ผู้เขียน หัวข้อ: มหันตภัย 30 บาทรักษาทุกโรค ตอน ภัยต่อระบบการประกันสุขภาพ  (อ่าน 2953 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
ผู้เขียนได้แจกแจงถึงภัยของระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคมาแล้ว 3 ตอน คือ ภัยต่อประชาชน ภัยต่อบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และภัยต่อระบบบริการสาธารณสุขและงบประมาณแผ่นดิน ในตอนนี้ผู้เขียนจะขอชี้ให้เห็นมหันตภัยของระบบ 30 บาท ที่มีต่อการประกันสุขภาพของประเทศไทย

   การประกันภัย คือ การบริหารความเสี่ยงชนิดหนึ่ง ซึ่งจะโอนความเสี่ยงภัยของผู้เอาประกันภัยไปสู่บริษัทประกันภัย ทั้งนี้ผู้ต้องการประกันภัย จะต้องจ่ายเงินล่วงหน้าให้บริษัทประกันภัยเป็นจำนวนที่กำหนดตามสัญญา(กรมธรรม์)ที่ตกลงกันไว้ เมื่อเกิดความเสียหายขึ้น บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่ได้รับความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย

   โดยสรุป การประกัน(insurance) คือการบริหารความเสี่ยงรูปแบบหนึ่ง โดยมีองค์ประกอบสามส่วนคือ ผู้รับประกัน ผู้เอาประกัน ผู้รับผลประโยชน์

 ส่วนการประกัน(ภัย) สุขภาพหรือ Health Insurance เป็นการลดภาระค่ารักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วย ลดภาระบุคคลรอบข้าง เป็นการประกันภัยความเสี่ยงทางการเงิน ในกรณีเจ็บป่วย บริษัทประกันภัยจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามวงเงินของการตกลงกันไว้ล่วงหน้า ซึ่งผู้ที่ต้องการทำประกันสุขภาพ ก็จะต้องจ่ายเงินของตนล่วงหน้าให้แก่บริษัท(รับ)ประกันโดยมีข้อตกลงว่าเมื่อเจ็บป่วยแล้วจะได้รับการรักษาในวงเงินเท่าไร หรือครอบคลุมโรคอะไรบ้าง

  ในประเทศไทยมีระบบประกันสุขภาพสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ 3 ระบบ คือ

1.ระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบนี้รวมอยู่ในผลประโยชน์ที่ข้าราชการจะได้รับร่วมกับการได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทน จากการ”ทำราชการ” ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เพื่อกำหนด “สิทธิประโยชน์” ในการรักษาพยาบาลแก่ข้าราชการและครอบครัว ฉบับล่าสุดคือ พ.ร.ฎ.เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553

 ถึงแม้ว่าข้าราชการจะไม่ต้องจ่ายเงินล่วงหน้าแก่กรมบัญชีกลาง แต่ก็เหมือนกับว่ากรมบัญชีกลางได้ “หักเงินเดือนของข้าราชการทุกเดือน” กลับคืนสู่กรมบัญชีกลาง เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบเงินเดือนข้าราชการกับเงินเดือนภาคเอกชน สำหรับบุคลากรที่มีคุณวุฒิเหมือนกันแล้ว จะเห็นได้ว่าเงินเดือนในส่วนราชการนั้น น้อยกว่าเงินเดือนในภาคเอกชนมาก

 จึงเห็นได้ว่าการให้สวัสดิการต่างๆแก่ข้าราชการ เป็นการให้สัญญาล่วงหน้าว่า ประชาชนที่มาสมัครเป็นข้าราชการ เพื่อทำงานบริการประชาชนอื่นๆนั้น นอกจากจะได้รับเงินเดือนตามอัตราที่กำหนดไว้แล้ว ยังจะได้รับสวัสดิการอื่นๆนอกเหนือจากเงินเดือน รวมทั้งสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลสำหรับตนเองและครอบครัวด้วย เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มาสมัครสอบแข่งขัน เพื่อที่จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ
ระบบนี้เกิดขึ้นเพื่อสร้างหลักประกันให้กับข้าราชการซึ่งเป็นลูกจ้างของราชการและครอบครัวโดยทางราชการซึ่งเป็นนายจ้างใช้เงินภาษีจ่ายให้เป็นสวัสดิการ โดยกรมบัญชี กลางเป็นผู้บริหารและรับผิดชอบในการเบิกจ่ายเงินในระบบนี้โดยมีข้าราชการและครอบครัวประมาณ 5 ล้านคน ได้รับสวัสดิการจากระบบนี้   

