ผู้เขียน หัวข้อ: องค์กรสาธารณสุขทั่วโลกเร่งควบคุมไวรัสโรต้า ไทยร่วมรณรงค์ใช้วัคซีน หยุดอัตราเสียชีวิตในเด็ก  (อ่าน 1237 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
วัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญในการดูแลสุขภาพซึ่งไม่เพียงช่วยป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐานของประเทศ เปรียบเสมือนอาวุธสำคัญในการป้องกันโรคที่ลงทุนน้อยแต่มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อช่วยให้ประชาชนมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นพร้อมกับมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในแต่ละปีวัคซีนสามารถป้องกันการเสียชีวิตได้ถึงปีละ 3  ล้านคนทั่วโลกและสามารถป้องกันความพิการของเด็กได้ถึงปีละไม่น้อยกว่า 750,000 คน ทั้งยังสามารถป้องกันโรคติดเชื้อไม่ให้ระบาดในชุมชนและอาจสามารถกำจัดโรคนั้นๆ ให้หมดสิ้นไป หากความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนสูงพอ เช่น โรคไข้ทรพิษที่ได้ถูกกำจัดให้หมดไปจากโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521
 
 
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมในโลกยุคปัจจุบัน ทำให้เชื้อโรคมีวิวัฒนาการ พัฒนาตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้น เกิดเป็นเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่คร่าชีวิตคนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่นโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า เป็นโรคที่ไม่สามารถกำจัดให้หายด้วยยาและเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กเล็กปีละกว่า 500,000 คน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขในหลายทวีปทั่วโลก องค์กรอนามัยโลก (WHO) จึงได้เฝ้าติดตามสถานการณ์และเริ่มต้นวิจัยวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้ามาตั้งแต่ต้นยุคค.ศ.1980 จวบจนปัจจุบันวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าได้รับการยอมรับให้ใช้เป็นวัคซีนพื้นฐานในประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศทั้งยุโรปและอเมริกา
 
 
ในอีกด้านหนึ่งองค์กรเพื่อการกุศลและบริษัทเอกชนระดับโลกก็ได้ร่วมมือกันในนาม Global Alliance for Vaccines and Immunisation (GAVI)  โดย บิลล์และเมลินดา เกตส์ ที่เล็งเห็นความสำคัญและเดินหน้าผลักดันให้เด็กเล็กในประเทศกำลังพัฒนาได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าเพื่อหยุดการแพร่ระบาดขั้นเด็ดขาด ทำให้หลายประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกาประสบความสำเร็จในการใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าและเป็นกรณีศึกษาให้อีกหลายประเทศนำไปปรับใช้ นอกจากนี้ GAVI ยังมีเป้าหมายในการระดมทุนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กอีก 250 ล้านคนในประเทศยากจนภายในปีค.ศ 2015 เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กเล็กลงให้ได้ถึง 4 ล้านคนทั่วโลก
 
 
สำหรับประเทศไทยถึงแม้ประชาชนโดยเฉพาะเด็กจะได้รับการดูแลด้านสุขอนามัยและได้รับวัคซีนพื้นฐานป้องกันโรคที่ดี แต่ทุกวันนี้โรคติดเชื้อก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น  หลายภาคส่วนจึงมีความพยายามผลักดันให้มีการอนุมัติใช้วัคซีนเพิ่มมากขึ้นเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้กับประชาชน วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าจัดเป็นวัคซีนเสริมที่พ่อแม่สามารถเลือกหยอดให้เด็กได้ แต่ยังมีประชาชนบางส่วนได้รับข้อมูลความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความรุนแรงของโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าจำกัดและไม่ได้ป้องกันโรคให้กับบุตรหลาน การแพร่ระบาดของโรคจึงยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องในทุกระดับสังคมในประเทศไทย เพื่อบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน ภาครัฐได้เร่งศึกษาวิจัยคุณค่าของวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าเพื่อกำหนดเป็นวัคซีนพื้นฐานเพิ่มเติม
 
