ผู้เขียน หัวข้อ: “พยาบาล ม.อ.” พัฒนาเกม-กิจกรรมชะลอ “อัลไซเมอร์” ในผู้สูงอายุ  (อ่าน 1940 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
 ผู้สูงอายุจะพบการสูญเสียความจำร้อยละ 20-40 ของความจำเดิม และพบความจำบกพร่องมากขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาหากไม่ได้ป้องกัน  คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ได้พัฒนากิจกรรมส่งเสริมความจำแบบมีส่วนร่วมในผู้สูงอายุ 9 กิจกรรม เพื่อใช้เป็นต้นแบบการจัดกิจกรรมในชมรมผู้สูงอายุที่นับวันจะเพิ่มจำนวนสมาชิกมากขึ้น ด้วยการทำให้ผู้สูงอายุมีการบริหารสมองด้วยกิจกรรมการเล่นเกมต่างๆ โดยการกระตุ้นการใช้ความคิด การที่ได้ขบคิดมีการฝึกทบทวน และฝึกระลึกถึงอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง ช่วยทำให้มีการรับรู้และสามารถที่จะปรับปรุงความจำให้ดีขึ้น หลงลืมช้าลง

       ผศ.ดร.เพลินพิศ ฐานิวัฒนานนท์  ผศ.ดร.วิภาวี  คงอินทร์  และผศ.ดร.บุศรา เอี้ยวสกุล ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพและฟื้นฟูสภาพผู้สูงอายุ ภาควิชาการพยาบาลอายุรศาสตร์  คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ทำการวิจัยเรื่องการพัฒนากิจกรรมส่งเสริมความจำแบบมีส่วนร่วมในผู้สูงอายุ และได้รับรางวัลนำเสนอผลงานวิจัยดีเด่น  ในการประชุมวิชาการผู้สูงอายุ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2555 เรื่อง “งานวิจัย และนวัตกรรมด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ” โดยศูนย์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 19-20 กรกฎาคม 2555
       
       9 กิจกรรมที่สามารถพัฒนาทักษะทางด้านความจำของผู้สูงอายุ   ที่พัฒนา และนำมาใช้โดยทีมวิจัยร่วมกับนักศึกษาปริญญาโทได้แก่ การร้องเพลง เกมนักร้องพันหน้า สุภาษิตหรรษา ละครชีวิต สถานที่สำคัญไฉน กล่องปริศนา เกมซูโดกุ กลิ่นสื่อสัมพันธ์ และเล่าเรื่องจากการอ่าน

       จากการเพิ่มจำนวน และสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุ ทำให้โครงสร้างของสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มจำนวน และอายุยืนยาวขึ้น นำมาซึ่งปัญหาความเจ็บป่วยเรื้อรัง  และหนึ่งในนั้นคือ ภาวะสมองเสื่อม ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการสูญเสียหน้าที่ของสมองหลายด้านพร้อมกัน อย่างช้าๆ แต่ถาวร ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปจะเกิดภาวะสมองเสื่อมร้อยละ 1 และเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในทุกอายุที่เพิ่มขึ้น 5 ปี จนกลายเป็นมากกว่าร้อยละ 30 ในผู้สูงอายุ 85 ปีขึ้นไป
       
       การศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง และสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมพบว่า การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และรูปแบบการใช้ชีวิตที่เคร่งเครียด ขาดการเข้าร่วมสังคม ขาดการออกกำลังกาย เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดภาวะสมองเสื่อม โดยเฉพาะการเกิดอัลไซเมอร์ ซึ่งเป็นอาการสมองเสื่อมที่พบบ่อย และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

       ผศ.ดร.เพลินพิศ ฐานิวัฒนานนท์  หัวหน้าโครงการวิจัยกล่าวว่า ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพและฟื้นฟูสภาพผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  เริ่มเปิดให้บริการสร้างเสริมสุขภาพแก่ผู้สูงอายุตั้งแต่ปี พ.ศ.2536  และใช้เป็นแหล่งฝึกภาคปฏิบัติการส่งเสริมสุขภาพสำหรับนักศึกษาพยาบาล   และยังเป็นแหล่งศึกษาดูงานของชมรมผู้สูงอายุทั้งใน และต่างประเทศ  ปัจจุบัน มีสมาชิกผู้สูงอายุมารับบริการวันละ 80-100 คน กิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ บริการตรวจสุขภาพ เช่น ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพ  จัดกิจกรรมการออกกำลังกายได้แก่ ไทเก๊ก แอโรบิก รำกระบอง รวมทั้งกิจกรรมสันทนาการ และจัดให้ความรู้ในชุมชนเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน เปิดบริการสัปดาห์ละ 3 วัน ในช่วงเวลา 7.30-12.00 น. 
       
       หนึ่งในสี่ของผู้สูงอายุที่มารับบริการที่ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพฯ พบว่า มีอายุมากกว่า 75 ปีขึ้นไป และสองในสามของสมาชิกผู้สูงอายุต้องดูแลตนเองเพื่อควบคุมความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงมากต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อม

       ทีมวิจัยซึ่งรับผิดชอบสอนรายวิชาการพยาบาลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ได้สนับสนุนให้นักศึกษาปริญญาโท สาขาการพยาบาลผู้ใหญ่ จำนวน 10 คน เป็นผู้ออกแบบเกม และกิจกรรมส่งเสริมความจำ และผ่านการมีส่วนร่วมให้ข้อคิดเห็นจากแกนนำผู้สูงอายุ และนำไปใช้สมาชิกผู้สูงอายุ จำนวน 80 คน ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมารับบริการ ณ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพและฟื้นฟูสภาพผู้สูงอายุ  ได้แก่ กิจกรรมส่งเสริมความจำที่พัฒนาขึ้น 9 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมการร้องเพลง เกมนักร้องพันหน้า สุภาษิตหรรษา ละครชีวิต สถานที่สำคัญไฉน กล่องปริศนา เกมซูโดกุ กลิ่นสื่อสัมพันธ์ และเล่าเรื่องจากการอ่าน
       