โดยสรุประบบสวัสดิการข้าราชการเป็นระบบที่ข้าราชการไม่ได้จ่ายเงินของตนเองเข้าสู่กองทุนโดยตรง แต่จ่ายทางอ้อม คือ ยอมรับเงินเดือนต่ำ ยอมทำงานภายใต้กฎระเบียบ วินัย และการบังคับบัญชาและคำสั่งของผู้บังคับบัญชาและทางราชการ (ที่เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย) โดยไม่สามารถปฏิเสธได้

2.ระบบประกันสังคม เกิดขึ้นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2497โดยมีความมุ่งหมายที่จะให้มีสวัสดิการแก่ลูกจ้างในภาคเอกชน ได้รับความช่วยเหลือและได้รับการคุ้มครองเมื่อเจ็บป่วย  ตกงาน คลอดบุตร สงเคราะห์บุตณและสิทธิประโยชน์อื่นๆ ซึ่งได้มีการปรับปรุงพ.ร.บ.ประกันสังคมพ.ศ. 2533 เป็นฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยผู้ที่เป็นลูกจ้างจะต้องร่วมจ่ายเงินของตนเองเข้าสู่กองทุนประกันสังคมในอัตราส่วนร้อยละ 5 ของเงินเดือน โยนายจ้างจะต้องจ่ายสมทบในอัตราส่วนที่เท่ากัน และรัฐบาลต้องจ่ายอีกร้อยละ 2.75 สมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ทุกๆเดือน ทั้งนี้ในปัจจุบันผู้ประกันตน(ลูกจ้าง) จะได้รับสิทธิประโยชน์จากเงินกองทุนนี้ ทั้งหมดรวมทั้งสิ้นดังนี้คือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร ตาย 1.5%โดยนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาลจ่ายเท่ากัน  สงเคราะห์บุตร ชราภาพ 3% ว่างงาน 0.5% มีขึ้นเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับลูกจ้าง ธุรกิจเอกชน   ผู้มีส่วนร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายก็คือลูกจ้าง นายจ้าง และผู้เสียภาษี โดยมีสำนักงานประกันสังคม เป็นผู้บริหารโดยมีลูกจ้างประมาณ 10 ล้านคน ได้รับความคุ้มครอง(ประกันสุขภาพ)จากระบบนี้ นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์อื่นๆตามที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ประกันสังคม

3.ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค เกิดขึ้นตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545  หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือ National Health Security Act เป็นการให้ “หลักประกันสุขภาพ” แก่ประชาชนไทย 48 ล้านคน (ที่ยังไม่มีสิทธิ์ในการประกันสุขภาพจากทั้ง 2 ระบบดังกล่าวข้างต้น)  เมื่อเจ็บป่วยจะได้รับการรักษาโรคโดยจ่ายเงินเพียงครั้งละ 30 บาท ไม่ว่าการเจ็บป่วยนั้นจะมากน้อยเพียงใด ซึ่งได้มีการแก้ไขเป็นไม่ต้องจ่ายเงินเลยในปี 2550 และกลับมากำหนดให้จ่ายเงินในปี 2555 ครั้งละ 30บาทอีกครั้งหนึ่ง แต่มีข้อยกเว้นสำหรับผู้ไม่ต้องจ่ายเงิน และ “ไม่ต้องการจ่ายเงิน” อีก 21 ประเภท

