ผู้เขียน หัวข้อ: กรรมการแพทยสภาในต่างประเทศ มีคนนอกหรือไม่และทำหน้าที่อะไร?  (อ่าน 754 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
จากกรณี นางสาวสารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ให้ข้อมูลที่ตรงกันข้ามกันเกี่ยวกับ คนนอกของกรรมการแพทยสภาในต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความกระจ่างแก่ประชาชน ผู้เขียนจึงขอวิเคราะห์และรายงานให้ทราบดังนี้
       
       นางสาวสารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และคณะล่ารายชื่อเชิญชวนให้ประชาชนลงชื่อสนับสนุนให้มีการแก้กฎหมายแพทยสภา เพื่อแก้องค์ประกอบของคณะกรรมการแพทยสภา ให้มีบุคคลภายนอก นักวิชาการ องค์กรผู้บริโภคที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพ เพราะ ต้องการให้เกิดความโปร่งใส ยอมรับ และเป็นธรรม ในการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะ นางสาวสารี มองถึงปัญหาการฟ้องร้องที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล
       
       การเรียกร้องนี้ได้รับการต่อต้านจากแพทย์เป็นจำนวนมาก เพราะมองเห็นว่า หากมีการแก้กฎหมายตามข้อเรียกร้องนี้จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี โดยเฉพาะจะทำให้เกิดความเสียหายแก่วงการแพทย์และสุขภาพของประชาชนคนไทยทุกคน ด้วยเหตุผลหลักคือ แพทยสภาเป็นองค์กรวิชาชีพ มีหน้าที่หลักในการกำหนดมาตรฐานทางวิชาการของวิชาชีพแพทย์ แพทย์ทั้งหลายทราบดีว่าผู้ป่วยทุกรายจะมีความเสี่ยงจากการบริบาลทางแพทย์เสมอ หากหลีกเลี่ยงความเสี่ยงนี้ผลคือโอกาสพิการหรือเสียชีวิตจากโรคจะมีมากกว่า ความไม่เข้าใจเรื่องความเสี่ยงนี้เป็นสาเหตุหลักที่สังคมไทยในปัจจุบันสร้างกระแสจนเกิดความพยายามจะเข้ามาควบคุมแพทยสภาของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วยกฎหมาย ซึ่งหากเกิดขึ้นแพทย์ไทยกังวลว่า ความพิการและการตายจากโรคจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ (เพราะแพทย์จะต้องหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการบริบาลเป็นหลักแทนการรักษาให้หายจากโรค)
       
       เหตุผลหนึ่งที่แพทย์ใช้ในการคัดค้านการแก้กฎหมายนี้คือ กรรมการแพทยสภาในประเทศอื่นก็เป็นแพทย์ ในประเทศไทยหากมีหน้าที่อื่น ๆ ที่ต้องการ เช่น เรื่องกฎหมาย แพทยสภาก็จะมีคณะอนุกรรมการ หรือที่ปรึกษาที่เป็นบุคคลที่ไม่ใช่ กรรมการแพทยสภาได้ เช่น นักกฎหมาย เป็นต้น
       
       ในกรณีนี้ นางสาวสารีและคณะได้เขียนหนังสือชี้ชวน ว่า หลายประเทศมีบุคคลภายนอกแพทยสภา โดยเขียนว่า
       - ประเทศอังกฤษมีบุคคลภายนอกหรือ laymanมากถึง 50%
       - ออสเตรเลีย มีอาจารย์สาขาอื่นที่ไม่ใช่แพทย์จำนวน 4 คน จากกรรมการทั้งหมด 7 คน
       - สิงคโปร์ มีคนนอกเกือบ 50% จำนวน 9 คน จาก19 คน
       - อินโดนีเซีย มีตัวแทนองค์กรผู้บริโภคจำนวน 3 คนจาก 17 คน
       - ฮ่องกง จำนวน 4 คน จาก 28 คน
       - มาลาวี จำนวน 2-3 คน จาก14 คน
       - นิวซีแลนด์ จำนวน 3 คน จาก11 คน
       - แคนาดา จำนวน 3 คน จาก 48 คน
       - ไอซ์แลนด์ จำนวน 4 คน จาก 24 คนเป็นต้น
       
