ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.พัฒนา รพ.สต.พื้นที่ทุรกันดาร ให้คำปรึกษาระบบการแพทย์ทางไกล  (อ่าน 1113 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
สธ.พัฒนาคุณภาพ รพ.สต.ในพื้นที่ป่าเขา แนวชายแดนใน 14 จังหวัด เพิ่มคุณภาพบริการ 30 บาทให้ทั่วถึงถิ่นทุรกันดาร ให้คำปรึกษาระบบการแพทย์ทางไกล มีหมอใกล้บ้านใกล้ใจ เตรียมเพิ่มศูนย์สุขภาพชุมชนพื้นที่ห่างไกลอีกกว่า 200 แห่ง…



เมื่อวันที่ 23 ส.ค. นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ตามแนวชายแดนที่จังหวัดตาก โดยได้มอบยาตำราหลวง มุ้งชุบสารไพรีทรอยด์ และอุปกรณ์กีฬา จำนวน 300 ชุด ให้โรงเรียนบ้านแม่ระเมิง ต.แม่สอง อ.ท่าสองยาง ซึ่งมีนักเรียนประมาณ 1,000 คน และได้มอบเครื่องวัดความดันโลหิตให้ อสม.จำนวน 126 เครื่อง จากนั้นเดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่ระเมิง เพื่อดูระบบบริการประชาชนในพื้นที่ป่าเขาที่อยู่ในโครงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะความก้าวหน้าของระบบการแพทย์ทางไกล



นายวิทยา กล่าวว่า จากแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงห่วงใยและเห็นความสำคัญของสุขภาพและอนามัยของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพของรัฐทั่วไปได้ กระทรวงสาธารณสุข ได้น้อมรับและเร่งดำเนินการสนองพระราชดำริ เพื่อพัฒนาระบบบริการในพื้นที่ทุรกันดาร ป่าเขา อยู่ห่างไกล ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีอยู่ใน 14 จังหวัด ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี ศรีษะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ และกาญจนบุรี

ทั้งนี้ การพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. ต่อยอดนโยบายรัฐบาล เพิ่มคุณภาพบริการ 30 บาท ให้ทั่วถึงประชาชนท้องถิ่นทุรกันดาร ที่เจ็บป่วยทั่วไป รวมทั้งผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ให้ได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด มีคุณภาพมาตรฐานเหมือนพื้นที่ปกติ แห่งใดที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ให้ติดตั้งโซลาร์เซลล์นำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้แทน และเพิ่มศักยภาพระบบเครื่องมือสื่อสาร ติดตั้งระบบการแพทย์ทางไกลทางอินเทอร์เน็ต หรือดาวเทียม เชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกับโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปที่มีแพทย์เฉพาะทางทุกโรค เพื่อให้คำปรึกษาประชาชนที่เจ็บป่วยมีอาการซับซ้อนหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินได้พบแพทย์ ตรวจรักษาเหมือนไปใช้บริการที่โรงพยาบาลใหญ่ ไม่มีอุปสรรคในเรื่องของความห่างไกลอีกต่อไป ขณะนี้ดำเนินการได้แล้วร้อยละ 90 ของพื้นที่ ซึ่งจะให้ครบ 100% ในปี 2556



รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า ยังได้พัฒนาศูนย์สุขภาพชุมชนหรือ ศสช. ซึ่งมีอยู่แล้วประมาณ 200 แห่งในพื้นที่ 14 จังหวัด เพิ่มความสะดวกประชาชน เน้นการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค เช่น ฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรค และการรักษาพยาบาลเบื้องต้นเป็นหลัก มีเครื่องมือสื่อสารเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายลูกกับ รพ.สต. โดยจัดอบรมบุคลากร ซึ่งเป็นประชาชนจากพื้นที่ หลักสูตรเร่งรัด 1 ปี ให้เป็นเจ้าหน้าสาธารณสุขชุมชนประจำการเพิ่มเติมจำนวน 109 คน โดยจัดอบรมที่วิทยาลัยชุมชนตาก จังหวัดตาก ซึ่งเป็นหลักสูตรผ่านการรับรองจากจากคณะกรรมการวิทยาลัยชุมชน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และสามารถศึกษาต่อถึงระดับปริญญาตรีได้ บุคลากรกลุ่มนี้จะรู้ชุมชนเป็นอย่างดี พูดภาษาถิ่นได้ และทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขในหมู่บ้านตลอด 24 ชั่วโมง ใช้งบประมาณ 5 ล้านบาท



ด้าน นายแพทย์ปัจจุบัน เหมหงษา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก กล่าวว่า ในการผลิตพนักงานสาธารณสุขชุมชน เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก กระทรวงสาธารณสุข กับวิทยาลัยชุมชนตาก จังหวัดตาก โดยจะคัดนักเรียนที่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือปีที่ 6 เข้าเรียน เป็นหลักสูตร 39 หน่วยกิต เรียนวิชาพื้นฐานวิชาชีพพยาบาลและสาธารณสุข วิชาชีพอื่นด้วย และฝึกปฏิบัติงานเพิ่มพูนทักษะที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เรียนวันละ 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 26 สัปดาห์ เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรพนักงานสุขภาพชุมชน.