ผู้เขียน หัวข้อ: ถกคณบดีแพทย์ 10 ปท.อาเซียนรับประชาคม  (อ่าน 964 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
 หารือคณบดีคณะแพทยศาสตร์ 10 ประเทศอาเซียน รองรับเออีซี หวังยกระดับหลักสูตรแพทยศาสตรศึกษา “ฟิลิปปินส์” ห่วงการรับรองหลักสูตรของแต่ละประเทศ ด้าน “ลาว” แนะจัดระบบออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้ชัดเจน ป้องกันสมองไหล
       
       วันนี้ (17 ก.ย.) ที่ศูนย์วิจัยการแพทย์ศิริราช โรงพยาบาลศิริราช ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทย์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดของ 10 ประเทศในอาเซียน ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ในโอกาสการประชุมสุดยอดคณบดีอาเซียน:การรวมกันเพื่อความเป็นหนึ่งของโรงเรียนแพทย์อาเซียน ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 17-19 กันยายน 2555 โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเจ้าภาพ
       
       ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผู้นำโรงเรียนแพทย์ชั้นนำจาก 10 ประเทศในอาเซียน ได้มีโอกาสมาหารือร่วมกันเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และร่วมกันวางแผนยกระดับในหลายๆ ส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องหลักสูตรแพทยศาสตรศึกษา การเรียนการสอน การวิจัย และบริการทางการแพทย์ เป็นต้น
       
       “อธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และคณบดีคณะแพทย์จาก 10 ประเทศ จำนวน 13 คน ที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ มีความตั้งใจที่จะให้เกิดความร่วมมือเป็นเครือข่ายทางการแพทย์ของอาเซียน อันจะนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกันให้ดีขึ้น เพื่อสร้างมาตรฐานทางการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียนให้เป็นแบบเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน เกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั้งภูมิภาคไม่เฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น” ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าว
       
       ศ.แอกเนส ดี เมเจีย คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ กล่าวว่า การหารือร่วมกันบางเรื่องเป็นเรื่องที่ง่าย แต่บางเรื่องเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องหลักสูตรแพทยศาสตร์ ซึ่งในแต่ละประเทศมีความแตกต่างและคุณภาพที่แตกต่างกัน จึงเป็นเรื่องยากที่ประเทศหนึ่งจะให้การรับรองหลักสูตรของประเทศหนึ่ง จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีการหารือร่วมกันถึงแนวทางที่จะให้การรับรองหรือยอมรับหลักสูตรแพทยศาสตร์ของประเทศสมาชิก มิเช่นนั้นอาจจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์หนึ่งของการเข้าสู่เออีซี ในเรื่องการเปิดกว้างให้เกิดการเคลื่อนย้ายของบุคลากรทางการแพทย์
       
       เมื่อถามถึงปัญหาสมองไหลของบุคลากรทางการแพทย์หากเข้าสู่เออีซี ดร.อลงกอน เพงสะหวัน รองคณบดีคณะการศึกษาหลังปริญญา มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว กล่าวว่า อยากให้แต่ละประเทศหารือในเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์ในประเทศต่างๆ และควรวางระบบในเรื่องนี้ให้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้บุคลาจากประเทศไหลไปทำงานในอีกประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีปัจจัยเรื่องเงินเป็นตัวดึงดูด ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในประเทศต้นทาง