       เพื่อหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ มีคำให้สัมภาษณ์ของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา เผยแพร่ใน ไลน์และเฟซบุ๊ค สรุปได้ว่า ประเทศส่วนใหญ่ที่อาจารย์สมศักดิ์พูดคุยกับ กรรมการแพทยสภาในประเทศนั้น ๆ ในที่ประชุมวิชาการด้วย ประเทศนั้นๆ ไม่มีบุคคลภายนอก ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ประเทศในสหภาพยุโรปทั้งหมด (เพื่อนของผู้เขียนได้บอกว่าประเทศ ญี่ปุ่น ก็ไม่มีบุคคลภายนอกเช่นกัน) แต่ประเทศอังกฤษมีบุคคลภายนอกจริงถึง 6 ใน 12 คน แต่เป็นการแต่งตั้งทั้งหมด และ โดยส่วนใหญ่เป็น พวกขุนนางชั้นสูงหรือคนในลักษณะที่คนไทยเรียกว่าเป็นไฮโซที่ทำงานให้สังคมด้วย
       
       อาจารย์สมศักดิ์ยังให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า การที่ประเทศอังกฤษ มีโครงสร้างต่างจากประเทศอื่นเพราะอังกฤษมีแพทย์ที่มีชาติกำเนิดจากประเทศอื่นค่อนข้างมาก จากข้อมูลนี้ทำให้สรุปได้ว่าอังกฤษมีโครงสร้างแพทยสภาต่างจากผู้อื่นเพราะต้องการความมั่นคงเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของแพทยสภาทำได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเหตุผลนี้ตรงกันข้ามกับ เหตุผลของนางสาวสารีและคณะอย่างสิ้นเชิง
       
       การให้เหตุผลว่าประเทศอังกฤษมีบุคคลภายนอกถึง 50% มาเป็นข้อกล่าวอ้างในการแก้กฎหมายแล้วส่งผลลบถึงความมั่นคงของแพทยสภา จึงเป็นการนำข้อมูลมาใช้แบบไม่เป็นไปตามเหตุผลที่เป็นจริง กลับเป็นการใช้ข้อมูลเพื่อเหตุผลตรงกันข้ามกับความเป็นจริงอีกด้วย ผู้เขียนไม่แน่ใจว่านางสาวสารีและคณะจะรู้รายละเอียดก่อนการเขียนหรือไม่ แต่หากนี่เป็นงานวิจัยจะถือว่าเป็นการบิดเบือนข้อมูลที่ร้ายแรง
       
       อนึ่งพลอากาศตรี นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภาก็ได้อธิบายไว้ว่าบทบาทหน้าที่ของแพทยสภาอังกฤษและแพทยสภาของไทยก็ต่างกันอย่างสิ้นเชิง บทบาทหลักของแพทยสภาไทยคือการดูแลมาตรฐานในการผลิตแพทย์ การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านและแพทย์เฉพาะทาง และการฝึกอบรมแพทย์ด้านต่างๆ ซึ่งร่วมไปถึงราชวิทยาลัยต่างๆ ด้วย ส่วนอีกบทบาทรองคือการกำกับจริยธรรมในวิชาชีพ ในขณะที่แพทยสภาอังกฤษนั้นไม่ได้มีหน้าที่ได้ด้านของ residency training เป็นหลัก การนำมาเปรียบเทียบดังกล่าวของนางสาวสารีจึงทำโดยปราศจากความเข้าใจในบริบทของหน้าที่และสังคมวัฒนธรรมอย่างสิ้นเชิง และการนำบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นกรรมการแพทยสภาคงไม่ก่อเกิดประโยชน์อันใดกับการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านและแพทย์เฉพาะทางมากนัก เพราะขาดความรู้ความเข้าใจและใบประกอบวิชาชีพอันเป็นคุณสมบัติพื้นฐานประการแรก
       
       เนื่องจากประชาชนที่ติดตามข่าวกำลังมึนงงสงสัยว่าใครพูดจริงกันแน่ ผู้เขียนจึงได้ศึกษาลงไปในรายละเอียด บุคคลภายนอกตามรายการที่นางสาวสารีและคณะกล่าวอ้างได้ข้อสรุปตามตารางข้างล่างนี้


        จะเห็นได้ว่า นางสาวสารีและคณะให้ข้อมูลที่ถูกต้องในแง่ตัวเลข แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงจะพบว่า ไม่เพียงแต่ประเทศอังกฤษ บุคคลภายนอกส่วนใหญ่เท่าที่ผู้เขียนหาข้อมูลมาได้ ส่วนใหญ่ไม่มีคุณลักษณะเดียวกับบุคคลภายนอกที่นางสาวสารีและคณะต้องการเพื่อแก้ปัญหาในทิศทางที่นางสาวสารีต้องการเลย เช่น ไม่ได้มีตำแหน่ง NGO เป็นการเฉพาะหรือกรรมการมูลนิธิเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคแต่อย่างใด
       
