ผู้เขียน หัวข้อ: รพ.เอกชนชิงเค้ก6หมื่นล้าน คลังไฟเขียวขรก.ป่วย-ตรวจสุขภาพเบิกได้  (อ่าน 2000 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
โรง พยาบาลเอกชนขานรับกรมบัญชีกลางปรับระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลใหม่ ไฟเขียว "ข้าราชการ-ครอบครัว" ใช้บริการ ดีเดย์ 1 ตุลาคม เผยนำร่องด้วยการผ่าตัด "ไม่ฉุกเฉิน" ก่อนขยายให้ครอบคลุมมากขึ้น พร้อมเปิดช่องให้ผู้ป่วยร่วมจ่ายส่วนต่าง คาดเสนอตัวเข้าร่วมโครงการเพียบ โรงพยาบาลใหญ่ "สมิติเวช-พญาไท" เร่งศึกษาเงื่อนไข รายละเอียดก่อนโดดลุย "กรณ์" ยันงบฯไม่บานปลาย

นาย พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า เพื่อพัฒนาระบบสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของรัฐ ให้สอดคล้องกับการให้บริการทางการแพทย์และระบบประกันสุขภาพที่ใช้ในปัจจุบัน กรมบัญชีกลางได้ขยายสิทธิ์การรับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลในการ เข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนให้กว้างขึ้น

จากเดิมตาม ระเบียบของกรมบัญชีกลางเดิมกำหนดให้ข้าราชการและสมาชิกในครอบครัว สามารถเข้ารับการรักษาได้เฉพาะโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น ยกเว้นกรณีฉุกเฉินที่อันตรายถึงชีวิตที่สามารถใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชนได้

ที่ ผ่านมากรมบัญชีกลางได้ปรับปรุงแก้ไขระเบียบในการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ใหม่ โดยนำเสนอพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป

ทั้งนี้ พระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการฉบับนี้ ได้กำหนดขอบเขต "การรักษาพยาบาล" ไว้ค่อนข้างกว้าง ทั้งการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่ข้าราชการและครอบครัว สำหรับการรักษาโรค การตรวจวินิจฉัย การฟื้นฟูสมรรถภาพ รวมถึงการตรวจสุขภาพ การเสริมสร้างสุขภาพและการป้องกัน ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด แต่ไม่รวมถึงเรื่องของความสวยงาม

ส่วนค่ารักษาพยาบาลรวมถึง 1.ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่าเลือด ค่าออกซิเจน 2.ค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดโรค 3.ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าบริการทางการพยาบาล ค่าตรวจวินิจฉัย แต่ไม่รวมค่าธรรมเนียมแพทย์พิเศษ ค่าจ้างผู้พยาบาลพิเศษ 4.ค่าตรวจครรภ์ ค่าคลอดบุตรและการดูแลหลังคลอดบุตร 5.ค่าห้องและค่าอาหาร 6.ค่าใช้จ่ายเพื่อการเสริมสร้างสุขภาพและการป้องกันโรค เป็นต้น

อธิบดี กรมบัญชีกลางกล่าวว่า เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม กรมบัญชีกลางได้เชิญตัวแทนจากโรงพยาบาลเอกชนมารับฟังหลักเกณฑ์และเงื่อนไขใน การเข้าร่วมดังกล่าวและเปิดให้โรงพยาบาลที่สนใจเสนอตัวเข้าร่วมโครงการ เบื้องต้นคาดว่าจะมีโรงพยาบาลเข้าร่วมประมาณ 50 แห่ง

ด้านหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการเบิกค่ารักษาพยาบาลดังกล่าว อธิบดีกรมบัญชีกลางระบุว่า ในระยะแรกจะกำหนดให้เบิกค่ารักษาพยาบาลได้เฉพาะ "โรคที่ต้องมีการนัดผ่าตัดไม่ฉุกเฉิน" (elective surgery) และเป็นกรณีผู้ป่วยในเท่านั้น เช่น คลอดบุตร ผ่าตัดหัวใจหรือสมอง ไส้ติ่งอักเสบ เป็นต้น และเพื่อให้ครอบคลุมมากขึ้นต่อไปจะขยายไปยังกรณีผู้ป่วยนอก รวมถึงกรณีของผู้ที่มีโรคประจำตัวด้วย

"การจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลใน โครงการนี้จะใช้ระบบเหมาจ่ายตามกลุ่มโรค (DRGs) โดยการรักษาโรคแต่ละประเภทจะกำหนดเพดานค่ารักษาพยาบาลเอาไว้เช่นเดียวกับโรง พยาบาลของรัฐ และกรมจะโอนเงินเข้าบัญชีโรงพยาบาลโดยตรง ภายใน 5 วัน หลังจากผู้ป่วยได้รับการรักษาพยาบาลเสร็จสิ้น หรือหากมีส่วนเกินผู้ป่วยจะต้องมีส่วนร่วมในการชำระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น (copayment) เช่น ค่าห้องพัก ค่าอาหาร ค่าอวัยวะเทียม อุปกรณ์ และค่าธรรมเนียมแพทย์พิเศษ เป็นต้น

นายแพทย์เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน แสดงความเห็นว่า โครงการนี้จะเป็นการเพิ่มทางเลือกและเพิ่มโอกาสให้ข้าราชการสามารถเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนได้มากขึ้น เมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา แต่การที่โรงพยาบาลไหนจะเข้าร่วมโครงการหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละแห่ง เนื่องจากแต่ละโรงก็จะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป

