ผู้เขียน หัวข้อ: บันทึก...บ้านเมือง: พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯเพื่อใคร?!  (อ่าน 1386 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ยังมีข้อขัดแย้งหลายประเด็น มีรายละเอียดถกเถียงกันได้หลากหลายมุม แต่โดยรวมแล้วที่เห็นต่างกันอยู่ 2 ประเด็นหลักคือ ประเด็น มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการ กับประเด็น สัดส่วนของคณะกรรมการฯ ที่จะเข้ามามีบทบาทใน พ.ร.บ. นี้ ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นมีนัยสำคัญเรื่องราว ผู้คน และสังคมโดยรวมที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย
 
ถ้ายึดเอา "ผลประโยชน์สังคม" เป็นที่ตั้ง มุ่งให้ความเป็นธรรมเพื่อสร้างความผาสุกของสังคมโดยรวมแบบทั่วถ้วน ทั้งฝ่ายหมอ ผู้ป่วย และผู้รับผลกระทบในมิติต่างๆ (ที่ไม่ใช่แค่มุ่งมาฟาดฟันล้างแค้นหมอพยาบาล ที่ ผู้นำเครือข่ายฯ คนป่วย! มักกร้าวให้เห็นบ่อยๆ ด้วยวาจาจิกฝ่ายหมอ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และมักอ้างตัวเป็นภาคประชาชนที่น่าระอาสุดๆ!) หากมองผ่านมิตินี้จะพบว่า ทั้ง หมอ และ คนไข้ไม่น่าจะได้รับผลดีจากร่างกฎหมายนี้! เพราะ
 
หนึ่งสัดส่วนของหมอต่อประชากร ที่ต้องรับผิดชอบมีสัดส่วนสูงมาก พูดง่ายๆ ว่าบ้านเรายังขาดแคลนหมออีกมาก ทั้งยังมีการกระจุกตัวของแพทย์บางกลุ่มอยู่ในบางพื้นที่ ซึ่งเหมือนกับทุกประเทศในโลกที่มักเป็นเช่นนี้
 
สอง สภาพแรง กดดันจากร่างกฎหมายนี้ต่อปัจเจกบุคคลซึ่งหากมีการนำใช้กฎหมายตามที่ยกร่างฉบับนี้ ก็น่าจะมีผลกระทบต่อปัจเจกบุคคลทั้งหมอและผู้ป่วยอย่างแน่นอน ซึ่งมีรายละเอียดที่สามารถนำมาพิจารณาได้มากมายหลายประการ ที่ไม่อาจสาธยายในพื้นที่อันจำกัดนี้ได้
 
สาม มาตรฐานการในเรื่องกองทุนฯ ของร่างกฎหมายนี้ เมื่อพิจารณา สัดส่วนกรรมการฯ ดูแล้วจะพบว่า สัดส่วน กรรมการฯ จะมีผลต่อ มาตรการ และ มาตรฐาน ที่พึงมีผลกระทบต่อบุคลากรทางการสาธารณสุข รวมถึงการใช้เงินตามร่างกฎหมายนี้ ซึ่งสังคมต่างค้างคาใจมากว่า ทำไม เอ็นจีโอ?จึงมีบทบาทสูงพอกับกลุ่มวิชาชีพ พวกนี้สร้างความก้าวหน้าให้กับวิชาชีพทางการแพทย์มามากหรืออย่างไร?!!
 
สี่ การสร้างทางออกที่ต้องหนีจากความรับผิดชอบตามกฎหมาย หมอคงต้องพยายามเอาตัวเองให้พ้นความรับผิดชอบ เพื่อรักษาตัวและอนาคตไว้โดยธรรมชาติของคนเรา เช่น ระบบการส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งจะไม่ส่งผลดีต่อความก้าวหน้าของวิชาชีพและต่อตัวผู้ป่วยเองในที่สุดอย่างแน่นอน
 
ภายใต้เงื่อนปมปัญหาที่ผูกติดมากับกฎหมายนี้ น่า จะฟันธงได้ว่ากฎหมายร่างนี้ไม่น่าจะส่งผลดีต่อ "แพทย์และผู้ให้บริการทางสาธารณสุข" และแน่นอนว่าจะไม่เป็นผลดีต่อ "ผู้ป่วย"ในฐานะผู้รับบริการอย่างแน่นอน! แปลว่าแย่ทั้ง ผู้ให้บริการ และ ผู้รับบริการ คงมีก็แต่ เอ็นจีโอ (รวมทั้งกลุ่มหมอนักเคลื่อนไหวนักล่าตำแหน่งบางคนบางกลุ่ม) ที่จะได้ประโยชน์ และได้ภาพที่ช่วยเสริมสร้างทุนทางสังคมให้ตัวเองไปเต็มๆ ในฐานะที่เป็นผู้ยืนข้างประชาชน (อีกแล้ว!) ทั้งยังจะได้เข้าไปนั่งคุม กองทุนฯ ที่มีงบมากมายนับพันล้าน ซึ่งต่อไปอาจยกร่างมาตรการเพื่อหยิบมาใช้ในนาม "การพัฒนาสาธารณสุข" แต่จากประสบการณ์ของสังคมที่ได้รู้เห็นมา พบว่าสังคมส่วนใหญ่มักจะไม่ได้ประโยชน์มากมายอะไรจากการใช้เงินตามแบบของเอ็นจีโอที่ผ่านๆ มา
 
บ้านเรามีบทเรียนเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าจาก เอ็นจีโอ ที่มักจะออกมาเคลื่อนไหว สร้างภาพตัวเองเป็นนักบุญผู้หวังดี ชี้นำสังคมอยู่เสมอๆ แต่สุดท้ายมักจะจบลงด้วยการจัดตั้งกลุ่ม ตั้งกรรมการ หรือตั้งองค์กรอิสระ แล้วเอาเงินหลวงไปใช้กันสบายมือ ขาดเพียงประโยชน์รูปธรรม และความโปร่งใสเท่านั้น ที่ไม่ค่อยจะได้คืนกลับให้สังคม!
 
เรื่องนี้ต้องพิจารณาให้รอบคอบ การออกกฎหมายมาล้างแค้นใครกลุ่มใดนั้น ไม่อาจสร้างประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นได้ มีเพียงการไม่ทำร้ายใครเท่านั้นที่จะช่วยให้สังคมไม่เลวร้ายลงไปกว่าเดิม อีก!

หนังสือพิมพ์บ้านเมือง -- อาทิตย์ที่ 5 กันยายน 2553