 
นอกจากนี้ในภาคประชาชน มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ.2554 เพื่อเป็นตัวแทนของภาคประชาชน ทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางส่งเสริมความร่วมมือด้านวัคซีนในทุกภาคส่วนทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ และนักวิชาการ ก็ได้พยายามเผยแพร่ข้อมูลเพื่อกระตุ้นให้บุคคลทั่วไปรับรู้ถึงความสำคัญของวัคซีนและตื่นตัวกับการป้องกันโรคมากขึ้น
 

ในโอกาสที่มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน จัดสัมมนาภายใต้หัวข้อ “ประโยชน์ของวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าในมุมมองของสาธารณสุข” นพ.มานิต  ธีระตันติกานนท์ ประธานกรรมการมูลนิธิฯ ได้พูดถึงสถานการณ์การใช้วัคซีนในประเทศไทยและความสำคัญของวัคซีนว่า “ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการให้วัคซีนกับประชาชน เพราะมีการเพิ่มวัคซีนพื้นฐานให้กับประชาชนให้ครอบคลุมเรื่อยมา และยังมีความพยายามในการวิจัยวัคซีนอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นในปัจจุบันก็มีการวิจัยวัคซีนไข้เลือดออกซึ่งใกล้จะสำเร็จอาจจะภายใน 4-5 ปี วัคซีนโรคเอดส์ก็มีการวิจัยที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ปัจจุบันประเทศไทยมีการจัดตั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งองค์กรอิสระที่จะมาพัฒนาเรื่องวัคซีนโดยเฉพาะ โดยจะมีวาระวัคซีนแห่งชาติที่ครอบคลุมถึงการพัฒนาวัคซีนโดยประเทศไทยเอง และการร่วมมือกับต่างชาติในการพัฒนาวัคซีน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในอนาคต”
 
 
“นอกจากนี้ยังมีวัคซีนอีกหลายๆตัวที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาอยู่ว่าจะมีการนำมาใช้ในแผนการสร้างภูมิคุ้มกันแห่งชาติหรือไม่ วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าเป็นวัคซีนตัวหนึ่งที่อยู่ในขั้นตอนเตรียมการนำเสนอเข้าในแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยที่ผ่านมามีการทดลองนำวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าเข้าไปใช้ในพื้นที่โครงการนำร่องในจังหวัดสุโขทัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าภายใน 1-2 ปี ก็น่าจะมีการขยายผลเพื่อนำมาใช้ทั่วประเทศได้ สิ่งที่ยังต้องรอตอนนี้หนึ่งคือข้อมูลสนับสนุนที่หนักแน่นในเชิงวิชาการ
 
 
สองคือเรื่องราคาที่เหมาะสม และสามคือเรื่องการรับรู้ของประชาชนซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากที่จะช่วยผลักดันให้มีการอนุมัติใช้วัคซีนมากขึ้น แต่ปัจจุบันประชาชนยังไม่สนใจเรื่องการป้องกันโรคแต่ไปสนใจเรื่องการรักษาเฉพาะหน้ามากกว่า วันนี้มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชนจึงอยากจะสร้างแนวร่วมให้คนรับรู้ถึงคุณค่าของวัคซีนและลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องการได้รับวัคซีนที่จำเป็นมากขึ้น เพราะจริงๆแล้ววัคซีนมีคุณค่าสูงมากแต่คนส่วนใหญ่มักมองไม่เห็น เด็กทุกวันนี้เกิดมาได้รับวัคซีนขั้นพื้นฐานกันทุกคน พอโตมาไม่มีโรค มีชีวิตประจำวันผ่านไปได้อย่างปกติก็เลยไม่รู้ว่าวัคซีนให้ประโยชน์อย่างไร เรียกได้ว่าวัคซีน คือการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพที่สุดและลงทุนน้อย เพราะเมื่อเป็นโรคแล้วต้องรักษายิ่งต้องลงทุนเยอะ เมื่อเทียบกันแล้วมาตรการอื่นๆ ยังลงทุนมากกว่าการใช้วัคซีนเพียงตัวเดียว” นพ.มานิต  ธีระตันติกานนท์ กล่าวย้ำ
 
