ผู้เขียน หัวข้อ: มหันตภัย 30 บาทรักษาทุกโรค(6) ตอน ภัยต่อระบบการใช้ยา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์  (อ่าน 2602 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
มหันตภัยอันร้ายแรงที่เกิดขึ้นต่อการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขจากระบบ 30บาทรักษาทุกโรคอีกอย่างหนึ่งก็คือคือ ภัยต่อระบบการใช้ยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ ตามที่ได้เคยกล่าวมาแล้วว่า ระบบ 30 บาทใช้งบประมาณปลายปิด เมื่อประชาชนเจ็บป่วยมากและมาใช้บริการมากขึ้น ผู้บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพ ก็ชี้นำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอคณะรัฐมนตรี ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อควบคุมไม่ให้แพทย์ใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ เนื่องจากเป็นยาใหม่ มีราคาสูง โดยมิได้พิจารณาว่ามีข้อบ่งชี้ทางวิชาการที่ควรจะต้องใช้ยาเหล่านั้น เพื่อประโยชน์ของการรักษาหรือไม่? แต่มีวัตถุประสงค์หลักคือ “การควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยาให้อยู่ภายใต้กรอบงบประมาณอันจำกัด”

   ทั้งนี้รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการยาหลักแห่งชาติขึ้นมา เพื่อกำหนดว่า ยาอะไรที่ควรใช้รักษาผู้ป่วยได้ทุกคน โดยเฉพาะในระบบ 30 บาท ประกันสังคม และข้าราชการ โดยไม่สามารถบังคับแก่ผู้ป่วยที่จ่ายเงินเอง ผู้ป่วยที่ซื้อประกันเอกชน และผู้ป่วยในสิทธิของสส. สว. รัฐมนตรี และนักการเมือง ที่ได้รับสิทธิจากการจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินจากเงินภาษีของประชาชนเช่นเดียวกันกับประชาชนผู้มีสิทธิ์ในการรับบริการสาธารณสุขในกองทุนอื่นๆ(ยกเว้นกองทุนประกันสังคม)

  ยาในบัญชียาหลักนี้ ส่วนมากเป็นยาที่หมดเวลาของสิทธิบัตรแล้ว และบริษัทยาสามารถผลิตยาที่มีส่วนประกอบของตัวยาตามต้นแบบดั้งเดิมได้ โดยใช้ชื่อ “สามัญ”  ซึ่งการหมดระยะเวลาของการใช้สิทธิบัตรและการผลิตยาสามัญได้จากหลากหลายบริษัท ทำให้ราคายาถูกลง สามารถประหยัดงบประมาณค่ายาได้เป็นอย่างดี

   ผู้เขียนก็เห็นด้วยว่า แพทย์ควรสั่งยาชื่อสามัญนี้ในการรักษาผู้ป่วย ถ้ายาสามัญนี้มีจำนวนมากและครอบคลุมการรักษาโรคทุกชนิด และการผลิตยาสามัญเหล่านี้ได้ถูกตรวจสอบว่ามีคุณสมบัติเหมือนตัวยาต้นแบบตามหลักการของ GMP (Good Pharmaceutical Practice) ซึ่งจะทำให้หวังผลในการรักษาว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นและทุเลาหรือหายจากการเจ็บป่วย

  แต่ยาที่ผลิตจากองค์การเภสัชกรรมเอง ได้รับการยกเว้น(จากกระทรวงสาธารณสุข) ว่าไม่ต้องผ่านการตรวจ ตามระบบ GMP แต่อย่างใด และกระทรวงสาธารณสุขยัง “บังคับ”ให้โรงพยาบาลสั่งซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมอีกด้วย ซึ่งบางทียาจากองค์การเภสัชกรรมก็อาจจะไม่มีตัวยาตามที่บ่งชี้ไว้ตามเอกสารกำกับยาก็เป็นได้ เพราะไม่มีการตรวจสอบกระบวนการผลิตยาแต่ละชนิด

