ผู้เขียน หัวข้อ: โต้วาทีภาษาอังกฤษ ม.มหิดลอินเตอร์ คว้าแชมป์ประเทศไทย 2 สมัยซ้อน  (อ่าน 1949 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
นักศึกษาจากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังแกร่ง รักษาแชมป์โต้สาระวาทีภาษาอังกฤษระดับประเทศ เป็นสมัยที่ 2 จากเวที The 6th EU - Thailand National Inter-Varsity Debate Championship
       
       การแข่งขันการโต้สาระวาทีภาษาอังกฤษระดับประเทศ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในปัจจุบัน คือ งาน The EU - Thailand National Inter-Varsity Debate Championship ซึ่งในปีนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 แล้ว โดยครั้งนี้ จัดขึ้น ณ หอประชุมใหญ่ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา มีผู้เข้าร่วมงานประกอบไปด้วย นิสิตนักศึกษานักเรียน ตัวแทนจากสำนักงานสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย และจากสถานทูตของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป
สำหรับการแข่งขันโต้สาระวาทีภาษาอังกฤษในปีนี้ เน้นวัตถุประสงค์มุ่งปลุกจิตสำนึกของเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีทัศนะคติที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งรูปแบบในการจัดการแข่งขันนั้นจะให้มีความเป็นมิตรใกล้ชิดกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด
       
       ทั้งนี้ ภายหลังจากแข่งขันกันมาตลอดสัปดาห์ จนสู่การแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศเมื่อวันศุกร์ที่ 3 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา ได้ทีมคู่แข่งขันรอบสุดท้าย โดยเป็นการพบกันระหว่างนักโต้วาทีจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในฐานะฝ่ายรัฐบาล และวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะฝ่ายค้าน ภายใต้ญัตติ This house believes that the EU emission trading scheme can serve as a model for Thailand ซึ่งภายหลังจากการแข่งขันกันอย่างสูสี ผู้คว้าแชมป์ประจำปีนี้ ก็ได้แก่ ทีมนักศึกษาจาก วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล

ทีมผู้ชนะในครั้งนี้ประกอบไปด้วย หนุ่มลูกครึ่งไทย-ฟิลิปปินส์ “ปัญญารักษ์ โร้ค” หนุ่มเกาหลีอารมณ์ดี “ทาวิน คิม” และสาวมั่นจากไต้หวัน “เวน ยู เวง”
       
       คนเก่งทั้งสาม เผยว่า รู้สึกมีความสุขมากที่ได้รางวัล เพราะต่างก็ฝึกฝนกันมาเป็นอย่างหนัก และศึกษาค้นคว้าข้อมูลมานานเพื่อการแข่งขันครั้งนี้ โดยฝึกฝนกันทุกวัน วันละหลายชั่วโมง โดยเฉพาะสองหนุ่มผู้น่วมทีมนั้น ถือเป็นครั้งแรก ที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันระดับประเทศอีกด้วย
       
       “พวกเราเตรียมตัวฝึกฝนการโต้วาทีทุกคืน ทั้งที่บ้าน และที่มหาวิทยาลัย ไม่ต่ำกว่าวันละ 3 ชั่วโมง โดยมีแหล่งข้อมูลหลากหลลาย ทั้งพยายามอ่านข่าวสารจากทั่วโลก จากหนังสือพิมพ์ ค้นคว้าเพิ่มเติมจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ เช่น นิวยอร์คไทม์” ปัญญารักษ์ กล่าว
       
       ด้านสาวไต้หวัน ผู้เคยเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้คว้าแชมป์จากปีที่แล้ว เผยถึงเทคนิคในการโต้สาระวาทีว่า แม้อยู่บนเวทีจะรู้สึกกดดัน ตื่นเต้น แต่ก็จะคิดว่ามีเพื่อนๆกำลังลุ้น ให้กำลังใจอยู่ ก็จะทำให้ตั้งใจมากขึ้น แม้จะกดดันก็ตาม พร้อมทั้งคาดหวังว่าต้องทำได้
       
       ขณะที่หนุ่มไทย-ฟิลิปปินส์ เผยว่า เมื่ออยู่บนเวทีการแข่งขัน ก็รู้สึกเป็นเกียรติ เพราะเป็นครั้งแรกที่โต้วาทีต่อหน้าผู้ชมจำนวนมาก รวมทั้งยังรู้สึกกดดัน ตื่นเต้น แต่ในอนาคต หากมีการแข่งขันอีก ก็คงหาโอกาสเข้าร่วมเพื่อพัฒนาตัวเองอีก เพราะรู้สึกสนุกกับกิจกรรมนี้ เนื่องจากเป็นการฝึกตัวเองให้มีทักษะความรู้ในการวิเคราะห์