 
 
ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ได้อธิบายถึงสถานการณ์ของไวรัสโรต้าเพิ่มเติมว่า “องค์กรโลกมองว่าไวรัสโรต้าซึ่งทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงรุนแรงในเด็กเล็กเป็นปัญหาที่ต้องรีบแก้ไข เพราะโรคนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กเสียชีวิต ประเทศไทยเองก็มีเด็กเป็นโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าจำนวนมาก แม้จะไม่ค่อยมีรายงานเด็กเสียชีวิต แต่เพียงแค่เด็กป่วยก็ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ต้องทุกข์ทรมานและส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของพ่อแม่ โดยเฉพาะไวรัสโรต้ามีความเป็นประชาธิปไตยสูง ไม่เลือกเด็กรวยเด็กจน ถ้าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีก็มีโอกาสติดเชื้อได้หมด แม้แต่สหรัฐอเมริกาก็ยังพบการติดเชื้อโรคนี้ เพราะฉะนั้นในปีค.ศ.2015 องค์กรด้านสาธารณสุขทั่วโลกสัญญากันว่าจะต้องลดอัตราการตายของเด็กให้ได้ 2 ใน 3 แต่เท่าที่ผ่านมายังไม่ไปถึงไหน เพราะยังแก้ไม่ตรงเป้า
 
 
แต่สิ่งที่จะแก้ปัญหาได้ตรงเป้าคือการให้วัคซีนกับเด็ก เพื่อทำให้อัตราการติดเชื้อลดลง ในประเทศที่เจริญแล้วส่วนใหญ่จะกำหนดวัคซีนพื้นฐานหลายชนิดให้ประชากรได้รับ แสดงให้เห็นว่าประชาชนได้รับความคุ้มครองดี และรัฐบาลเห็นความสำคัญของเด็กที่จะโตขึ้นไปเป็นประชากรที่มีคุณภาพของประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่การสร้างรากฐานให้เด็กแข็งแรงสมบูรณ์เพื่อพัฒนาการที่ดีที่สุด วัคซีนป้องกันโรคเป็นหนึ่งในปัจจัยสามประการนอกจากเรื่องโภชนาการและการเลี้ยงดูที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างเต็มศักยภาพ ยิ่งปัจจุบันอัตราการเกิดน้อยลงมากยิ่งต้องรีบให้วัคซีนเพื่อป้องกันการเสียชีวิต ถ้าเราไม่เห็นคุณค่าของวัคซีนตั้งแต่วันนี้เราก็จะหมดโอกาสในการลงทุนเพื่อสร้างคนที่มีคุณภาพของประเทศในวันหน้าไปอย่างน่าเสียดาย”

ขณะที่ประเทศไทยยังคงเดินหน้าหาข้อสรุปในการใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า ประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า และเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้ประกาศให้ใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าเป็นวัคซีนพื้นฐานค.ศ.2011 ได้เริ่มต้นโครงการในระยะแรกด้วยการให้วัคซีนกับกลุ่มคนที่มีเศรษฐสถานะยากไร้ที่สุดของประเทศ
 
 
ศาสตราจารย์ ลูลู บราโว่ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในเด็กและโรคเขตร้อน  จาก College of Medicine of the University of the Philippines Manila ผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันให้รัฐบาลฟิลิปปินส์เดินหน้าประกาศใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าตามข้อแนะนำขององค์กรอนามัยโลก ได้แบ่งปันเรื่องราวความสำเร็จของโครงการในประเทศฟิลิปปินส์ว่า “ในประเทศฟิลิปปินส์มีเด็ก 3,500 คน ตายทุกปีเพราะโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำคือการบอกทุกคนรอบตัวให้ตระหนักถึงปัญหาและทางออกในการใช้วัคซีน เราได้สร้างแนวร่วมของกลุ่มผู้มีความรู้ในการช่วยกระจายข่าว เพราะมีคนเป็นจำนวนมากที่ไม่รู้ถึงความรุนแรงของโรคและไม่รู้ว่ามีวิธีการป้องกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีกำลังและอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจตัดสินใจ
 
