ผู้เขียน หัวข้อ: "เด็กวิทย์หัวใจศิลป์" เทคโนฯ การศึกษาแพทย์ ม.มหิดล  (อ่าน 1819 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
เคยสงสัยกันไหมว่า ภาพถ่าย และสื่อทางการแพทย์ในหนังสือแบบเรียน หรือที่เราเห็นกันตามโรงพยาบาลนั้น ใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ? จะใช่ช่างภาพที่เราเห็นทั่วไปหรือเปล่า หรือว่าคุณหมอเป็นคนลงมือทำเอง
       
       คำตอบจริงๆ คือ ผลงานของนักศึกษาจากสาขาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์
       
       จุดเริ่มต้นหลักสูตรด้านเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ในประเทศไทย นั้น เริ่มจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ส่งอาจารย์แพทย์ที่มีความสนใจในด้านสื่อไปศึกษา ด้านการวาดภาพทางการแพทย์ และ การถ่ายภาพทางการแพทย์ ณ มหาวิทยาลัยอิลินอยส์และมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 จนกระทั่งเกิดเป็นการก่อตั้งโรงเรียนช่างภาพการแพทย์ หรือโรงเรียนเวชนิทัศน์ รับนักเรียนชั้น ปวส. เข้าศึกษาปริญญาตรีต่อเนื่อง
       
       ผศ.บัญชา พิทยวรานันท์ อดีตประธานหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า ต่อมาตามระเบียบข้อบังคับของกระทรวงศึกษาธิการ จึงมีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี เต็มรูปแบบ ในชื่อ หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (Medical Education Technology Faculty of Medicine Siriraj Hospital Mahidol University) ซึ่งนักศึกษารุ่นแรกของหลักสูตรนี้ กำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 4 และนับเป็นหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี ด้านเทคโนโลยีการศึกษาทางการแพทย์หลักสูตรแรกในประเทศไทย เป็นหลักสูตรที่มีเนื้อหาวิชาผสมผสานระหว่าง 4 สาขาวิชา ใหญ่ๆ ได้แก่ ศิลปกรรมศาสตร์ นิเทศศาสตร์ เทคโนโลยีการศึกษา และวิทยาศาสตร์การแพทย์ขั้นพื้นฐาน
       
       “ผมยอมรับว่านักศึกษาหลักสูตรนี้ อาจจะยังสู้นักศึกษาในสาขานิเทศศาสตร์ไม่ได้ในงานบางประเภท เพราะมีเวลาเรียนน้อยกว่า แต่เราก็มีจุดเด่นเรื่องการทำงานได้หลากหลายประเภท โดยเฉพาะเอกลักษณ์สำคัญ คือ เรื่องการนำศาสตร์แขนงต่างๆ มาประยุกต์กับศาสตร์ด้านการแพทย์ ซึ่งเป็นจุดเด่นของหลักสูตร ที่มีการผนวกเรื่องแพทยศาสตร์เข้ามา โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากความจำเป็น เพราะการเรียนการสอนวิชาแพทย์นั้น การจะศึกษาอวัยวะภายในย่อมไม่สามารถเห็นด้วยตาเปล่า จึงต้องมีสื่อที่เป็นเครื่องมือประกอบคำอธิบาย ประกอบตำรา ทำให้เข้าใจได้ง่าย นักศึกษาโรงเรียนเดิมที่จบไปส่วนใหญ่จึงทำงานในด้านการศึกษา คณะด้านสาธารณสุขต่างๆ ตามมหาวิทยาลัย รวมถึงองค์กรต่างๆที่เกี่ยวกับแพทย์ เพราะบัณฑิตนิเทศศาสตร์ หรือสาขาอื่นๆประเภทนี้ ยังขาดความรู้ด้านการแพทยศาสตร์”
       
       ผศ.บัญชา ย้ำเพิ่มเติมว่า หลักสูตรลักษณะนี้ ในต่างประเทศ จะเป็นการศึกษาในระดับปริญญาโท ส่วนเมืองไทยก็มีที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเป็นแห่งแรก และมีความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่นโดยเปิดเป็นโรงเรียนลักษณะเดียวกันกับโรงเรียนเวชนิทัศน์เดิม
       