ขณะ ที่นายแพทย์โชคชัย จารุศิริพิพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท กล่าวว่า โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ และหลายแห่งกำลังรอดูความชัดเจน ทั้งในเรื่องของระเบียบ ขั้นตอนการเปิดจ่าย รวมทั้งศักยภาพของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง สำหรับสมิติเวชเองมีความสนใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งอยู่ในขั้นดำเนินการและรอดูความชัดเจนของรายละเอียด

การปรับให้ ข้าราชการเข้ามารับการรักษาตามโรงพยาบาลเอกชนได้ ถือเป็นการแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลรัฐ ทำให้โรงพยาบาลของรัฐไม่แออัดและให้การดูแลรักษาดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้าราชการจะเข้ามารับการรักษามากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการตั้งราคาค่าใช้จ่ายของแต่ละโรงพยาบาล และสิทธิ์ที่กรมบัญชีกลางให้มากน้อยแค่ไหน มีการกำหนดราคากลางแต่ละโรคไว้อย่างไร

ปัจจุบันสัดส่วนลูกค้าข้า ราชการของโรงพยาบาลมีไม่มากนัก และมีเฉพาะการใช้สิทธิ์เข้ารับการรักษาแบบฉุกเฉิน ซึ่งหลังจากรับการรักษาอาการดีขึ้นก็จะย้ายไปรักษาโรงพยาบาลของรัฐต่อไป คาดว่าการเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระค่ารักษาพยาบาลส่วนหนึ่ง จะทำให้ลูกค้ากลุ่มข้าราชการในโรงพยาบาลเอกชนเพิ่มขึ้น

เช่นเดียวกัน นายแพทย์บุญชัย อิศราพิสิษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลราชธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่กรมบัญชีกลางเปิดให้ข้าราชการเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนเกิน หรือโคเปย์เมนต์ จะเป็นสิ่งที่ทำให้โรงพยาบาลเอกชนสนใจและต้องการจะเข้าร่วมโครงการนี้ เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มกำลังซื้อให้ข้าราชการแล้ว เป็นโอกาสที่โรงพยาบาลจะมีฐานลูกค้าใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เพราะนอกจากข้าราชการแล้วก็ยังมีครอบครัวของข้าราชการด้วย

ขณะ ที่นายธนา ถิรมนัส รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาดและกลุ่มผู้สนับสนุนเครือโรงพยาบาล พญาไท กล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนมีความตื่นตัวและสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ และพญาไทเองก็มีความเป็นไปได้มากที่จะเข้าร่วมโครงการ อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูเงื่อนไขต่าง ๆ อาทิ ระบบดีอาร์จี ค่าตอบแทนในการรักษาพยาบาล ถ้ามีความชัดเจนและเป็นอัตราที่ยอมรับได้ รวมถึงความสามารถในการจ่ายส่วนเกินของข้าราชการ

"ถ้ากรมบัญชีกลางมี รูปแบบการดำเนินการลักษณะเดียวกับบริษัทประกัน รวมทั้งการเปิดให้สามารถใช้สิทธิ์ร่วมเบิกจ่ายได้หลายช่องทาง ทั้งของบริษัทประกัน และสิทธิ์เบิกจ่ายของกรมบัญชีกลาง ซึ่งจะทำให้มีส่วนเกินที่ข้าราชการต้องจ่ายน้อยหรือไม่มี ก็เชื่อว่าโรงพยาบาลเอกชนไม่น่าจะมีปัญหา"

จากข้อมูลของสำนักงาน เศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีข้าราชการและครอบครัวที่มีสิทธิ์เบิกค่ารักษาพยาบาลประมาณ 4.5 ล้านคน โดยปี 2553 เตรียมวงเงินงบฯทางด้านนี้ไว้ 58,000 ล้านบาท และในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมามีการเบิกจ่ายเงินไปแล้ว 55,000 ล้านบาท คาดว่าภายในสิ้นปีงบประมาณนี้น่าจะมีการเบิกจ่ายงบฯนี้ประมาณ 60,000 ล้านบาท ส่วนปี 2554 ตั้งงบฯการรักษาพยาบาลไว้ 61,000 ล้านบาท

ด้าน นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การขยายสิทธิประโยชน์ด้านสวัสดิการให้กับข้าราชการดังกล่าว จะมีผลทำให้รัฐบาลมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเหมือนในอดีต เพราะหลังจากที่นำระบบเหมาจ่ายเงิน โดยแบ่งตามกลุ่มโรค หรือ DRGs มาใช้ การเบิกจ่ายงบฯค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นไม่มาก เมื่อเทียบกับในอดีตที่มีการขยายตัวสูงถึง 25% ต่อปี และการเพิ่มสิทธิประโยชน์ดังกล่าว กรมบัญชีกลางก็นำระบบ DRGs มาควบคุมค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม และในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายเกินกว่าวงเงินที่กำหนด ผู้ป่วยจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจ่ายเงินร่วมกับทางราชการในบางส่วนด้วย คาดว่าการเบิกจ่ายงบฯค่ารักษาพยาบาลปีนี้ น่าจะอยู่ภายใต้กรอบวงเงิน 58,000 ล้านบาท

ประชาชาติ ธุรกิจ
วันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553