ผู้เขียน หัวข้อ: นศ.พยาบาลติดเอดส์-ร้องถูกไล่ออก! มหา"ลัยโต้ หวั่นคนไข้ หวาดกลัว  (อ่าน 1042 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
3 นักศึกษาพยาบาล มหาวิทยาลัยคริสเตียน นครปฐม ยื่นเรื่องร้องคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ระบุโดนให้ออกจากภาควิชาที่เรียนอยู่โดยไม่เป็นธรรม ภายหลังผลตรวจเลือดปรากฏว่ามี "เชื้อเอชไอวี" ต้นตอโรคเอดส์ ขณะที่ผู้บริหารสถาบันยืนยันการตรวจเลือดจำเป็นต้องทำ เพราะนักศึกษาพยาบาลต้องออกไปปฏิบัติงาน "สัมผัส" กับผู้ป่วยจริงๆ ถ้าป่วยเป็นโรคร้ายแล้วออกไปทำหน้าที่อาจส่งผลเสียหายร้ายแรงตามมา ด้าน "จอน อึ๊งภากรณ์" ในฐานะคณะกรรมการเอดส์แห่งชาติ รุดเข้าหารือกับตัวแทนม.คริสเตียนแล้ว ชี้การที่บังคับให้น.ศ.ตรวจเลือดเป็นการไม่เคารพสิทธิผู้ติดเชื้อเอชไอวี และก่อให้เกิดปัญหาการเลือกปฏิบัติตามมา


จากกรณีนักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยคริสเตียน นครปฐม จำนวน 3 คน เข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อขอความเป็นธรรม ภายหลังทางมหาวิทยาลัยมีคำสั่งให้ออกจากการศึกษาวิชาชีพพยาบาลในชั้นปีที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องออกไปฝึกปฏิบัติงานจริงตามสถานพยาบาลต่างๆ เพราะตรวจพบว่าน.ศ.ทั้ง 3 รายมีเชื้อเอชไอวี ต้นเหตุโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือโรคเอดส์


ความคืบหน้าเมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 27 ส.ค. นายอุริส แจ้งเจริญ รักษาการรองอธิบการบดี ม.คริสเตียน ให้สัมภาษณ์ "ข่าวสด" ว่าเรื่องนี้มีรายละเอียดที่สามารถเปิดเผยได้บางส่วน กล่าวคือโดยระเบียบแล้วการตรวจโรคนักศึกษาถือเป็นมาตรฐานของทางมหาวิทยาลัย ทั้งที่ม.คริสเตียนและที่อื่นๆ ตั้งแต่ชั้นปี 1 นักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ ม.คริสเตียน มีประมาณ 200-300 คน ซึ่งการตรวจโรคเมื่อชั้นปี 1 ไม่พบปัญหา หลังเรียนจบปี 2 เข้าปี 3 นักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต จะต้องออกไปฝึกงาน ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยจริง ฉะนั้นจึงเป็นอีกหนึ่งมาตรฐานที่ต้องรีเช็ก(ตรวจสอบซ้ำ) เรื่องสุขภาพของนักศึกษา หมายความว่านักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ชั้นปี 3 ต้องผ่านการตรวจโรคอีกครั้งทุกคน แต่ผลการตรวจโรคพบว่ามีนักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ปี 3 จำนวน 3 รายที่พบว่าเลือดมีปัญหาเกี่ยวกับโรคบางชนิด ทางมหาวิทยาลัยจึงเรียกนักศึกษาทั้ง 3 รายมาคุยทางลับเพื่อปกปิดตัวบุคคล


นายอุริสระบุว่าทางมหาวิทยาลัยมีข้อเสนอแนะกับนักศึกษาทั้ง 3 ราย โดยแนะว่าควรย้ายภาควิชาที่เรียนไปสาขาอื่น เพราะโรคที่ตรวจพบจะเป็นปัญหากับผู้ป่วยที่นักศึกษากลุ่มนี้ต้องออกไปสัมผัสขณะปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ตาม หากนักศึกษาไม่ต้องการเปลี่ยนสาขาเรียน ต้องการพัก ทางมหาวิทยาลัยยินดีคืนค่าเทอมในชั้นปีที่ 3 ให้ซึ่งทั้ง 3 รายยอมรับการคืนค่าเทอมไป กระทั่งมาทราบว่าล่าสุดนักศึกษากลุ่มนี้ไปร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และในวันเดียวกันนี้ คณะกรรมการสิทธิฯ นั้นก็ได้เข้ามาพูดคุยขอข้อเท็จจริงและหาทางแก้ปัญหาต่อไป