เป็นระบบที่ใหญ่ที่สุด (ครอบคลุมประชาชน 48 ล้านคน)การบริหารจัดการบริหารจัดการโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและประชาชนผู้เสียภาษีเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายครอบคลุมบุคคลที่ไม่มีสิทธิประกันสังคมและสวัสดิการรักษาพยาบาล ข้าราชการ
โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำหน้าที่เป็นผู้บริหารภายใต้มติของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

4.ระบบสิทธิประโยชน์สวัสดิการรักษาพยาบาลของนักการเมือง ทั้งนี้นอกจากเงินเดือนแล้ว นักการเมืองจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอื่นรวมทั้งการประกันสุขภาพ ตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา  ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการพ.ศ.2555
ระบบนี้ นักการเมืองไม่ต้องจ่ายเงินของตนเองเข้าสู่กองทุน แต่จ่ายโยเงินภาษีของประชาชน ซึ่งในระบบการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลในระบบนี้ จะมีอัตรากำหนดไว้สูงที่สุดกว่าระบบอื่นๆที่ต้องจ่ายเงินจากภาษีของประชาชน

5.ระบบประกันเอกชน   
   เป็นระบบสมัครใจผู้ที่ต้องการได้สิทธิประโยชน์ตามข้อเสนอของบริษัทประกันสามารถซื้อบริการประกันสุขภาพได้จากบริษัทประกันภัยต่างๆ โดยที่ประชาชนรับผิดชอบจ่ายเงินเอง และบริษัทเอกชนแต่ละแห่งเป็นผู้บริหาร

 ความแตกต่างของ “ที่มาของเงินงบประมาณ”ในแต่ละกองทุน

  จะเห็นได้ว่าการประกันสุขภาพในประเทศไทยนั้นมีอยู่เพียง 4 ระบบที่เกิดขึ้นตามการบัญญัติของกฎหมายคือพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา ส่วนระบบสุดท้ายคือระบบประกันเอกชนนั้นเป็นระบบที่เกิดขึ้นตามความสมัครใจของประชาชนเอง โดยประชาชนต้องจ่ายเงินของตนเองทั้งหมดในการประกันสุขภาพของตน จึงจะไม่กล่าวถึงระบบนี้อีกในบทความนี้
ส่วนระบบอื่นที่เหลืออีก 4 ระบบ เป็นระบบที่ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินมา “ร่วมจ่าย”เป็น “ค่าประกันสุขภาพของประชาชนที่ได้รับสิทธิในการ “ประกันสุขภาพ” จึงควรพิจารณาดูว่า ได้บริหารงานคุ้มค่าเงินภาษี และประชาชนได้รับการคุ้มครองอย่างดีมีมาตรฐานหรือไม่ ในฐานะที่ผู้เขียนก็เป็นประชาชนผู้เสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมมาตลอด เช่นเดียวกับประชาชนอื่นๆ
 
1. ในระบบสวัสดิการข้าราชการ ต้องใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชนมาจ่ายทั้งหมด โดยข้าราชการไม่ได้จ่ายเงินของตนเองเข้าสู่กองทุนโดยตรง แต่จ่ายทางอ้อม คือ ข้าราชการยอมรับเงินเดือนต่ำ ยอมทำงานภายใต้กฎระเบียบ วินัย และการบังคับบัญชาและคำสั่งของผู้บังคับบัญชาและทางราชการ (ที่เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย) โดยไม่สามารถปฏิเสธได้

  2.ส่วนระบบที่ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์มีส่วนจ่ายเงินของตนเองโดยตรงเข้าสู่กองทุน ได้แก่กองทุนประกันสังคม ซึ่งลูกจ้างหรือที่เรียกว่า “ผู้ประกันตน” ต้องจ่ายเงินจากเงินเดือนของตนเอง 5% ทุกเดือน จึงจะได้รับสิทธิ์ในการรักษาพยาบาล โดยรัฐบาลจ่ายเงินจากภาษีสมทบเพียง 2.75% เท่านั้น สำหรับเงินส่วนที่ใช้ในการประกันสุขภาพคิดเป็น 1.5% (จาก 5%)
ฉะนั้น ถ้าลูกจ้างมีค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันหรือ 9,000 บาทต่อเดือน ก็ต้องจ่ายเงินของตนเองเดือนละ 135 บาท จึงจะได้รับการประกันสุขภาพ

