ผู้เขียน หัวข้อ: ร่างกม.คุ้มครองอยู่ในวาระสภาแล้ว(ไทยโพสท์-14กย2553)  (อ่าน 1772 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
บอร์ด สปสช.มีมติไม่รับขยาย ม.41 สปสข. แจงร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ เนื้อหาครอบคลุมกว่า ดูแลคนทั้งประเทศไม่ใช่เฉพาะผู้ถือบัตรทอง "จุรินทร์" เผยบรรจุเข้าอยู่ในวาระสภาแล้ว เครือข่ายผู้ป่วย เอ็นจีโอ ร้องถอดหมอเอื้อชาติออกจาก ปธ.คกก.ควบคุมคุณภาพ สปสช. เหตุผลประโยชน์ทับซ้อน ปกป้องผลประโยชน์ รพ.เอกชน
     ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 13 ก.ย.ผ่านมา ทางเครือข่ายผู้ป่วย ได้แก่ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง และเอ็นจีโอด้านสาธารณสุข นำโดยนายสุบิล นกสกุล ประธานชมรมเพื่อนโรคไต ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการ สปสช. เพื่อขอให้พิจารณาประเด็นจริยธรรมและผลประโยชน์ทับซ้อนของ นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ ประธานคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข เนื่องจากดำรงตำแหน่งทับซ้อน เป็นทั้งประธานคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ สปสช. แต่ยังดำรงตำแหน่งนายกสมาคม รพ.เอกชนด้วยที่มีความขัดแย้งกัน
     อีกทั้งที่ผ่านมา นพ.เอื้อชาติยังเป็นหนึ่งในกลุ่มแพทย์ที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านกฎหมายหลักประกันสุขภาพโดยตลอด รวมถึงกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการรักษาผลประโยชน์ของ รพ.เอกชน มากกว่าการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและผู้ป่วย รวมถึงกรณี นพ.เอื้อชาติทำหนังสือเพื่อเสนอขอให้มีการขยาย ม.41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นการผลักภาระของ รพ.เอกชนที่ไม่ต้องการรับผิดชอบค่าใช้จ่าย เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข กำหนดให้สถานพยาบาลมีส่วนร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วย
     ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ด สปสช. ว่า จากที่ นพ.เอื้อชาติ ประธานคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สปสช.ให้บอร์ด สปสช.แก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการแก้ไข ม.41 และ ม.49 เพื่อขยายการคุ้มครองกรณีผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ไปสู่ระบบประกันสังคมและระบบสวัสดิการข้าราชการ ที่ประชุมเห็นว่าไม่จำเป็นต้องแก้ไขตามที่เสนอเพราะว่าขณะนี้มีร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการด้านสาธารณสุขอยู่แล้ว และเข้าสู่ระหว่างการพิจารณาในรัฐสภา ซึ่งมีเนื้อหาที่กว้างขวางและครอบคลุมกว่าการขยาย ม.41
     "หากจะเสนอแก้ ม.41 เราเห็นว่าตอนนี้มีร่างกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายครอบคลุมมากกว่าอยู่แล้ว จึงไม่ควรแก้กฎหมายฉบับนี้ให้ซ้ำซ้อน อีกทั้งยังอาจล่าช้ากว่า เพราะการแก้ไขกฎหมายจะต้องนำเสนอเข้า ครม.ใหม่ และต้องส่งให้กฤษฎีกาตีความอีก แล้วจึงนำกลับเข้า ครม.เพื่อเสนอต่อสภา และขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ได้ถูกบรรจุวาระการพิจารณาแล้ว" รมว.สธ.กล่าว และว่า ส่วนกรณีที่ทางเครือข่ายผู้ป่วยและเอ็นจีโอได้ยื่นหนังสือให้ตรวจสอบจริยธรรม นพ.เอื้อชาติตามขั้นตอน ตนจะส่งเรื่องให้ สปสช.พิจารณาต่อไป
     ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า กรณีการตรวจสอบจริยธรรมและผลประโยชน์ทับซ้อนของ นพ.เอื้อชาติ นพ.ประทีปกล่าวว่า เรื่องนี้ทาง สปสช.รับเรื่องแล้ว จะส่งต่อให้ทางฝ่ายกฎหมายพิจารณาที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าควรจะไม่ควร และหากมีน้ำหนักเพียงพอจะส่งเรื่องให้ทางบอร์ด สปสช.พิจารณาต่อไป
     นอกจากการขยาย ม.41 แล้ว ทาง นพ.เอื้อชาติยังได้เสนอแก้ ม.59 ที่ระบุให้ รพ.ที่เรียกเก็บเงินจากคนไข้สิทธิบัตรทองต้องจ่ายเงินค่ารักษาคืนพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 โดยขอให้ปรับลดดอกเบี้ยจากร้อยละ 15 ให้เหลือเพียง 7.5 โดยคิดตามกฎหมายแพ่ง ม.224 ซึ่งบอร์ด สปสช.มีมติไม่เห็นด้วยเช่นกัน.