  อย่างไรก็ตามยาที่ยังมีสิทธิบัตรครอบคลุมอยู่ ทางรัฐบาลไทยก็ได้ไปทำ CL (Compulsory Licensing) มา เพื่อจะมาผลิตยาสามัญสำหรับใช้ในการรักษาผู้ป่วยในระบบ 30 บาท แต่องค์การเภสัชกรรมหรือบริษัทยาในประเทศก็ยังไม่มีศักยภาพที่จะผลิตยาสามัญเหล่านี้ได้ จึงต้องไปซื้อมาจากประเทศอินเดีย  ซึ่งไม่แน่ว่าการผลิตยาเหล่านั้นจะผ่านการตรวจสอบตามระบบ GMP หรือไม่ แต่แพทย์ผู้รักษาส่วนหนึ่งก็พบว่ายาสามัญที่ผลิตโดยการทำ CL ที่ซื้อมาจากอินเดียบางอย่าง ไม่มีผลในการรักษาดีเท่ายาต้นแบบ ซึ่งได้มีการติดตามผลการรักษาและทำการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวแล้วพบว่า (1) อาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์รามาธิบดีได้นำเสนอรายงานการศึกษาผู้ป่วย 300 รายที่ได้รับยาต้านเอดส์ที่ผลิตโดยองค์การเภสัชไว้ว่า 49 % ของผู้ป่วยดื้อต่อยา lamivudine, 39.6 % ดื้อต่อ stavudine และ 58 % ดื้อต่อ nevirapine การดื้อต่อยานี้ทำให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้ยาที่มีราคาสูงขึ้นถึง เดือนละหมื่นบาท จากที่ใช้ขององค์การฯ เพียงเดือนละพันบาท ซ้ำร้ายการดื้อต่อยานี้ทำให้เชื้อในผู้ป่วยรายใหม่ดื้อต่อยา ARV ธรรมดาด้วย จึงทำให้ผู้ป่วยใหม่จำเป็นต้องเริ่มต้นรักษาด้วยยาราคาแพงตั้งแต่แรก และข้อมูลจาการศึกษาของอาจารย์แพทย์ในมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตีพิมพ์รายงานการรักษาผู้ป่วยเอดส์ตามโครงการรักษาเอดส์สปสช.พบว่า มี การดื้อยาต้านไวรัสเพิ่มขึ้น จาก 68.5 % ในระหว่างปี 2000-2002 เป็น 74.9 % ในระหว่างปี 2003-2004 การดื้อต่อ NNRTI ระหว่างปี 2003-2004 (59.2 %) สูงกว่าระหว่างปี 2000-2002 (36.9 %) การศึกษาพบว่าความสัมพันธ์ของการดื้อยาที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากยาชุดที่มี NNRTI ซึ่งใช้ในระหว่างปี 2003-2004 จากองค์การเภสัชกรรม โดยเฉพาะยาชุดผสมที่เรียกว่า GPO-vir ซึ่งระดับการดื้อยาในชุดนี้สูงถึง 40.8-43.8 % เลยทีเดียว
เมื่อยาไม่เหมือนสินค้าโภคภัณฑ์ธรรมดาที่ใคร ๆ ก็ผลิตได้ การได้ยาที่มีราคาถูก แต่ใช้ไม่ได้ผล ไม่เพียงทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถหายจากโรค ซ้ำยังอาจทำร้ายคนในครอบครัว และคนอื่น ๆ ด้วยจากการที่พวกเขาสามารถติดเชื้อที่ดื้อยาจนไม่สามารถที่จะรักษาได้อีกเลย   

   แต่สปสช.และคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ ไม่เคยเอ่ยถึงการรายงานการรักษาผู้ป่วยเอดส์ที่ได้รับยาแล้วมีเชื้อดื้อยาและรักษาไม่หายเหล่านี้เลย
นอกจากคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ ไม่รวมรายการยานวัตกรรมใหม่ๆที่มีประสิทธิผลในการรักษาเหล่านี้ เข้าไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยการอ้างว่ายามีราคาแพง ไม่คุ้มค่ากับการนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยในระบบ 30 บาทแล้ว

    สปสช.ยังไม่ยินยอมให้แพทย์สั่งยานอกบัญชียาหลักให้แก่ผู้ป่วยในระบบ 30 บาท โดยที่ผู้ป่วยยินยอมจ่ายเงินเอง เมื่อสปสช.ตรวจพบว่า แพทย์สั่งยานอกบัญชียาหลักให้ผู้ป่วยในระบบ 30 บาท เพื่อจะได้รักษาโรคมะเร็ง สปสช.ก็สั่งให้โรงพยาบาลคืนเงินค่ายาให้แก่ผู้ป่วย ทำให้โรงพยาบาลไม่อาจจะสั่งยานั้นให้แก่ผู้ป่วย(เนื่องจากโรงพยาบาลก็ไม่มีเงินจ่ายค่ายา)  ทำให้ผู้ป่วยพลาดโอกาสที่จะได้รับการรักษาที่ดีกว่า