นับว่า เป็นคนที่มีรายได้น้อย แต่ต้องรับผิดชอบจ่ายเงินค่าประกันสุขภาพด้วยตนเอง มีนายจ้างและเงินภาษีประชาชนช่วยจ่ายอีกฝ่ายละ 135 บาทเท่ากัน

 3.ในส่วนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จ่ายเงินจากงบประมาณแผ่นดินปีละมากกว่า 1 แสนล้านบาท โดยประชาชนในระบบไม่ได้จ่ายเงินของตนเองเข้าสู่ระบบ หรือจ่ายเพียง 30 บาทโดยเลือกที่จะไม่จ่ายก็ได้ ทั้งนี้มีประชาชน 48 ล้านคน ได้รับความคุ้มครองหรือสิทธิประโยชน์จากกองทุนนี้

 ซึ่งในจำนวนประชาชน 48 ล้านคนนี้ อาจจะมีคนจนไม่ถึง 20 ล้านคน แต่มีคนที่ไม่จน แต่ไม่ได้เป็นลูกจ้าง อาจเป็นเจ้าของกิจการ เป็นพ่อค้า คหบดี มีเงินมากมาย แต่มาเบียดบังใช้บริการฟรีให้ประชาชนที่ต้องเสียภาษีจ่ายเงินค่าประกันสุขภาพให้ฟรีๆ
ความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนสุขภาพ

  มีการกล่าวอ้างโดยทั่วไปว่า มีความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุน และมีผู้เรียกร้องให้เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียมในแต่ละกองทุน โดยเสนอให้มีการรวมกองทุนสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนในแต่ละกองทุนมีสิทธิในการได้รับบริการสุขภาพโดยให้เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

  ซึ่งในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 51 ได้บัญญัติไว้ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย “

 ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้เฉพาะผู้ยากไร้เท่านั้นที่มีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ให้สิทธิประชาชนทั้งยากไร้และไม่ยากไร้ ได้รับการบริการสาธารณสุขโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

   ที่สำคัญก็คือ โดยหลักการสากล การทำให้เกิดความ “เสมอภาค” นั้นไม่ได้ทำให้เกิด “ความเป็นธรรม” เสมอไป ทั้งนี้ เนื่องจากคนแต่ละคนย่อมมีคุณสมบัติหรือทรัพย์สมบัติไม่เท่าเทียมกัน การให้ความเสมอภาคแก่บุคคลที่ไม่เท่าเทียมกัน ยิ่งเป็นการทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมหรือเหลื่อมล้ำมากขึ้น
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเช่น คนที่มีรายได้น้อย ก็ไม่ต้องเสียภาษีรายได้ คนที่มีรายได้มากก็ต้องเสียภาษีมากตามอัตราส่วนที่กฎมายกำหนด หรือคนพิการ ทุพพลภาพ ก็ควรได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางมากกว่าคนที่ไม่พิการ คนชรา ก็ควรได้รับความช่วยเหลือจากสังคม เป็นต้น

   ฉะนั้นในสังคมที่เจริญแล้วและมีวัฒนธรรมที่จะจรรโลงสังคมให้อยู่อย่างเป็นปกติสุข  สังคมจึงต้องให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ผู้ยากไร้ และด้อยโอกาสในสังคม ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550

