ผู้เขียน หัวข้อ: สูงวัยใจและกายเกินร้อย(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1518 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ตัวเลขอายุ 100 ปีช่างเป็นเป้าหมายที่ยาวไกลเหลือเกินสำหรับบางคน  อาจสูงเกินไปสำหรับคนเมืองผู้บริโภคหมูเห็ดเป็ดไก่เป็นอาหารหลัก หรือมากเกินไปสำหรับคนไทยผู้ตัดพ้อว่า ไม่มีเวลาให้กับสุขภาพในเช้าวันรถติด ความเคร่งเครียดประดามีของชีวิต ตั้งแต่หุ้นตก ข้าวของขึ้นราคา ค่าเทอมลูกชาย น้ำมันลอยตัว  ไปจนถึงความหึงหวงหวาดระแวงคนรัก เรื่องทำนองนี้อาจย่นอายุคนเมืองให้สั้นลงสักห้าหรือสิบปี  ชีวิตหลังเกษียณของใครบางคนต้องทนอยู่กับสังขารสามวันดี สี่วันป่วย มีออกซิเจนถังเป็นเพื่อนร่วมเตียง กินอาหารเหลวทางสายยาง โรคร้ายรุมเร้าทั้งความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ อัมพาต ไปจนถึงมะเร็ง

แต่แม่เฒ่าพัน อร่ามวัฒน์  ยักไหล่ให้กับเรื่องเหล่านั้น  ปีนี้แกอายุ 107 ปีแล้ว มิหนำซ้ำโรคร้ายยังไม่เคยกลุ้มรุม อารมณ์แจ่มใสแถมเรี่ยวแรงยังดี ไม่เชื่อลองทดสอบดูก็ได้ เพราะเพียงแค่ผมถามไถ่ว่า แขนของแกยังมีกำลังวังชาหรือไม่  แม่เฒ่าไม่พูดพล่ามทำเพลง กระชากแขนขวาผมอย่างแรงจนแทบหกคะเมนร่วงจากแคร่ไม้ที่นั่งอยู่ “นี่ขนาดแขนฉันเคยหักมาสองหนแล้วนะ” แกว่าพลางหัวเราะร่วน 

ความทรงจำที่ยังไม่เลอะเลือนด้วยพิษชรา และกายายังไม่ดื้อรั้นตามสังขารที่โรยรา ทุกฟ้าสางแม่เฒ่าพันตื่นนอนรับตะวัน  กินมื้อเช้าง่ายๆที่ลูกหลานนำมาให้  แกกินน้อยพอเป็นพิธี และทอดกายลงนอนบนแคร่ใต้ถุนบ้าน หากแดดไม่ร้อนเกินไปนัก แกอาจฆ่าเวลาด้วยการถอนหญ้ารอบๆ บ้าน  (เป็นการ “ฆ่าเวลา” ในห้วงชีวิตหลัง 100 ปี)  ครั้นเวลาเพล แกจะกินอีกมื้อด้วยฟันฟางที่แทบไม่หลงเหลือ และเอนหลังพักผ่อนอีกครั้ง หากมีแขกมาเยี่ยมเยียมอย่างผมเป็นต้น แกจะผลัดเสื้อสวย เฝ้าชะเง้อรอ และคุยกันอย่างออกรสกลั้วเสียงหัวเราะ ถ้าไม่แล้วแกจะใช้เวลาช่วงบ่ายไปกับการหยอกเอินกับลูกหลานที่ปลูกบ้านอยู่ใกล้กันเพียงขานชื่อได้ยิน

นักประชากรศาสตร์ขนานนามคนอย่างแม่เฒ่าพันว่า “ศตวรรษิกชน” (Centenarian ส่วนผู้มีอายุเกิน 110 ปี เรียกว่า “อภิศตวรรษิกชน” หรือ Super Centenarian)  มนุษย์พิเศษซึ่งเดินทางข้ามเวลาจนมีอายุเข้าสู่ศตวรรษที่สองของตนเอง  ประเมินกันว่าทั่วทั้งโลกมีศตวรรษิกชนอยู่ประมาณ 455,000 คน  ส่วนในไทยมีอยู่ราว 1,700 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.002 ของประชากร “พวกเขาคือมนุษย์พิเศษครับ” ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล จากสถาบันวิจัยสังคมและประชากรศาสตร์ มหิดล บอก