  ซึ่งเป็นเรื่องที่ประหลาดมาก ที่สปสช.ไม่มีเงินพอที่จะซื้อยาที่ดีๆให้ผู้ป่วยได้ แต่สปสช.ยังไป “ปิดกั้นโอกาสที่ผู้ป่วยจะได้รับยาที่เหมาะสม แม้จะยอมจ่ายเงินเองก็ตาม” เรื่องนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและละเมิดสิทธิผู้ป่วยอย่างชัดเจน
  สปสช.ไม่ได้ปิดกั้นสิทธิผู้ป่วยในระบบบัตรทองเท่านั้น แต่สปสช.ยังเสนอข้ามไปยังระบบสวัสดิการข้าราชการ ไม่ให้ใช้ยาเหล่านั้นด้วย 

  คณะกรรมการยาหลักแห่งชาติจึงไม่ยอมนำยาเหล่านี้ เข้าไปในรายชื่อในระบบบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่แพทย์ที่รักษาผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการ ก็ขออนุมัติเป็นพิเศษ ให้ผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการ สามารถใช้ยานอกบัญชียาหลักที่มีประสิทธิผลสูงกว่าได้ด้วย ซึ่งมีผลให้ค่ายาของผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้ราชการสูงขึ้นมาก
สวรส.ซึ่งได้ตั้งองค์กรลูกคือสพตร.(สำนักงานตรวจสอบระบบการรักษาพยาบาล) ซึ่งมีแพทย์เพียงคนเดียว ไปตรวจสอบว่า แพทย์ในโรงพยาบาลไหน มีการสั่งใช้ยานอกบัญชียาหลักอย่างไรบ้าง และสพตร.ได้รายงานว่า แพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆสั่งยาให้ผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการสูงถึง 66% 

แทนที่สพตร.จะเสนอแนวทางการแก้ปัญหาว่า ยาในบัญชียาหลักแห่งชาตินั้นมีไม่มากพอที่จะครอบคลุมการรักษาโรคบางอย่างให้ได้ผลดีเหมือนยานอกบัญชียาหลัก สพตร.กลับไปเสนอให้กรมบัญชีกลาง “จัดทำมาตรการในการควบคุมการเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ทั้งหมด 9 กลุ่มยา นำไปเสนอให้กรมบัญชีกลางออกระเบียบการห้ามใช้ยาในผู้ป่วยสวัสดิการข้าราชการคือ

1.ยาลดอาการข้อเข่าเสื่อม (glucosamine)
2.กลุ่มยาลดไขมันในเลือด (antilipidemia)
3.ยาป้องกันโรคกระดูกพรุน (drug affecting bone metabolism)
4.กลุ่มยาลดการเป็นแผลและเลือดออกในกระเพาะอาหาร(antiulcerant/variceal bleeding)
5.กลุ่มยาต้านอักเสบที่มิใช่สเตียรอยด์ ( NSAIDs/ anti-osteoarthritis)
6. กลุ่มยารักษาความดันโลหิตสูงและภาวะหัวใจล้มเหลวแบบคั่งเลือด (ACEI)
7.กลุ่มยาลดความดันโลหิต (ARBS)
8.กลุ่มยาป้องกันการเกาะตัวของเลือด (antiplatelets)
9.กลุ่มยารักษามะเร็ง (anticancers)

 ซึ่งกรมบัญชีกลางก็ประกาศว่าจะงดการจ่ายยาใน 9 กลุ่มนี้แก่ผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งเป็นการ “บอกเลิกสัญญาที่เคยให้ไว้แก่ข้าราชการ” ว่าเมื่อเป็นข้าราชการแล้ว จะต้องได้รับการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย  แต่เมื่อข้าราชการมารับราชการยอมทำงานเงินเดือนน้อย และทำตามระเบียบวินัยข้าราชการมาตลอดชีวิตราชการ แต่เมื่อเจ็บป่วยแล้วก็จะไม่ได้รับการรักษาตามมาตรฐานที่ดีที่สุดตามวิจารณญาณของแพทย์ แต่จะได้รับเพียงยาที่ “มีราคาถูก” และอาจจะไม่มีประสิทธิผลในการรักษาเหมือนเดิม