       ด้าน นักศึกษารุ่นแรกภายหลังเปลี่ยนมาเป็นหลักสูตรปริญญาตรี อย่าง “รัชฎาพร จั่นเจริญ” และ “จุฑามาศ อยู่เจริญ” เล่าว่า นักศึกษาจะได้เรียนทั้งด้านกราฟิก คอมพิวเตอร์ในการออกแบบ การถ่ายภาพ วีดิทัศน์ การทำโมเดลจำลอง แต่สิ่งที่แตกต่างโดดเด่น คือ การเรียนวิชาทางด้านแพทย์ด้วย
       
       “ความแตกต่างที่นักศึกษาคณะนี้ ต่างจากนักศึกษาด้านศิลปะ หรือนิเทศศาสตร์ คือ ต้องเรียนพื้นฐานทางการแพทย์ด้วย รวมถึงการวาดภาพทางการแพทย์จากหลักกายวิภาคจริง ผ่านการศึกษาอาจารย์ใหญ่ ภาพที่ออกมาต้องสมจริงนำไปใช้ในการเรียนการสอนได้ เพราะหลักสูตรนี้ เน้นผลิตบุคลากรที่ทำสื่อสำหรับการแพทย์ ยกตัวอย่างเช่น การถ่ายภาพอวัยวะต่างๆภายในร่างกาย ต้องมีเทคนิคที่แตกต่างจากการถ่ายภาพทั่วไป อย่างภาพดวงตาของการแพทย์นั้น ต้องมีการถ่ายให้เห็นเรตินา รูม่านตา หรือร่องรอยของโรคที่เกิดขึ้น รวมถึงการถ่ายภาพในห้องผ่าตัด ซึ่งมีเทคนิคการจัดแสง การใช้แฟลช การเก็บรายละเอียดต่างๆของภาพเพื่อใช้ในทางการแพทย์โดยเฉพาะ”
       
       นักศึกษารุ่นบุกเบิก ยังเล่าเพิ่มเติมว่า นอกจากงานด้านภาพถ่าย หรือการวาดภาพแล้ว ยังมีงานประเภทการทำหุ่นจำลอง ที่ต้องสร้างแบบจำลองทางการแพทย์ เช่น อวัยวะต่างๆที่ทำให้นักศึกษาแพทย์ได้ศึกษาง่ายขึ้น โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความถูกต้องของผลงาน เพราะมีอาจารย์จากคณะแพทยศาสตร์ สาขากายวิภาค ช่วยพิจารณาทุกครั้ง ว่ามีความถูกต้องเพียงใด
       
       สำหรับน้องๆที่สนใจอยากศึกษาในสาขานี้ รุ่นพี่ทั้งสองบอกว่า ก็ใช้วิธีสมัครสอบเหมือนกับการสมัครเรียนในระบบอุดมศึกษาทั่วไป โดยควรจะมีพื้นฐานทางการวาดภาพบ้าง แต่สำคัญที่สุด ต้องไม่เป็นโรคตาบอดสี และสำหรับผู้สำเร็จ ก็ไม่จำเป็นต้องทำงานด้านแพทย์ก็ได้ เพราะนักศึกษาทุกคน ต่างก็มีความสามารถด้านนิเทศศาสตร์ ด้วย
       
       “ด้วยการที่เราเรียนหลากหลายด้าน ก็ทำให้นักศึกษารุ่นก่อนๆที่จบไปจากโรงเรียนเวชนิทัศน์ สามารถทำงานได้หลากหลาย อย่างไรก็ตาม บุคลากรด้านเทคโนโลยีการศึกษาแพทย์ในประเทศไทยยังขาดพอสมควร เพราะเป็นหลักสูตรรองรับเทคโนโลยีการศึกษาด้านแพทยศาสตร์โดยเฉพาะ จึงไม่ต้องห่วงว่าเรียนจบแล้วจะตกงาน”


ผู้จัดการออนไลน์ 31 สิงหาคม 2553