหาการบริหารงานบุคคล จึงควรแยกออกจากก.พ.มาบริหารเองเป็น ก.สธ. (คณะกรรมการข้าราชการสาธารณสุข)เพื่อให้สามารถกำหนดตำแหน่งบุคลากรได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้บริการสาธารณสุขมีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อความสะดวกและปลอดภัยของประชาชน

3.3 พัฒนาระบบการให้บริการเพื่อความสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เช่น ในโรงพยาบาลที่ให้การบริการสาธารณสุขแก่ประชาชน ควรมีการนัดเวลารับบริการ เพื่อให้ประชาชนไม่ต้องเสียเวลารอนานในการไปรับบริการ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีเวลาที่จะทำงานได้อย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก และปลอดภัย พัฒนาระบบการส่งผู้ป่วยต่อไปเพื่อรับการปรึกษาอย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และเหมาะสม

3.4 ในด้านประชาชน  ควรดำเนินการผลักดันนโยบาย “การสร้างสุขภาพ” มากกว่า “การซ่อมสุขภาพ” ให้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดความเจ็บป่วยของประชาชน
ควรกำหนดได้ว่าประชาชนที่มีรายได้เท่าไร นับว่าเป็นประชาชนที่ยากจน  และประชาชนที่ไม่ยากจนควรมีส่วนร่วมจ่ายเงินในการไปรับบริการจากโรงพยาบาล ทั้งนี้ เพื่อที่จะทำให้มีเงินในระบบมากขึ้น ประชาชนจะได้รับยาที่มีคุณภาพ ไม่ต้องให้แพทย์สั่งยาได้เพียงไม่กี่ชนิดที่เป็นยาเก่าๆล้าสมัยแล้วเท่านั้น  และประชาชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพ มีสุขภาพดีดโยลดการพึ่งพาโรงพยาบาลลงได้

  ข้อเสนอต่างๆเหล่านี้ สามารถทำได้จริง ถ้ารัฐบาลผู้รับผิดชอบในการบริหารประเทศ จะเปิดใจกว้าง รับฟังความเห็นที่แตกต่างจากเดิม เพื่อประโยชน์สุข สุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทุกคน



เอกสารอ้างอิง
1.บทความเรื่อง “ปาหี่ปฏิรูปประเทศ 1,000 ล้านบาท วารสารผู้จัดการสุดสัปดาห์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 60 วันที่ 27พ.ย. – 3 ธ.ค. 53
2. http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000116714
3.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
4.มติครม. 7 ก.ย. 47 ข้อ 12
http://www.eppo.go.th/admin/cab/cab-2547-09-07.html#12
5.http://www.thaitrl.org/index.php?option=com_content&task=view&id=1490&Itemid=56 ข้อเสนอในการแก้ปัญหาและปรับโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุขและสปสช.


พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)
24 กันยายน 2555