   และข้าราชการชั้นผู้น้อยที่เงินเดือนต่ำ ย่อมจะประสบความเดือดร้อนจากโครงการนี้อย่างแน่นอนกล่าวคือจะถูกปิดกั้นโอกาสที่จะได้รับยาที่เหมาะสมในการรักษาโรคต่างๆดังกล่าวแล้ว ถือเป็นการละเมิดสิทธิข้าราชการอีกด้วย
 และผู้อ่านก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ผู้ป่วยในระบบ 30 บาทและประกันสังคม ก็ย่อมไม่ได้รับยาเหล่านี้ในการรักษาอาการป่วยเช่นกัน

   จึงเห็นได้ว่าคณะกรรมการยาหลักแห่งชาติและผู้บริหารกองทุน 30 บาท เป็นผู้ทำให้เกิดมหันตภัยต่อการใช้ยาที่ทันสมัย มีประสิทธิผลต่อการรักษาดี ในผู้ป่วยทั้ง 3 กองทุน ให้ได้ยาที่ไม่เหมาะสมต่ออาการป่วยบางโรคเหมือนกันหมด คือเลวเท่าเทียมกัน

 เมื่อมีข่าวว่ากรมบัญชีกลางจะห้ามการจ่ายยาบางชนิดแก่ผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการ ทำให้มีกลุ่มข้าราชการออกมาคัดค้านคำสั่งของกรมบัญชีกลาง จนทำให้กรมบัญชีกลางยอมถอยก่อน

  แต่สพตร. ไม่หยุดเพียงแค่นี้ กลับส่งลูกไปให้นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการเสนอครม. ให้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์ ทั้งนี้ คณะกรรมการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทั้งหมด 6 คณะคือ

1.คณะอนุกรรมการต่อรองราคายาและเวชภัณฑ์
2.คณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ
3.คณะอนุกรรมการกำหนดแนวเวชปฏิบัติ ข้อบ่งชี้การใช้ยา การตรวจวินิจฉัยโรค และการรักษาพยาบาล
4.คณะอนุกรรมการตรวจสอบการรักษาพยาบาลและการเบิกจ่าย
5.คณะอนุกรรมการพัฒนายาและรหัสยามาตรฐานเพื่อสนับสนุนการบริหารเวชภัณฑ์
6.คณะอนุกรรมการปรับปรุงกลไกการเบิกจ่ายเงินโดยกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม

  นอกจากนั้นยังมอบให้อธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นผู้รับผิดชอบในการกำกับดูแลค่าใช้จ่ายด้านยาของระบบสวัสดิการข้าราชการ
ซึ่งคณะกรรมการเหล่านี้ ก็คงมาทำหน้าที่ “บีบให้บริษัทยา “ขายยาในราคาถูกๆ” และก็คงมา “บีบ”แพทย์ ให้แพทย์ สั่งยาในบัญชียาหลักเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อ “ลดภาระงบประมาณในการรักษาสุขภาพประชาชน” เป็นการประหยัดเงิน แต่จะประหยัดชีวิตผู้ป่วยได้หรือไม่? ทั้งนี้ผู้ที่รับผิดชอบในการดำเนินงานทั้งปวง ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และสาธารณสุข แต่จะมาตัดสินใจบังคับการทำงานของผู้เชี่ยวชาญ โดยมิได้นึกถึงคุณภาพการรักษาผู้ป่วย คิดแต่จะประหยัดเงินเท่านั้น และยังหวนกลับมาให้ใช้ยาสมุนไพร ซึ่งจะให้แพทย์ที่เรียนมาตามหลักสูตรแพทย์แผนปัจจุบัน กลับมาใช้ยาแผนไทยโบราณ โดยที่ไม่มีความรู้พื้นฐานมาก่อน ก็อาจจะทำให้เกิดผลเสียหายแก่ผู้ป่วยได้