นายอุริสชี้แจงยืนยันด้วยว่ามหาวิทยาลัยคริสเตียนไม่ได้ตัดสิทธิ์นักศึกษา แต่ให้การปกป้องสิทธิ์ผู้ป่วยมากกว่า ต้องถือว่าทางมหา วิทยาลัยเป็นต้นแบบ เพราะหากปล่อยให้นักศึกษาที่มีโรคที่คนทั่วโลกหวาดกลัวออกไปสัมผัสกับผู้ป่วยแล้วเกิดปัญหาขึ้นภายหลังจะเสียหายอย่างไร เสียหายทั้งสถานพยาบาล เสียหายทั้งสถาบัน เสียหายทั้งมหาวิทยาลัย


"จริงๆ แล้วมหาวิทยาลัยไม่ต้องการให้เกิดข่าวดังกล่าวขึ้น ต้องการปกป้องนักศึกษาทั้ง 3 มากกว่า ซึ่งการตรวจโรคเราก็ไม่ได้ตรวจเอง ตรวจโดยสถานพยาบาลที่สามารถรับรองผลได้ และหากตัวของนักศึกษาเองไม่มั่นใจก็ไปตรวจยืนยันได้ด้วยตนเองยังสถานพยาบาลที่ออกใบรับรองการตรวจเลือดได้อีก อย่างไรก็ตาม หากผลการสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกมาอย่างไร คงต้องชี้แจงกับสื่ออีกครั้งต่อไป" รักษาการรองอธิบการบดีม.คริสเตียนกล่าว


วันเดียวกัน นายจอน อึ๊งภากรณ์ ประธานอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ คณะกรรมการเอดส์แห่งชาติ เปิดเผยภายหลังหารือกับผู้บริหารระดับสูงของม.คริสเตียนกรณีบังคับนักศึกษาสาขาวิชาพยาบาล สาขาวิชากายภาพ บำบัด และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ตรวจเลือดระหว่างปีการศึกษาเพื่อตรวจหาเชื้อเอชไอวี ว่า การบังคับตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวีของสถานศึกษาหรือสถานประกอบการขัดกับหลักการเคารพสิทธิผู้ติดเชื้อเอชไอวี และก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากเมื่อตรวจพบเชื้อเอชไอวี อาจทำให้บุคคลดังกล่าวถูกจำกัดสิทธิหรือถูกกีดกันในการเข้าเรียนหรือเข้าทำงานได้ ฉะนั้น การตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวี เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะเลือกตรวจหรือไม่ตรวจก็ได้ หากผู้ตรวจสมัครใจตรวจด้วยตัวเองจะต้องมีความพร้อมด้านจิตใจก่อน และผู้ให้การตรวจจะต้องมีบริการให้คำปรึกษาด้วย นอกจากนี้ ผลตรวจจะต้องรู้เฉพาะผู้ตรวจและผู้รับการตรวจเท่านั้น ไม่ควรส่งต่อไปยังบุคคลที่ 3 หรือผู้บริหารสถานศึกษา หรือนายจ้าง


"การติดเชื้อเอชไอวีเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ และผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ยังมีสุขภาพแข็งแรงไปอีกหลายสิบปี การบังคับตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวีอาจส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติทั้งการเรียนและการทำงาน ทำให้ไม่มีทางออก จึงต้องรณรงค์ให้ประเทศไทยลดการเลือกปฏิบัติ เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ติดเชื้อเอชไอวี" นายจอน กล่าว


ประธานอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ระบุว่า สำหรับทางม.คริสเตียน เมื่อพูดคุยหารือกับผู้บริหารแล้วพบว่ามีท่าทีรับฟังการชี้แจงของคณะกรรมการเอดส์แห่งชาติ แต่ยังต้องขอปรึกษากับอธิการบดีอีกครั้งว่าจะเปลี่ยนนโยบายตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวีหรือไม่อย่างไร ขณะเดียวกันทางคณะกรรมการจะเร่งรณรงค์สร้างความเข้าใจกับผู้บริหารสถานศึกษาและสถานประกอบการในเรื่องดังกล่าวต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยจะเริ่มจากกรณีที่ได้รับเรื่องร้องเรียนเข้ามาก่อน
 
(ที่มา:ข่าวสดรายวัน 28 สิงหาคม 2555)