  แต่การที่สปสช.ให้สิทธิแก่ประชาชน 48 ล้านคน ได้รับบริการสาธารณสุขโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่ปีพ.ศ. 2550-2555 นี้ ได้ทำให้เกิดมหันตภัยแก่ระบบการบริการสาธารณสุขของไทยดังที่กล่าวแล้ว(มหันตภัย 30 บาทรักษาทุกโรค ตอน “ภัยต่อระบบบริการสสาธารณสุข” กล่าวคือ ทำให้ระบบการบริการสาธารณสุข“ไม่เหมาะสมและไม่ได้มาตรฐาน” เนื่องจากงบประมาณที่สปสช.ส่งให้แก่โรงพยาบาลนั้นไม่เพียงพอต่อการที่จะรักษามาตรฐานการบริการสาธารณสุขได้ เช่น การกำหนดการรักษาผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย โดยการเริ่มต้นล้างไตทางหน้าท้องก่อนเป็นครั้งแรกกับผู้ป่วยไตวายทุกคน (CAPD-first)   จนทำให้ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาเหล่านี้ตายไปมากกว่า 40% ในบางศูนย์ก็มีอัตราตายไปถึง 100% หรือการบังคับให้แพทย์สั่งจ่ายยารักษาผู้ป่วยมะเร็งได้เป็นเพียงบางชนิดเท่านั้น ไม่สามารถสั่งใช้ยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยได้ โดยให้ใช้ยาเฉพาะในบัญชียาหลักแห่งชาติเท่านั้น ซึ่งผลจากการรักษาที่ไม่ได้มาตรฐานก็ทำให้เกิด “มหันตภัยต่อผู้ป่วย” ดังที่ได้กล่าวแล้วเช่นเดียวกัน

   และสวรส. (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) ที่เป็นองค์กรแม่ที่ได้ “ออกลูก” เป็น สสส. สปสช. และสช.แล้ว ได้ส่งลูก(เครือข่ายสถาบัน)คือสพตร.(สำนักงานพัฒนาระบบตรวจสอบการรักษาพยาบาล ) ไปตรวจสอบการรักษาของแพทย์ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ และพบว่ามีแพทย์สั่งจ่ายยานอกบัญชียาหลักถึง 66% 

แทนที่สวรส.จะพูดว่ายาในบัญชียาหลักไม่สามารถครอบคลุมการรักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วยที่ยุ่งยากซับซ้อนได้ ทำให้แพทย์ต้องใช้ยานอกบัญชียาหลัก แต่สวรส.และสพตร.กลับ “บิดเบือนความจริง” หรือ “โกหก” ว่า แพทย์ “ยิงยา”หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทยา และส่งเรื่องให้ DSI สอบสวนแพทย์หลายร้อยคน แต่ในที่สุดก็ยังไม่มีรายงานจาก DSI ว่า มีการทุจริตประพฤติมิชอบของแพทย์ในกรณีสั่งยานอกบัญชียาหลักอย่างมากมายเหมือนที่สพตร.ออกข่าวแต่อย่างใด

 ผู้เขียนจึงขอเสนอให้รัฐบาลทำการตรวจสอบว่าสพตร.และสวรส. “โกหกหลอกลวงรัฐบาลให้หลงเชื่อได้หรือไม่”ในกรณีการกำหนดยาในบัญชียาหลักที่ไม่ครอบคลุมการรักษาโรคที่ยุ่งยากซับซ้อน จนทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการได้รับยาที่เหมาะสมที่สุดในการรักษาโรคของตน
นอกจากการโกหกเรื่องยาแล้ว สวรส.ยังไปโกหกรัฐบาลให้หลงเชื่อว่า การรวมกองทุนสุขภาพ 3 กองทุนจะทำให้ระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพยั่งยืน โดย สวรส.ยัง” ออกลูก” มาเป็นสวปก. (สำนักงานวิจัยระบบประกันสุขภาพไทย) โดยมีโครงการวิจัยที่ต้องการผลลัพท์คือ “ลดความเหลื่อมล้ำในระบบประกันสุขภาพ” แล้วอ้างผลการวิจัยของสวปก. เสนอต่อนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ครม.แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ โดยตั้งเป็นสำนักงานพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ (สพคส.) ใน”เครือสถาบันสวรส.” หรือเท่ากับสวรส. “ออกลูก”เป็นสพคส.ตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2553 โดย มีเป้าหมายที่จะดำเนินการตามแผนการ (โดยอ้างธรรมนูญสุขภาพหมวด 12)ดังต่อไปนี้คือ