ปริศนาอายุยืนยังเป็นที่ถกเถียง นักวิทยาศาสตร์แกะรอยจากปัจจัยแวดล้อมสารพัด ตั้งแต่พันธุกรรมซึ่งเป็นรากฐานของการสาธารณสุขและการแพทย์ทั้งมวล  สิ่งแวดล้อม อาหาร อากาศ และสุขภาพจิต แต่ ดร.ปราโมทย์แย้งว่า “แล้วทำไมบางคนกินอาหารดี อารมณ์ดี อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ก็ยังตายก่อนถึงร้อยปีเยอะแยะครับ” เห็นไหมล่ะ ความลับก็ยังคงเป็นความลับอยู่วันยังค่ำ

แต่ช้าก่อน อย่าเพิ่งทำหน้าผิดหวัง อุตส่าห์ดั้นด้นมาจนพบศตวรรษิกชนอย่างแม่เฒ่าพันทั้งที ผมเลยถือโอกาสขอเคล็ดลับจากแกเสียหน่อย “ฉันจะบอกให้ อ้ายสังขารนี่น่ะมันไม่เที่ยง วิญญาณมันก็ไม่เที่ยง ฉันอยู่มาถึงร้อยได้ยังไงน่ะหรือ มันก็อยู่ของมันอย่างเงี้ย เค้ายังไม่มารับเอาไปน่ะสิ” คือคำตอบจากปากแกที่ทำให้คนฟังได้แต่เกาศีรษะแกรกๆ

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา การค้นพบมนุษย์อายุร้อยปีในภูมิภาคต่างๆของโลกนำไปสู่การศึกษาและเชื่อมโยงกับปัจจัยที่ส่งผลให้พวกเขามีอายุยืนร่วมกัน ชาวเกาะโอะกินะวะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นกรณีศึกษา “คลาสสิก” ที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในข้อเขียนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการมีอายุยืนยาว แม้ชาวโอะกินะวะจัดว่าค่อนข้างยากจนเมื่อเทียบกับมาตรฐานความเป็นอยู่ของชาวญี่ปุ่นทั่วไป แต่อายุขัยเฉลี่ยที่มากกว่า 80 ปีของพวกเขาก็มากกว่าที่แห่งใดในโลก

แม้จะใช้ชีวิตอยู่บนเกาะเล็กๆ อันเงียบสงบ แวดล้อมด้วยธรรมชาติและอากาศบริสุทธิ์ แต่ชาวโอะกินะวะกลับไม่มีเวลาให้กับความเกียจคร้านมากนัก พวกเขาใช้แรงกายในการเพาะปลูก ทำการเกษตร เก็บผลผลิต และเดินขึ้น-ลงเนินเขาอย่างสม่ำเสมอ  อาหารการกินอย่างผักปลาล้วนมาจากสิ่งที่ปลูกเองและหาได้ในธรรมชาติ การบริโภคแบบ ฮาราฮาจิบุ  หรือหยุดกินอาหารก่อนท้องจะอิ่มดีก็เป็นวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นที่นักวิจัยเชื่อว่ามีส่วนทำให้ชาวโอะกินะวะอายุยืน นอกจากนี้ พวกเขายังแวดล้อมด้วยญาติสนิทมิตรสหาย มีน้ำจิตน้ำใจตามแบบฉบับชาวบ้านนอกผู้อารี