  ขอยกตัวอย่างเมื่อไม่นานมานี้ ที่ได้ผลิตยาสมุนไพรจากขี้เหล็ก เป็นยาเม็ด เพื่อใช้รักษาอาการท้องผูก โลหิตจางและนอนไม่หลับ ปรากฏผลต่อมาว่า ขี้เหล็กเข้มข้นในเม็ดยา ทำให้เป็นผลทำลายตับ เกิดอาการตับวาย ผู้ป่วยเสียชีวิต จึงต้องหยุดใช้ยาเม็ดขี้เหล็ก ทั้งนี้ การผลิตยาสมุนไพรถ้าไม่มีการวิเคราะห์วิจัยและตรวจสอบคุณสมบัติและผลข้างเคียงจากยา ก็อาจจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใช้ยาได้ ดังกรณียาเม็ดขี้เหล็กนี้

   ฉะนั้น การคิดแต่ที่จะประหยัดเงิน โดย “ควบคุมและจำกัดรายการยา” จึงนับเป็นมหันตภัยอันร้ายแรงต่อระบบการบริหารยาและเวชภัณฑ์ เครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์เป็นอย่างยิ่ง และยังทำให้เกิดความเสียหายต่อการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์ ที่จะไม่ได้เป็น “วิชาชีพอิสระ”อีกต่อไป  เนื่องจากต้องอยู่ภายใต้การกำหนดกฎเกณฑ์ของผู้บริหารกองทุน ทำให้แพทย์ไม่มีโอกาสที่จะได้มีประสบการณ์ในการใช้ยาใหม่ๆ ทำให้วิชาชีพแพทย์ย่ำเท้าอยู่กับวิธีรักษาแบบเดิมๆ ในขณะที่โลกกว้างทางการแพทย์เขาก้าวไปไกลถึงไหนๆแล้ว   
ตามปกติแล้ว โรงพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ ที่ให้การศึกษาฝึกอบรมแก่นักศึกษาเพื่อให้มีความรู้สำเร็จออกมาเป็นแพทย์รักษาผู้ป่วยต่อไปนั้น อาจารย์ที่สอนนักศึกษาควรจะได้มีโอกาสใช้ยาที่ผลิตออกมาตามนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งนี้เพื่อจะได้มีความรู้และประสบการณ์ว่า ยานี้เมื่อใช้ไปแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการตอบสนองต่อยาเร็ว/ช้าเพียงใด มีผลข้างเคียงเกิดขึ้นนอกเหนือจากที่เคยรายงานหรือไม่ และควรจะใช้ยาตามขนาดที่แนะนำโดยผู้ผลิตยา หรือสามารถลดขนาดให้น้อยลงมาก็ได้ผลดีเหมือนใช้เต็มตามขนาดยาที่แนะนำ ยกตัวอย่างเช่น การฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ประเทศไทยสามารถทดลองใช้วัคซีนในขนาดน้อยกว่าที่บริษัทผู้ผลิตแนะนำ และได้ผลในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคพิษสุนัขบ้าเช่นเดียวกัน เป็นการประหยัดเงินซื้อยาจำนวนมาก โดยใช้ยาเพียงเล็กน้อยแต่ได้ผลในการสร้างภูมิคุ้มกันได้เช่นเดียวกัน

  ในเมื่อรัฐบาลเห็นชอบกับทางสปสช.ที่จะคุมค่าใช้จ่ายด้านยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็จะทำให้โรงพยาบาลของทางราชการ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยหรือของกระทรวงสาธารณสุข ได้รับงบประมาณที่ไม่เพียงพอที่จะซื้อยาใหม่ที่มีคุณภาพดีกว่า ไม่ได้ซื้อเครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้มหาวิทยาลัยที่มีหน้าที่สอนให้คนเป็นแพทย์ที่มีความรู้ทันสมัย กลับต้องมีปัญหาในด้านวิชาการแพทย์หยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่เท่ากับเป็นการถอยหลังเข้าคลอง เนื่องจากประเทศอื่นๆเขาก้าวนำไปข้างหน้า และวงการแพทย์ไทยจะตามไม่ทันนวัตกรรมใหม่ๆเหล่านั้น (2)