ด้าน เวน ยู เวง กล่าวเสริม ในฐานะผู้ที่ได้รางวัล Best Speaker อีกหนึ่งตำแหน่ง ว่าการโต้วาทีนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่เธอทำได้ดีที่สุดในชีวิต
       
       “ฉันคิดว่า การโต้วาทีเปลี่ยนชีวิตทำให้เปิดโลกความคิด การวิเคราะห์ ช่วยเปลี่ยนจากเด็กขี้อาย เป็นเด็กที่กล้าแสดงออก เป็นสิ่งดีๆที่สอนให้เรารู้จักตั้งคำถามกับปัญหาหลายๆอย่าง นอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน เพราะเราต้องติดตามข้อมูลจากข่าวสารต่างๆ ซึ่งฉันเองก็ไม่เคยคิดว่าจะต้องศึกษาเรื่องการเมือง เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องทุกๆอย่างที่เป็นไปบนโลก แต่การโต้วาที ก็ทำให้ฉันต้องศึกษามันมากขึ้น ทั้งยังเสริมความมั่นใจให้กับตัวเองอีกด้วย”
       
       สอดคล้องกับปัญญารักษ์ ที่บอกว่าทำให้ตนเองได้ติดตามข่าวสารอย่างหลากหลายมากกว่าเดิม ได้รู้เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในโลก ทำให้ต้องสนใจทุกๆสิ่ง และรู้จักคิดวิเคราะห์ตาม ว่าคนอื่นๆทำอะไรกันอยู่บ้าง แล้วเรากำลังทำอะไร
       
       ส่วน คิม หนุ่มเกาหลี กล่าวปิดท้ายว่า การโต้วาทีทำให้ขาต้องอ่านตำรามากกว่าเดิม เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดได้มาก
       
       “เมื่อได้ทำกิจกรรมตรงนี้ ทำให้ผมปรับใช้กับการมองสิ่งต่างๆ จากที่คิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่เมื่อเราโต้วาที ก็จะทำให้เราต้องมอง และคิดวิเคราะห์อีกมุมบ้าง ทำให้เราเข้าใจว่าคนอื่นคิดอย่างไร”

ปิดท้ายกับเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากพิธีกรในงานครั้งนี้อย่าง "ธนวัศ เผ่าวิบูล" ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกแชมป์เก่าปีที่แล้ว จากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมเป็นความรู้ว่า การโต้สาระวาทีภาษาอังกฤษนั้น มีความแตกต่างจากการโต้วาทีภาษาไทย ไม่เพียงแค่การใช้ภาษา แต่ยังรวมถึงรายละเอียดปลีกย่อยเรื่องความสละสลวยในการพูด
       
       "การโต้วาทีภาษาอังกฤษ จะต้องพูดภายในระยะเวลา 7 นาที ดังนั้นการแข่งขันจึงเป็นการนำเสนอข้อมูล ให้มากที่สุดภายในระยะเวลาจำกัด จึงต้องพูดเร็วมาก และไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาที่สวยงาม เพราะหากเวลาที่เกิน 7 นาทีไปแล้ว กรรมการจะไม่นำมาคิดคะแนน"

นอกจากนี้ ในการโต้สาระวาทีภาษาอังกฤษ จะแบ่งออกเป็นฝ่ายรัฐบาล กับ ฝ่ายค้าน และขณะที่แต่ละฝ่ายกำลังพูดนั้น อีกฝ่ายสามารถลุกขึ้นเพื่อขอแย้ง ขอแทรกคำถาม ก็ได้ โดยขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายตรงข้ามจะอนุญาตหรือไม่
       
       "ถามว่าเป็นการทำลายสมาธิคู่แข่งหรือเปล่า ก็ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายที่กำลังพูด จะเปิดโอกาสให้ถามหรือไม่ ซึ่งความจริง มันเป็นเรื่องของการออกแบบการแข่งขันเพื่อให้เพิ่มสีสัน และความสนุกมากขึ้นนั่นเอง" ธนวัศ กล่าวสรุป

ผู้จัดการออนไลน์ 6 กันยายน 2553