       กิจกรรมที่พัฒนาทักษะความจำได้แก่ 
1.การคิดคำนวณโจทย์คณิตศาสตร์แบบง่าย ใช้เทคนิค และทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ในการเล่น เช่น การบวก ลบตัวเลขจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง
2 .การจัดระเบียบ ของข้อมูลผ่านขบวนการกลุ่มขณะทำกิจกรรมช่วยให้คิดเป็นระบบ จะทำให้จำได้ง่ายขึ้น
3.  กิจกรรมส่งเสริมการเชื่อมโยงและการหาความสัมพันธ์ เช่น การนึกถึงสถานที่ หรือบุคคล   
4.การสร้างจินตนาการและความเกี่ยวข้องเพื่อเสริมสร้างความจำ เป็นการอธิบายเรื่องราวด้วยภาพ หรือการแสดงละครในกิจกรรมละครชีวิต การฝึกฝนทักษะการจดจำภาพพร้อมเรื่องราว เป็นการฝึกให้ผู้สูงอายุมีจิตใจที่เป็นสมาธิ มีความสุขในสิ่งที่เล่น ฝึกจิตใจละเอียดอ่อน ฝึกประสาทสัมผัสให้เชื่อมโยงระหว่างประสาทสัมผัสทั้ง 5 กับความคิด นอกจากนี้ กิจกรรมสุภาษิต เป็นเทคนิคการใช้รหัสช่วยจำ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงเพื่อช่วยในการลำดับกระบวนการจำให้จดจำข้อมูลได้ง่ายขึ้น และสะดวก กิจกรรมส่งเสริมความจำทำให้เกิดการทำงานประสานงานกันระหว่างสมองซีกซ้าย และขวา และการใช้สมองทั้งสองซีกเป็นประจำทำให้มีการพัฒนาประสิทธิภาพของความจำมากขึ้น

       จากการเก็บข้อมูลในผู้สูงอายุ 51 คน พบว่า เป็นผู้สูงอายุเพศชาย ร้อยละ 13.73 เพศหญิง ร้อยละ 86.27  มีอายุเฉลี่ย 70.9 ปี และเป็นกลุ่มอายุ 60-70 ปี ร้อยละ 54.9 รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 71-80 ปี ร้อยละ 31.4 และกลุ่มอายุ 81 ปีขึ้นไป ร้อยละ 13.7     ระดับการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุ ร้อยละ 35.3 ได้ศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษา และมีการศึกษาปริญญาตรี หรือสูงกว่า ร้อยละ 29.4
       
       ผลการคัดกรองภาวะพุทธิปัญญาบกพร่อง (cognitive impairment) ในผู้สูงอายุ พบว่า ผลตรวจปกติ (คะแนนเท่ากับหรือมากกว่า 26) ร้อยละ 49.0 และกลุ่มผิดปกติ ร้อยละ 51 มีอายุเฉลี่ย 73.77 ปี และในกลุ่มที่มีคะแนนผิดปกติ จะพบว่าเป็นกลุ่มอายุ 70-80 ปี มากที่สุด ร้อยละ 42.3 รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 60-70 ปี มี ร้อยละ 38.5
       
       ผลการประเมินความรู้เกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อมและการป้องกัน พบว่าร้อยละ 96 ของผู้เข้าร่วมกิจกรรม มีความรู้ผ่านเกณฑ์ (ร้อยละ 60) และทั้งหมดมีความพึงพอใจในระดับดี ถึงดีมากต่อการเข้าร่วมกิจกรรม
       
       อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ดำเนินโครงการได้เกิดปัญหาอุทกภัยรุนแรง ในอำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลา  ทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากความเสียหายต่อทรัพย์สิน และสุขภาพทั้งของสมาชิกเอง และของลูกหลาน กิจกรรมส่งเสริมความจำหยุดชะงักไปประมาณ 1 เดือน  เมื่อสามารถกลับมาออกกำลังกาย และจัดกิจกรรมได้ การติดตามภายหลังการนำกิจกรรมมาใช้ 6 เดือน พบว่า ผู้สูงอายุกลุ่มผิดปกติมีคะแนนพุทธิปัญญากลับมาเป็นปกติเพิ่มขึ้น 5 คน คิดเป็น 19%
       
       “การทำให้ผู้สูงอายุมีการบริหารสมองด้วยกิจกรรมการเล่นเกมต่างๆ โดยการกระตุ้นให้มีกิจกรรมโดยเฉพาะในเรื่องของการใช้ความคิด การที่ได้ขบคิดมีการฝึกทบทวน และฝึกระลึกถึงอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง ช่วยทำให้มีการรับรู้และสามารถที่จะปรับปรุงความจำให้ดีขึ้นกว่าเดิม และยังช่วยให้มีการหลงลืมช้าลง การเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมความจำในผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง จะสามารถป้องกัน หรือชะลอกลุ่มอาการภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุได้ และกิจกรรมส่งเสริมความจำที่พัฒนาขึ้นสามารถใช้เป็นต้นแบบการจัดกิจกรรมในชมรมผู้สูงอายุที่นับวันจะเพิ่มจำนวนสมาชิกผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 75 ปี ในชุมชนภาคใต้ได้ต่อไป” ผศ.ดร.เพลินพิศ ฐานิวัฒนานนท์กล่าว

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    26 สิงหาคม 2555