อาจารย์สุธรรมยังได้กล่าวอีกว่า การสอนนักศึกษาแพทย์ในปัจจุบันนั้น ก็เพื่อจะได้ใช้แพทย์ในอีก 10 ปีข้างหน้า ถ้าอาจารย์แพทย์ไม่สามารถสอนนักศึกษาแพทย์ให้มีความรู้ก้าวทันโลกปัจจุบันแล้ว เมื่อเขาสำเร็จการศึกษาเป็นแพทย์ในอีก 10 ปีข้างหน้า เขาก็จะกลายเป็นแพทย์ที่มีความรู้ล้าหลังไปอีก 20 ปี

ในขณะที่โรงพยาบาลเอกชนมีความเจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองเฟื่องฟู มีมูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในตลาดหลักทรัพย์ เพราะอะไร? ก็จะขอตอบว่า ประชาชนที่มีความรู้และมีเงินก็คงไม่อยากเสี่ยงชีวิต ไปรับการรักษาในระบบ 30 บาท เพราะไม่มั่นใจในคุณภาพของยาและการรักษา
ในขณะที่รพ.เอกชนเข้มแข็งมากขึ้นหลังจากมีระบบ 30 บาท เพราะรพ.เอกชนมีเทคโนโลยีและเครื่องมือทันสมัย สามารถจ่ายค่าตอบแทนแก่แพทย์และพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญในราคาสูง ทำให้โรงพยาบาลเอกชนมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือ เวชภัณฑ์ทันสมัย แพทย์สามารถใช้ดุลพินิจจากความรู้ และประสบการณ์ในการตัดสินใจตรวจรักษาผู้ป่วยได้อย่างเป็นอิสระ ไม่ต้องถูกจำกัดเรื่องการสั่งการตรวจ การใช้ยา หรือวิธีการรักษา   

โดยแพทย์จะต้องควบคุมตนเองในเรื่องมาตรฐานการรักษาและจริยธรรมทางการแพทย์  อาจจะมีการควบคุมโดยองค์กรแพทย์หรือคณะกรรมการแพทย์ของโรงพยาบาล ทั้งนี้แพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนมีภาระงานน้อย จึงสามารถมีเวลาที่จะสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ป่วยได้มาก จึงพบว่า การฟ้องร้องแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนจะมีน้อยกว่าการฟ้องร้องแพทย์ในโรงพยาบาลราชการ

   ส่วนระบบการบริการที่บริหารจัดการโดยโรงพยาบาลเอกชนนั้น ต้องดำเนินการภายใต้การควบคุมของกองประกอบโรคศิลปะ(ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็นสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ) ตามที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.สถานพยาบาล ซึ่งกำหนดว่าโรงพยาบาลเอกชนจะต้องมีบุคลากรครบครันทุกประเภท เช่น จะต้องมีวิสัญญีแพทย์อยู่ประจำในโรงพยาบาล จึงจะเปิดทำการผ่าตัดได้ ในขณะที่รพ.ของกระทรวงสาธารณสุขนั้น ไม่ต้องมีวิสัญญีแพทย์ก็ทำการผ่าตัดได้ โดยให้วิสัญญีพยาบาลทำหน้าที่แทนแพทย์ก็ได้ และงานหลายๆอย่างที่ควรให้แพทย์ทำ ก็ให้พยาบาลทำแทนได้ในรพ.ของทางราชการ

   ฉะนั้น โรงพยาบาลเอกชนจึงมีคุณภาพมาตรฐาน ทั้งในด้านบุคลากร งบประมาณ และอาคารสถานที่ วัสดุ ครุภัณฑ์ เวชภัณฑ์ เทคโนโลยีทันสมัยครบครัน

 จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมรพ.เอกชนจึงเจริญรุ่งเรือง ในขณะที่รพ.กระทรวงสาธารณสุขถูกจำกัดทั้งงบประมาณ ยา เครื่องมือแพทย์ วิธีการรักษา แม้แต่แพทย์ก็ไม่มีอิสระในการประกอบวิชาชีพ เพื่อรักษาผู้ป่วยของตนตามความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของตน   