หลังอ่านบทความของดร.ปราโมทย์ ผมตัดสินใจเดินทางมายังจังหวัดเลย เขาสันนิษฐานอย่างนักวิชาการว่า ดินแดนแถบนี้น่าจะคลาคล่ำไปด้วยผู้สูงอายุ (รวมทั้งศตวรรษิกชน) ลักษณะภูมิประเทศลดหลั่นด้วยเนินเขาไม่สูงมากนัก เหมาะสำหรับการใช้พละกำลังโดยไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย สภาพอากาศสะอาดและเปี่ยมโอโซนที่มาจากทั้งแม่น้ำโขงและ ภูเขา  ส่วนวิถีบริโภคนั่นเล่าก็เรียบง่าย ไร้สารเคมี เขาเปรียบเปรยมณฑลแถบนี้ว่าเป็น “แชงกรีลาเมืองไทย”

ผมดั้นด้นมาถึงอำเภอภูหลวง จังหวัดเลย อำเภอที่มีผู้สูงอายุหนาแน่นที่สุดตามข้อมูลของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เส้นทางคดเคี้ยวพาเราตัดไหล่เขาและยอดภู เมื่อเข้าเขตอำเภอภูหลวง ป้ายพลาสติกเล็กๆตามต้นไม้สะดุดตาเรา หาใช่ข้อความแจ้งเตือนให้ระมัดระวังเหล่าบักหำน้อยข้ามถนนหลังเลิกเรียน แต่เขียนไว้ว่า “ขับช้าๆระวังผู้สูงอายุ” มีภาพประกอบเป็นแม่เฒ่าชะแรแก่ชรากุมไม้เท้าหลังงองุ้มและดูงกๆเงิ่นๆ

ผมนัดพบกับดร.บุญมา สุนทราวิรัตน์ หัวหน้าสาธารณสุขอำเภอภูหลวง ตัวเลขความหนาแน่นของผู้สูงอายุที่มากกว่าอำเภออื่นในจังหวัดเดียวกัน สะกิดใจเขาให้ลงมือค้นคว้างานวิจัยเล็กๆ ชิ้นหนึ่ง นั่นคือศึกษาศตวรรษิกชนในท้องถิ่น “ผมแปลกใจมากครับ อำเภอเล็กๆ มีประชากรแค่ 24,000 คน แต่กลับมีคนแก่เต็มไปหมด   ส่วนคนอายุร้อยปี ปีนี้ผมเจอถึง 5 คน นับว่าไม่น้อยนะครับ” เขาเล่า

อายุขัยเฉลี่ยของผู้ชายภูหลวงอยู่ที่ 75 ปี ส่วนผู้หญิงอยู่ที่ 81 ปี มากกว่าค่าเฉลี่ยของคนไทยซึ่งผู้ชายอยู่ที่ 69 ปี และผู้หญิงอยู่ที่ 73 ปีอยู่มากโข  หลังว่างเว้นจากภารกิจ ดร.บุญมามักไปเยี่ยมเยียนผู้เฒ่าผู้แก่ จนกระทั่งพบศตวรรษิกชน 3 คนที่เขานำมาเป็นกรณีศึกษาเปรียบเทียบ เป็นผู้หญิงสองคนและผู้ชายอีกหนึ่งคน เขากินนอนและขลุกอยู่กับพ่อเฒ่าแม่เฒ่าทั้งสามจนพบปัจจัยร่วมกัน “ที่เห็นชัดเจนที่สุดในสามคนนี้คือ ทุกคนเป็นคนอารมณ์ดีมาก” เขาลงท้ายเสียงลากยาว       “อีกเรื่องคืออาหาร ทั้งสามคนชอบกินอาหารพื้นบ้านครับเก็บผักที่ปลูกข้างรั้วกิน  เอามาแกง อ่อม หมก ย่าง  ไม่ค่อยกินผักตลาดกับเนื้อสัตว์กันหรอกครับ”