1.   จะต้องมีระบบการเงินการคลังรวมหมู่ที่ยั่งยืน ไม่มุ่งเชิงธุรกิจ
2.   โดยตั้งเป้าหมายภายในปี 2563 จะให้จ่ายจากครัวเรือนไม่เกินร้อยละ 20
3.   โดยรายจ่ายสุขภาพมีอัตราเพิ่มไม่มากกว่าอัตราเพิ่มของ GDP 
4.   โดยมีแหล่งเงินมาจากระบบภาษีอัตราก้าวหน้า และเพิ่มการจัดเก็บภาษีจากบริการสาธารณสุขที่มุ่งเน้นผลประโยชน์เชิงธุรกิจและสินค้าที่ทำลายสุขภาพ
5.   ขยายสิทธิครอบคลุมคนไทยทุกคน และหลีกเลี่ยงการเก็บเงินแบบร่วมจ่าย ถ้าทำต้องไม่ใช่เพื่อเรื่องรายได้ และต้องคุ้มครองคนจน
6.   ให้เป็นระบบการคลังรวมหมู่แบบปลายปิด กำหนดวงเงินใช้จ่ายล่วงหน้า

ซึ่งเมื่อดูจากแนวทางที่สพคส.ตั้งธงไว้ ก็คือ ไม่ต้องการให้ประชาชนร่วมจ่ายเงินในการดูแลรักษาสุขภาพของตน ต้องการให้เป็นเงินงบประมาณจากภาษีประชาชนทั้งหมด และต้องการให้มีแหล่งที่มาของเงินที่จะมาใช้จ่ายในกองทุนจาก “การเก็บภาษีก้าวหน้า” และต้องการรวมกองทุนสุขภาพ 3 กองทุนให้มาอยู่ภายใต้การบริหารเดียวกันให้เป็นผลสำเร็จ

  และไม่ต้องสงสัยเลยว่า ผู้ที่จะมาเป็นผู้บริหารกองทุนที่รวมแล้วนี้ จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากกลุ่มพรรคพวกของ สวรส.  ซึ่งปัจจุบัน ก็ยึดกุมอำนาจในการบริหาร สงวรส. สสส. สช. สปสช. และองค์กรลูกทั้งหลายทั้งปวง ที่ใช้เงินงบประมาณจากภาษีของประชาชนรวมทั้งสิ้นประมาณ 300,000 ล้านบาท (สมแสนล้านบาท)

 โดยที่ยังไม่มีหน่วยงานใดทำการตรวจสอบและประเมินการทำงานอย่างเป็นทางการว่า มีการใช้เงินไปอย่างเหมาะสม สุจริต โปร่งใส หรือหมกเม็ด ทุจริต เบียดบังผลประโยชน์ไปสำหรับตนเองและพรรคพวกโดยมิชอบ
ตามมติครม.เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2547 นยุคพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติว่า กพร. มีหน้าที่ตรวจสอบและประเมินผลงานขององค์กรเหล่านี้ ที่ตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.เฉพาะ และกำหนดไว้ว่า ถ้าองค์กรเหล่านี้ ทำงานโดยไม่ประหยัด และไม่คุ้มค่า ครม.สามารถยุบองค์กรเหล่านี้ได้ (3) แต่ยังไม่เห็นว่ากพร.จะได้ไปตรวจสอบและประเมินผลองค์กรเหล่านี้แต่อย่างใด อาจถือได้ว่ากพร.ละเลยหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ใช่หรือไม่?  ส่วนธง(เป้าหมาย)ที่สพคส.ตั้งไว้ข้อ 4 ก็คือการ “จัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า และเก็บภาษีจากจากบริการสาธารณสุขที่มุ่งเน้นผลประโยชน์เชิงธุรกิจและสินค้าที่ทำลายสุขภาพ “ หมายความว่า ถ้าเงินงบประมาณที่จะใส่เข้าไปในกองทุนสุขภาพใหญ่นี้มีไม่เพียงพอ และไม่ต้องการให้ประชาชนร่วมจ่ายด้วย ก็จะต้องมีการ “ขึ้นอัตราการเก็บภาษีจากประชาชน รพ.เอกชน และสินค้าบาป”