       ในประเทศสิงคโปร์ข้อมูลนางสาวสารีผิดพลาดมากที่สุด ที่บอกว่า มีบุคคลภายนอกเกือบ 50% เพราะเมื่อดูในรายละเอียด เป็นที่มาที่ต่างกัน คือ แต่งตั้ง และ เลือกตั้ง แต่ทุกคนเป็น ดอกเตอร์ หรือมีตำแหน่งทางวิชาการในมหาวิทยาลัยระดับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ถึงศาสตราจารย์ ตามที่ อาจารย์สมศักดิ์พูดว่าทุกคนเป็นแพทย์ทั้งสิ้นและเอกสารที่สืบค้นดังแนบท้ายนี้ก็ยืนยันเช่นนั้น
       
       สำหรับประเทศอื่น ๆ บุคคลภายนอกหรือ Layman จะมีจำนวนน้อย และมีบทบาทต่างออกไป การมีจำนวนน้อยนี้แสดงถึงการที่แพทยสภาในประเทศนั้นๆ ต้องการขอคำปรึกษามากกว่าจะมีอำนาจในการตัดสินใจ ซึ่งบทบาทแบบนี้แพทยสภาของไทยก็มีคณะอนุกรรมการที่ไม่ใช่แพทย์เพื่อวัตถุประสงค์เหล่านั้น เช่นกัน Layman ในประเทศที่นางสาวสารีกล่าวอ้าง หลายท่านไม่ควรนับเป็นบุคคลภายนอกด้วยซ้ำ เช่น นิสิตแพทย์ ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการตรวจโรค เป็นต้น Layman ท่านอื่นๆ ส่วนใหญ่จะเป็นนักกฎหมาย ผู้เขียนเดาว่าน่าจะมีหน้าที่ตรงกันข้ามกับที่ทางมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคต้องการ บางท่านมักจะเป็น ตัวแทนสังคม เช่น ตัวแทนชนกลุ่มน้อย หรือ นักการเมือง ส่วนที่เหลือหลายท่านถึงแม้ผู้เขียนจะเขียนว่าเป็น community service แต่ลักษณะงานมักจะเป็น อาสาสมัคร ที่ช่วยเหลือผู้ป่วยโดยตรงเรื่องการเจ็บป่วย (ไม่ใช่ช่วยผู้บริโภคฟ้องร้องแพทย์)
       
       โดยสรุป ประเทศส่วนใหญ่มีแต่แพทย์เป็นกรรมการแพทยสภา ในประเทศที่มี Layman ร่วมเป็นคณะกรรมการแพทยสภา จะมีจำนวนน้อย น่าจะมีบทบาทในการให้ความคิดเห็น เช่นเดียวกับ ที่ปรึกษาหรือกรรมการจากภายนอกในคณะอนุกรรมการในแพทยสภาของไทย การนำข้อมูลบุคคลภายนอกของแพทยสภาในต่างประเทศมาสนับสนุนการแก้กฎหมายแพทยสภาของไทยจึงเป็นการใช้ข้อมูลแบบไม่เข้าใจที่มาของบุคคลภายนอกของแพทยสภาในต่างประเทศ และในบางกรณีเป็นเหตุผลที่ตรงกันข้ามกับเหตุผลการมีบุคคลภายนอกของแพทยสภาในต่างประเทศอีกด้วย
       
       นอกจากนี้สภาวิชาชีพส่วนใหญ่ในโลก คนที่อยู่ในวิชาชีพจึงเป็นกรรมการสภาวิชาชีพได้ มีน้อยประเทศหรือน้อยวิชาชีพมากที่บุคคลภายนอกวิชาชีพจะเข้าไปเป็นกรรมการ ไม่เช่นนั้นคงต้องตั้ง NGO เข้าไปเป็นกรรมการในสมาคม/สภาวิชาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สภาวิชาชีพบัญชี สมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศไทย สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย คุรุสภา สภาการพยาบาล สมาคมสถาปนิกสยาม เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย เนติบัณฑิตยสภา สภาทนายความแห่งประเทศไทย สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และ/หรือสมาคม/สมาชีพอื่นๆ อีกเป็นอันมาก โดยที่ตนเองไม่ได้มีความรู้ความสามารถเพียงพอในเรื่องนั้นๆ ทั้งนี้นางสาวสารีเองก็เป็นพยาบาลวิชาชีพอยู่แล้ว แม้จะไม่ได้ประกอบอาชีพพยาบาลมาเลยเป็นเวลาหลายสิบปี แต่ก็ยังมีสิทธิ์ที่จะสมัครรับการเลือกตั้งเป็นกรรมการสภาพยาบาลอยู่ตามวิชาชีพที่ตนมีความรู้ร่ำเรียนมาโดยตรงตามศักดิ์และสิทธิ์ น่าจะเป็นเรื่องที่ดีและมีคุณสมบัติครบถ้วนอย่างยิ่ง
       