                ความพิเศษอีกประการของอำเภอภูหลวง คือลักษณะภูมิประเทศที่ก่อให้เกิดสภาพอากาศเฉพาะตัว ที่นี่มีลมพัดโชยตลอดทั้งวัน และโหมแรงขึ้นเมื่อราตรีมาเยือน ลมที่ว่านั้นเดินทางมาจากภูหลวง เคลื่อนผ่านช่องเขาเลียบแม่น้ำเลยไปสู่ภูนางผมหอม ภูกระดึง ไปจนถึงอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ภูเขาเหล่านั้นเป็นแหล่งป่าทึบบริสุทธิ์ที่หลงเหลืออยู่ไม่กี่แห่งของจังหวัดเลย และทำหน้าที่เป็นโรงฟอกอากาศชั้นเยี่ยม ดร.บุญมาพบว่าศตวรรษิกชนทุกคนที่เขาพบนั้น ล้วนแล้วแต่ปลูกบ้านอาศัยอยู่ริมแม่น้ำเลยที่ซึ่งลมพัดโกรกแรงตลอดเวลา เขาบอกว่า “ผมกำลังสงสัยเรื่องโอโซนครับ”

ขณะที่เส้นทางสู่ศตวรรษิกชนไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เราอาจไม่เพียงต้องมีพันธุกรรมที่ “ถูกต้อง” เท่านั้น แต่ต้องมีวิถีชีวิตที่เหมาะสมด้วย นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งเคยเปรียบเปรยว่า “หากคุณมียีนของเบนซ์ แต่ไม่เคยเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเลย คุณอาจไปได้ไม่ไกลเท่ากับรถฟอร์ดธรรมดาๆ ที่เปลี่ยนน้ำมันเครื่องเสมอๆ”

เคล็ดลับอายุยืนมีอยู่มากมาย ขณะที่ปราชญ์และภูมิปัญญาตะวันออกเชื่อเรื่องการควบคุมลมหายใจ การหายใจช้าเชือนช่วยให้เราอายุยืน  บ้างแนะว่าให้เลือกกินแต่น้อย และมีจิตใจผ่องใส  บ้างพูดถึงการฝึกควบคุมพลังชี่ ปราณ และธาตุ ส่วนวิทยาศาสตร์ตะวันตกเชื่อในการรักษาและการแพทย์สมัยใหม่ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีช่วยซ่อมแซมร่างกาย และงานวิจัยเกี่ยวกับการรักษาโรคด้วยสเต็มเซลล์กำลังได้รับความสนใจ

                แม้จะแตกต่างกัน แต่ทั้งหมดก็เพื่อให้เราอายุยืนขึ้นมิใช่หรือ

                หลังตระเวนเดินทางพบศตวรรษิกชนและผู้สูงอายุมากมาย ผมนึกภาพวันที่ตัวเองแก่ไม่ออกจริงๆ แต่ที่แน่ๆ (ถ้าผมอยู่ถึงวันนั้น) เนื้อหนังผมคงต้องเหี่ยวแห้ง เส้นผมร่วงและอาจหัวล้าน นัยน์ตาฝ้าฟาง หูเสื่อม แข้งขาอาจผุกร่อนจากการตรากตรำใช้งานในวัยหนุ่ม วิถีบริโภคอาหารขยะของผมอาจนำพาความดันโลหิตสูง เบาหวาน เส้นเลือดสมองตีบ และโรคหัวใจให้มาเยือน ผมอาจปวดหลังเพราะนั่งมากเกินไป ต้องกินยาเป็นกำมือ เป็นภาระของลูกหลาน ถ้ามองโลกแง่ร้ายที่สุด มะเร็งอาจมาเยือน แน่นอน ผมไม่อยากตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น ทุกคนก็เช่นกัน

                หากเป็นไปได้  หลายคนคงอยากนั่งไทม์แมชีนเพื่อย่นแวลาไปถึงวันนั้น พูดคุยกับตนเอง และถามไถ่ถึงชีวิตสนธยา

                แต่สำหรับคนที่อยู่ในวัยชราและบังเอิญได้อ่านสารคดีเรื่องนี้ คุณอาจนึกอยากย้อนเวลากลับไปมากกว่า เพื่อที่จะบอกกับตัวเองสมัยที่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ว่า “ได้โปรด! หยุดใช้ชีวิตแบบนี้เสียทีเถอะ”

กันยายน 2555