  แต่เนื่องจากในปัจจุบันนี้ ยังไม่มีการเพิ่มอัตราการ “เก็บภาษีก้าวหน้า”จนมี “เม็ดเงิน” ใส่เข้ามาในกองทุนหลักประกันสุขภาพให้เพียงพอต่อการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนอย่างเพียงพอ จึงเกิดเหตุการณ์ที่สปสช.ได้พยายามที่จะ “จำกัดค่าใช้จ่าย”ในการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนในระบบ 30 บาท เช่นการจำกัดรายการยา การจำกัดวิธีการรักษา โดยไม่เคยไป “จำกัดการมาใช้บริการสาธารณสุข” หรือจำกัดจำนวนครั้งที่ประชาชนจะมารับบริการสาธารณสุขได้

  ทำให้เงินงบประมาณที่จะให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนไม่เพียงพอ และไม่สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ตามมาตรฐาน เกิดมหันตภัยต่อประชาชน บุคลากรสาธารณสุขและระบบบริการสาธารณสุขดังกล่าวแล้ว

  แต่สปสช. ได้ทำการ “โกหก” คือไม่ได้บอกความจริงให้ประชาชนทราบว่า การบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ก่อให้เกิดมหันตภัยดังกล่าว สปสช.ได้แต่โฆษณาว่า  “30 บาทรักษาทุกโรคอย่างมีมาตรฐาน”
การบริการสาธารณสุขจะมีมาตรฐานได้อย่างไร? ในเมื่อขาดเงิน ขาดยา ขาดบุคลากรทางการแพทย์และขาดมาตรฐานทางการแพทย์และสาธารณสุข ดังกล่าวมาแล้ว

แต่สปสช.ไม่หยุดอยู่แค่การโกหกประชาชน สปสช.ยังโกหกกรมบัญชีกลางว่า จะแก้ปัญหาการใช้เงินในระบบสวัสดิการข้าราชการได้ ก็ต้องทำตามที่สปสช.ทำกล่าวคือ จำกัดรายการยา และคิดอัตราการรักษาผู้ป่วยในแบบรายกลุ่มโรค (Diseases Related Group) ในราคาต่ำกว่าราคาค่าใช้จ่ายจริงในการรักษาผู้ป่วย แบบที่สปสช.ใช้อยู่

ในส่วนผู้ป่วยในก็ให้ “จำกัดงบประมาณ” โดยระบบเหมาจ่ายรายโรค(Diseases Related Group) โดยจ่ายให้โรงพยาบาลน้อยกว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง

 ทำให้โรงพยาบาลประสบปัญหาขาดทุนอย่างรุนแรง เนื่องจากก่อนที่กรมบัญชีกลางจะคิดราคารักษาผู้ป่วยแบบที่สปสช.ใช้นั้น โรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยสวัสดิการข้าราชการและผู้ป่วยประกันสังคม ต้องนำเงินที่ได้จากการรักษาผู้ป่วยทั้ง 2 ระบบนี้ มาจ่ายชดเชยการขาดทุนในระบบ 30 บาท (ทำให้กรมบัญชีกลางต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นอีกมาก ในการรักษาพยาบาลข้าราชการ)

 เมื่อกรมบัญชีกลางหันมาใช้ระบบเดียวกับสปสช. จึงทำให้รพ.ไม่ได้รับเงินจากระบบสวัสดิการข้าราชการมาชดเชยการขาดทุนจากสปสช.อีกต่อไป ทำให้ปัญหาการขาดทุนรุนแรงขึ้น

  และการที่จะประหยัดเงินในการรักษาผู้ป่วยนอก สปสช.ก็แนะนำกรมบัญชีกลางให้จำกัดรายการยาที่ผู้ป่วยจะได้รับ ไม่ให้แพทย์ใช้ยาได้อีก 9 กลุ่ม เพื่อ “ประหยัดงบประมาณค่ายา”