  การที่มีข่าวว่าคนไทยกินยามากถึงปีละ 47,000ล้านเม็ด โดยมีผู้ซื้อยากินเองร้อยละ 15  (3) และที่น่าเป็นห่วงก็คือเมื่อกระทรวงสาธารณสุขเปิดโครงการให้ประชาชนเอายาเก่ามาแลกไข่ พบว่าในเวลาเพียง 2 วัน ได้ยาเก่ามาถึง 8.7 ล้านเม็ด(4)โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดงบประมาณไว้จังหวัดละ 1 ล้านบาท เท่ากับ 77 ล้านบาท และเผายาเก่า 37 ล้านเม็ดมูลค่า 70 ล้านบาท (5) มียามากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ 1.ยาเบาหวาน 7,615,789 เม็ด 2.ยาโรคความดันโลหิตสูง 7,038,068 เม็ด 3.วิตามิน 3,207,215 เม็ด 4.ยาลดไขมันในเลือด 2,901,603เม็ด และ 5.ยารักษาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ 1,521,030 เม็ด ที่เหลือเป็นแคลเซียม ยาปฏิชีวนะ และพาราเซตามอล อย่างละกว่า 1 ล้านเม็ด และยาอื่นๆ อีก 11 ล้านเม็ด

หลังโครงการนี้แล้ว เราก็ไม่ได้หวังนายวิทยา บุรณศิริ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะเกิดความตระหนักรู้ว่า สาเหตุที่ประชาชนมียาเก็บไว้มากมายโดยไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ เนื่องจากประชาชนได้ยามาฟรีๆ โดยตนเองไม่มีต้นทุนอะไร และประชาชนก็ลืมไปว่า เงินที่จ่ายค่ายานั้น ก็คือเงินงบประมาณจากภาษีอากรของประชาชน ที่เอามาซื้อยาไปทิ้งโดยเปล่าประโยชน์
นายวิทยา บุรณศิริ จะรู้หรือไม่ว่า ควรจะแก้ปัญหาการซื้อยาไปทิ้งโดยไม่ได้ใช้นี้อย่างไร เพื่อประหยัดค่ายาที่ไม่ได้ใช้ แทนที่จะไปประหยัดค่ายาจากการบีบบังคับไม่ให้แพทย์ใช้ยาที่เหมาะสมที่สุดกับการรักษาผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้ยารักษาโรคอย่างแท้จริง

  โดยสรุปก็คือมหันตภัย 30 บาทรักษาทุกโรค ก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบการใช้ยาในการักษาความเจ็บป่วย เนื่องจากมีการจ่ายยาให้ผู้ป่วยโยไม่คิดเงิน ทำให้ผู้ป่วยเอายาไปทิ้งๆขว้างๆ โดยไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ ในขณะที่กรรมการยาก็พยายามบังคับให้แพทย์จ่ายยาเก่าๆเท่านั้น ห้ามใช้ยานวัตกรรมใหม่ ที่มีคุณภาพในการรักษาโรคที่ยุ่งยากซับซ้อนได้ดีกว่า เป็นการละเมิดสิทธิผู้ป่วย และละเมิดสิทธิของแพทย์ที่ไม่สามารถประกอบวิชาชีพอิสระได้ จะทำให้ความรู้ในวิทยาการแพทย์ไทยถอยหลังเข้าคลอง ไม่มียาใหม่ๆเข้ามาใช้ในประเทศไทย เพราะในอนาคตเมื่อแพทย์ไม่สามารถสั่งยาเหล่านี้ให้ผู้ป่วยได้บริษัทยาก็คงไม่นำยาเข้ามาในประเทศไทย และผู้ป่วยไทยอาจจะต้องไปสั่งยามารักษาตัวจากต่างประเทศ หรือต้องออกไปรักษาตัวในโรงพยาบาลต่างประเทศ

พญ.เชิดชู อริญศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)
16 ก.ย. 2555


เอกสารอ้างอิง
1. http://thaipublica.org/2011/09/drug-standards/ คำถามเรื่องมาตรฐานยาที่องค์การเภสัชกรรมต้องตอบ
          2. http://thaipublica.org/2012/03/sutham-evaluation10-years-nhso/ นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ เปิดประเด็นร้อน 10 ปีสปสช. รพ.รัฐขาดทุนถ้วนหน้า หมอ-พยาบาลป่วน หวั่นอนาคตระบบสาธารณสุขไทยเอาไม่อยู่
3. http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=95500000332คนไทยกินยาปีละ 47,000,000 ล้านเม็ด
   4. http://www.dailynews.co.th/politics/134273   
5. http://www.manager.co.th/qol/viewnews.aspx?NewsID=9550000086158