 
นอกจากการเผยแพร่ข่าวให้ผู้คนรู้เรื่องวัคซีนและคุณค่าของวัคซีนต่อประเทศในทุกช่องทางการสื่อสาร ซึ่งทุกคนสามารถมีส่วนช่วย สิ่งสำคัญที่ทำให้น้ำหนักของการใช้วัคซีนน่าเชื่อถือยิ่งขึ้นคือการแบ่งปันข้อมูลกันระหว่างรัฐบาลของประเทศต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดวัคซีนเห็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จและเห็นผลในทางปฏิบัติที่ชัดเจน เช่นเดียวกันสำหรับประเทศฟิลิปปินส์หลังจากผู้มีอำนาจตัดสินใจอย่างปลัดกระทรวงสาธารณะสุขได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าแล้ว การได้เห็นตัวอย่างการใช้วัคซีนที่ได้ผลในประเทศเม็กซิโกก็เป็นแรงผลักดันให้โครงการเดินหน้าได้เร็วยิ่งขึ้น”
 
 
ศาสตราจารย์ ลูลู บราโว่ ยังได้กระตุ้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของวัคซีนว่า “วัคซีนมีใช้มากกว่า 200 ปี ตั้งแต่ครั้งแรกในประเทศอังกฤษ ช่วยควบคุมโรคบางโรคให้ลดความรุนแรงในการแพร่ระบาด และยังช่วยกำจัดบางโรคให้หมดไปอย่างเด็ดขาด มนุษย์เราอยู่รอดปลอดภัยจากโรคหลายชนิดมาได้ก็ด้วยวัคซีน ทั้งโรคไข้ทรพิษ และโรคไข้สมองอักเสบ  เพราะฉะนั้นแทนที่จะฝากความหวังไว้กับการรักษาโรคเพียงอย่างเดียว เราต้องตระหนักด้วยว่ายิ่งโลกเราเปลี่ยนแปลงไปเชื้อโรคต่างๆ ก็ยิ่งแข็งแรงขึ้น อีกทั้งโรคบางโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสนั้นไม่มีทางรักษา การใช้วัคซีนจึงถือเป็นการสร้างเกราะป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพที่ดีที่สุดให้กับร่างกาย นอกจากจะช่วยป้องกันการติดเชื้อแล้วยังช่วยป้องกันความเจ็บปวดทรมานที่ต้องอาศัยระยะเวลายาวนานกว่าในการเยียวยา”
 
 
ทั้งนี้ เพื่อร่วมรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของวัคซีน มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชนยังได้เดินหน้าในการสานต่อกิจกรรมเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้มูลนิธิได้จัดทำเว็บไซต์ของมูลนิธิและยังได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ให้คุณแม่ใช้เพื่อบันทึกประวัติการรับวัคซีนของลูก นอกจากนี้ในเดือนกันยายนทางมูลนิธิก็จะจัดโครงการรณรงค์เรื่องไวรัสโรต้าในชื่องาน “คุณร่วมหยุด เราร่วมหยอด เพื่อช่วยน้องปลอดไวรัสโรต้า” เพื่อร่วมรณรงค์สร้างคุณค่าของวัคซีนจากทุกภาคส่วนของสังคม และกระตุ้นให้ประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปกป้องเด็กไทยด้วยวัคซีน โดยทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ครั้งนี้ได้ในวันที่ 19 กันยายน 2555 ที่ ลานบันเทิง สวนลุมพินี