  พร้อมทั้งมีการเสนอให้ครม.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนด ระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์ ทั้งนี้ มีเป้าหมายที่จะ”ลดค่าใช้จ่ายในการบริการสุขภาพ” โดยการควบคุมกำกับการใช้ยา กำกับการเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักและยาต้นแบบในระบบหลักประกันสุขภาพ ส่งเสริมการใช้ยาชื่อสามัญ กำหนดแนวทางเวชปฏิบัติ และข้อบ่งชี้การใช้ยานอกบัญชียาหลัก  รวมถึงข้อบ่งชี้การตรวจวินิจฉัยโรคและการรักษาด้วยเทคโนโลยีราคาแพง  กำหนดกลไกกลางในการตรวจสอบการเบิกจ่ายและการจ่ายยา  และปรับอัตราการจ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมให้เป็นเอกภาพระหว่างกองทุน  และการพัฒนารูปแบบการจ่ายเงินแบบตกลงราคาล่วงหน้าบริการผู้ป่วยนอก

 โดยสรุปก็คือสพคส. สวรส. และสปสช.ต่างก็บิดเบือนความจริงว่า แพทย์ใช้ยาฟุ่มเฟือย ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณเกินจำเป็น จึงต้องหาทางประหยัดงบประมาณ โดยการตั้งคณะกรรมการมาทำหน้าที่ในการ “ประหยัดงบประมาณ” ค่ายา ค่าตรวจวินิจฉัย และค่ารักษาผู้ป่วยในทุกกองทุน
ฉะนั้นจึงสรุปได้ว่า 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้เกิดมหันตภัยแก่ระบบประกันสุขภาพอื่นๆ ที่จะถูกควบคุมการตรวจวินิจฉัย การรักษาและการใช้ยาให้มีมาตรฐานเลวเหมือนกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 สปสช.ยังโกหกอีกว่าโรงพยาบาลไม่ขาดทุน มีเงินเหลือเพิ่มขึ้น และสปสช.ประหยัดงบประมาณได้ถึง 4,000 ล้านบาท แต่ในความเป็นจริง การที่สปสช.อ้างว่าประหยัดเงินได้จากการจัดซื้อยาแทนโรงพยาบาลนั้น สปสช.ได้นำเอาเงินค่าตอบแทนการซื้อยาเอาไปเป็นประโยชน์แก่บุคลากรสปสช.เอง โดยที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ก็ชี้ว่าไม่ถูกต้อง
แต่สปสช.ก็ยังยืนยันว่าได้ชี้แจงไปแล้ว ในขณะที่กรรมการตรวจสอบความผิดของสปสช.ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตั้งขึ้นมาตรวจสอบนั้น ก็มีความเห็นว่าสปสช.ทำไม่ถูกต้องตามที่สตง.ชี้ประเด็นแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการลงโทษผู้กระทำผิดแต่อย่างใด น่าจะถือได้ว่า นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้กำกับดูแลสปสช.ได้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ “กำกับสปสช.” มาโดยตลอด

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังพบว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ ที่มติครม.กำหนดสปสช.ต้องถูกตรวจสอบและประเมินผลงานโดยกพร. แต่ก็ไม่ปรากฏว่า กพร.ได้ทำการตรวจสอบและประเมินผลงานของสปสช.แต่อย่างใด อันอาจจะถือได้ว่าสำนักงานกพร.ละเลยการปฏิบัติหน้าที่นี้

  ในขณะที่สปสช.กลับไป”ว่าจ้าง” ให้บริษัทเอกชนมาประเมินผลงานของตน น่าจะถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
 คงต้องรอดูว่า เมื่อไรสวรส. สพคส. และสปสช. จึงจะยอมสารภาพเรื่องโกหก เหมือนท่านรองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งทีเพิ่งออกมาสารภาพเรื่อง “โกหกสีขาว” จะได้มีการยุติมหันตภัยต่อระบบการประกันสุขภาพ ทั้งหลายในประเทศไทยเสียที

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)
7 ก.ย. 55


เอกสารอ้างอิง
  1.http://www.hsri.or.th/about/introduction

2. http://www.hsri.or.th/plans/34
3. . http://www.tmi.or.th/docs/midyear2.ppt
4.รายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัยและค่าบริการทางการแพทย์ ครั้งที่ 3 วันที่ 15 สิงหาคม 2555