       นางสาวสารี เป็นเอ็นจีโอ ทำหน้าที่ตรวจสอบเป็นเรื่องที่ดี แต่การตรวจสอบต้องมีข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แน่นหนา นอกจากนี้การที่นางสาวสารีต้องการให้เอ็นจีโอบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นกรรมการแพทยสภาซึ่งเป็นผู้ถืออำนาจรัฐตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม เสียเองนั้น ผิดหลักธรรมาภิบาล เนื่องจากผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบ ไม่ควรทำหน้าที่ถืออำนาจรัฐและทำหน้าที่กำหนดนโยบายหรือตรวจสอบเสียเอง บุคคลภายนอกวิชาชีพแพทย์ เช่นนางสาวสารีเองก็ทำงานในมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยู่แล้วอย่างเข้มแข็ง ไม่ควรเข้ามาบริหารเอง ตรวจสอบเองจะเสีย ธรรมาภิบาลในการตรวจสอบ และเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนได้ เช่น กรณีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภครับเงินจาก สสส. และ สปสช. รวมกันเกือบ 170 ล้านบาท ตามที่ สตง. ได้เคยตรวจสอบไว้ แต่กลับมีกรรมการบอร์ด สสส. และ สปสช. มาจากกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมากมาย จะเป็นความไม่สง่างาม มีผลประโยชน์ทับซ้อน ผู้เขียนอยากให้นางสาวสารีและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีหน้าที่ตรวจสอบและปกป้องประชาชนอย่างสง่างาม โดยปราศจากข้อกังขา
       
       
อ้างอิง

       นางสาวสารี อ๋องสมหวังความเห็นและการล่ารายชื่อเพื่อแก้กฎหมาย
       https://www.facebook.com/saree.aongsomwang/posts/1250331835010892
       ศ.นพ. สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแพทยสภาในต่างประเทศ
       https://www.facebook.com/ittaporn/posts/1203702693023868
       การล่ารายชื่อคัดค้านการแก้กฎหมายของ นายแพทย์ กิตติศักดิ์
       https://www.change.org/p/แพทย์-คัดค้าน-คนนอกบริหารแพทยสภา
       รายละเอียดแพทยสภา
       อังกฤษ
       http://www.gmc-uk.org/about/council/23795.asp
       http://www.gmc-uk.org/about/council/members.asp
       ออสเตรเลีย
       http://www.amc.org.au/about/office-bearers-and-directors
       https://en.wikipedia.org/wiki/Julianne_Schultz
       http://www.zoominfo.com/p/Ross-Springolo/1217975983
       https://www.uea.ac.uk/education/people/profile/e-milligan
       
       สิงคโปร์
       http://www.healthprofessionals.gov.sg/content/hprof/smc/en/topnav/about_smc/council_members.html
       ฮ่องกง
       http://www.mchk.org.hk/english/aboutus/mchk.html
       http://www.info.gov.hk/gia/general/201206/30/P201206290815.htm
       http://www.bloomberg.com/research/stocks/private/person.asp?personId=4922941&privcapId=982310&previousCapId=982310&previousTitle=Sidley%20Austin%20LLP
       http://www.hk-lawyer.org/content/partnerships-and-firms-february-2009
       https://webb-site.com/dbpub/positions.asp?p=133397&f=&t=&c=0&s=posup&hide=Y
       http://www.aastocks.com/en/stocks/news/aafn-content/NOW.742803/popular-news
       
       มาลาวี
       http://medicalcouncilmw.org/about.htm
       นิวซีแลนด์
       https://www.mcnz.org.nz/about-us/our-council-and-senior-managers/#councilmembers
       แคนาดา
       http://mcc.ca/about/governance/council-committee-membership/
       https://www.bennettjones.com/CarterRose
       https://en.wikipedia.org/wiki/Nancy_MacBeth
       http://qe2foundation.ca/trustees
       http://www.uwindsor.ca/law/382/full-time-faculty
       http://www.cbc.ca/news/canada/thunder-bay/andr%C3%A9e-robichaud-reflects-on-5-years-at-thunder-bay-hospital-1.2972490

อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
       สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
       สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
       คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
       และ
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร
       คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
28 กันยายน 2559
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000097594