ผู้เขียน หัวข้อ: ดำดิ่งสำรวจโลกภูผาใต้สมุทร(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 2598 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
พวกเรานั่งรออยู่ในยานสำรวจใต้น้ำ ดีปซี (DeepSee) พลางเฝ้าดูลูกเรือตะโกนออกคำสั่งกันบนดาดฟ้าเรือ อาร์โก (Argo) จากนั้น  เรือก็ปล่อยยานสำรวจลงน้ำ  แล้วเราก็ลอยล่องเป็นเพียงจุดเล็กจิ๋วกลางมหาสมุทรแปซิฟิกอันกว้างใหญ่ กัปตันอาวี คลัปเฟอร์ ปล่อยน้ำเข้าถังอับเฉา  ยานค่อยๆจมลงท่ามกลางฟองอากาศที่ผุดขึ้นรายรอบ

พวกเราสามคน ได้แก่ คลัปเฟอร์, ไบรอัน สเกอร์รี ช่างภาพ และผม นั่งเบียดเสียดกันอยู่ในยานสำรวจ ดีปซี      ขนาด 1.5 เมตรที่แวดล้อมไปด้วยข้าวของจำเป็นทุกอย่างที่เราต้องใช้ในการดำลงไปสำรวจภูเขาใต้ทะเล (seamount) ชื่อ ลัสเกเมลัส (Las Gemelas)  ห่างจากอุทยานแห่งชาติกาโบบลองโก (Cabo Blanco) ในคอสตาริกาไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 500 กิโลเมตร

โดยทั่วไปแล้ว ภูเขาใต้ทะเลก่อตัวเมื่อภูเขาไฟยกตัวขึ้นจากพื้นทะเล แต่ไม่สูงถึงผิวน้ำ (หากโผล่พ้นน้ำก็จะกลายเป็นเกาะ) นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่ามีภูเขาใต้ทะเลอยู่ราว 100,000 ลูกที่มีความสูงอย่างน้อยหนึ่งกิโลเมตร แต่หากรวมภูเขาลูกอื่นๆที่มีตั้งแต่เนินเขาเตี้ยๆไปจนถึงเทือกเขาที่ทอดตัวยาวด้วยก็อาจมีอยู่นับล้านลูกก็เป็นได้ 

ที่ผ่านมาเราพบเห็นภูเขาใต้ทะเลซึ่งเป็นแหล่งฟูมฟักสรรพชีวิตใต้ทะเลลึกกันน้อยมาก จากจำนวนภูเขาใต้ทะเลทั้งหมด นักชีววิทยาทางทะเลสำรวจและศึกษาได้เพียงไม่กี่ร้อยลูกเท่านั้น

เมื่อปี 2011 ลอรา ชินชิลลา ประธานาธิบดีของคอสตาริกา ได้ประกาศให้ลัสเกเมลัสเป็นพื้นที่การจัดการภูเขาใต้ทะเล (Seamounts Marine Management Area) โดยมีเป้าหมายเพื่อ “กำหนดขอบเขตอย่างชัดเจนในการพิทักษ์พื้นที่ขุมทรัพย์ทางทะเลอันยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก”

แต่สำหรับภูเขาใต้ทะเลทั่วโลกแล้ว ขุมทรัพย์ดังกล่าวกำลังถูกคุกคาม นับวันการทำประมงน้ำลึกที่ใช้อวนลาก      ถ่วงโซ่หนักอึ้งลากไปตามภูเขาใต้ทะเลเพื่อจับปลาฝูงใหญ่ที่อยู่รายรอบมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น วิธีการเช่นนี้เป็นการทำลายปะการัง ฟองน้ำ และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังต่างๆที่มีอายุยืนนานแต่เติบโตช้า เมื่อชุมชนใต้ท้องทะเลเหล่านี้ถูกทำลายลง พวกมันอาจต้องใช้เวลาหลายร้อยหรือหลายพันปีในการฟื้นฟูตัวเองขึ้นมาใหม่

เนื้อตัวเรากลายเป็นสีเขียวอมฟ้าชวนขนลุกใต้แสงไฟที่เปิดไว้สลัวๆเพื่อให้สามารถมองเห็นภาพด้านนอกได้ แมงกะพรุนตัวใสแหวกว่ายเป็นจังหวะอยู่ในท้องน้ำมืดมิด พวกมันว่ายเข้ามาหาเราแล้วกระดอนออกไปทุกทิศทุกทาง กระเบนราหูสีขาวดำกระพือปีกโฉบมาเยี่ยมมองเรา ตอนนี้เรายังอยู่ในเขตแสงส่องถึง (photic zone) ที่ซึ่งแสงแดดส่องผ่านท้องน้ำ และให้พลังงานแก่พืชทะเลขนาดเล็กจิ๋วจำนวนมากมายมหาศาลที่สังเคราะห์แสง และเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนส่วนใหญ่ของโลก จากนั้นเราดำดิ่งลงไปกระทั่งห้วงน้ำรอบตัวกลายเป็นสีดำสนิท

ที่ระดับความลึกราว 200 เมตร แสงไฟสว่างจ้าของยานสำรวจก็ส่องให้เห็นก้นสมุทร ทันใดนั้น เราเห็นบางสิ่งที่อยู่พ้นรัศมีแสงไฟโผล่ขึ้นมาจากพื้นสมุทรที่หาไม่แล้วก็แทบไม่มีอะไรโดดเด่นเลย พวกเราพูดหยอกล้อกันว่าบางทีอาจจะเป็นซากเรือลำใหม่ แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นซากที่หลงเหลืออยู่ของภูเขาไฟใต้ทะเลที่อาจมีอายุเก่าแก่หลายล้านปี ไม่กี่นาทีต่อมา เสียงหมุนติ้วดังอู้อี้บอกให้เรารู้ว่า คลัปเฟอร์ได้ปรับเครื่องยนต์ขับดันไปอีกทางและบังคับให้ยานลอยลำอยู่เหนือพื้นสมุทรไม่กี่เซนติเมตร ในปล่องภูเขาไฟโบราณที่ปัจจุบันดับแล้วซึ่งให้กำเนิดลัสเกเมลัส

นี่เป็นการดำน้ำครั้งที่ห้าและครั้งสุดท้ายของเรากับยาน ดีปซี หลังจากปักหลักสำรวจลัสเกเมลัสมานานหนึ่งสัปดาห์ ระหว่างอยู่ที่นี่ พวกเราเฝ้าสังเกตสัตว์นานาชนิดที่อาศัยอยู่บริเวณยอดเขา รวมทั้งสัตว์ก้นสมุทรหรือสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลังที่ยึดครองท้องน้ำรอบๆ ภูเขาทะเลใต้แห่งนี้

ยานสำรวจของเราโผล่ขึ้นสู่ผิวน้ำหลังผ่านไปห้าชั่วโมงซึ่งถือว่าเร็วเกินไป เราเก็บอุปกรณ์ขึ้นเรือ อาร์โก และเริ่มเดินทางไกลกลับสู่ชีวิตเหี่ยวแห้งบนบก ที่ซึ่งเราจะวิเคราะห์ข้อมูลและเติมจิ๊กซอว์ชิ้นใหม่เพื่อปะติดปะต่อปริศนาแห่งห้วงสมุทรต่อไป

กันยายน 2555